โมเดลการรวยด้วยแก้ว 3 ประการของ ดร.นิเวศน์

กระทู้สนทนา
*** ถ้อยแถลง ***
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ต่อไปนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่ผมได้เรียนรู้จากนักลงทุนระดับตำนานของเมืองไทย และผมก็เชื่อว่า นี่คือ “หัวใจสำคัญ” ของการไปสู่ความมั่งคั่ง บทความอาจจะยาวหน่อย แต่มันจะทำให้เส้นทางเศรษฐีของท่าน "สั้นลง" อย่างมาก ลองติดตามกันครับ

คงจะไม่ผิดถ้าจะบอกว่าคนส่วนใหญ่มีความ "อยากรวย" อยู่ในใจ คนจนที่หาเช้ากินค่ำก็อยากมีเงินล้าน พนักงานออฟฟิศก็อยากสุขสบายมีรถหลายคันมีเงินหลายล้าน ส่วนคนที่รวยอยู่แล้วก็อยากรวยยิ่งขึ้น แต่ความอยากเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เราจะต้องรู้ “วิธี” และเมื่อรู้วิธีแล้วก็จะต้องทำด้วย

ผมเคยอ่านบทความของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ซึ่งเปลี่ยนฐานะของตนเองจากมนุษย์เงินเดือนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ให้เป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ท่านเขียนถึง แก้ว 3 ประการของการลงทุน เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ และผมก็ขอนำมาต่อยอดด้วย “โมเดล” จากแก้วทั้ง 3 ประการนั้น


แก้ว 3 ประการ

ผมขอย้อนให้ฟังสั้นๆ ว่าแก้วทั้งสามดวง ได้แก่
   1. เงินลงทุนเริ่มแรก (amount หรือ A)
   2. อัตราผลตอบแทนที่ทำได้ (rate of return หรือ r)
   3. ระยะเวลาที่ลงทุน (time หรือ t)

เพียงแค่ใช้ “สามัญสำนึก” ก็จะรู้ได้ว่า เราสามารถเพิ่มความร่ำรวยได้ ถ้า 1) เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินมากๆ 2) ลงทุนให้ได้อัตราผลตอบแทนสูงๆ และ 3) ลงทุนในระยะยาว ... แต่เรารู้หรือเปล่าว่าแก้วดวงไหนส่งผลอย่างไร และดวงไหนส่งผลแรงกว่ากัน!

หากเรารู้ที่มาที่ไปของแก้ว 3 ประการนี้ ก็จะทราบได้ว่า “ความมั่งคั่ง” ของเราแปรตามปัจจัยทั้ง 3 ตัวนี้อย่างไร และสมมติเราขาดแก้วดวงใดไป (เช่น มีเงินทุนน้อย) เราจะ “สู้ต่อ” อย่างชาญฉลาดได้อย่างไร

เลข ม.ต้น ช่วยตอบท่านได้ครับ


ดอกเบี้ยและผลตอบแทน

คนทั่วไปทราบวิธีคิดดอกเบี้ยพื้นฐานอยู่แล้ว เช่น ถ้าเราเอาเงินต้น A = 1 ล้านบาท ไปฝากธนาคารแล้วได้อัตราดอกเบี้ย r = 8% เมื่อผ่านไปหนึ่งปีเงินในบัญชีของเราจะเป็น 1 ล้านบาท (เงินต้น) บวกด้วย 8 หมื่นบาท (ดอกเบี้ย)

     A (1 + r)  =  1000000 x (1 + 0.08)  =  1.08 ล้านบาท

และเงิน 1.08 ล้านบาทนี้จะกลายเป็นเงินต้นของปีต่อไป อย่างที่เราเรียกว่าการ “ทบต้น” ถ้าฝากเงินหลายปี ผมก็เอาเทอม (1 + r) คูณกันเท่ากับจำนวนปีที่ฝากเงิน เช่น ฝากเงิน t = 5 ปี เงินในบัญชีของผมจะเป็น

***

หรือ  1000000 x (1 + 0.08)5  =  1.47 ล้านบาท (กดเครื่องคิดเลขเอานะครับ) ซึ่งเราเอาวิธีคิดนี้ไปใช้คำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนได้เช่นกัน


ทำอย่างไรให้เงินก้อนนี้โต

ตอบแบบกำปั้นทุบดิน เราก็เพิ่ม A (เพิ่มเงินลงทุน) เพิ่ม r (ลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น) และเพิ่ม t (ลงทุนให้นานหรือเริ่มลงทุนตั้งแต่ยังเด็ก) แต่การเพิ่มแต่ละตัวก็มีข้อคิดและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เอาเป็นว่าเรามาไล่ดูกันทีละตัวเลยดีกว่า


เพิ่มเงินลงทุน

การเพิ่มเงินลงทุนเป็นวิธีที่ชัดเจนที่สุด สมมติว่าเรามีเงิน 1 ล้าน เอาไปลงทุนได้กำไร 5% หรือ 5 หมื่นบาท ถ้าอยากได้กำไร 2 แสนหรือครับ ก็เพิ่มเงินลงทุนเป็น 4 ล้านบาทสิ! การเพิ่มความมั่งคั่งด้วยการเพิ่มเงินลงทุนเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เราทำทุกอย่างเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนสเกลให้ใหญ่ขึ้นเท่านั้นเอง

ข้อด้อยอย่างเดียวของวิธีนี้คือ กำไรที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มแบบ เชิงเส้น ครับ ความหมายก็คือ เมื่อเพิ่มเงินลงทุนเป็น 2 เท่า กำไรก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะตัว A เป็นเพียง "ตัวคูณ" ที่แปะอยู่ข้างหน้าของสมการ ดังนั้น ถ้าอยากรวย 10 เท่าก็ต้องลงเงินเพิ่มเป็น 10 เท่า



คนส่วนใหญ่มักจะอ้างว่าตัวเองไม่รวยและก็ไม่ใช่ลูกคนรวยด้วย จะไปหาเงินที่ไหนมาลงทุน ความจริงเคล็ดลับมันก็มีอยู่เหมือนกันครับ อย่างแรก คือ พยายามเอาเงินเก็บมาลงทุน อย่าปล่อยให้เงินนอนว่างงานอยู่เฉยๆ ถ้าสำรวจให้ดีจะพบว่ามีเพียงเสี้ยวหนึ่งของความมั่งคั่งของเราเท่านั้นที่เป็นเงินลงทุนและสามารถงอกเงยได้

ลองคิดดูว่าความมั่งคั่งของคุณจมอยู่กับบ้านหลังใหญ่ที่ยังต้องผ่อนอีก 30 ปี หรือหมดไปกับรถคันโตหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นโอกาสรวยคงจะน้อยลง เพราะทรัพย์สินเหล่านั้นไม่สามารถงอกเงยได้ในลักษณะเดียวกับเงินลงทุน

อย่างที่สอง พยายามลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะทำให้มีเงินเหลือเก็บสำหรับการลงทุนมากขึ้นโดยแทบไม่กระเทือนการกินอยู่ตามปกติของคุณ สำรวจตัวเองดูว่าทุกครั้งที่โบนัสออก คุณเอาเงินนั้นไปทำอะไร? ซื้อมือถือใหม่ กล้องถ่ายรูปรุ่นเจ๋งๆ หรือหมดไปกับกระเป๋า-รองเท้าแบรนด์ดัง?

การที่เราเอาเงินโบนัสไปซื้อ นั่นแสดงว่ามันเป็นของชิ้นพิเศษที่เป็น “ส่วนเพิ่ม” ให้กับชีวิต ไม่ใช่ "ของจำเป็น" ต่อการดำรงชีพจริงๆ ซึ่งถ้าเราเก็บเงินส่วนนั้นไปลงทุน แล้วรอให้มันผลิดอกออกผล คุณจะได้จับจ่ายในวันข้างหน้าเพลิดเพลินมากกว่านี้อีกหลายเท่านัก

อย่างที่สาม เมื่อได้เงินปันผลหรือได้กำไรมา อย่าเพิ่งเอาไปกินไปใช้หมด แต่ให้เก็บเอาไว้ลงทุนซ้ำบ้าง ผมเคยแนะนำให้ญาติผู้ใหญ่แบ่งเงินไปลงทุนในกองทุนอสังหาฯ พอได้เงินปันผลมาเขาก็เอาไปกินไปใช้กันสนุกสนาน ผมเลยแนะนำต่อว่า หากเราแบ่งเงินนี้บางส่วนไปซื้อหน่วยลงทุนเพิ่ม เงินปันผลคราวหน้าจะมากขึ้นไปอีก ภาษาเก๋ๆ คือ ให้เก็บเงินปันผลไป reinvest
เป็นอย่างไรบ้าง การเพิ่มเงินลงทุนทั้ง 3 ข้อนี้ไม่ยากใช่มั๊ยครับ


ลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น

การลงทุนที่ว่าอาจเป็นอะไรก็ได้ หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การเปิดร้านค้าของคุณเอง แต่สิ่งที่ควรจำไว้คือ พยายามมองเงินของคุณเป็น portion หรือเป็นส่วนๆ

ส่วนที่ฝากธนาคารให้ผลตอบแทนน้อยแต่มีสภาพคล่อง จึงควรมีแต่น้อยเท่าที่จำเป็น ส่วนลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงและคุณมีความเชี่ยวชาญควรมีไว้มากๆ ส่วนลงทุนที่ช่วยประหยัดภาษีก็มีประโยชน์ แต่ต้องชั่งน้ำหนักว่าภาษีที่ประหยัดได้คุ้มกับผลตอบแทนหรือไม่

ผลตอบแทนที่ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยจะให้ผลอย่างมากในระยะยาว เช่น ถ้าเราลงทุน 10 ล้านบาทเป็นเวลา 20 ปี และทำผลตอบแทนได้ปีละ 12% จะมีเงิน 96.5 ล้านบาท แต่ถ้าทำผลตอบแทนได้ 13% จะมีเงินถึง 115.2 ล้านบาท และถ้าทำผลตอบแทนได้ 15% จะมีเงินถึง 163.7 ล้านบาท!

หลายคนอยากรวยแต่ไม่รู้ (และไม่สนใจจะรู้) ช่องทางที่จะสร้างผลตอบแทนให้ได้สูงๆ คล้ายกับคนที่ “อยากมีสุขภาพดี” แต่ขี้เกียจออกกำลังกาย ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะช่วยได้อย่างไร เพราะของแบบนี้ “ใครทำใครได้” ครับ

น่าเสียดายตรงที่มีช่องทางการลงทุนหลายทางที่ใช้ความพยายามเพิ่มน้อยมาก อย่างเช่น การเอาเงินไปซื้อกองทุนหุ้น ซื้อ LTF หรือ RMF หรือแม้แต่กองทุนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งลงทุนง่าย ให้ผลตอบแทนค่อนข้างมั่นคง ถ้าคนขี้เกียจเหล่านี้ใฝ่หาความรู้บ้าง และรู้จักโยกเงินไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ ก็จะเพิ่มผลตอบแทนได้อย่างไม่ลำบากเลย

ที่น่าเสียดายหนักเข้าไปอีกคือ อัตราผลตอบแทนหรือ r ในสมการนั้นไม่ได้ส่งผลต่อกำไรในลักษณะ เชิงเส้น ในแบบเดียวกับการเพิ่มเงินลงทุน หรือพูดให้ง่าย คือ เพิ่ม r นั้นได้ผล "แรง" กว่าการเพิ่มเงินลงทุน เพราะการเพิ่ม r นั้น พจน์ (1 + r) จะถูกเอาไปยกกำลังด้วยจำนวนปี ดังนั้นผลกำไรจะเพิ่มขึ้นแบบ เร่งตัว หรือที่เรียกว่า exponential (เอ๊กซ์โปเนนเชียล)

และนี่คือความลับที่ทำให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ร่ำรวยขึ้นมาได้ถึงทุกวันนี้ครับ




การลงทุนให้นาน

เราไม่สามารถย้อนเวลาได้ การเริ่มลงทุนให้เร็วที่สุดก็คือ เริ่มเลย!

ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ พยายามอยู่ในการลงทุนชั้นเยี่ยมให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ คุณอาจมีเงินลงทุนมาก คุณมีหุ้นเด็ดอยู่ในมือและสร้างผลตอบแทนได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ถ้าคุณ "เล่นรอบ" คือทำกำไรสั้นๆ เป็นรอบไป ผลตอบแทนของคุณจะไม่ต่อเนื่อง เดี๋ยวเข้า เดี๋ยวออก เข้าไม่ทันก็ “ตกรถ” เสียอีก อย่างนี้ถือว่าผิดหลักของการลงทุนให้นาน

สมมติว่าผมมีหุ้นแจ๋วแหววอยู่ตัวหนึ่งซึ่งทำผลตอบแทนให้ผมได้ถึง 120% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากผมไม่ได้วิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ ถัดมาอีกสามปีตัวธุรกิจก็ทรงตัวและราคาของมันก็ไม่ไปไหน เบ็ดเสร็จห้าปีผมได้ผลตอบแทน 120% เท่าเดิม ซึ่งถ้าคิดต่อปีแล้วเทียบเท่ากับผลตอบแทนทบต้น 17% ต่อปีเท่านั้น ทั้งที่จบปีที่สองดูท่าจะทำได้ดีกว่านี้

ดังนั้นการลงทุนให้นาน ต้องเป็นการลงทุนในผลตอบแทนสูงๆ ให้นานด้วยครับ

ระยะเวลาการลงทุนหรือตัว t ในสมการก็ให้ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นเชิงเส้นเหมือนกันกับอัตราผลตอบแทนหรือตัว r ในสมการ ผลลัพธ์ของมัน "แรง" เหมือนๆ กับตัว r เพียงแต่ว่าแรงกันคนละลักษณะ




มารวยระเบิดกันเถอะ!

ถึงตรงนี้เรารู้แล้วว่า ในบรรดาแก้วทั้งสามดวงนั้น ตัว A (เงินลงทุนเริ่มแรก) เป็นเพียงตัวเดียวที่ส่งผลแบบ เชิงเส้น ในขณะที่ตัว r (อัตราผลตอบแทน) และตัว t (ระยะเวลาที่ลงทุน) ช่วยกันส่งผลแบบ เร่งตัว

หากลองย้อนกลับไปดูแผนภาพที่แสดงผลของแก้วแต่ละดวง และ “ใช้ประโยชน์” จากมันอย่างเต็มที่ (ประมวลแผนภาพทั้งสามเข้าด้วยกัน!) เมื่อแก้วทั้ง 3 ประการส่องแสงอย่างพร้อมเพรียง สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ความมั่งคั่งที่คุณเห็นแล้วจะต้องตกใจ




เครดิต: MonkeyFreeTime.com และอาจารย์นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่