{คู่กรรม} : นอกจากเห็น "ฉันท์" แล้ว ยังเห็นภาพ "วรรณคดีไทย" เป็นเรื่องเป็นราวอีกต่างหาก (สปอยด์ตอนที่ยังไม่ได้ออกอากาศ)

เมื่อคราวที่แล้วบอกว่าดีใจที่เห็นร้อยกรองแบบ "ฉันท์" ในละครคู่กรรมแล้ว ก็ยังดีใจต่อเนื่องเมื่อเห็นบทละครที่อุดมไปด้วยวรรณคดีไทยแถมพกเข้าไปอีก เป็นการขยายความจากบทประพันธ์ได้อย่างลึกซึ้งนัก เท่าที่เห็นตอนนี้มี "มัทนะพาธา" พระราชนิพนธ์ในล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 "ขุนช้างขุนแผน" โดย พระราชนิพนธ์ในล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 และ กวีในรัชสมัยของพระองค์ รวมถึง สุนทรภู่  "กนกนคร" พระนิพนธ์ในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์(น.ม.ส.) และ อิเหนา พระราชนิพนธ์ในล้นเกล้ารัชกาลที่ 2  โดยเราเห็นว่าคุณแอ๊นท์ ปราณประมูลได้ขยายความจากประพันธ์สอด "เนื้อหาวรรณคดี" เข้าไปในเนื้อเรื่องได้อย่างคมคายทีเดียว

เริ่มด้วย ... มัทนะพาธา หรือ ตำนานดอกกุหลาบ ใน "คู่กรรม" ฉบับนิยายนี้จะมีเพียงเช้าตรู่วันหนึ่งวันนั้น(ฮา)ที่แม่อังเธอท่องอีทิสังฉันท์ยามเช้า แต่ในละครนั้นนอกจากจะท่องฉันท์ยามเช้าแล้ว (ซึ่งนางจะสื่ออะไรมิรู้ได้ แต่ความหมายของฉันท์คือเป็นการปฏิญาณรักระหว่างท้าวชัยเสนและนางมัทนา แต่สื่อรักระหว่างอังศุมาลินถึงโกโบริด้วยหรือไม่ ... ตามแต่จิ้น คิดว่าอย่างนั้น )  ก็ยังไปปรากฎอยู่เมื่อยามทั้งสองได้เจรจาสงบศึกและพากันท่องเที่ยวพระนครและมีโอกาสได้ชมละครเรื่อง "มัทนะพาธา" อ๊ะ กิ๊บเก๋ ช่างปูเรื่องได้เก่งมาก บทประพันธ์ช่วงที่เอามาสอดแทรกนั้นก็เป็นตอนที่ท้าวชัยเสนประสบพบหน้านางมัทนาก็ให้เพ้อครวญคนึงหาเพ้อเสร็จก็ต้องไปแอบเพราะมีนางมัทนาเดินออกมาครวญกับพระจันทร์หาท้าวชัยเสนเหมือนกัน ซึ่งช่วงนี้ในบทละครเอง อังศุมาลินท่องฉันท์หมุบหมิบแบบเดียวกับเสียด้วย ที่ต่างกันก็คือว่า ท้าวชัยเสนน่ะเข้าใจที่นางมัทนาคร่ำครวญเพ้อหาทั้งหมด แต่พ่อโกมะลิของเราไม่เข้าใจ (บอกให้จ้างเค้าเป็นล่ามซะก็ไม่เชื่อ ฮ่า ๆ)

ต่อมา ... ขุนช้างขุนแผน บรรยายความรักทั้งทีจะขาดเรื่องนี้ไปได้อย่างไร ? ในนิยายคุณยายของแม่อังบอกว่าพ่อโกน่ะนะ "เห็นเขาเป็นผัวเมียกันมานัก จะรักเหมือนพ่อรักพิมหามีไม่" (จริง ๆ เราไม่ค่อยจะศรัทธาความรักเรื่องขุนช้างขุนแผนเท่าไหร่ แต่ชอบอ่านเวลามีฉากบรรยายบ้านเรือน ต้นไม้ใบหญ้า ประเพณี เครื่องเย็บปักถักร้อยต่าง ๆ) แต่ในละครคณแอ๊นท์ก็แทรกไปด้วยให้แม่อังเธออ่านขุนช้างคุณแผนให้พ่อโกมะลิฟัง(คุณยายก็สนับสนุนบอกว่าให้รู้ว่าร้อยกรองไทยเพราะแค่ไหน)
ความว่า

"โอ้พ่อพลายสายสวาทของน้องเอ๋ย
มิเคยจะห่างเหสิเน่หา
นอนหอด้วยน้องสองเวลา
พ่อเคยพาพิมพูดพิไรวอน
นั่น นี่ ซี้ซิกสัพยอก
ยั่วหยอกมิใคร่ให้ไปไกลหมอน
แขนซ้ายเคยให้เมียหนุนนอน
เห็นเมียร้อน...พ่อก็พัด...กระพือลม"

แหม่ ... มันถอดเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องมาหมดเลย เข้ากั๊นเข้ากัน มีถามด้วยว่า "สายสวาท" แปลว่าอะไร คราวนี้แม่อังเป็นล่าม ฮ่า ๆ อ่านไปก็สะท้อนใจไปเพราะดันไปคิดถึงคนไกลที่กำลังจะกลับมา จริง ๆ ในเรื่องของขุนช้างขุนแผน ... อยากจะต่อไว้อีกหน่อยในเรื่องคู่กรรม 2 เพราะชอบวรรคนี้มากเหมือนกัน "เส้นไหมแม้นเขียนแนบเนียนดี สิ้นฝีมือแล้วแต่นางเดียว" ติ๊กต๊อก ๆ  ทายซิว่าหมายถึงใคร ?

กนกนคร เรื่องที่ 3 นี้เป็นบทประพันธ์ของ พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ จากพ่อโกและแม่อัง มาถึงเรื่องของวนัสกับแม่อังบ้าง บทเด่นคือบทนี้ค่ะ

หาแถงแง่ฟ้าหาง่าย                  
เบื่อหน่ายบงนักพักตร์ผิน
หาเดือนเพื่อนเถินเดินดิน              
คือนิลนัยนาหาดาย
เพ็ญเดือนเพื่อนดินสิ้นหา            
เพ็ญเดือนเลื่อนฟ้าหาง่าย
เดือนเดินแดนดินนิลพราย            
เดือนฉายเวหาสปราศนิล

กลอนหกนี้บรรยายถึงเวลาที่พระเอกเขาตามหานางเอก คือ อมรสิงห์ตามหานางกนกเรขา ก็เหมือนวนัสรำพึง(กลางดินกลางทรายหลังโดดร่มลงมา)หาแม่อังโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ว่าแม่อังไม่รอเป็นกนกเรขาแต่ไปเป็นนางพิมพิลาไลยเรียบร้อยโรงเรียนพ่อโกแบบ Japanese Style แล้ว (ฮา)  ถอดร้อยกรองมาแล้วก็ประมาณว่า บนฟ้านั้นมองหาจันทร์นั้นหาง่าย (แถง อ่านว่า ถะ-แหง(ออกเสียง ห -นำ นะคะ)) ถ้าเบื่อก็ไม่ต้องมองซะ แต่จะหาคนที่รักใคร่ชอบพออย่างนางกนกเรขา (นิลนัยนา คือ ดวงตาดำขลับเช่นเดียวกับศอพระศิวะเมื่อดื่มพิษจากการกวนเกษียณสมุทร ก็คือดวงตานางกนกเรขา) นั้นหายากเหลือเกิน ถ้าเทียบกันก็คงต้องบอกว่าวนัสคงจะรักใครที่ไม่ใช่อังศุมาลินไม่ได้ (ก็จริงของเขาเมื่อไปอ่านต่อในคู่กรรมภาค 2)

จบท้ายด้วย "อิเหนา" เอิ่ม อิเหนามายังไงคนอาจจะถาม "นางครวญ" ยังไงคะ เพลงนางครวญ จำได้ไหมที่พ่อโกถามว่านางครวญแปลว่าอะไร แปลว่าร้องไห้แม่อังตอบ พอถามว่าร้องไห้หาใครเท่านั้นแหละ ... วงแตก นางครวญมีเนื้อร้องนะคะ

ความว่า

โอ้ว่าป่านฉะนี้พระพี่เจ้า
จะโศกเศร้ารัญจวนครวญหา
ตั้งแต่พระไปแก้สงสัยมา
มิได้พบกนิษฐาในถ้ำทอง
พระจะแสนเศร้าสร้อยละห้อยไห้
หฤทัยทุกข์ทนหม่นหมอง
จะดั้นด้นค้นคว้าเที่ยวหาน้อง
ทุกประเทศเถื่อนท้องพนาลี

ก็บอกว่า ... นางครวญก็คือบุษบาครวญถึงอิเหนา นั่นเอง ตอนแรกคงครวญถึงวนัสดีอยู่ หลัง ๆ อิฉันว่าครวญถึงพ่อโกซะละมาก

เวิ่นเว้อจบแบบติ่งคู่กรรมแต่เพียงเท่านี้ ยกความดีให้คุณหญิงวิมล และ คุณปราณประมูลค่ะ สวัสดี



ป.ล.
1. ช่วงนี้อ่านบทละครโทรทัศน์แล้วกลอนมันช่างเยอะเป็นพิเศษ
2. เพิ่งจะสังเกตนามปากกาของคุณหญิงวิมลนี้เป็นนางในวรรณคดีทั้งนั้นเลยนะคะ ทมยันตี (พระนลคำฉันท์) ลักษณาวดี (พระลอ ลักษณาวดีเป็นมเหสีของพระลอก่อนเจอฤทธิ์พระเพื่อนพระแพง) กนกเรขา (กนกคร)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่