แกะรอยคำพิพากษา คดีสูทประวัติศาสตร์ มจษ. ตามหาผู้รับผิดชอบ เงินคงคลัง 1.7 ล้าน

“ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่มีบทบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อ มจษ. และบริษัท ต่างมีพฤติการณ์ในการดำเนินการเพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของข้อตกลงดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจฟังได้ว่าสัญญาว่าจ้างระหว่าง มจษ.กับบริษัท ยังไม่เกิดขึ้น”




พลันที่สภามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม  ได้ลงมติเห็นชอบให้ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม (มจษ.) นำ "เงินคงคลัง" มาจ่ายชำระหนี้ค่าดำเนินการว่าจ้างตัดเย็บสูทสากลให้กับบุคลากรในสถาบัน จำนวน 671 ชุด เพื่อใช้ในงานฉลองสถาปนาครบรอบ 70 ปี รวมวงเงิน1,770,487.86 บาท (เงินต้นบวกดอกเบี้ย) ให้กับบริษัท ทรงสมัยเมืองทองธานี จำกัด ในฐานะโจทก์ หลังศาลแพ่ง มีคำพิพากษา ให้ มจษ. แพ้คดีความเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา

พร้อมสั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง มารับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นแทน มจษ.

คำถามที่น่าสนใจ คือ ใครจะต้องมีส่วนรับผิดชอบกับเรื่องนี้บ้าง?




สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบคำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดง ที่2553/2555 ที่คำพิพากษา ให้ มจษ. แพ้คดีความ ต่อ บริษัท ทรงสมัยฯ ดังกล่าว พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

1. บริษัททรงสมัยฯ ในฐานะโจทก์ ได้ระบุในคำฟ้อง อ้างว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 มจษ. ในฐานะจำเลย ได้อนุมัติให้บริษัททรงสมัยฯ ดำเนินการตัดเย็บสูทสากลให้กับบุคลากร ภายใน มจษ. จำนวน 671 ชุด เพื่อใช้ในงานฉลองสถาปนาครบรอบ 70 ปี ในวันที่ 12 กันยายน 2553 โดยตกลงราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,476,200 บาท กำหนดส่งมอบงานภายใน 60 วัน หลังจากดำเนินมอบงานเสร็จสิ้น และแจ้งให้ มจษ.รับมอบสินค้าและชำระเงิน แต่ มจษ. เพิกเฉย

แม้จะมอบหมายให้ทนายทำหนังสือทวงถาม แต่จำเลยก็ยังเพิกเฉย การกระทำของ มจษ. จึงทำให้บริษัททรงสมัยฯ เสียหาย

ขณะที่ฝ่าย มจษ. ในฐานะจำเลย  อ้างว่า ไม่เคยตกลงทำสัญญาจ้างบริษัททรงสมัยฯ ตัดชุดสูทสากลดังกล่าว และการดำเนินการจัดจ้างดังกล่าว เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบราชการ ไม่มีผลผูกพันให้ มจษ.ต้องรับผิดในการรับผิดชอบสินค้าและชำระราคาสินค้าต่อบริษัท

2. ในการนำสืบคดีนี้ บริษัท ทรงสมัยฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2553 เจ้าหน้าที่ มจษ. ได้มาติดต่อสอบถามผู้จัดการร้านของบริษัททรงสมัยฯ เกี่ยวกับการตัดชุดสูท จำนวน 671 ชุด เพื่อใช้ในงานฉลองสถาปนาครบรอบ 70 ปี มจษ. ดังกล่าว ซึ่งบริษัทฯ ยืนยันว่า สามารถตัดเย็บได้ทันตามกำหนด แต่ต้องมีการตกลงอย่างเร่งด่วน

จากนั้นในวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ มจษ.ได้โทรศัพท์แจ้งให้บริษัทฯ เข้าไปชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบของสูท ชนิดผ้า และราคาให้กับคณะกรรมการผู้รับผิดชอบ ในวันที่ 28 มิถุนายน 2553

อย่างไรก็ตาม วันเวลาดังกล่าว ยังไม่มีการตกลงราคาจัดจ้าง เนื่องจากต้องมีการเสนอราคาแข่งขันกับร้านอื่น

ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 มจษ.แจ้งให้บริษัทฯ ไปรับรายละเอียดข้อกำหนดคุณลักษณะของงานจ้าง และเงื่อนไขการเสนอราคา ต่อมาคณะกรรมการแจ้งว่าบริษัทฯเป็นผู้ได้งานตัดเย็บสูท โดยพนักงานของบริษัทฯ ได้รังวัดตัวบุคลากรของ มจษ ในวันเดียวกัน ประมาณ 200 คน และได้มาวัดตัวบุคลากรต่อมาอีกหลายวันจนเสร็จ

จากนั้นวันที่ 1 กันยายน 2553 บริษัทฯ ได้ติดต่อ มจษ.เพื่อส่งมอบงาน เพราะเสร็จก่อนกำหนด แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า อธิการบดีมีคำสั่งยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวแล้ว

ขณะที่ฝ่าย มจษ. นำสืบคดีว่า การจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทฯ ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับราชการ ในกรณีนี้ มจษ. ยังไม่ได้ตกลงทำสัญญาจ้างให้บริษัทฯ ตัดชุดสูทตามฟ้อง

มจษ.ระบุว่า สำหรับโครงการฯ นี้ นายเจนพล ทองยืน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการพิเศษ ในขณะนั้น ได้มีหนังสือถึงน.ส.สรินนาถ พรหมจารย์ ผู้อำนวยการกองคลัง ให้ทำโครงการพัฒนาบุคลิกภาพ โดยมอบหมายให้ดำเนินการตัดสูทให้กับบุคคลากรของมหาวิทยาลัยทุกคน

โดยอธิการบดีได้มีคำสั่งอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 และได้มีคำสั่งแต่งตังคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบ ซึ่งตามเอกสารปรากฏว่า คณะกรรมการฯ ได้มีการจัดประชุม 2 ครั้ง วันที่ 25 และ 28 มิถุนายน 2553

แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่าไม่มีการประชุมกันจริง

ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2553 นางสาวนวพร สาทประสิทธิ์ หัวหน้างานพัสดุ ได้มีหนังสือถึงอธิการบดี ขออนุมัติการดำเนินงานโครงการ และอ้างว่าต้องดำเนินการให้ทันใช้ในเดือนสิงหาคม 2553 มีความจำเป็นเร่งด่วน หากล่าช้าอาจเสียหายแก่ราชการ

พร้อมขออนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการจัดจ้าง ก่อนที่อธิการบดีจะมีคำสั่งแต่งตั้งในวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 นอกจากนี้ยังมีการทำบันทึกการประชุมคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และนางสาวสรินนาถ ได้ลงชื่อเป็นผู้อนุมัติตามใบเสนอราคาตัดชุดสูท ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2553

ก่อนที่บริษัทจะเข้ามาวัดตัวบุคลากรโดยที่อธิการบดียังไม่ได้อนุมัติจ้างและไม่มีการทำสัญญาจ้างต่อกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535

หลังจากนั้น นางสาวนวพร ได้ทำบันทึกข้อความถึงอธิการบดีเสนอให้ มจษ.จ้างบริษัทฯ ตัดสูท และขออนุมัติจ้าง ซึ่งอธิการบดีได้ลงชื่ออนุมัติจ้าง เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นการดำเนินการไม่ถูกต้องตามระเบียบและข้อบังคับมหาวิทยาลัย และระเบียบสำนักนายกฯ

หลังจากนั้น ได้มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าว และมจษ.ได้มีคำสั่งยกเลิกการจัดจ้างวิธีพิเศษดังกล่าว พร้อมตั้งกรรมการสอบสอบข้อเท็จจริง ซึ่งต่อมาสภาฯ มจษ. มีมติเห็นว่า นายสุชาติ เมืองแก้ว อธิการบดี บกพร่องต่อหน้าที่ จึงมีมติให้พ้นตำแหน่งอธิการบดี ส่วนนางสาวสรินนาถ พรหมจารย์ ถูกลงโทษปลดออกจากราชการ

3. ศาลพิเคราะห์ แล้ว เห็นว่า มจษ.มีนโยบายจัดทำโครงการฯดังกล่าว โดยมอบหมายให้กองคลัง เป็นผู้ดำเนินการและมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อดำเนินการ โดยนายสุชาติ อธิการบดีในขณะนั้น ได้อนุมัติโครงการแล้ว แ ละนางสาวสรินนารถเป็นผู้ติดต่อร้านที่มีความชำนาญเกี่ยวกับสูทมาสอบราคา

หลังจากนั้นอธิการบดี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าว และออกคำสั่งอนุมัติจัดจ้างให้บริษัทฯ ตัดสูท

การที่ มจษ. ให้การต่อสู้ว่า ยังไม่ได้ตกลงทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือกับบริษัทฯ โดยอธิการบดี ยังไม่ได้ลงนามในใบสั่งจ้าง ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ ตามระเบียบสำนักนายกฯ

แต่เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่า นางสาวสรินนาถ ผู้อำนวยการกองคลัง ในขณะนั้นเป็นผู้ติดต่อ บริษัทฯ ให้นำตัวอย่างผ้า ทำใบเสนอราคามาพิจารณา และดำเนินการวัดตัวเจ้าหน้าที่จนครบทุกคน

และนายสุชาติ อธิการบดี ถือเป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการในขณะนั้น ได้มีคำสั่งอนุมัติให้มีการจัดจ้างบริษัทฯ แล้ว และบริษัทฯ ก็ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ครบถ้วนแล้ว คงเหลือเพียงแค่ขั้นตอนลงนามในใบสั่งจ้าง

ขณะที่บันทึกแจ้งการยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว เป็นการแจ้งเวียนเฉพาะเจ้าหน้าที่ภายในเท่านั้น บริษัทฯ เป็นบุคคลภายนอก มิได้รู้เห็นด้วย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่มีบทบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ เมื่อ มจษ. และบริษัท ต่างมีพฤติการณ์ในการดำเนินการเพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของข้อตกลงดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจฟังได้ว่าสัญญาว่าจ้างระหว่าง มจษ.กับบริษัท ยังไม่เกิดขึ้น หรือ มจษ. ยังไม่ได้ตกลงว่าจ้างบริษัท

และจากคำให้การพยาน ทั้งฝ่าย มจษ. และ บริษัทฯ สอดคล้องกันว่า ส่วนใหญ่การรับงานกับส่วนราชการ จะไม่มีการทำสัญญาจ้างในวันที่มีการอนุมัติ แต่จะมีการดำเนินการตามสัญญาไปก่อนและลงนามภายหลัง

จึงต้องฟังว่า มจษ. ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในวันดังกล่าว และบริษัทฯ มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยได้ นับตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ตามข้อตกลงแก่บริษัทฯ

พิพากษาให้ มจษ. ชำระเงินค่าเสียหายให้แก่บริษัทฯ

นี่ คือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีสูท ของ มจษ. ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งคดีประวัติศาสตร์ ในวงการศึกษาไทย ที่ต้องบันทึกเอาไว้

ส่วนใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 1.7 ล้านบาท คืนให้กับ มจษ.

คงดูกันได้ไม่ยากนัก?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่