*** เสื้อแดงระหว่างเขาควาย ***
โดย : สมชาย ปรีชาศิลปกุล
การลาออกจากตำแหน่งของ ส.ส. จังหวัดเชียงใหม่คนหนึ่ง (แม้ผู้เขียนจะมีทะเบียนบ้านในจ.เชียงใหม่แต่ก็จำชื่อเสียงเรียงนามของบุคคลคนนี้ไม่ได้เลย)
และด้วยการมีข่าวติดตามมาว่าทางพรรคเพื่อไทยจะส่งคุณเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ลงสมัครเป็น ส.ส. แทนนั้น คงทำให้คนเสื้อแดงต้องขบคิดกันมากพอสมควรว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อเหตุการณ์เช่นนี้
ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ลิ่วล้อของนักการเมืองจำนวนไม่น้อยบุญหล่นทับได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแม้จะไม่ได้มีบารมีในทางการเมืองมากพอ อย่างไรก็ตาม บุคคลเหล่านี้ก็ต้องหลีกทางให้กับตัวจริงเสียงจริงเมื่อเวลาหรือเงื่อนไขที่สกัดกั้นบรรดาขาใหญ่เหล่านั้นยุติลง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกหรือเพียงเกิดขึ้นกับเฉพาะพรรคเพื่อไทยเท่านั้น กับพรรคการเมืองอื่นๆ ก็ปรากฏในลักษณะเช่นเดียวกันมาแล้ว
สำหรับครั้งนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่เป็นไปตามข่าวลือเรื่องการเตรียมนายกรัฐมนตรีสำรองหรือไม่ก็ตาม แต่สำหรับคนเสื้อแดงการให้ความสนับสนุนต่อพรรคเพื่อไทยไปแต่เพียงอย่างเดียวก็จะไม่เป็นผลดีทั้งกับพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงในระยะยาวแม้แต่น้อย
หลายคนในหมู่คนเสื้อแดงอาจรู้สึกว่าแม้จะไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคในการดำเนินการเช่นนี้ แต่ในระยะเฉพาะหน้าก็จำเป็นต้องให้การสนับสนุนต่อไป เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นทางเลือกเพียงทางเดียวในระบบการเมืองของไทย ยิ่งอยู่ภายใต้สภาวะการถูกรุมเร้าจากฝ่ายอำมาตย์ที่ดูเหมือนจะหนักข้อมากขึ้นก็ยิ่งไม่มีทางเลือกอื่นใดหลงเหลืออยู่
แน่นอนว่าในบรรดาพรรคการเมืองที่มีอยู่ พรรคเพื่อไทยดูจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนเสื้อแดงมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเพราะฉะนั้นจึงควรต้องสนับสนุนกันไปอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู สิ่งที่ต้องคำนึงถึงควบคู่กันไปก็คือการสร้างพลังและการต่อรองของคนเสื้อแดงให้บังเกิดขึ้นในการดำเนินงานของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยด้วยเช่นกัน หากไม่ต้องการเป็นเพียงแต่เบี้ยในทางการเมืองในกับชนชั้นนำทั้งหลาย
หากพิจารณาจากแนวทางของรัฐบาลที่ผ่านมา จะเห็นได้ไม่ยากว่ารัฐบาลได้ใช้แนวนโยบายเศรษฐกิจเป็นธงนำในการแสวงหาความนิยมจากประชาชน และไม่ได้จำกัดไว้เพียงกับผู้คนในระดับรากหญ้าเท่านั้น หากยังครอบคลุมรวมไปถึงชนชั้นกลางและกลุ่มทุนขนาดใหญ่
ในขณะที่รัฐบาลเลือกจะเลี่ยงผลักดันนโยบายในทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการวางรากฐานของระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว รวมทั้งการสร้างความเป็นธรรม ไม่ว่าจะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายนิรโทษกรรมให้กับประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีฝ่ายใด มากไปกว่านั้นการออกมาประกาศไล่ล่าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยรองนายกรัฐมนตรีก็ยิ่งจะทำให้สถานการณ์เหล่านี้ยุ่งยากมากขึ้นไปกว่าเดิม
แน่นอนว่ารัฐบาลอาจตอบคำถามว่าการผลักดันนโยบายเหล่านี้อาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยซึ่งยังคงมีอยู่อย่างกว้างขวางและเข้มแข็งไม่น้อย อันปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความจริงอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งที่ต้องขบคิดพร้อมกันไปก็คือว่าอาการชะงักงันของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยสะท้อนให้เห็นถึงความไร้อำนาจของคนเสื้อแดงในการต่อรองกับพรรคการเมืองด้วยเช่นกัน ซึ่งอันที่จริงแล้วปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้ก็เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองแทบทุกพรรคในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ที่ฐานเสียงของพรรคมีส่วนในการควบคุมหรือกำกับแนวทางของพรรคในระดับที่ต่ำถึงต่ำมากที่สุด
เมื่อไร้อำนาจในการต่อรองกับผู้มีอำนาจภายในพรรค จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่บรรดาชนชั้นนำภายในพรรคจะสั่งซ้ายหันหรือขวาได้ตามใจชอบ ขึ้นอยู่กับว่าหันไปทางไหนแล้วจะทำให้เป็นประโยชน์กับชนชั้นนำในพรรคมากยิ่งกว่า
การชี้นิ้วว่าจะส่งใครลงสมัครเลือกตั้งก็เป็นอำนาจสิทธิขาดอันหนึ่งของพรรคที่อาจมองไม่เห็นหัวของบรรดาผู้สนับสนุนในระดับท้องถิ่นว่าจะมีความเห็นหรือความรู้สึกอย่างใด ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ได้โดยไม่มีเสียงโต้แย้งแม้แต่แอะเดียวก็ไม่ต้องแปลกใจแต่ประการใดที่หากร่างกฎหมายหลายเรื่องของคนเสื้อแดงจะถูกโยนทิ้งไปอย่างไม่ไยดี
การสร้างอำนาจต่อรองของประชาชนในพรรคการเมืองมีความจำเป็นไม่น้อยและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตยในพรรคการเมือง การแสดงให้เห็นถึงอำนาจจะนำมาซึ่งการรับฟังความเห็นและความต้องของฐานเสียงของพรรคมากยิ่งขึ้น ข้อเสนอต่างๆ ที่เป็นช่องทางของพลังของทางเสียงจึงต้องถูกเสนอและนำมาบังคับใช้ให้บังเกิดขึ้น
ข้อเสนอเรื่อง “ประชาชนเลือกก่อนพรรค” (Primary Vote) เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าบรรดาชนชั้นในพรรคการเมืองไหนๆ ก็คงไม่ต้องการทั้งนั้น เพราะหากมีกระบวนการให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจมันจะลดทอนการรวมศูนย์อำนาจของพรรคลงมาสู่ผู้สนับสนุน และหากเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางก็จะรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายที่สนองต่อมวลชนของพรรคในระดับที่สูงขึ้น
จะทำอย่างไรถ้าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคการเมืองอื่นๆ ปฏิเสธอำนาจของมวลชนในพรรค โดยไม่สนใจต่อเสียงเรียกร้องนอกวงชนชั้นนำภายในพรรค ตัวอย่างการบอยคอตหรือไม่ลงคะแนนให้กับผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยที่เคยเกิดขึ้นที่จังหวัดปทุมธานีจนพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่ชนชั้นนำของพรรคการเมืองเคยได้รับมาแล้ว
แต่การจะสร้างพลังต่อรองในลักษณะเช่นนี้ได้ คนเสื้อแดงคงต้องตัดสินใจและเลือกเส้นทางเดินว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคนี้ไปอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู หรือต้องการจะสร้างพลังของมวลชนให้ขึ้นมามีอำนาจต่อรองกับพรรคการเมืองมากขึ้น ซึ่งหากประสบความสำเร็จแล้ว ผลดีจะไม่ได้เพียงแค่เกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทยเพียงอย่างเดียวแต่อาจกลายเป็นโมเดลให้กับฐานมวลชนของพรรคอื่นๆ สามารถรวมตัวและนำไปกดดันกับพรรคการเมืองที่ตนเป็นฐานเสียงต่อไปได้ในอนาคต
(หมายเหตุ หลังจากเขียนบทความในคอลัมน์นี้มาประมาณ 5 ปี บัดนี้ถึงเวลาที่ผู้เขียนได้ตัดสินใจยุติคอลัมน์นี้ไว้เพียงเท่านี้ ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ได้ติดตามอ่านรวมทั้งคำวิจารณ์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องครับ)
การเมือง : ทัศนะวิจารณ์
วันที่ 28 มีนาคม 2556 01:00
กรุงเทพธุรกิจ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "กฎเมืองกฎหมาย"
เสื้อแดง ระหว่าง เขาควาย..บทความสุดท้ายของ สมชาย ปรีชาศิลปกุล
โดย : สมชาย ปรีชาศิลปกุล
การลาออกจากตำแหน่งของ ส.ส. จังหวัดเชียงใหม่คนหนึ่ง (แม้ผู้เขียนจะมีทะเบียนบ้านในจ.เชียงใหม่แต่ก็จำชื่อเสียงเรียงนามของบุคคลคนนี้ไม่ได้เลย)
และด้วยการมีข่าวติดตามมาว่าทางพรรคเพื่อไทยจะส่งคุณเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ลงสมัครเป็น ส.ส. แทนนั้น คงทำให้คนเสื้อแดงต้องขบคิดกันมากพอสมควรว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อเหตุการณ์เช่นนี้
ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ลิ่วล้อของนักการเมืองจำนวนไม่น้อยบุญหล่นทับได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแม้จะไม่ได้มีบารมีในทางการเมืองมากพอ อย่างไรก็ตาม บุคคลเหล่านี้ก็ต้องหลีกทางให้กับตัวจริงเสียงจริงเมื่อเวลาหรือเงื่อนไขที่สกัดกั้นบรรดาขาใหญ่เหล่านั้นยุติลง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกหรือเพียงเกิดขึ้นกับเฉพาะพรรคเพื่อไทยเท่านั้น กับพรรคการเมืองอื่นๆ ก็ปรากฏในลักษณะเช่นเดียวกันมาแล้ว
สำหรับครั้งนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่เป็นไปตามข่าวลือเรื่องการเตรียมนายกรัฐมนตรีสำรองหรือไม่ก็ตาม แต่สำหรับคนเสื้อแดงการให้ความสนับสนุนต่อพรรคเพื่อไทยไปแต่เพียงอย่างเดียวก็จะไม่เป็นผลดีทั้งกับพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงในระยะยาวแม้แต่น้อย
หลายคนในหมู่คนเสื้อแดงอาจรู้สึกว่าแม้จะไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคในการดำเนินการเช่นนี้ แต่ในระยะเฉพาะหน้าก็จำเป็นต้องให้การสนับสนุนต่อไป เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นทางเลือกเพียงทางเดียวในระบบการเมืองของไทย ยิ่งอยู่ภายใต้สภาวะการถูกรุมเร้าจากฝ่ายอำมาตย์ที่ดูเหมือนจะหนักข้อมากขึ้นก็ยิ่งไม่มีทางเลือกอื่นใดหลงเหลืออยู่
แน่นอนว่าในบรรดาพรรคการเมืองที่มีอยู่ พรรคเพื่อไทยดูจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนเสื้อแดงมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเพราะฉะนั้นจึงควรต้องสนับสนุนกันไปอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู สิ่งที่ต้องคำนึงถึงควบคู่กันไปก็คือการสร้างพลังและการต่อรองของคนเสื้อแดงให้บังเกิดขึ้นในการดำเนินงานของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยด้วยเช่นกัน หากไม่ต้องการเป็นเพียงแต่เบี้ยในทางการเมืองในกับชนชั้นนำทั้งหลาย
หากพิจารณาจากแนวทางของรัฐบาลที่ผ่านมา จะเห็นได้ไม่ยากว่ารัฐบาลได้ใช้แนวนโยบายเศรษฐกิจเป็นธงนำในการแสวงหาความนิยมจากประชาชน และไม่ได้จำกัดไว้เพียงกับผู้คนในระดับรากหญ้าเท่านั้น หากยังครอบคลุมรวมไปถึงชนชั้นกลางและกลุ่มทุนขนาดใหญ่
ในขณะที่รัฐบาลเลือกจะเลี่ยงผลักดันนโยบายในทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการวางรากฐานของระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว รวมทั้งการสร้างความเป็นธรรม ไม่ว่าจะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายนิรโทษกรรมให้กับประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีฝ่ายใด มากไปกว่านั้นการออกมาประกาศไล่ล่าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยรองนายกรัฐมนตรีก็ยิ่งจะทำให้สถานการณ์เหล่านี้ยุ่งยากมากขึ้นไปกว่าเดิม
แน่นอนว่ารัฐบาลอาจตอบคำถามว่าการผลักดันนโยบายเหล่านี้อาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยซึ่งยังคงมีอยู่อย่างกว้างขวางและเข้มแข็งไม่น้อย อันปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความจริงอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งที่ต้องขบคิดพร้อมกันไปก็คือว่าอาการชะงักงันของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยสะท้อนให้เห็นถึงความไร้อำนาจของคนเสื้อแดงในการต่อรองกับพรรคการเมืองด้วยเช่นกัน ซึ่งอันที่จริงแล้วปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้ก็เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองแทบทุกพรรคในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ที่ฐานเสียงของพรรคมีส่วนในการควบคุมหรือกำกับแนวทางของพรรคในระดับที่ต่ำถึงต่ำมากที่สุด
เมื่อไร้อำนาจในการต่อรองกับผู้มีอำนาจภายในพรรค จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่บรรดาชนชั้นนำภายในพรรคจะสั่งซ้ายหันหรือขวาได้ตามใจชอบ ขึ้นอยู่กับว่าหันไปทางไหนแล้วจะทำให้เป็นประโยชน์กับชนชั้นนำในพรรคมากยิ่งกว่า
การชี้นิ้วว่าจะส่งใครลงสมัครเลือกตั้งก็เป็นอำนาจสิทธิขาดอันหนึ่งของพรรคที่อาจมองไม่เห็นหัวของบรรดาผู้สนับสนุนในระดับท้องถิ่นว่าจะมีความเห็นหรือความรู้สึกอย่างใด ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ได้โดยไม่มีเสียงโต้แย้งแม้แต่แอะเดียวก็ไม่ต้องแปลกใจแต่ประการใดที่หากร่างกฎหมายหลายเรื่องของคนเสื้อแดงจะถูกโยนทิ้งไปอย่างไม่ไยดี
การสร้างอำนาจต่อรองของประชาชนในพรรคการเมืองมีความจำเป็นไม่น้อยและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตยในพรรคการเมือง การแสดงให้เห็นถึงอำนาจจะนำมาซึ่งการรับฟังความเห็นและความต้องของฐานเสียงของพรรคมากยิ่งขึ้น ข้อเสนอต่างๆ ที่เป็นช่องทางของพลังของทางเสียงจึงต้องถูกเสนอและนำมาบังคับใช้ให้บังเกิดขึ้น
ข้อเสนอเรื่อง “ประชาชนเลือกก่อนพรรค” (Primary Vote) เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าบรรดาชนชั้นในพรรคการเมืองไหนๆ ก็คงไม่ต้องการทั้งนั้น เพราะหากมีกระบวนการให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจมันจะลดทอนการรวมศูนย์อำนาจของพรรคลงมาสู่ผู้สนับสนุน และหากเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางก็จะรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายที่สนองต่อมวลชนของพรรคในระดับที่สูงขึ้น
จะทำอย่างไรถ้าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคการเมืองอื่นๆ ปฏิเสธอำนาจของมวลชนในพรรค โดยไม่สนใจต่อเสียงเรียกร้องนอกวงชนชั้นนำภายในพรรค ตัวอย่างการบอยคอตหรือไม่ลงคะแนนให้กับผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยที่เคยเกิดขึ้นที่จังหวัดปทุมธานีจนพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่ชนชั้นนำของพรรคการเมืองเคยได้รับมาแล้ว
แต่การจะสร้างพลังต่อรองในลักษณะเช่นนี้ได้ คนเสื้อแดงคงต้องตัดสินใจและเลือกเส้นทางเดินว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคนี้ไปอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู หรือต้องการจะสร้างพลังของมวลชนให้ขึ้นมามีอำนาจต่อรองกับพรรคการเมืองมากขึ้น ซึ่งหากประสบความสำเร็จแล้ว ผลดีจะไม่ได้เพียงแค่เกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทยเพียงอย่างเดียวแต่อาจกลายเป็นโมเดลให้กับฐานมวลชนของพรรคอื่นๆ สามารถรวมตัวและนำไปกดดันกับพรรคการเมืองที่ตนเป็นฐานเสียงต่อไปได้ในอนาคต
(หมายเหตุ หลังจากเขียนบทความในคอลัมน์นี้มาประมาณ 5 ปี บัดนี้ถึงเวลาที่ผู้เขียนได้ตัดสินใจยุติคอลัมน์นี้ไว้เพียงเท่านี้ ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ได้ติดตามอ่านรวมทั้งคำวิจารณ์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องครับ)
การเมือง : ทัศนะวิจารณ์
วันที่ 28 มีนาคม 2556 01:00
กรุงเทพธุรกิจ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "กฎเมืองกฎหมาย"