ครม.ให้ขรก.ป่วยทำงานไม่ได้ออกจากราชการ

ที่มา : คมชัดลึก

ครม.ให้ขรก.ป่วยทำงานไม่ได้ออกจากราชการ
ครม.โหดไฟเขียวผ่านร่างกฎก.พ.ให้ขรก.ที่ป่วยจนทำงานเกิน 60 วันให้ออกจากราชการ

               8 ม.ค. 55 นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.มีมติอนุมัติร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีเจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ราชการของตนได้โดยสม่ำเสมอ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ รองโฆษกฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎ ก.พ. ดังกล่าว ระบุว่า

               1. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุมีอำนาจพิจารณาดำเนินการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนกรณีเจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ราชการของตนได้โดยสม่ำเสมอ กรณีปรากฏว่ามีวันลาป่วยรวมกัน 1 ปีงบประมาณเกิน 120 วันทำการ หรือมีวันลาป่วยรวมกันเกิน 60 วันทำการในแต่ละปีงบประมาณติดต่อกัน 2 ปีงบประมาณ ทั้งนี้ ไม่รวมกรณีเจ็บป่วยเพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่ และกรณีต้องเข้าบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตตามกฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิตโดยมีเวลารวมกันเกิน 120 วัน

                2. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาส่งตัวผู้นั้นไปรับการตรวจจากสถานพยาบาลของรัฐ เพื่อนำผลการตรวจและความเห็นของแพทย์มาประกอบการพิจารณา กรณีเห็นว่าผู้นั้นต้องลาป่วยต่อไปอีกจนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ผู้นั้นออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน หรือเห็นควรให้พักรักษาตัวต่อไปอีก แต่ต้องไม่เกิน 60 วันทำการ และเมื่อครบกำหนดให้ผู้นั้นไปรับการตรวจจากสถานพยาบาลของรัฐอีกครั้งหนึ่ง ถ้าผู้นั้นยังต้องรักษาตัวต่อไปอีกให้สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน

                3. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งให้ส่งตัวผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้อื่นเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการ กรณีที่สถานพยาบาลของรัฐเห็นว่าผู้นั้นต้องเข้ารับการบำบัดรักษาเป็นเวลาเกิน 120 วัน ให้สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน

ความเห็นส่วนตัว : เห็นด้วยบางส่วน แต่ยอมรับว่าต้องมีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่นจากอุบัติเหตุ ที่ไม่ได้เกิดจากความประมาทส่วนตัว  ถึงแม้จะต้องพักรักษาตัวในดรงพยาบาลแต่ก็สามารถปฏิบัติราชการได้เช่นเดียวกัน  เช่น งานวิชาการ

มีความเห็นเช่นไรกันบ้างครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่