งานนี้ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โดนเต็มๆ "BOI เลิกโซนนิ่ง-เลิกส่งเสริม"

จากข่าว ฐษนเศรษฐกิจ วันที่ 20-23 มค ครับ

77นิคมอุตฯช็อก!เตือนบีโอไอเลิกโซนนิ่ง-เลิกส่งเสริม หวั่นเสียโอกาสดึงทุนญี่ปุ่น

เลิกโซนนิ่ง-เลิกส่งเสริมอุตสาหกรรมสะเทือนถึง นิคม /เขต/ สวนอุตสาหกรรม เกือบ 100 แห่งทั่วประเทศ จ่อระส่ำหนัก ชี้มีผลกระทบต่อการขายที่ดิน  "นิคมไฮเทค"หวั่นเสียโอกาสดึงทุนนอกเข้าไทยทั้งที่เป็นโอกาสทองต้อนทุนเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่น

บิ๊ก"อมตะ"ห่วงเม็ดเงินลงทุน-จีดีพี ประเทศวูบ ร้องเหลือพื้นที่ขายกว่าหมื่นไร่กระทบแน่  "นวนคร"ลั่นเปิดเออีซี ไทยไม่เหลือตัวช่วยทั้งมาตรการส่งเสริมและค่าแรงไม่เอื้อ สั่งชะลอแผนขยายพื้นที่ที่โคราชอีก 800 ไร่


    สืบเนื่องจากที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)อยู่ระหว่างสำรวจค
วามพร้อมและความเห็นจากภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในระยะ 5 ปี(ปี 2556-2560)โดยกรอบหลักจะยกเลิกการกำหนดเขตส่งเสริมการลงทุนซึ่งประกอบด้วยเขต1 เขต2และเขต3 รวมถึงการยกเลิกประเภทกิจการที่บีโอไอให้การส่งเสริมมานานและเป็นกิจการที่ใช้แรงงานจำนวนมาก และไม่มีความซับซ้อนในขั้นตอนการผลิตราว80 กิจการ(ในเบื้องต้น) ซึ่งระหว่างนี้บีโอไอยังอยู่ในช่วงจัดสัมมนาชี้แจงยุทธศาสตร์ใหม่ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและต่างประเทศ  คาดว่าจะประกาศยุทธศาสตร์ใหม่และให้มีผลในทางปฏิบัติราวกลางปี 2556


-กระทบพื้นที่ขายทันที3-4หมื่นไร่
    ต่อเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากนางอัญชลี  ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า    มาตรการดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบมาถึงผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเขตประกอบการ ซึ่งประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม ทั้งที่ดำเนินการโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ดำเนินการโดยเอกชน และเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการระหว่างกนอ.และภาคเอกชน ทั่วประเทศมีราว 77 โครงการที่มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นกว่า 1 แสนไร่(รวมพื้นที่ที่ขายไปแล้วด้วย) ในจำนวนนี้จะมีพื้นที่ที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาเพื่ออยู่ระหว่างการขายรวมกันราว  3-4 หมื่นไร่ทั่วประเทศ  ที่จะได้รับผลกระทบกับการขายที่ดินทันที โดยเฉพาะกับรายที่ยังมีที่ดินเหลืออยู่ หรือมีที่ดินที่รอการพัฒนาใหม่จำนวนมาก  รวมถึงลูกค้าในเขตประกอบการที่ลงทุนอยู่แล้วในกิจการที่บีโอไอกำลังจะยกเลิกให้การส่งเสริมก็จะได้รับผลกระทบด้วย หากผู้ประกอบการรายนั้นๆเตรียมซื้อพื้นที่เผื่อไว้สำหรับการขยายการลงทุนในอนาคต
    "แต่หากประเภทกิจการที่เคยได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอกำลังจะเลิกให้การส่งเสริม ก็จะกระทบต่อการลงทุนใหม่หรือการขยายการลงทุน ก็จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ เพราะถ้าโครงการใดเกิดการขยายหรือลงทุนใหม่ภายหลังประกาศนโยบายใหม่ออกมาแล้วก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆจากบีโอไออีกต่อไป  ดังนั้นถ้าบีโอไอจะยกเลิกให้การส่งเสริมหรือเลิกกำหนดโซนนิ่งก็ควรให้เวลาผู้ประกอบการอย่างน้อย 2-3 ปี"


-แห่ผุดนิคม/เขต/สวนเพราะนโยบายรัฐ
    นางอัญชลีกล่าวอีกว่า บีโอไอ จะต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่รวมถึงการส่งเสริมให้อยู่ในนิคม เขตและสวนอุตสาหกรรมด้วย เพื่อให้การลงทุนในประเทศไทยมีระบบระเบียบไม่กระจัดกระจาย โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านระบบสาธารณูปโภคครบครันรองรับ ส่วนการส่งเสริมให้ทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศนั้น  บีโอไอจะต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมในกิจการนิคม เขตและสวนอุตสาหกรรมลงทุนในต่างประเทศก่อน เพราะการที่ผู้ประกอบการในประเทศไทยจะออกไปลงทุนนอกบ้านก็ต้องมีความพร้อมเรื่องที่ดินตั้งโรงงาน เพราะเป็นระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานก่อนการลงทุน
    อย่างไรก็ตาม 77 โครงการที่ลงทุนพัฒนาพื้นที่เป็นนิคม เขตและสวนอุตสาหกรรมนั้นก็เกิดจากที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเพื่อรองรับการลงทุนไทยและต่างประเทศ กว่าจะเกิดการลงทุนพัฒนาที่ดินจนกลุ่มทุนเข้ามาตั้งโรงงานได้ก็ต้องใช้เวลา 2-3 ปี ดังนั้นเมื่อต้องปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ก็ต้องให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 2-3 ปีด้วยเช่นกัน


-"ไฮเทค"หวั่นดึงทุนญี่ปุ่นระลอกใหม่ยาก
    นายทวิช เตชะนาวากุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยอินดัสเตรียลเอสเตทฯ ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอควรจะสร้างสรรค์มากกว่านี้ และควรจะพิจารณาตามความเหมาะสม โดยมองว่าในช่วงนี้ทุนขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)จากญี่ปุ่นกำลังเคลื่อนตัวมาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น และประเทศไทยก็เป็นเป้าหมายลำดับต้น  และการลงทุนจากญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญกับมาตรการส่งเสริมเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยจะมีทุนระลอกใหม่เข้ามาอีกนับพันราย  หากมีนโยบายใหม่โดยยกเลิกโซนนิ่ง และเลิกให้การส่งเสริมบางประเภทกิจการลง ก็หวั่นว่าไทยจะเสียโอกาสดึงทุนนอกเข้ามาทั้งที่ปี 2556 เป็นโอกาสทองในต้อนทุนเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่นเข้ามาอีกครั้ง  ส่วนพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคไม่น่าจะกระทบจากมาตรการดังกล่าวเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่แล้ว และยังมีพื้นที่บางส่วนไม่ถึง100 ไร่ ที่ทุนรายเก่าจะขอขยายและยังได้รับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายปัจจุบันอยู่


-"อมตะ"ห่วงกระทบ1.4หมื่นไร่
    นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจะได้รับผลกระทบแน่นอนในแง่การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ)  และน่าเป็นห่วงว่าประเทศจะได้รับผลกระทบในแง่เม็ดเงินและการเติบโตของจีดีพี ที่อาจไม่เป็นไปตามเป้าเพราะนอกจากสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจะไม่เอื้อแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนค่าแรงที่พุ่งสูงขึ้นด้วย จะทำให้รายได้ของภาคประชาชนลดลงเป็นลูกโซ่จากที่มีการจ้างงานลดลง
    "เราเคยมีหนังตัวอย่างเกิดขึ้นกับเวียดนามที่เคยยกเลิกสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนลงทำให้เหลือทุนเอฟดีไอจาก 2 ล้านล้านบาทเหลืออยู่ไม่กี่แสนล้านบาท"
    อย่างไรก็ตามในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมกลุ่มอมตะที่มีพื้นที่ที่พัฒนาแล้วและยังไม่ได้พัฒนารวมทั้งสิ้นราว 4 หมื่นไร่ จะได้รับผลกระทบแน่นอนเพราะยังเหลือพื้นที่ขายและกำลังพัฒนาอีกกว่า 1.4 หมื่นไร่ ทั้งนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ที่จ.ชลบุรีและอมตะซิตี้ ที่จ.ระยองจะอยู่ในพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนเขต 2 แต่ถ้าตั้งกิจการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมก็จะได้สิทธิ์เป็นโซน 3 สำหรับกิจการที่บีโอไอให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันจะมีการกระจุกตัวของทุนข้ามชาติจำนวนมากเนื่องจากระยองเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ  
     "อมตะ เป็นยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์เพราะอยู่ใกล้ท่าเรือ ใกล้สนามบิน เป็นศูนย์รวมคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมหลากหลายกลุ่ม หากยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่มีผลใช้ในกลางปี ก็มั่นใจว่าการลงทุนใหม่จะลดน้อยลงเพราะสิทธิประโยชน์ถูกจำกัดลงให้เฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมมากขึ้น  ดังนั้นจึงต้องการให้ภาครัฐกำหนดเงื่อนเวลาที่เหมาะสมแทนที่จะเป็น 3 เดือนหรือ 6 เดือนก็ควรจะให้เวลาอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป เพื่อให้ผู้ประกอบการนิคม เขตและสวนอุตสาหกรรมได้มีเวลาปรับตัว"


-"นวนคร"เบรกส่วนขยาย800ไร่
    นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาสวนอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และที่นครราชสีมา เปิดเผยว่าไม่เห็นด้วยกับมาตรการบีโอไอในการยกเลิกโซนนิ่งและเลิกให้การส่งเสริมในบางประเภทกิจการ เพราะเรากำลังจะเปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี เพราะจะยิ่งทำให้ความน่าลงทุนในประเทศไทยลดน้อยลง เพราะขณะนี้ประเทศไทยเหลือตัวช่วยน้อยลงในกรณีปัจจัยเอื้อต่อการลงทุน เพราะก่อนหน้านี้ก็เจอค่าแรง300 บาททั่วประเทศ


    สำหรับนวนครพื้นที่ในจังหวัดปทุมธานีไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเพราะพื้นที่เกือบทั้งหมดได้ขายไปหมดแล้ว แต่จะเป็นห่วงพื้นที่ที่ตั้งอยู่ที่จ.นครราชสีมามากกว่า เพราะมีพื้นที่เหลืออีกราว700-800 ไร่จากที่มีพื้นที่ทั้งหมด 2,000 ไร่ที่ยังขายไม่หมด เพราะลูกค้าที่คาดว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ แต่อาจจะไม่ได้ต่อไปแล้วก็จะลังเล  หรือตัดสินใจไม่ลงทุน  ซึ่งปัญหาดังกล่าว ทำให้บริษัทต้องสั่งชะลอแผนขยายพื้นที่ที่นครราชสีมาอีก800 ไร่ไปก่อนจนกว่านโยบายบีโอไอจะชัดเจน


- แจงพื้นที่นิคมตามเขตส่งเสริม
     อย่างไรก็ตามสำหรับนิคม เขตและสวนอุตสาหกรรม77 แห่งทั่วประเทศนั้นจะมีการลงทุนกระจายอยู่ทั้ง 3 เขตส่งเสริม โดยเขต1 จะประกอบด้วย เขตประกอบการที่อยู่ในพื้นที่จังหวัด กทม. ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร  เขต2 ประกอบด้วย เขตประกอบการที่อยู่ในจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี อยุธยา ระยอง ราชบุรี สระบุรี และเขต3 จะมีเขตประกอบการอยู่ในพื้นที่จังหวัดลำพูน พิจิตร สิงห์บุรี ปราจีนบุรี นครราชสีมา เพชรบุรี สงขลา ปัตตานี


    สำหรับเขตส่งเสริมการลงทุนปัจจุบันประกอบด้วย 3 เขต ดังนี้ เขต1 มี 6 จังหวัดในส่วนกลาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และ สมุทรสาคร  เขต 2 ประกอบด้วย 12 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก พระนครศรีอยุธยา ภูเก็ต ระยอง ราชบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง


    เขต 3 ประกอบด้วย 59 จังหวัด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 36 จังหวัด และ 23 จังหวัดรายได้ต่ำ ดังนี้ 36 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยนาท ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พังงา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ระนอง ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย สงขลา สระแก้ว สิงห์บุรี สุโขทัย สุราษฎร์ธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี


    ส่วน23จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ นครพนม นราธิวาส น่าน บุรีรัมย์ ปัตตานี พะเยา แพร่ มหาสารคาม ยโสธร ยะลา ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สุรินทร์ หนองบัวลำภู ชัยภูมิ หนองคาย อุบลราชธานี อุดรธานี อำนาจเจริญ และบึงกาฬ

....................

ความเห็นส่วนตัว ก็น่าจะยกเลิกตั้งนานแล้วนะครับ ตอนนี้ก็ได้โอกาสแล้ว

ควรจะเน้นที่ สินค้าที่มีมูลค่าสูงๆมากกว่า ประเภท OEM รับจ้างผลิต สินค้าที่ต้องใช้คนเยอะ น่าจะเลิกได้แล้ว น่าจะส่งเสริมพวก สินค้าเทคโนโลยี หรือพวก ยา เครื่องสำอางค์ สินค้านวัตกรรม อะไรแบบนั้นจะดีกว่า

....................

ทำแบบเดิม กลับมองว่า เหมือนเอา BOI มาเป็นเครื่องมือหากินไปให้พวก นิคม ใช้เป็นข้อได้เปรียบ ในการขายที่ดินมากกว่า

ปล. ที่มา http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=164404:77-&catid=89:2009-02-08-11-24-05&Itemid=417

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่