ลงทุนปีมะเส็ง ทองคำ-หุ้นเสี่ยงแต่ผลตอบแทนสูง

กระทู้สนทนา
วันพุธที่ 02 มกราคม 2013 เวลา 10:27 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ การเงิน Financial - คอลัมน์ : การเงิน-ตลาดทุน


เรียกได้ว่าปี 2555ที่ผ่านมา ผลตอบแทนจากการออมและลงทุนหลายช่องทางให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ อาทิ  ลงทุนในหุ้น  ทองคำ  โปรดักต์กองทุนรวม  รวมไปถึงช่องทางที่ยังเป็นที่นิยมของผู้ลงทุนทั่วไป  ทุกกลุ่ม ทุกระดับ คือ ผลิตภัณฑ์เงินฝาก

        ขึ้นปี 'มะเส็ง' ศักราช  2556  ยังเป็นคำถามว่าผลตอบแทนจากการออมและลงทุน จะยังรักษาอัตราการเติบโตของผลตอบแทนได้ในระดับเดียวกับปี 2555 ได้หรือไม่  ลงทุนอะไรเป็น 'ดาวเด่น 'แห่งปี  โดยเฉพาะปัจจัยที่ต้องระวังและมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในปีนี้  ทั้งปัจจัยในประเทศ และต่างประเทศ  ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาหน้าผาการคลังของสหรัฐเมริกา   ยุโรป  ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ฯลฯ

    "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมสรุปผลตอบแทนสำหรับช่องทางการลงทุนในปี 2555 และแนวโน้มปี 2556 ไว้เป็นข้อมูลสำหรับผู้ออมและผู้ลงทุนในปี 'มะเส็ง' ซึ่งพบว่าในปี 2556 'หุ้น-ทองคำ'ยังเป็นช่องทางลงทุนที่มีโอกาสเห็นผลตอบแทนสูงต่อเนื่อง  แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น ขณะที่การลงทุนในแคมเปญเงินฝาก แม้ในปี 2556 ทิศทางดอกเบี้ยไม่ใช่ขาขึ้น แต่ยังมีโอกาสได้เห็นผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษที่สถาบันการเงินนำเสนอแคมเปญได้เป็นระยะ  ดังนั้น ผู้ออมหรือผู้ลงทุนที่ยังนิยมลงทุนในเงินฝากเพราะมีความปลอดภัยสูง  จึงต้อง'รอจังหวะ'

****กูรูฟันธงทองคำปี 56  ได้เห็นที่ 1,900 -1,950 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์


    หากมองแนวโน้มการลงทุนในปี 2556 สำหรับการลงทุนที่ยังมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดี   หนึ่งในหลายทางเลือก คือ  'ทองคำ'  แม้ว่าในรอบปี 2555  ภาพรวมของราคาทองคำจะไม่ได้หวือหวาเหมือนกับในปี 2554 แต่เป็นไปในลักษณะค่อยๆปรับขึ้น และ ค่อยๆปรับลงก็ตาม   แต่สำหรับ ปี 2556  เป็นอีกปีหนึ่งที่แนวโน้มราคาทองคำมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูง ขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับความผันผวนมากว่าปีที่แล้ว  โดยคาดการณ์แนวโน้มราคาทองคำปีหน้า กูรูส่วนใหญ่มองว่าจะแตะระดับสูงสุดได้ถึง 1,900-1,950 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์

      'จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี' นายกสมาคมค้าทองคำ เชื่อว่าแนวโน้มทองคำปีหน้า 'ผันผวน' และอาจผันผวนมากกว่าในปี 2554 พร้อมฟันธงปี 2557  เห็นราคาทองคำทำ 'นิวไฮ'  และมีโอกาสเห็นขึ้นไปแตะที่ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์   แต่อย่างไรก็ตามมองราคาทองในประเทศปี 56 ยังไม่มีโอกาสได้เห็นที่ราคาที่บาทละ 30,000 บาทอย่างแน่นอน  ซึ่งนายกสมาคมค้าทองคำให้ข้อแนะนำสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในทองคำ โดยหากมองในช่วง 3 เดือนแรกของปี  หากราคาต่ำกว่าระดับ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ แนะนำให้นักลงทุนซื้อเก็บได้

    ด้าน 'พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์'  รองประธานกรรมการ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  ให้ความเห็นถึงแนวโน้มทองคำปี 2013 ว่า  แม้ว่าในช่วงปลายปีราคาทองคำได้มีแรงซื้อขายทำกำไรออกมา แต่เมื่อพิจารณาการเคลื่อนไหวของราคาทองคำกับช่วงปี 2554 ปรากฏว่าราคาทองคำก็ได้มีการปรับตัวลดลงช่วงปลายปีเช่นกัน และได้มีการปรับขึ้นในต้นปี 2555 ซึ่งรูปแบบการเคลื่อนไหวของปี 2566 อาจจะไม่แตกต่างกับปี 2555 มากนัก โดยนักลงทุนควรมีการปรับกลยุทธ์การลงทุนตามการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ และใช้ปัจจัยพื้นฐาน รวมทั้งเชิงเทคนิคประกอบการลงทุนด้วย

       โดยปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญก็คงมาจากทั้งฝั่งสหรัฐฯและยูโรโซน ทางฝั่งสหรัฐฯนั้น ถึงแม้ในช่วงปลายปีจะมีการออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ เพื่อให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่ได้มีการกำหนดเป้าหมายที่ 6.5% แต่จากปัญหาทางการคลังก็ยังเป็นแรงกดดันให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯยังเผชิญความเสี่ยงอยู่ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวดีขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยทางยูโรโซนก็ยังส่งผลต่อราคาทองอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากการที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในยูโรโซน อาทิ ประเทศกรีซ สเปน และอิตาลี เป็นต้น ยังไม่คลี่คลายมากนัก  เบื้องต้นประเมินว่าราคาทองคำจะอยู่ระหว่างแนวรับ 1,60-1,530 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ (ประมาณ 23,200-22,200 บาทต่อบาททองคำ) ส่วนแนวต้านที่สามารถเริ่มขายทำกำไรได้คือบริเวณ 1,830-1,850 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ (ประมาณ 26,60-26,900 บาทต่อบาททองคำ)

****กูรูแนะจัดพอร์ตลงทุนหุ้น-ทองคำ-ตราสารหนี้


    อีกหนึ่งช่องทางลงทุนสำหรับกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนค่อนข้างสูง และรับความเสี่ยงได้ หนีไม่พ้นการลงทุนใน 'หุ้น' ซึ่งภาพรวมตลาดหุ้นปีหน้ายังมีแนวโน้มที่ดีอยู่  อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังต้องติดตาม คือ ปัญหาหน้าผาทางการคลัง(Fiscal cliff) ปัญหาวิกฤติหนี้ในกลุ่มยูโรโซน เป็นต้น

    'สาร์รัฐ  ชัฏสุวรรณ'
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)ทิสโก้ จำกัด ฟันธงสินทรัพย์ที่ยังถือเป็นพระเอกในปีนี้ คือ  หุ้นและทองคำ ซึ่งนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มาก แนะนำควรแบ่งสัดส่วนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนมากขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมามีการซื้อขายที่ระดับราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้นหรือพี/อีที่ต่ำอยู่ในระดับ 8-9 เท่า เท่านั้น ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรยังดีอยู่ ซึ่งมีโอกาสจะทำกำไรได้โดดเด่นหรือมีโอกาสสร้างรีเทิร์นเกิน 40-50 %  ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้มีโอกาสไปได้ถึง 1,450-1,500 จุด  แต่การลงทุนในตลาดหุ้นไทยจากนี้ไปคงไม่ง่ายแล้วหากจะคาดหวังกำไรสูงๆเช่นปีที่ผ่านมาที่ระดับ 30-40 %   คำแนะนำควรเลือกลงทุนหุ้นเป็นรายตัวมากขึ้น

        ข้อแนะนำในการจัดพอร์ตลงทุนในปี 2556 สำหรับกลุ่มที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางแนะนำลงทุนหุ้นในประเทศ 20-30 % หุ้นต่างประเทศ 20-30 % ทองคำ 10 % โดยไม่แนะนำลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นน้ำมัน เนื่องจากการความต้องการไม่ได้สูงมาก  ขณะที่ทองคำยังมีโอกาสปรับขึ้นไปได้ที่ 1,950 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์  ที่เหลือแนะนำลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี

    ด้าน 'ชัยพร  น้อมพิทักษ์เจริญ' ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.)บัวหลวง จำกัด  ให้คำแนะนำสำหรับการลงทุนในปี 2556 นักลงทุนยังจะต้องระมัดระวังปัจจัยต่างประเทศทั้งสหรัฐฯและยุโรป  และภายใต้ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายยังมีโอกาสปรับลงได้อีก 0.25-0.5 % จากปัจจุบัน 2.75 % และยังคงต่ำต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปี  กลยุทธ์ยังแนะนำลงทุนในหุ้นไทยโดยอิงจากกำลังซื้อในประเทศแต่ไม่ควรคาดหวังกำไรจากการลงทุนสูงอย่างปี 2555 ส่วนทองคำยังทยอยลงทุนได้ แต่ก็ไม่ควรคาดหวังกำไรสูงเช่นในปี 2554  แม้ว่าปีนี้บริษัทยังประเมินทิศทางราคาทองที่ 1,950 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ หรือประมาณ บาทละ 27,100 บาท จากความต้องการซื้อทองในอินเดียและจีนเริ่มกลับมาแล้วจากสัญญาณเศรษฐกิจประเทศฟื้นก็ตาม

    'ชัยพร' กล่าวถึง การจัดพอร์ตลงทุนสำหรับกลุ่มที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางและคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 11.3 % ยังแนะนำลงทุนในหุ้น 20 % ทอง 20 % น้ำมันปรับการลงทุน ลดลงจาก 20 % เหลือ 15 %  และแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น จาก 8 % เป็น 15 % เนื่องจากสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในสภาวะดอกเบี้ยต่ำ  ที่เหลือประมาณ 30 % แนะนำลงทุนในตราสารหนี้

    คำแนะนำสำหรับการลงทุนในต่างประเทศ  'สุทยุต เชื้อพานิช' ผู้จัดการกองทุนอาวุโสฝ่ายลงทุนตราสารทุนต่างประเทศ บลจ.เอ็มเอฟซีฯ  กล่าวว่า ควรกระจายลงทุนในหุ้นต่างประเทศแถบตลาดเกิดใหม่โดย เฉพาะหุ้นจีนที่ยังถูกอยู่ มากขึ้นสำหรับกลุ่มที่รับความเสี่ยงได้มากขึ้นโดยแนะนำแบ่งลงทุนประมาณ 20 % ของพอร์ต โดยคาดหวังรีเทิร์นประมาณ 10 % สำหรับหุ้นโลก ส่วนในตลาดเกิดใหม่มีโอกาสได้รีเทิร์นมากกว่าประมาณ 10-15 %

    ****ฮิตฝากสั้น 'เงินฝากประจำระยะ 3-6 เดือน'ปี55พุ่ง


    หันมาดูผลตอบแทนจากผลิตภัณฑ์เงินฝาก ในรอบปีที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ ตุลาคม 2555 เทียบกับตุลาคม 2554) วงเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เพิ่มขึ้น 19.27% เงินฝากประจำ 3 เดือน เพิ่มขึ้น 7.62% เงินฝากประจำ 3-6 เดือน เพิ่มขึ้น 120.93%  เงินฝาก 6 เดือน -1 ปี เพิ่มขึ้น 77.74%  เงินฝาก 1-2 ปี เพิ่มขึ้น 25.91 %  และเงินฝาก 2 ปี ลดลง 34.23 %

    ยอดเงินฝากที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สะท้อนผลสำเร็จของแคมเปญเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ออกมาแข่งขันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี  ผ่านรูปแบบของทั้งเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ  เงินฝากประจำพิเศษ ทั้งระยะสั้น  และเงินฝากระยะยาว รวมไปถึงลูกเล่นที่ธนาคารพาณิชย์ นำมาใช้เป็นจุดขายของโปรดักต์เงินฝาก เช่น อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได  เงื่อนไขที่เปิดให้ผู้ฝากเลือกรับอัตราดอกเบี้ยเองได้ การแข่งขันเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ  เป็นปีที่ได้เห็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ แตะที่ระดับ 3.00 %  รวมไปถึงกลยุทธ์ขายพ่วง เช่น เงินฝากพ่วงประกันชีวิต เงินฝากพ่วงกองทุน ฯลฯ ซึ่งยังมีให้เห็นในปี 2556

****ฝากแบงก์กินดอกเบี้ยปี 56 ต้อง'รอจังหวะ'

    ถึงแม้ว่าปี 2556 แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยจะเป็นขาลงตามทิศทางของดอกเบี้ยในต่างประเทศ แต่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่มีผลต่อผลตอบแทนผลิตภัณฑ์เงินฝากในปี 2556 เชื่อว่าแนวโน้มผลตอบแทนจากการลงทุนในปีหน้า ยังมีโอกาสเห็นสถาบันการเงินนำเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อแข่งขันระดมเงินฝากรองรับการเติบโตของสินเชื่อที่เติบโตสอดรับกับภาพรวมอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ประมาณการกันไว้ที่ 5.0-5.5%  ประกอบกับสถาบันการเงินต้องออกแคมเปญเงินฝากอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อรักษาฐานเงินฝากจากแคมเปญในปี 2555 ที่จะครบอายุการฝากในปี 2556

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตั้งข้อสังเกตต่อแนวโน้มสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2556 ไว้ว่า สภาพคล่องจะทยอยตึงตัวขึ้นตามความก้าวหน้าในการเบิกใช้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์  โดยจุดจับตาสำคัญต่อสภาพคล่องของธนาคารไทย อยู่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ที่เงินฝากระยะกลางและยาวจำนวนหนึ่งจะครบกำหนด ซึ่งอาจเห็นบางจังหวะที่ธนาคารพาณิชย์ดึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษบางระยะขึ้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตลาด


    ประมวลความเห็นผู้บริหารของสถาบันการเงิน ให้ข้อแนะนำสำหรับการออมในผลิตภัณฑ์เงินฝากปี 2556 ไว้ว่า เป็นปีที่ 'ต้องรอจังหวะ'


    'กฤษณ์ จันทโนทก 'ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจเงินฝากและการลงทุน และการประกันภัยธนพัทธ์ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นจังหวะขาลง อีกทั้งมีแนวโน้มคงอยู่ในระดับต่ำอีกสักระยะ ทำให้ผลิตภัณฑ์เงินฝากปี 2556 จะไม่ได้ออกมาในรูปแบบที่น่าตื่นเต้นมากนัก   ลูกค้าจึงควรจับจังหวะการออมในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษที่แต่ละธนาคารจะมีการนำเสนอขึ้นในบางช่วง ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่าผลิตภัณฑ์ออมทรัพย์อัตราดอกเบี้ยพิเศษถือมีความน่าสนใจ เพราะให้ผลตอบแทนสูงถึง 2.8-3% ต่อปี ขณะออมทรัพย์ทั่วไปจะอยู่ที่ 0.125-0.85% ต่อปี เพื่อรอดูทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กระต่ายกระต่าย

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่