[b]จาก โภคิน พลกุล ถึง นิคม ไวยรัชพานิช

กระทู้สนทนา
จาก โภคิน พลกุล ถึง นิคม ไวยรัชพานิช
สามัญสำนึกบกพร่อง คุณสมบัติพื้นฐานที่ระบอบทักษิณ ช๊อบ ชอบ



พฤติกรรมของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญและยังทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมด้วย ทำให้เกิดข้อครหาอย่างมากถึงความเหมาะสมและสามัญสำนึกพื้นฐาน ที่ไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่ดูเหมือนเจ้าตัวจะไม่สนใจจริยธรรมพื้นฐาน ยังคงลอยหน้าลอยตาเป็นประธานในที่ประชุม โดยไม่ใยดีต่อการทักท้วงของส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แถมไม่รู้สึกรู้สาที่ถูกแสดงความรังเกียจด้วยการไม่อภิปรายในช่วงที่นายนิคมทำหน้าที่

หลายคนอาจลืมไปแล้วว่าพฤติกรรมลักษณะนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่คนที่สร้างรอยด่างให้กับตำแหน่งประมุขนิติบัญญัติคนแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทยคือ นายโภคิน พลกุล ผู้ซึ่งถูก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ฉายาว่า “ทนายโจร” โดยมีพฤติกรรมในขณะดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้

9 มีนาคม 2548 โภคิน พลกุล ประธานสภาผู้แทนราษฎร สร้างประวัติศาสตร์อัปยศด้วยการเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติคนแรก โหวตเลือก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่อยู่บนบัลลังก์ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทำให้ถูกตั้งคำถามอย่างมากถึงการทำหน้าที่ไม่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ขาดความเป็นกลางทางการเมือง ไร้สามัญสำนึกและจริยธรรม

10 มีนาคม 2548 โภคิน ชี้แจงพฤติกรรมของตัวเองว่า “ผมเป็นประธานสภา ต้องไม่เลือก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างนี้ผมถามว่าจะอธิบายกับตัวเองได้อย่างไร ไม่เข้าใจ ทำแบบนี้เพื่อให้ดูสง่างามอย่างนั้นหรือ ผมว่าเป็นสง่างามในสายตาคนบางคนเท่านั้น ผมเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่เสแสร้ง ถ้าต้องวางตัวเป็นกลางงดออกเสียงนั่นคือการคัดค้าน ผมต้องแสดงความเป็นกลางด้วยการคัดค้าน พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างนั้นหรือ ผมว่าใช้ไม่ได้ หรืออยากได้ประธานที่เสแสร้ง ซึ่งเรื่องโหวตนายกฯ เมื่อวานนี้เสียความเป็นกลางตรงไหน ผมไม่เข้าใจ ต้องบอกผมว่าไม่เป็นกลางอย่างไร และการที่ห่วงว่าในอนาคตจะไม่เป็นกลางนั้น เป็นเรื่องที่วิตกกันไปเอง”

หลังจากนั้นการปฏิบัติหน้าที่ของ นายโภคิน ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เอนเอียงเข้าข้างพรรคไทยรักไทย ไม่เปิดโอกาสให้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านได้แสดงเหตุผลคัดค้านในประเด็นที่ไม่เห็นด้วย เพื่อปกป้องผลประโยชน์บ้านเมือง

26 มี.ค.48 ระหว่างที่นายโภคินทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสภา นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.มหาดไทย ได้พาดพิงถึงนายชวน หลีกภัย ในลักษณะนำชื่อเสียงของนายชวนมารับประกันการไต่เต้าในหน้าที่ราชการของตัวเองว่าได้มาด้วยความรู้ความสามารถ ทำให้นายชวนขอใช้สิทธิพาดพิง แต่นายโภคินกลับตำหนิว่า “เป็นคนละเรื่อง” โดยไม่ยอมให้นายชวนใช้สิทธิของตัวเองที่จะอภิปรายในฐานะที่ถูกพาดพิงในสภา แม้ว่านายชวน จะพยายามขอให้นายโภคินรับฟังเหตุผลด้วยการพูดว่า “กรุณาฟังสักนิด” นายโภคินก็ไม่ยินยอมโดยมีการโต้เถียงนายชวนอย่างไม่ให้เกียรติ ก่อนที่จะปิดไมค์และใช้อำนาจประธานสั่งให้นายชวนนั่งลง

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายว่า “เราไม่มีสิทธิ์เรียกร้อง และไปสอนอะไรประธานได้ แต่การทำงานต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน เมื่อฝ่ายค้านคิดว่าจะไม่ได้รับเกียรติ และทำอะไรต่อไปไม่ได้ รวมถึงบรรทัดฐานของการวินิจฉัยของประธานเป็นอย่างนี้ วันข้างหน้าใครจะมั่นใจได้ว่าเสียงข้างน้อยจะได้รับความยุติธรรม ซึ่งประธานเป็นนักกฎหมายเป็นคนที่มีคนนับหน้าถือตา มีอาชีพสร้างความยุติธรรมแต่ก็มีนักกฎหมายหลายคนที่ได้ถูกยกย่องว่าเป็นทนายโจร” หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ ได้เดินออกจากห้องประชุม พร้อมทั้งสมาชิกฝ่ายค้านต่างพร้อมใจพากันวอล์กเอ้าต์ทันที

ด้วยพฤติกรรมเผด็จการของนายโภคินทำให้ผู้สื่อข่าวสภาให้ฉายานายโภคินว่า “นิติกู” และให้ฉายาสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นว่า “ปลอกคอพันธุ์ชิน” ส่วนฉายาวุฒิสภาในปีนั้นคือ “สภาทาส”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่