กินอย่างไร ไม่ทำร้ายลูกในท้อง : การเพิ่มน้ำหนักของแม่ในช่วงตั้งครรภ์

เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงเคยได้ยินคนในครอบครัว, เพื่อนร่วมงาน หรือ comment ใน social network
บอกว่า "ตอนท้องก็กินๆ ไปเลย ไม่ต้องกลัวอ้วน เดี๋ยวคลอดก็ลด" "คนท้องต้องขุนเยอะๆ เดี๋ยวลูกไม่โต" อะไรทำนองนี้บ่อยๆ
วันนี้เราจะมาดูกันว่าที่เค้าพูดแบบนั้น จริงมั๊ย

น้ำหนักของคุณแม่ควรจะเพิ่มเท่าไหร่ ... จะไม่เท่ากันในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์คะ
โดยจะคิดจาก Body mass index หรือ BMI โดยคิดจาก น้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง

คิดได้แล้วก็ตามมาดูต่อเลยค่ะ ... น้ำหนักที่ควรเพิ่มตลอดการตั้งครรภ์ เป็นดังนี้

Low BMI < 19.8 น้ำหนักควรจะเพิ่มระหว่าง 12.5-18 กิโลกรัม
Normal BMI 19.8-26 น้ำหนักควรจะเพิ่มระหว่าง 11.5-16 กิโลกรัม
High BMI 26-29 น้ำหนักควรจะเพิ่มระหว่าง 7-11.5 กิโลกรัม
อ้วน BMI > 29 น้ำหนักควรจะเพิ่มประมาณ 7 กิโลกรัม

สรุปง่ายๆ ก็คือ น้ำหนักควรจะเพิ่มน้อยในคนที่อ้วนหรือน้ำหนักเกินอยู่แล้ว และน้ำหนักควรจะเพิ่มมากขึ้นในคนที่น้ำหนักตัวน้อย

ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์น้ำหนักจะยังไม่ขึ้นหรือบางคนน้ำหนักลดเพราะแพ้ท้อง ก็ไม่ต้องกังวลนะคะ
โดยทั่วไปน้ำหนักของคุณแม่จะเริ่มขึ้นในช่วงหลังจากไตรมาสแรก (หลังจากอายุครรภ์ 14 สัปดาห์)
และจะเพิ่มมากขึ้นประมาณสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัมในไตรมาสที่ 3 (หลังจาก 28 สัปดาห์) ไปแล้ว

โดยทั่วไปการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์แบ่งออกเป็น 3 ช่วง
- ช่วงที่ 1 ก่อนอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ จะมีการเพิ่ม "จำนวน" เซลล์ (cellular hyperplasia) อย่างรวดเร็ว
น้ำหนักตัวทารกจะเพิ่มประมาณ 5 กรัมต่อวันที่อายุครรภ์ 15 สัปดาห์
- ช่วงที่ 2 ตั้งแต่ 16 สัปดาห์ถึง 32 สัปดาห์ จะมีการเพิ่มทั้ง "ขนาด" และ "จำนวน" ของเซลล์ (cellular hypertrophy และ hyperplasia) ในร่างกาย
น้ำหนักตัวทารกจะเพิ่มประมาณ 15-20 กรัมต่อวันที่อายุครรภ์ 24 สัปดาห์
- ช่วงที่ 3 หลังจากอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ จะเพิ่ม "ขนาด" ของเซลล์ (cellular hypertrophy) ซึ่งน้ำหนักตัวทารกจะเพิ่มประมาณ 30-35 กรัมที่ 34 สัปดาห์

หลังคลอดน้ำหนักคุณแม่จะลดลง ประมาณ 5.5 กิโลกรัมหลังคลอด ลดประมาณ 4 กิโลกรัม ในระหว่างหลังคลอด ถึงสองสัปดาห์
และลดประมาณ 2.5 กิโลกรัม ในช่วงสองถึงหกสัปดาห์หลังคลอด

คุณแม่ไม่ควรจะเพิ่มน้ำหนักมากเกินไปในระหว่างการฝากครรภ์ นอกจากจะทำให้คุณแม่น้ำหนักเกินแล้ว
ในปัจจุบันยังมีความเชื่อเกี่ยวกับ fetal programming ซึ่งเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมในระหว่างการตั้งครรภ์ (intrapartum environment)
จะส่งผลต่อการเกิดโรคทารกในอนาคตได้ เช่น ถ้าแม่อ้วนหรือน้ำหนักขึ้นเยอะ หรือทานอาหารที่มีแป้งและไขมันเยอะในระหว่างตั้งครรภ์
จะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคทางเมแทบอลึซึม (metabolic syndrome) ได้ในอนาคต

ดังนั้น คุณแม่อย่าตามใจปาก ตามใจคนรอบข้างมากเกินไปนะคะ อย่าคิดว่ากินไปเดี๋ยวค่อยลด เพราะไม่ใช่แค่ส่งผลกระทบกับคุณเท่านั้น
แต่ยังส่งผลกับอนาคตของลูกคุณด้วย

แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ใน "ทางสายกลาง" น้ำหนักควรจะเพิ่มอย่างเหมาะสม ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป
และคนที่อ้วนก็ไม่ควรจะลดน้ำหนักในช่วงที่ตั้งครรภ์นะคะ และควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่นะคะ

https://www.facebook.com/pages/ใกล้มิตรชิดหมอ/138161163029343?ref=tn_tnmn
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่