มหากาพย์คลื่น 1800 MHz – ปฐมบทสงคราม 4G หลังสิ้นยุคสัมปทาน

กระทู้สนทนา
วันนี้จะมาเล่าเรื่องภาคต่อของ 3G เทียม/แท้
http://ppantip.com/topic/30178110
เพราะว่าต่อไปไม่แน่เราอาจจะได้ยินคำพูดใหม่ๆ เกี่ยวกับ 4G เทียม/แท้อีกก็เป็นได้นะครับ วันนี้ผมเลยจะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคลื่น 1800 MHz ที่กำลังเป็นข่าวเกือบทุกวัน

สืบเนื่องจากว่าในเดือนกันยายนปี 2556 นี้ สัญญาสัมปทานระหว่า CAT กับ Truemove และ DPC กำลังจะหมดลง ซึ่งถือเป็นสัญญาสัมปทานมือถือสัญญาแรกที่จะหมดลง จากกรณีนี้ กสทช. แสดงเจตจำนงอย่างชัดแจ้งที่จะนำเอาความถี่ทั้งสองชุดรวม 25 MHz มาจัดสรรโดยการประมูลใหม่ โดยในการประมูลคลื่น 1800 MHz นี้ทาง กสทช. ต้องการให้ผู้ชนะนำไปให้บริการโดยระบบ LTE 4G เป็นอย่างน้อย
แต่ทางด้านเจ้าของสัมปทานคือ CAT ก็อ้างว่าจะทำอย่างไรกับลูกค้าที่ค้างอยู่ในระบบจำนวน 17 ล้านรายของ Truemove กับ 90,000 รายของ DPC เพราะคาดว่าการย้ายลูกค้าไปยังระบบใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลาพอสมควร . ในการนี้ทาง CAT จึงได้ทำการร้องขอไปยัง กสทช. เพื่อขยายเวลาในการถือครองความถี่ 1800 MHz ทั้งสองชุดข้างต้น โดยชุดความถี่ของ DPC ขอขยายไปจนถึงปี 2016 และชุดของ Truemove ขอขยายไปจนถึงปี 2025 โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อเป็นการเยียวยาและดำเนินการย้ายลูกค้าไปยังเครือข่ายอื่น (ย้ายนานขนาดนี้เลยเหรอครับ)

ผู้สันทัดกรณีในวงการหลายคนลงความเห็นว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของ CAT น่าจะมีค่ายมือถือที่มีสีแดง สีส้มหนุนหลังเนื่องจากความสนิทสนมกลมเกลียวและทำมาหากินกันมาเนิ่นนาน ดังนี้แล้วไม่น่าจะเป็นการเกินเลยที่จะกล่าวว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม-มือถือบ้านเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ “Bandwidth Game” หรือการไล่ล่า Bandwidth ของ Operator ค่ายต่างๆ นั่นเอง โดยเฉพาะกระบี่มือ 1 ค่ายใบไม้สีเขียวในปัจจุบันที่น่าจะกระหาย Bandwidth มากกว่าเพื่อน

มือ 1 ของเรามีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะได้ถือครองความถี่มากขึ้น เพื่อจะนำมาให้บริการมือถือได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว เพราะด้วยความที่มีฐานลูกค้าถึง 36 ล้านคนทั่วประเทศบวกกับภาพลักษณ์การเป็นผู้นำในเรื่องคุณภาพของ Network ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานจนเป็นจุดขายที่สำคัญของพี่เค้า (แม้ว่าปัจจุบันจะโดนตำหนิอย่างหนักจนเสียรูปมวยไปพอสมควรก็ตาม) แม้ว่าเบอร์ 1 ของเราจะมีความถี่ 2100 อยู่ในมือ 15 MHz เท่าๆ กับจานแดงและใบพัด แต่เมื่อพิจารณาฐานลูกค้าและความตั้งใจที่จะรักษาบัลลังก์เบอร์ 1 แล้ว พี่เค้าน่าจะต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลน Bandwidth ในระยะเวลาไม่นานหลังการให้บริการ 3G 2100 เต็มรูปแบบ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม CEO ของเบอร์ 1 จึงออกมาให้ข่าวอย่างชัดเจนว่าต้องการเป็นผู้ชนะในการประมูลความถี่ 1800 MHz (ถ้า กสทช. ผลักดันให้เกิดขึ้นได้)

ข้ามมาดูทางฟากจานแดง ซึ่งเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วโดยการจัดงานแถลงข่าวเกี่ยวกับการให้บริการ 4G LTE ภายใต้ความถี่ 2100 MHz โดยจะให้บริการร่วมกับเทคโนโลยี 3G บนความถี่เดียวกัน (Bandwidth Sharing). การเคลื่อนไหวของจานแดงในครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า Truemove จะมุ่งไป Focus บนเทคโนโลยี 4G แต่อย่างใด สิ่งที่ Truemove ต้องการให้ตลาดและผู้บริโภค “รับรู้” ก็คือภาพของการเป็นผู้นำ (First Mover) ของเทคโนโลยี 4G ในประเทศไทย (งานนั้นจัดก่อนงานแถลงข่าวเปิดตัว TOT 3G และการให้บริการ 4G ของ TOT เพียงวันเดียว)

การเคลื่อนไหวดังกล่าวของ Truemove ทำให้ AIS ไม่สามารถออกมาปะทะและโต้ตอบได้โดยตรง สำหรับพี่ใหญ่แล้ว เงินและกำลังไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่ AIS ไม่มีคือ 3G บนความถี่รอง ที่สามารถนำมา Backup ในกรณีที่แบ่งความถี่ 2100 MHz ไปทำ 4G แตกต่างจากเจ้าพ่อจานแดง ซึ่งมี 3G 850MHz เป็นอาวุธเสริมในการฟาดฟันในสงครามนี้ (อย่างน้อยก็อีกระยะ) ดังนั้นสิ่งที่ AIS ต้องการอย่างมากคือ Bandwidth จากความถี่ 1800 MHz เพื่อจะได้นำมาให้บริการ 4G เพื่อรักษาสถานะเบอร์ 1 ให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดทำให้เราเห็นได้ถึงแรงจูงใจของเจ้าพ่อเบอร์ 1 ที่ต้องการเร่งให้เกิดการประมูลความถี่ 1800 MHz และในทางกลับกันเราก็จะได้เห็นเหตุผลเบื้องหลังเกมการยื้อความถี่ 1800 MHz ของทางฝั่ง CAT เช่นกัน

หมอกควันที่เกิดจากการต่อสู้ฟาดฟันและฝ่ากระแสต่อต้านในการประมูลการถือครองคลื่นความถี่ 2100 MHz เพื่อให้บริการ 3G ยังไม่ทันจะจางลง สงครามครั้งใหม่บนความถี่ 1800 MHz และเทคโนโลยี 4G ก็ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง แต่เหตุผลที่ทุกฝ่ายจะใช้ในการอ้างความชอบธรรมในการกระทำของตัวเองก็ยังเหมือนเดิม “เพื่อให้ลูกค้าและผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด” โปรดติดตามตอนต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่