รักที่ถูกปิดของเจ้าหญิงพิษณุโลก Credit(เรียบเรียงโดย) ศรีรัญจวน

กระทู้สนทนา
จขกท. ได้อ่านบทความบทนี้ เป็นความรู้ใหม่ และได้ทราบว่า พระสุพรรณกัลยา มีทายาท สืบสายมาได้ถึง นายกลา

เลยนำมาให้อ่านต่อ บทความนี้ เรียบเรียงโดย คุณศรีรัญจวน นสพ. เดลินิวส์ สามารถอ่านบทความอื่นได้ จาก กูเกิ้ล


เจ้าหญิงพิษณุโลก คือพระราชธิดาในพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่า กับพระสุพรรณกัลยาผู้ทรงเป็นพระพี่นางของพระมหากษัตริย์ไทย 2 พระองค์คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พระองค์ดำ) และ สมเด็จพระเอกาทศรถ (พระองค์ขาว)
    
เจ้าหญิงพิษณุโลกหรือเจ้าหญิงเจ้าภุ้นซีพระองค์นี้ได้รับการสถาปนาเฉลิมพระยศพระราชทานตำแหน่งเป็น พิษณุโลกเมียวซา เพราะทรงได้รับสิทธิในภาษีประจำปีที่ได้มาจากพิษณุโลก พระองค์ทรงได้รับการพระราชทานนามว่า เจ้าหญิงภุ้นซี ซึ่งมีความหมายว่า ผู้มีสติปัญญาและพระบารมี แต่ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จักกันในพระนาม เมงอทเว (เมง-อะ-ทเว) ที่แปลว่าเจ้าหญิงองค์น้อย
   
มิกกี้ ฮาร์ท ชาวพม่าผู้สนใจประวัติศาสตร์ไทย-พม่า ได้แปลเอกสารหลักฐานของพม่าที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหญิงพิษณุโลกหรือเจ้าหญิงเจ้าภุ้นซี ไว้ดังนี้
   
.....พระสุพรรณกัลยาได้ทรงครรภ์ตั้งแต่ตอนที่พระเจ้าบุเรงนองกำลังทรงศึกกับล้านช้างที่เมืองลโบ (ปัจจุบันอยู่ชายแดนไทย-ลาว) เมื่อเสด็จมาถึงกรุงหงสาวดีได้ไม่นานพระธิดาพระองค์น้อยก็ประสูติ เมื่อ พ.ศ.2113 พระเจ้าบุเรงนองทรงโสมนัสมาก พระราชทานนามพระธิดาพระองค์ว่าเจ้าภุ้นซี แต่พระองค์ทรงพอพระทัยที่จะเรียกพระธิดาของพระองค์โดยชื่อเล่นว่ามังอะถ้อย (เจ้าหญิงน้อย).....
    
ในพระราชพงศาวดารพม่าได้กล่าวว่า พระสุพรรณกัลยาเป็นพระมเหสีที่พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดปรานมาก โดยทรงจัดให้สร้างตำหนักทรงไทยขึ้นในพระราชวังกรุงหงสาวดี และเมื่อพระเจ้าบุเรงนองเสด็จกลับหงสาวดีภายหลังการรบจึงได้มีการจัดงานสำคัญ โดยในวันเพ็ญเดือนมีนาคม พ.ศ.2116 มีงานบูชาพระมหาเจดีย์ชเวดากอง พระสุพรรณกัลยาพร้อมด้วยพระราชธิดาองค์น้อยได้ประทับเรือพระที่นั่งโดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปบำเพ็ญพระราชกุศลนาน 5 วัน
   
ต่อมาภายหลังเจ้าหญิงเจ้าภุ้นซีซึ่งได้เสกสมรสกับเจ้าเกาลัด ซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าอสังขยา เจ้าเมืองตะลุป ชาวไทใหญ่และมีตำแหน่งเป็นเสนาบดีของพระเจ้ามังรายกะยอชวา พระโอรสองค์ที่สองของพระเจ้านันทบุเรงโดยทรงมีพระธิดาด้วยกันคือเจ้าหญิงจันทร์วดี
   
จะเห็นได้ว่าในระยะที่มีเหตุการณ์สงครามยุทธหัตถีใน พ.ศ.2135 ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชของพม่า จนพระมหาอุปราชทรงสิ้นพระชนม์นั้นได้ทำให้เหตุการณ์บ้านเมืองของประเทศราชใกล้เคียงของพม่าเริ่มประจักษ์ชัดในพระปรีชาสามารถในด้านการรบในสงครามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในขณะนั้น
   
ด้วยเหตุนี้ใน พ.ศ. 2137 พระเจ้านยองยันกษัตริย์ตองอูผู้ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนองกับพระเจ้าอนรธาเมงสอกษัตริย์เชียงใหม่ ที่ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนองที่ประสูติแด่ “ราชเทวี” ซึ่งทั้งสองเมืองนี้ได้ “แข็งเมือง” คือแยกตัวเป็นอิสระจากหงสาวดีโดยพระเจ้านยองยัน ได้เข้าครองกรุงอังวะ ทั้งนี้พระเจ้านยองยันทรงมีความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นอันดีกับเจ้าอสังขยาพระบิดาของเจ้าเกาลัด (พระสวามีในเจ้าหญิงเจ้าภุ้นซี)
    
หลังจากนั้นเจ้าเกาลัดได้นำทหาร 3,000 นายออกจากหงสาวดีไปสวามิภักดิ์กับพระเจ้านยองยัน ดังนั้นเจ้าเกาลัดจึงได้รับพระราชทานนามให้เป็น เจ้าโกโตรันตรมิตร และได้รับพระราชทานตำแหน่งเสนาบดีเช่นเดียวกันกับเจ้าอสังขยาผู้เป็นพระบิดา จากนั้นต่อมาเมื่อพระเจ้านยองยันสวรรคตและพระเจ้าสุทโทธรรมราชาพระราชโอรสได้ครองราชย์ต่อ โดยพระองค์ได้แต่งตั้งให้เจ้าโกโตรันตรมิตรเป็นเสนาบดีของพระนางอดุลจันทร์เทวีพระอัครมเหสีของพระองค์ ทั้งนี้พระอัครมเหสีได้โปรดปรานและมีพระเมตตารักใคร่ต่อเจ้าหญิงจันทร์วดีเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อเจ้าหญิงจันทร์วดีมีพระชนมายุได้ 20 พรรษาจึงเสกสมรสกับเจ้าจอสูร์ จากเมืองส้าในไทใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2168 และมีพระประสูติกาลพระโอรสนามว่าเจ้าจันทร์ญีและพระธิดานามว่าเจ้ามณีโอฆ ซึ่งภายหลังเจ้ามณีโอฆได้เสกสมรสกับมหาเศรษฐีชาวอังวะ (พ.ศ.2191-2192) โดยมีบุตรชายด้วยกันนามว่า กุลา และนายกุลาผู้นี้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในสมัยพระเจ้าศรีมหาสีหสูรสุธรรมราชาเป็น “เจ้ารูปลังกา” ซึ่งท่านเป็นผู้แต่งพงศาวดารมหาราชวงษ์อันเป็นพงศาวดารพม่าที่มีชื่อเสียงที่สุดฉบับหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2257
    
อย่างไรก็ตามมิกกี้ ฮาร์ท ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับพระสุพรรณกัลยาว่าเจ้าหญิงเจ้าภุ้นซีกับพระราชมารดาได้เสด็จออกมาประทับนอกพระราชวังกัมโพชธานี ภายหลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคตตามพระราชประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาของพระราชวงศ์พม่าและทั้งสองพระองค์ได้ทรงย้ายมาประทับอยู่อังวะ มิได้อยู่ในหงสาวดีและอาจจะดำรงพระชนม์ชีพตามวิถีกาลเวลา ซึ่งข้อสันนิษฐานของมิกกี้ ฮาร์ทได้ขัดแย้งกับพงศาวดารไทยหลายฉบับ แม้กระทั่งพงศาวดารของพม่าฉบับหอแก้ว โดยเฉพาะในกรณีการสิ้นพระชนม์ของพระสุพรรณกัลยาจากพระแสงดาบของพระเจ้านันทบุเรงพร้อมพระราชโอรสหรือพระราชธิดาและการไม่ยอมรับของพระสุพรรณกัลยาในพระมเหสีของพระเจ้านันทบุเรง
   
แต่ถ้าหากได้พิเคราะห์ถึงพระทายาทผู้สืบเชื้อสายของพระสุพรรณกัลยานั้น อาจจะเป็นไปได้ว่าเจ้าหญิงพิษณุโลกหรือเจ้าหญิงเจ้าภุ้นซีเมื่อทรงเสกสมรสกับเจ้าเกาลัดนั้นคงเป็นช่วงก่อนเกิดเหตุสงครามยุทธหัตถีใน พ.ศ. 2135 หลายปี เพราะตามโบราณราชประเพณีเจ้าหญิงพระราชธิดาจะเสกสมรสตั้งแต่พระชันษายังเยาว์และต้องแยกพระองค์ไปอยู่กับพระสวามีที่ใดที่หนึ่งในหงสาวดี (โดยพิเคราะห์จากเหตุการณ์ที่เจ้าเกาลัดนำทหารจากหงสาวดีไปสวามิภักดิ์พระเจ้านยองยันที่กรุงอังวะภายหลัง พ.ศ. 2137)    
    
ดังนั้นจึงน่าจะเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่าพระสุพรรณกัลยาคงจะมิได้พำนักอยู่นอกพระราชวังกับพระธิดาที่หงสาวดี แต่พระองค์ทรงอยู่หงสาวดีในพระราชวังในฐานะพระมเหสีของพระเจ้านันทบุเรงและเจ้าหญิงพิษณุโลกหรือเจ้าหญิงเจ้าภุ้นซีมิได้เข้าไปประทับกับพระสุพรรณกัลยาภายในพระราชวังด้วยเพราะพระองค์ทรงพระเจริญวัยและทรงเสกสมรสแล้ว ในตอนที่เกิดเหตุพระสุพรรณกัลยาสิ้นพระชนม์พร้อมพระราชโอรสหรือพระราชธิดา (ที่ทรงเป็นพระอนุชาหรือพระขนิษฐาของเจ้าหญิงพิษณุโลกแต่ต่างพระราชบิดากัน) ซึ่งขณะนั้นคงจะทรงมีพระชนมายุประมาณ 23-24 พรรษา
   
ทั้งนี้จากพงศาวดารของไทยและพงศาวดารฉบับหอแก้วที่ระบุว่า
   
พระสุพรรณกัลยาสิ้นพระชนม์ขณะประทับในพระที่พร้อมพระราชโอรสและพระสุพรรณกัลยากำลังทรงพระครรภ์อยู่ด้วย แสดงว่าพระราชโอรสพระองค์นั้นคงจะมีพระชันษายังเยาว์อยู่ ซึ่งจะเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่าพระราชโอรสอาจจะทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง หากพระชนม์เกิน 12 พรรษา แต่ถ้าหากพระชนม์ต่ำกว่า 12 พรรษาคงจะต้องเป็นพระราชโอรสของพระเจ้านันทบุเรงและหากพระสุพรรณกัลยาทรงพระครรภ์จริงก็ต้องถือว่าพระราชบุตรในพระครรภ์ต้องเป็นพระราชบุตรในพระเจ้านันทบุเรง ซึ่งทุกพระองค์ได้สิ้นพระชนม์พร้อมพระสุพรรณกัลยาพระราชมารดา มีแต่เจ้าหญิงเจ้าภุ้นซีเพียงพระองค์เดียวที่ทรงรอดพ้นมาได้
   
สำหรับเรื่องราวความรักและชีวิตส่วนพระองค์ของเจ้าหญิงพิษณุโลกหรือเจ้าหญิงเจ้าภุ้นซีพระองค์นี้ไม่เคยถูกเปิดเผยหรือมีข้อมูลนำเสนอให้คนไทยส่วนใหญ่ได้รับรู้มาก่อนเลย เสมือนหนึ่งรักที่ถูกปกปิดในประวัติศาสตร์ชาติไทยมาโดยตลอด แต่เมื่อมีโอกาสได้มีข้อมูลรายละเอียดเหตุการณ์เกี่ยวกับการสืบสายพระโลหิตในลำดับชั้นที่ 4 นับตั้งแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยสืบสายต่อมายังพระวิสุทธิ์กษัตรีย์สืบสายต่อมายังพระสุพรรณกัลยาและสืบสายจนมาถึงเจ้าหญิงพิษณุโลกและพระทายาทในลำดับต่อมา
   
ดังที่ได้กล่าวไว้ในพระราชประวัติข้างต้นนั้นได้ทำให้เกิดเป็นความหวังในอนาคตว่าอาจจะมีหลักฐานในพม่าและไทยให้สืบค้นได้เพิ่มเติมมากกว่าที่เป็นอยู่ถึงพระราชประวัติของพระสุพรรณกัลยาพระราชมารดากับเจ้าหญิงพิษณุโลกมิให้กลายเป็นรักที่ถูกปิดแต่จะแปรเปลี่ยนเป็นรักที่ถูกเปิดจากนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ในภายหน้าให้คนไทยทุกคนได้รับรู้และสำนึกถึงพระกรุณาธิคุณที่ได้กระทำต่อแผ่นดินไทยของสายพระโลหิตนักสู้ผู้กล้าอย่างมิรู้ลืมตลอดกาล.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่