คณะวิทย์จุฬาฯ ทดลองสอนให้เด็กไทยคิดเป็น คิดนอกกรอบ

กระทู้ข่าว
ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในโอกาสที่จุฬาฯ จะมีอายุครบ 100 ปี ในปี พ.ศ.2560 จึงได้จัดทำโครงการกู้วิกฤติการเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อกู้วิกฤติชาติ เพื่อเป็นของขวัญให้กับคนไทย โดยมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนการสอนให้เด็กไทยคิดเป็น คิดนอกกรอบ  เนื่องจากขณะนี้กระแสโลกตื่นตัวอย่างมากในการสร้างคนในโลกยุคใหม่ ทั้งเวทีระดับโลกหลายแห่งก็สรุปออกมาเป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 หรือ 21th Century Skill 12 ด้าน สำหรับประเทศไทยนั้น ตนได้เตรียมการโดยเริ่มจากอาจารย์ผู้สอนของคณะวิทย์ 10 คนจะเปลี่ยนแปลงวิธีการสอน โดยขอให้สอนนิสิตให้ได้ทักษะสำคัญ 2 ประการคือ เมื่ออาจารย์ สอนจบในแต่ละชั่วโมงหรือแต่ละเรื่อง นิสิตสามารถสรุปและวิจารณ์ได้ ทั้งนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ จะต้องปรับหลักสูตร ปรับรูปแบบการสอนให้อาจารย์สอนโดยใช้เวลาน้อยที่สุด และเปิดโอกาสให้นิสิตแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียนให้มากที่สุดและปรับรูปแบบการวัดผลที่สอดคล้อง

“ผมได้เสนอแนวคิดดังกล่าวให้กับ ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ และนายวิชัย ริ้วตระกูล ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา แล้ว  โดย ศ.(พิเศษ)  ดร.ภาวิช ให้ความสนใจและจะนำไปขยายผลต่อในการประชุมยุทธศาสตร์แผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2555-2559) ส่วนนายวิชัยก็เห็นด้วยเช่นกัน” ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวและว่า การปรับการสอนเป็นเรื่องยาก แต่เชื่อมั่นว่าหากระดับนโยบายตั้งแต่ รมว. ศึกษาธิการ เห็นด้วยและเอาจริง ช่วยผลักดันทั้งนโยบาย ทรัพยากร งบประมาณ เชื่อว่าจะสามารถปรับวิธีสอนให้เด็กคิดนอกกรอบได้สำเร็จ ส่วนอาจารย์ที่มุ่งสอนวิธีใหม่นี้ ก็จะประสานกับ สกอ.ให้มีระบบการเลื่อนวิทยฐานะหรือการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการที่สอดคล้องกับการสอนรูปแบบใหม่ด้วย.


http://www.thairath.co.th/content/edu/318823

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่