The Ballad of IT Support - Password นั้นสำคัญไฉน

ผมเป็นมนุษย์เงินเดินคนหนึ่งครับ เป็น IT Support มาตั้งแต่เรียนจบ เลยอยากเล่าประสบการณ์ต่างๆให้คนในสายงานอื่นฟัง เพื่อจะได้เข้าใจคนไอทีอย่างพวกผมมากขึ้น ผมเคยเขียนตอนแรกไปแล้วครับ แต่อยู่ในห้องถนนนักเขียน http://ppantip.com/topic/30249520
ตอน 2 นี้เลยคิดว่าน่าจะอยู่ห้องสีลมด้วย ติชมได้ทั้งนั้นครับ ยินดีรับฟัง

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Password นั้นสำคัญไฉน?

ผมมักจะโดนพี่ๆคนไทยรวมถึงฝรั่งในออฟฟิตบ่นเสมอว่า ระบบในที่ทำงานชอบให้เปลี่ยนพาสเวิร์ดอยู่เรื่อย เปลี่ยนจนไม่รู้ว่าจะหาคำอะไรมาตั้งเป็นพาสเวิร์ดแล้ว ผมก็ได้แต่ตอบกลับไปว่ามันเป็นนโยบายของบริษัทในเรื่องความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ พวกฝรั่งไม่ค่อยมีปัญหาครับเพราะเค้าเข้าใจ แต่พี่ๆคนไทยนี่ไม่ค่อยยอมจะเข้าใจเท่าไหร่ จริงๆอยากจะบอกเหมือนกันว่าผมก็ขี้เกียจจะเปลี่ยน และก็ไม่เคยเปลี่ยนเลยเพราะผมเป็นไอที ผมแก้ระบบให้ผมไม่ต้องเปลี่ยนพาสเวิร์ดบ่อยๆได้ แต่ด้วยความรับผิดชอบ จึงต้องเก็บเรื่องนี้ไว้ในใจคนเดียว อ้อ สองคนครับ กับผู้ช่วยผมอีกคน

คำถามที่ผมถูกถามบ่อยๆก็คือ “ตั้งพาสเวิร์ดเหมือนของเดิมไม่ได้เหรอ แล้วทำไมต้องมีตัวอักษรเล็กใหญ่ผสมกับตัวเลขด้วย มันจำยากนะ ไม่เห็นใจคนสูงวัยอย่างพี่เลย” บางทีก็จะเจอว่า “นี่พี่ก็เปลี่ยนแล้วนะ แต่ระบบมันไม่ยอมรับ ทำไมเรื่องมากจังไอ้ระบบไอทีของบริษัทเนี่ย” สุดท้ายไอทีอย่างผมก็ผิดอยู่ดี

เนื่องจากผมขี้เกียจตอบคำถามเดิมบ่อยๆ ผมเลยเรียกประชุมพนักงานในบริษัทเพื่ออธิบายเรื่องนี้ให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน แต่ปัญหาก็คือการอธิบายเรื่องไอที ให้คนที่ไม่ใช่ไอทีฟัง เป็นสิ่งที่ยากพอสมควร ผมจะไปอธิบายให้พี่ๆในออฟฟิตฟังได้ยังไงว่า “ระบบของบริษัทเราใช้การเข้ารหัสแบบ 128 บิท พาสเวิร์ดจะต้องถูกเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือน พาสเวิร์ดใหม่จะไม่สามารถใช้เหมือน 3 ครั้งก่อนหน้า พาสเวิร์ดต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า 6 ตัวอักษร และต้องประกอบไปด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษเท่านั้น และต้องมีอักษรตัวใหญ่ ตัวเลข และอักขระพิเศษอย่างน้อยอย่างละ 1 ตัว พาสเวิร์ดไม่ควรจะเป็นอะไรที่เดาได้ง่ายๆ เช่น วันเดือนปีเกิด ชื่อลูก ชื่อหมาตัวโปรด บลา บลา บลา” เพราะสุดท้ายแล้วพี่ๆแกก็จะไม่เข้าใจเหมือนเดิม

ผมเลยยกตัวอย่างว่า “พาสเวิร์ดก็เหมือนแปรงสีฟัน ที่พวกเราควรจะเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือน คงไม่มีใครอยากใช้แปรงสีฟันอันเดียวติดต่อกัน 2 ปี แล้วพาสเวิร์ดก็ควรจะซับซ้อนเหมือนแปรงสีฟันดีๆที่จะได้ซอกซอนไปทุกซอกหลืบในปาก ถึงแม้จะซับซ้อนแต่พวกพี่ก็จำพาสเวิร์ดพี่ได้ด้วยนะ เหมือนที่พี่จำแปรงสีฟันของพี่ได้นั่นแหละ ไม่งั้นพี่อาจจะไปหยิบแปรงของคนอื่นมาแปรงได้นะ แล้วเวลาที่พี่พิมพ์พาสเวิร์ดก็ไม่ควรจะให้คนเห็น เหมือนตอนพี่แปรงฟันพี่คงไม่อยากมานั่งแปรงให้ใครดูใช่เปล่า” อันนี้เป็นตัวอย่างคร่าวๆนะครับ จริงๆแล้วผมมีการแสดงตัวอย่างการแฮคพาสเวิร์ดแบบง่ายๆโดยใช้โปรแกรมที่สามารถหาดาวน์โหลดได้ทางอินเทอร์เน็ตมาให้ป้าๆได้ประจัก สามารถเรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควร พร้อมคำถามว่า “นี่แกแอบแฮคพาสเวิร์ดฉันไปป่าวเนี่ย ฉันยิ่งใช้พาสเวิร์ดที่จำง่ายๆอยู่ด้วย”

การทำงานกับคนสูงวัยไม่ใช่เรื่องง่ายครับ โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องใช้ความสามารถในการจำแบบนี้ เพราะหลังจากประชุมคราวนั้น พวกพี่ๆแกก็พยายามสรรหาความซับซ้อนมาตั้งเป็นพาสเวิร์ดของตัวเอง เรียกว่าให้ความร่วมมือกันอย่างดี แต่ปัญหาก็คือพาสเวิร์ดที่พี่ๆเค้าตั้งกันนั้นมันซับซ้อนเกิดความสามารถในการจดจำครับ ประมาณความจำสั้นแต่พาสเวิร์ดฉันยาว ทำให้ผมต้องมาคอยรีเซ็ทพาสเวิร์ดให้บ่อยๆ จนอยากจะซื้อแรมเพิ่มให้พวกพี่ๆเหมือนกัน เผื่อความจำพวกพี่ๆจะดีขึ้นบ้าง

จากปัญหาดังกล่าวทำให้ผมต้องเรียกประชุมอีกรอบเพื่อหาแนวทางให้พวกพี่ๆมีความจำที่ยาวขึ้น โดยการจับพวกพี่ๆแกมาเพิ่มแรมทีละคน เอ่อ ผมพูดเล่นครับ ผมเรียกประชุมเพื่อยกตัวอย่างว่าจะตั้งพาสเวิร์ดอย่างไรให้ซับซ้อนแต่จำง่าย ซึ่งก่อนที่ผมจะเริ่มยกตัวอย่าง ผมก็ขอให้พี่ๆเค้าช่วยอธิบายกันว่าแต่ละคนมีวิธีการตั้งพาสเวิร์ดกันยังไง ซึ่งโดยรวมแล้วก็คล้ายๆกันประมาณนี้ครับ
“พี่ใช้ชื่อย่อพี่แล้วตามด้วยวันเดือนปีเกิด แล้วก็ปิดท้ายด้วย $”

“ของพี่ใช้ชื่อหนังเรื่องโปรด ตัวแรกเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ แล้วปิดท้ายด้วย $$$ เพราะดูมีเงินดี”

“พี่ใช้พาสเวิร์ดเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนเลขตัวหลังไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็เลข 18 แล้วเนี่ย เท่าอายุ”

หลังจากนั้นผมก็ให้แต่ละคนเขียนพาสเวิร์ดของตัวเองลงกระดาษเพื่อให้ผมดูเป็นตัวอย่าง โดยที่ผมแจ้งในที่ประชุมว่าหลังจากประชุมเสร็จทุกคนก็จะต้องเปลี่ยนพาสเวิร์ดใหม่อยู่ดี เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าผมจะเอาพาสเวิร์ดไปทำอะไร ตัวอย่างของพาสเวิร์ดมีทั้งธรรมดาและน่าสนใจ ผมจะยกตัวอย่างที่น่าสนใจให้ดูสัก 2-3 ตัวอย่างนะครับ

A1y4s4non# พี่คนนี้ใช้นามสกุลของตัวเองเป็นพาสเวิร์ดครับ แต่เปลี่ยนตัวอักษรบางตัวเป็นตัวเลขแล้วก็เพิ่มสัญลักษณ์ # เข้าไป ดูเป็นวิธีที่เข้าท่าดีแต่ก็ยังพอเดาได้

asdfghjkl;’ พาสเวิร์ดนี้เป็นของพี่อีกคนนึงครับ ดูเหมือนจะดีและดูซับซ้อนนะครับ แต่จริงๆแล้วพี่แกไอเดียดีแต่ขี้เกียจครับ ลองไปดูที่คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ จะพบว่ามันคืออักษรของคีย์บอร์ดแถวกลางทั้งหมด พี่แกบอกว่าง่ายดี มาถึงก็รูดนิ้วปรื้ดเดียวถึงปุ่น Enter เลย ไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์

Password#18 อันนี้เป็นของพี่ที่อายุ 18 คนข้างบนครับ แกบอกว่าก่อนหน้านี้พาสเวิร์ดแกก็คือพาสเวิร์ด (password) แต่พอต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ก็เลยใช้วิธีรันตัวเลขไปเรื่อยๆ

1234567890 พาสเวิร์ดนี้พี่แกบอกว่าเป็นพาสเวิร์ดตกสำรวจครับ แกสารภาพว่าระบบไม่เคยให้แกเปลี่ยนพาสเวิร์ดเลยก็เลยใช้อย่างนี้มาตลอด แกแอบเสียใจนิดนึงตรงที่พอรูดนิ้วถึงเลข 0 แล้ว ยังต้องเอื้อมนิ้วก้อยมากดปุ่ม Enter ทีนึง รู้งี้ใช้เหมือนพี่คนข้างบนก็ดี
คงพอเห็นภาพนะครับว่าพี่ๆในออฟฟิตผมเป็นคนยังไงกัน หลังจากนั้นผมก็แนะนำวิธีการตั้งพาสเวิร์ดไป 2-3 วิธีครับ จะลองเอาไปใช้กันก็ได้นะครับ

วิธีแรก เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดเพราะไม่ต้องคิดแต่จำยากครับ โดยการใช้โปรแกรมตั้งพาสเวิร์ดซึ่งหาได้ตามอินเทอร์เน็ต โดยเข้า Google แล้วเสิร์ชคำว่า Password Generator Online ปัญหาคือพาสเวิร์ดที่ได้จะจำยากมากจนถึงไม่สามารถจำได้เลยเช่น Tye?Picot45 หรือ Vim%Cerci30 หรือ laG72FlaIR& พี่บางคนทำท่าทางสนใจครับ แต่บอกว่าจำยากแบบนี้สงสัยต้องจดใส่กระดาษแล้วแปะไว้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ของตัวเอง

วิธีที่สอง ผมแนะนำให้ใช้วิธีคิดเป็นไทยแต่พิมพ์เป็นอังกฤษครับ ยกตัวอย่างเช่นผมจะใช้นามสกุลตัวเองเป็นพาสเวิร์ดโดยการพิมพ์เหมือนพิมพ์ภาษาไทย แต่คีย์บอร์ดถูกตั้งไว้เป็นภาษาอังกฤษเหมือนเดิม นามสกุลผมพอเอามาตั้งเป็นพาสเวิร์ดก็จะได้คำว่า 9yh’9iu]ydKIN ดูยากดีนะครับ แต่จำง่าย อยากรู้ว่านามสกุลผมคืออะไร ลองไปนั่งไล่แป้นคีย์บอร์ดดูครับ หรือถ้าบางคนกิ๊กเยอะก็ใช้ชื่อกิ๊กมาเป็นพาสเวิร์ดไปเรื่อยๆก็ได้นะครับ 3 เดือนเปลี่ยนกิ๊กทีก็ฟังดูไม่เลวเหมือนกัน

วิธีที่สาม ผมแนะนำว่า อย่าใช้พาสเวิร์ดเดียวกันกับทุกอย่าง เพราะถ้าเกิดมีคนรู้พาสเวิร์ดหรือพาสเวิร์ดโดนแฮค มีกี่แอคเคาส์ก็จะโดนหมด เพราะสมัยนี้คนๆนึงมีแอคเค้าส์เพียบ ทั้งอีเมล์บริษัทเอย  Gmail Hotmail Pantip Sanook Facebook Twitter ซึ่งคนส่วนใหญ่จะใช้พาสเวิร์ดเดียวกันหมด ผมแนะนำว่าไม่ควรจะให้เหมือนกัน แต่ถ้าจำได้ไม่หมดก็ให้ใส่คำเพิ่มเข้าไปเช่น ผมอาจจะใช้ gmail9yh’9iu]ydKIN สำหรับพาสเวิร์ด Gmail และ facebook9yh’9iu]ydKIN สำหรับพาสเวิร์ด Facebook เป็นต้น

ผมแนะนำไปแค่สามวิธีเพราะไม่อยากให้เปลืองหน่วยความจำพี่ๆ สุดท้ายก็ต้องแล้วแต่ว่าแต่ละคนจะมีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดช่างสั้นกันขนาดไหนในการตั้งพาสเวิร์ดของตัวเอง ผมว่าเราสามารถเดานิสัยคนจากการตั้งพาสเวิร์ดได้เหมือนกันนะครับ

แล้วคุณล่ะครับ พาสเวิร์ดของคุณบ่งบอกหรือเปล่า ว่าคุณเป็นคนแบบไหน?

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่