ก่อนเป็นสมเด็จ ลีลาวาทะสมเด็จโตฯ #1

ลีลาวาทะสมเด็จโตฯ ตอนที่ 1 ก่อนจะเป็นสมเด็จโตฯ ช้างเผือกกินพระไตรปิฎก
เรียบเรียงโดย ร้อยเอกประชุม สุขสำราญ
ให้เสียงโดย ฟ้าทะลายโจร



เนื้อเรื่องตอนที่ 1
- ก่อนจะเป็นสมเด็จโตฯ
- ช้างเผือกกินพระไตรปิฎก

ลีลาวาทะสมเด็จโตฯ #1 ก่อนเป็นสมเด็จ
Link : http://youtu.be/BcFoFMH5vbg

๐ ก่อนจะเป็นสมเด็จโตฯ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นพระเถระที่ทรงคุณวิเศษอยู่หลายประการ ยังผลให้ "พระสมเด็จ" ที่ท่านสร้างได้รับความนิยมอย่างสูง แม้นคาถา "ชินบัญชร" ก็ยังเป็นที่นิยมสวดภาวนา จนเป็นคาถาที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ สามารถบันดาลผลที่ปรารถนาได้สารพัด ทั้งนี้ก็ด้วยบารมีแห่งคุณวิเศษของท่านนั่นเอง

เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต มีอายุยืนยาวถึง 5 รัชกาล คือ เกิดใน พ.ศ. 2331 (รัชกาลที่ 1) และสิ้นใน พ.ศ. 2415 (รัชกาลที่ 5) และเชื่อกันว่า เจ้าประคุณเป็นเชื้อพระวงศ์ด้วย

ผมเคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่ พูดถึงประวัติของท่านโดยสรุปว่า

"เกิดที่ไชโย โตที่วัดอินทร์ สิ้นที่วัดระฆัง"

เพราะฉะนั้น ท่านจึงสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ในสถานที่ที่ท่านเกี่ยวข้องอยู่นั้น นัยว่าเพื่อให้สมกับชื่อ "โต" ของท่าน เช่นที่วัดเกตุไชโย อ่างทอง, หลวงพ่อโต วัดอินทร์ บางขุนพรหม กทม. เป็นต้น

เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ท่านประพฤติปฏิบัติแปลกๆ ซึ่งพระรูปอื่นไม่ทำหรือทำไม่ได้ และเมื่อท่านทำแล้ว แทนที่จะถูกตำหนิ ติเตียนกล่าวโทษท่าน แต่กลับได้รับความนิยมนับถือยิ่งขึ้น แม้พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นสมมติเทวดาก็ยังยินยอม ไม่ถือโทษ พระราชทานอภัย ทั้งนี้เพราะท่านทรงอภินิหารเป็นวิสามัญบุคคล เรียกว่าเป็นบุคคลประเภท "ปาปมุติ" ทำอะไรก็น่ารัก น่านับถือไปหมด ว่างั้นเถอะ

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เองก็เคยพูดถึงความประพฤติของท่านอยู่เสมอว่า

"ที่เขาชมว่าขรัวโตดี นั่นแหละคือ ขรัวโตบ้า ที่เขาติว่านั่นแหละคือ ขรัวโตดี"

หรือท่านพูดว่า "ทีขรัวโตบ้า ก็ว่าขรัวโตดี, ทีขรัวโตดี ก็ว่าขรัวโตบ้า" เป็นงั้นไป

..............................................................

๐ ช้างเผือกกินพระไตรปิฎก

ความเป็นอัจฉริยะของท่านนั้น มีมาแต่เยาว์วัย เมื่อครั้งเป็นสามเณรโต ก่อนจะย้ายไปอยู่วัดระฆัง พระอาจารย์ที่วัดระฆังยังฝันไปว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่ง เข้ามากินหนังสือพระไตรปิฎกในตู้ของท่านหมด ซึ่งพระอาจารย์ตื่นขึ้น ก็เกิดความมั่นใจว่าฝันนั้นจะเป็นนิมิตว่าท่านจะได้ศิษย์ที่ฉลาดหลักแหลมคนหนึ่ง

วันรุ่งขึ้น สามเณรโตก็ถูกนำตัวมาฝาก ท่านจึงรับไว้ด้วยความยินดี สามเณรโตเป็นช้างเผือกจริงขนาดไหนก็ลองฟัง สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุ ท่านพูดถึงสามเณรโตดูก็ได้ว่า ก่อนจะเรียนหนังสือ (สมัยนั้นเขาแปลหนังสือจากคัมภีร์ภาษามคธ เป็นภาษาไทย) ท่านก็ทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า "วันนี้จะเรียนตั้งแต่บทนี้ ถึงบทนี้นะขอรับ"

เสร็จแล้วเวลาเรียนก็เปิดหนังสือออกแปลจนตลอดตามที่กำหนดไว้ ท่านทำอย่างนี้ทุกครั้ง จนสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นอาจารย์ว่า "ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฉันฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก"
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่