TRC พ่อสั่งลุย

กระทู้คำถาม
พ่อสั่งลุย!'ภาสิต ลี้สกุล' ทายาท TRC ถ้าไม่กลับมา...พ่อตัดนะ
Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Monday, March 11, 2013 07:35


"สิ้นเสียง"แสดง "เจตนารมณ์" ที่ ต้องการ"ถอย" ออกมาทำหน้าที่เป็น "เทรนเนอร์"ให้กับลูกชายคนโตวัย 30 ปี "เต้"ภาสิต ลี้สกุลของคุณพ่อลูก3 "สมัย ลี้สกุล" แม่ทัพใหญ่แห่ง "ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น" (TRC) บริษัทท็อปไฟฟ์ที่มีความเชี่ยวชาญงานวางระบบ ท่อส่งแก๊สธรรมชาติของไทย ก็จัดแจงให้พีอาร์ สาวสายตรงมาขอ "โชว์ตัว" ลูกชายควบกับการ "แจกแจงวิสัยทัศน์" ทันที
สัญญาณ "แขวนนวม" ถูกส่งถึง "หนุ่มเต้" ตั้งแต่ปี 2552 หลังผู้พ่อโทรตามให้กับมาทำงาน ใน TRC ด้วยข้อเสนอเงินเดือนเริ่มต้น 22,000 บาท "สมัย" ส่งลูกชายไปเรียนมัธยมปลายที่ Wilbraham and Monson Academy ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะต่อปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์-การเงิน และปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ-การเงินที่ Bentley College สหรัฐอเมริกา
ตำแหน่งนักวิเคราะห์การเงินใน "บีทียู เวนเจอร์" สหรัฐอเมริกา คือ งานแรกของ "ภาสิต"ทำได้ 2 ปี (2550-2551) พ่อก็สั่งบินกลับเมืองไทย ด้วยเหตุผล "พ่อเหนื่อยแล้ว ถ้าไม่กลับมา "ตัด" เลยนะ" ตำแหน่งผู้ช่วยประสานงานโครงการ คือ งานแรกที่ผู้เป็นพ่อมอบให้เขาดูแลใน TRC กลับมาได้เพียง 2 สัปดาห์ "สมัย" ส่ง "เต้" ไปดีลงานร่วมกับกลุ่มปตท.ในประเทศไนจีเรีย 2 สัปดาห์ ก่อนจะขยับตำแหน่งให้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาโครงการและการลงทุน และย้ายมานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาโครงการและการลงทุน ปัจจุบันยกฐานะเป็น "กรรมการ"
"ศึกษาภาพรวมทั้งหมดของบริษัท ทำงานคลุกคลีกับพนักงานระดับล่าง สร้างความสัมพันธ์กับพนักงาน" โจทย์แรกที่ "สมัย" สั่ง "เต้"ต้อง "ตีให้แตก"
"สมัย ลี้สกุล" ถือเป็นหนึ่งในผู้กว้างขวาง ในแวดวงก่อสร้างของไทย เขาเรียนจบวิศวะจุฬาฯ รุ่น วศ.2515 มีเพื่อนร่วมรุ่นคนดังๆ มากมาย อาทิ "แอ๊ด" กิตติ ชีวะเกตุ เจ้าของ "ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์" (UAC) "สลิบ สูงสว่าง" แม่ทัพใหญ่ "ไฮโดรเท็ค" (HYDRO) "พูลพิพัฒน์ ตันธนสิน" นายใหญ่ "คิวทีซี เอนเนอร์ยี่" (QTC) และ "ชวลิต หวังธำรง"เจ้าของ "ผลธัญญะ" (PHOL) เป็นต้น
เขาตัดสินใจลาออกจากเชลล์แห่งประเทศไทย และกลุ่มซิโน-ไทย เพื่อออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ด้วยการรับงานออกแบบดีไซน์เครื่องจักรตามโรงงานต่างๆ ในอดีต "สมัย" เคยโดนวิกฤติต้มยำกุ้งพ่นพิษ เพราะไปเซ็นค้ำประกันในวงเงินหลายพันล้านบาท ก่อนจะลุกขึ้นมา สร้าง TRC และดันบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2548
"ผมไม่เคยบังคับว่าลูกทุกคนต้องเข้ามาทำงานใน TRC แต่สำหรับ "เต้" คนนี้ไม่ได้ เขาเป็นลูกคนโตต้องทำหน้าที่ตรงนี้ "สมัย ลี้สกุล"กล่าวทักทาย "กรุงเทพ BizWeek" โดยมี "ภาสิต ลี้สกุล" นั่งอมยิ้มอยู่ข้างๆ
ก่อนจะแสดงวิสัยทัศน์ร่วมกับลูกชาย สมัยเล่าให้ฟังว่า ผมมีลูก 3 คน "เต้-ภาสิต" คนโต "ต๊อบ- ภาวิตา" ลูกสาวคนรอง ขานี้เพิ่งเรียนจบ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาลัย และปริญญาโท MBA สหรัฐอเมริกา คนนี้ชอบความสนุกสนาน ดูเหมือนชีวิตเรื่อยเปื่อย แต่เขาจบเกียรตินิยมนะ (หน้าตาภูมิใจ)
ช่วง "ต๊อบ" เรียนจบใหม่ๆ ผมก็ให้เขา เข้ามาชิมลางฝ่าย CSR ในบริษัท ทำได้ 2 ปี เขาขอออกไปหาประสบการณ์ที่อื่น แต่อีกเดี๋ยวจะให้กลับมาทำด้าน IR แล้ว เพราะบริษัทกำลังขยายตัว เราต้องสื่อสารกับคนรอบข้างเรื่องนี้ สำคัญมาก "ต๊อบ" เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี ฉะนั้นหน้าที่นี้ต้องยกให้เขา ส่วนลูกสาวคนสุดท้อง "ต่อ-ภาสิตา" คนนี้ชอบเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์เหมือนผม ตอนนี้เรียนจบแล้ว กำลังจะให้เรียนต่อปริญญาโท สเต็ปเดิม คือ จบแล้วไปหาประสบการณ์ที่อื่นก่อนแล้วค่อยกลับมา
ตอน "เต้" เด็กๆ ผมก็ไม่ได้สอนอะไรเขามากมาย เพราะไม่ค่อยมีเวลาต้องทำงาน (หัวเราะ) โชคดีหน่อยตรงที่ลูกๆ ยังเด็ก พวกเขาไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ ไม่เคยทำอะไรให้หนักใจ ฉะนั้นสิ่งเดียวที่ผมจะให้เขาได้ คือ "การศึกษา" พอดีช่วงนั้นเมืองไทยเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมถือโอกาสส่งลูกไปเรียนเมืองนอกซะเลย ตอนนั้นไม่มีเงินถุงเงินถัง แต่ก็ต้องหามาส่งลูกเรียน เพราะระบบการการศึกษาไทยยังเป็นลักษณะการป้อนข้อมูล ไม่ให้เด็กคิดเอง อีกอย่างการส่งลูกไปนอกบ้าน ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งของผม เมื่อถึงเวลา ลูกๆ ต้องกลับมา ช่วยทำงาน "สมควรแก่เวลาแล้ว"
แรกๆ ที่ลูกชายเข้ามาทำงานใน TRC เขาก็เป็นเพียงพนักงานธรรมดา ตอนโน่นใจผม คิดว่า หากลูกๆ รับกับงานไม่ได้จริง ก็คงให้ออกไปทำงานที่อื่น และให้คงสถานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะฝืนทำต่อไปคงเป็นปัญหา ตอนนี้ "เต้" โอเคแล้ว เรียกได้ว่าเป็นที่ยอมรับของพนักงานทุกระดับ นี่พูดตามที่ตาเห็นนะ ผมจึงค่อนข้างสบายใจ
หน้าที่ของผู้เป็นพ่อตอนนี้ คือ สอนให้เขาทำงาน ตั้งโจทย์ใหญ่ไว้ว่า "ทำอย่างไรจึงเป็นผู้นำในธุรกิจ" การเป็นลีดเดอร์ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องเป็นลูกของผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือเป็นลูกของ "ซีอีโอ" แต่การเป็นผู้นำได้คุณจะต้องมีความสามารถพอสมควร อย่างคนอื่นเขาทำงาน 8 ชั่วโมง แต่คุณจะเป็น "ลีดเดอร์" จะต้องทำงาน 16 ชั่วโมง คุณถึงจะถีบตัวเองขึ้นมาได้เร็วกว่าคนอื่น
"เมื่อคุณไม่ได้เป็นซูเปอร์แมน ไม่มีฤทธิ์เดช ไม่มีอภินิหารมากกว่าคนอื่น ดังนั้น คุณจะต้องทำงานมากกว่าคนอื่น เพราะว่าไม่มีอะไรมาช่วย...!!!
ผมมักบอกกับลูกชายเสมอว่า บริษัทแห่งนี้ คือ สิ่งที่พ่อสร้างขึ้นมา ดังนั้นคุณเป็นลูก จะต้องเขามาสานต่อให้ได้ "จุดสำคัญ" คือ การทำให้เพื่อนร่วมงานยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นพี่หรือน้อง คุณต้องเข้าใจพนักงานทุกคน เพราะว่าบริษัทเราเติบโตมาได้ทุกวันนี้ก็เพราะความร่วมมือจากทุกคน หากคุณเข้ากับพนักงานไม่ได้ คุณจะเป็นผู้นำในองค์กรได้อย่างไร "หนุ่มเต้" ระบายความในใจว่า ผมต้องทำให้ทุกคนเห็นว่า ผมทำงานได้จริงๆ ผมทำงานได้จริงๆ "วันนี้ผมพิสูจน์ได้แล้ว ผมพร้อมจะสานต่องานที่พ่อเป็นคนสร้างขึ้นมาให้เติบโตต่อไป"
"สมัย" พูดให้กำลังใจลูกชายว่า หากเขาสามารถนำพาองค์กรเดินหน้าต่อไปได้ ทุกคน "แฮปปี้" ผมก็ถือว่าเขา "สอบผ่าน" แต่อีกเรื่องหนึ่งที่เขาต้องทำ คือ สร้างตัวตนให้คนภายนอกยอมรับ คุณต้องมีความน่าเชื่อถือ ต้องมีคอนเนคชั่นที่ดี ไม่จำเป็นต้องไปคุยโม้ว่าเรามีคอนเนคชั่นดีอย่างไร
หลัง "พ่อสมัย" ร่ายคำสอนที่มีต่อลูกชายมายืดยาว "ภาสิต" อาสาตอบคำถามเกี่ยวกับทิศทางธุรกิจของ "ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น" ว่า เราอยาก ผันตัวเองมาเป็นผู้ลงทุน ด้วยการเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน และโลจิสติกส์ แต่ยังบอกรายละเอียดมากไม่ได้ เพราะทุกอย่างยังไม่สมบูรณ์ ต้องรอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ และที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน
เบื้องต้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน อาทิเช่น อาจจะต้องเพิ่มทุน เป็นต้น ผมพอจะบอกรายละเอียดได้นิดหน่อยว่า TRC จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนสัก 2-3 แห่ง หากต้องการ "เจริญเติบโต" อีกสักพักจะได้ข้อสรุป ตอนนี้คืบหน้าไปแล้ว 70-80% ยอมรับวันนี้เดินคนเดียวมันทั้งลำบาก และเหงา พอดีผมเป็นคนขี้เหงา (หัวเราะ) เราอาจใช้เงินลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนแห่งแรกไม่สูงมากนักประมาณ 100 ล้าน บาท หากในเดือน เม.ย. นี้ ได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 30 ล้านบาท จากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ก็อาจเดินหน้าได้ทันที ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้รับคัดเลือกจากปตท.แล้ว
ส่วนโครงการต่างประเทศแถบเพื่อนบ้าน ยอมรับอยากทำ ตอนนี้เจราจาอยู่เรื่องเงินลงทุนก็จะใหญ่ขึ้นมาอีกระดับ "สมัย" เสริมว่า โครงการนอกบ้าน เรื่องนี้ต้องคิดหนัก เรียกว่าคิดแล้วคิดอีก เพราะหากเข้าไปแล้วทุกอย่าง "สวยหรู" ก็โชคดีไป แต่จากการเข้าไปสัมผัสยังไม่ค่อยโอเคเท่าไร ทั้งเรื่องกฎหมาย และสาธารณูปโภค คาดว่าอีก 2-3 ปี น่าจะเห็นเป็นรูปร่าง วันนี้เรามีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะใช้ในการลงทุน ฉะนั้นเราจะเลือกโครงการที่ชัวร์ๆก่อน โดยเฉพาะงานในประเทศ ส่วนนอกบ้านไว้ว่ากันอีก
"ภาสิต" พูดถึงธุรกิจรับเหมาว่า วันนี้ยังคงเป็น ธุรกิจหลัก (Core Business) เรากำลังจะเข้าประมูลงานท่อก๊าซเส้นที่ 3 ของปตท.มูลค่าประมาณ 300 ล้านเหรียญ ซึ่ง TRC เป็นบริษัทในประเทศไทยที่จะไปร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ เรามั่นใจว่าได้งานนี้ชัวร์ เพราะในเมืองไทย TRC มีความถนัดงานวางท่อก๊าซมากที่สุดรายหนึ่ง
"ผู้เป็นพ่อ" จบบทนสนทนาด้วยการทำนายรายได้ 3 ปี (2556-2558) ว่าเรา "อนุรักษ์นิยม" ขอเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี อยากทำฐานให้แน่นก่อน พอทุกอย่างโอเค ตัวเลขก็จะปรากฎให้เห็นเอง (ยิ้ม) ผมขอฝากถึงนักลงทุนนิดหนึ่งว่า วันนี้หุ้น TRC มี P/E ไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจรับเหมารายอื่นๆ เรามีอนาคตที่ดี โดยเฉพาะในปีนี้ บริษัทมีสิทธิได้มากมาย รับรอง TRC จะไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง แม้จะผลัดใบแล้วก็ตาม

'ออมเงิน'คัมภีร์ของ'พ่อ'
"เต้" ภาสิต ลี้สกุล นั่งพิงเก้าอี้ชิลๆ แตกต่างจากช่วงแรกที่เจอ "กรุงเทพธุรกิจ BizWeek" ก่อนจะเปิดฉากเล่าถึง "วิถีการออมเงิน" ให้ฟังว่า สมัยเด็กๆ "อากง" (ปู่) มักสอนให้ผมรู้จักแบ่งการใช้เงิน หากได้เงินมา 1 บาท ให้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยส่วนแรก 25 สตางค์ เก็บไว้เป็นเงินก้นถุง เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน 25 สตางค์ ซึ่งเป็นส่วนที่ 2 ให้นำไปลงทุน เพื่อต่อยอดของเงิน อีก 25 สตางค์ เก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว และ 25 สตางค์ส่วนสุดท้าย "เก็บไว้"
"อากง" มักบอกว่าส่วนที่ต้องใช้ก็ต้องใช้ เพียงแต่เราต้องวางแผนดีๆรู้จักใช้เงินให้เป็น เช่น ช่วงนี้เหมาะกับการลงทุน ก็ไม่ควรให้เงินมันนอนนิ่งๆ ผันเปลี่ยนไปตามสถานการณ์รอบข้าง ท่านพูดเสมอว่า ต้องบริหารจัดการเงินให้แน่น ไม่ใช้ลงทุนหมด 80% หากเกิดเหตุไม่คาดฝันจะทำอย่างไร!สมัยเด็กๆ ผมออมเงิน ด้วยวิธีหยอดกระปุกออมสิน เริ่มเก็บตั้งแต่มีเหรียญ 5 บาท ใช้ในเมืองไทย(หัวเราะ) ตอนนั้นคุณพ่อจะมีอีก 3กระปุกออมสิน ทุกกระปุกจะเขียนชื่อลูกๆ แต่ละคนติดไว้แต่เงินในกระปุกคุณพ่อเป็นหยอดพอกระปุกเต็มก็เอาไปฝากแบงก์ พ่อบอกว่า "ทำเป็นตัวอย่างให้ลูกดู" ตอนนั้น
ผมรู้สึก "สนุก""สมัย" เสริมว่า เชื่อหรือไม่ ทุกวันนี้ 2 กระปุก ออมสินของลูกสาว 2 คน ยัง อยู่เลย แต่ของ "เต้" ไม่มีแล้ว "ผู้เป็นพ่อ" เสริมว่า ตอน "เต้" กลับมาทำงานใน TRC ใหม่ๆ ผมสอน ให้เขารู้จักการลงทุนหลายๆด้าน สอนให้เขาแบ่งเงินครึ่งหนึ่งไปลงทุนในตลาดหุ้น โดยให้เขาเป็นคนบริหารพอร์ตเอง หากมีกำไรแบ่งกันคนละครึ่ง (หัวเราะ) ผมอยากให้เขารู้จักการบริหารในหลากหลายรูปแบบ เพราะอนาคตเขาต้องเป็นผู้บริหาร หากบริหารขาดทุนผมจะตัดเงินเดือน (ยิ้ม)
ถามว่าในพอร์ตมีหุ้นกี่ตัว "สมัย" บอกของ ตัวเองก่อนว่า ตอนนี้มีหุ้นตัวเล็กๆ 5-6 ตัว เมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งโดดเข้าไปซื้อหุ้น คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) (CNT) ช้อนไม่เยอะเท่าไร หุ้นบิ๊กไซด์ก็มีนะ อาทิ หุ้น ปตท.(PTT) และหุ้น บ้านปู (BANPU) ส่วนใหญ่ผมซื้อเพราะต้องการความรู้ สินทรัพย์จำพวกที่ดิน ผมก็ซื้อลงทุนบ้าง แต่ไม่มากเท่าไร
"เต้" แทรกว่า ผมต้องทำตัวเป็น "เป็ด"บินได้ ว่ายน้ำได้ เรียกว่าทำทุกอย่างได้
แต่ไม่เก่งเท่าไร (หัวเราะ) ทุกวันนี้ผมออมเงิน ด้วยการซื้อบอนด์เป็นหลัก ในตลาดหุ้น ก็มีบ้างเน้นซื้อหุ้นบูลขิพ ตอนนี้พอร์ตหลัก 10 ล้านบาท มีหุ้นประมาณ 6-7 ตัว อาทิ หุ้น ปตท. (PTT) หุ้นปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และหุ้น ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ผมเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นครั้งแรกในปี 2549 สมัยเรียนที่สหรัฐอเมริกา หลังเห็นเพื่อนที่เรียนไฟแนนซ์ด้วยกันลงทุนแล้วได้กำไร ก็เลยตัดสินใจเอาเงินเก็บ 10,000 เหรียญสหรัฐ ไปเปิดพอร์ต หุ้น Apple ของ "สตีฟ จ็อบส์" เป็นหุ้นตัวแรกที่ลงทุน จำได้ว่าซื้อตอนราคา 80 เหรียญ ระหว่างนั้นมีขายทำกำไรมาเรื่อยๆ จนผ่านไปปีกว่า ราคาพุ่งแตะ 200 เหรียญ จึงตัดใจฃขายหมด
เมื่อเล่นแล้วได้กำไร ทำให้เกิดอาการติดใจ ประกอบกับเพื่อนมาแนะนำให้ไปซื้อหุ้น ตัวเล็กๆ ราคาตัวละ 1 เหรียญ เรียกว่า เล่นตามกระแสข่าว ไม่มีข้อมูลอะไร พอกลับมาดูหุ้น อีกครั้ง ราคาหุ้นร่วงลงมาเหลือ 20 เซ็นต์ ขาดทุน ไป 5,000 เหรียญ ตอนนั้น "เข็ดมาก" ผมจึงหันมา ดูหุ้นบลูซิบมากขึ้น หลังกลับมาเมืองไทยก็เอาเงินมาเปิดพอร์ตลงทุน อีกครั้ง ตอนนั้นหุ้นครอบครัวปตท.มีอัตราการจ่ายเงินปัน ผลดีมาก ทำให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลทั้งพอร์ตลงทุนอยู่เฉลี่ย 7-8%
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่