Acer Aspire One 756 Slimnote เน็ตบุ๊คสายพันธุ์ใหม่ รับกระแสอัลตร้าบุ๊ค

กระทู้สนทนา

Acer Aspire One 756 Slimnote คือเน็ตบุ๊คสายพันธุ์ใหม่จากเอเซอร์ที่ต่อยอดมาจาก Aspire One รุ่นเดิม ด้วยการพัฒนาให้ตัวเน็ตบุ๊คมีขนาดบางลงราว 30% เพื่อเพิ่มความสะดวกในการพกพามากยิ่งขึ้น รวมถึงสอดรับกับกระแสอัลตร้าบุ๊คที่เน้นความบางเบาและกำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้ พร้อมทั้งฉีกแนวการขับเคลื่อนจากพลังประมวลผลแบบเดิมๆ ที่เป็นซีพียู Intel Atom มาเป็น Intel Celeron และ Pentium ที่ให้ความแรงเช่นเดียวกับโน้ตบุ๊คในระดับ Entry Level

1.

Acer Aspire One 756 Slimnote (ตัวที่เราได้รับมาทดสอบ) มาพร้อมกับดีไซน์สีดำสนิท ทั้งด้านหน้า หลัง และภายใน (มีให้เลือก 4 สี ได้แก่ Ash Black, Feather Blue, Ladybug Red, Dewdrop Silver) บอดี้ตัวเครื่องทำจากพลาสติก พื้นผิวฝาพับด้านหน้าเป็นวัสดุเงามัน ซึ่งเมื่อมองดูใกล้ๆ ก็จะพบกับแสงวิบวับ คล้ายกากเพชรถูกพ่นทับที่ด้านในอีกชั้น ส่วนงานประกอบก็ดูแข็งแรง ข้อต่อแน่นหนา ไม่มีอาการหลวม

ในส่วนของพอร์ทเชื่อมต่อ ที่ด้านซ้ายของ Acer Aspire One 756 Slimnote มาพร้อมกับพอร์ทเชื่อมต่อที่ครบครันสำหรับการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น Lan, VGA out,  HDMI และ USB นอกจากนี้ ยังเพิ่มความสะดวก ด้วยการรองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi และ Bluetooth

ด้านขวา ประกอบด้วย ช่องเสียบหูฟัง, USB 2 พอร์ท, (สรุป  USB มี 3 พอร์ท), ช่องเสียบสาย  AC และที่ขาดไม่ได้กับ สล็อตสำหรับคล้องสายป้องกันเน็ตบุ๊คเคลื่อนที่

ด้านหลัง พื้นผิววัสดุที่ใช้ไม่แตกต่างจากเน็ตบุ๊ค หรือโน้ตบุ๊คทั่วไป มีลักษณะดำด้าน มาพร้อมกับแบตเตอรี่ ขนาด 4 เซลล์ ปลดล็อคเพื่อถอดแบตเตอรี่ออกได้ โดยการใช้อุปกรณ์ปลายแหลมจิ้มที่ช่องด้านขวามือใกล้กับแบตเตอรี่ ส่วนแถบยาวด้านล่างสุดเป็นที่อยู่ของลำโพง


สันเครื่องด้านใต้คีย์บอร์ด จะเป็นตำแหน่งสำหรับช่องอ่านการ์ด ที่รองรับการ์ด SD และ MMC

สันเครื่องด้านหลัง จะมีขนาดใหญ่กว่าด้านหน้าเล็กน้อย เนื่องมาจากความหนาของตัวแบตเตอรี่


2.

Acer Aspire One 756 Slimnote มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ ลีนุกซ์ Linpus ที่เอเซอร์พัฒนาขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อลดต้นทุนในการใช้วินโดว์ 7 อย่างที่ทราบกันดี แต่อย่างไรก็ดี ลีนุกซ์ที่เอเซอร์ติดตั้งมาด้วยนั้น (ไม่แน่ใจว่า เป็นเพราะเครื่องที่ส่งมาทดสอบ หรือทั้งหมดที่วางขาย) ไม่มีหน้ากราฟฟิค GUI ที่เปิดเครื่องมาแล้ว สามารถใช้งานได้เลย มีเพียงแต่ text mode หน้าจอดำๆ ที่ไม่สามารถใช้งานอะไรได้ ทำได้แต่เพียงฟอร์แมตใหม่อย่างเดียว ซึ่งถ้าใครจะทดลองใช้ลีนุกซ์ ก็ต้องหาเวอร์ชั่นอื่นมาใช้งาน และถ้าจะใช้งานวินโดว์ บรรดาไดร์เวอร์ต่างๆ สามารถดาวน์โหลดจากเว็บเอเซอร์ได้ทั้งหมด ไม่ยุ่งยากในการมานั่งหาไดร์เวอร์ที่ละตัว (ปล. เว็บฯ เอเซอร์ไม่มีไดร์เวอร์สำหรับ XP และ Vista)

ลักษณะทางกายภาพ Acer Aspire One 756 Slimnote มีขนาดตัวเครื่องที่ 11.6 นิ้ว ย่อมกว่ากระดาษขนาด A4 เล็กน้อย  มีความบางที่ 20 มิลลิเมตร ซึ่งน้อยกว่าเน็ตบุ๊คทั่วไปที่จะอยู่ราวๆ 25-40 มิลลิเมตร ส่วนน้ำหนักเคาะอยู่ที่ 1.38 กิโลกรัม ตามมาตรฐานเน็ตบุ๊ค ด้านบนเหนือจอเป็นตำแหน่งเว็บแคม Acer Crystal Eye HD เยื้องใกล้ๆ กันเป็นไมโครโฟน

การแสดงผลหน้าจอ เมื่อเปิดขึ้นมา จะพบว่ามีสีสันที่สดใสพอสมควร ด้วยกราฟฟิค Intel HD แบบออนบอร์ด และเทคโนโลยี Acer CineCrystal ที่รองรับการแสดงผลความละเอียด 1366x768 พิกเซล Ratio 16:9

ส่วน สเป็คของ Acer Aspire One 756 Slimnote มาพร้อมซีพียูสองรุ่นให้เลือกใช้ นั่นก็คือ Intel Pentium processor 967/987 1.3 GHz และ Intel Celeron processor 877 1.4 GHz ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความโดดเด่นของเน็ตบุ๊คสายพันธุ์ใหม่ เพราะอย่างที่ทราบกันดี เน็ตบุ๊คส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมกับซีพียู Intel Atom มากกว่าการใช้ ซีพียูเพนเทียม และเซเลลอน ที่มักจะถูกจับใส่อยู่บนโน้ตบุ๊คหรือเดสก์ทอประดับเริ่มต้น และด้วยแรงขับจากซีพียูที่แรงขึ้นจึงทำให้เน็ตบุ๊คทำงานได้ลื่นขึ้นมากกว่าเดิม และรองรับการเล่นเกมหลายแบบมากขึ้น ส่วนแรมมีขนาด 2 กิกะไบต์แบบ DDR3 (สามารถใส่เพิ่มได้สูงสุดถึง 8 กิกะไบต์) พอดีสำหรับการลงวินโดว์ 7 (สำหรับเครื่องที่ทดสอบลง Window 7 Ultimate 32 bit) สำหรับฮาร์ดดิสก์มีความจุที่ 320 กิกะไบต์

ส่วนแผงคีย์บอร์ดมาในรูปแบบ Chiclet keyboard ป้องกันฝุ่น ส่วนการจัดเรียงปุ่มต่างๆ มีขนาดพอดีมือ เหมือนโน้ตบุ๊ค ปุ่มพาวเวอร์ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งมุมบนซ้าย

ปิดท้าย

ถึงแม้ตอนนี้ตลาดเน็ตบุ๊คดูจะซบเซาอยู่ไปบ้าง อันเนื่องมาจากโดนแท็บเล็ตโจมตี แต่อย่างไรเสีย สินค้าทั้งสองประเภทก็ยังคงมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกัน ซึ่งก็ต้องไปตามเป็นลักษณะของการใช้งาน ที่ผู้ใช้ต้องเป็นผู้พิจารณาให้เหมาะสม และด้วยการที่เอเซอร์พัฒนาให้เน็ตบุ๊คมีขนาดที่บางลงก็เชื่อว่าน่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ Acer Aspire One 756 Slimnote รุ่นนี้มีความน่าสนใจ

จุดเด่น


1.มีคีย์บอร์ดภายในตัว สามารถพิมพ์ได้ถนัดมือ
2.หน้าจอมีความสดใส พอร์ทเชื่อมต่อครบ
3.พกพาสะดวกขึ้นด้วยขนาดที่บางลง
 

จุดด้อย


1.ไม่มีวินโดว์มาด้วย เนื่องจากการลดต้นทุน
2.ไดร์เวอร์บางตัวบนเว็บ ดาวน์โหลดมาแล้วไม่สามารถใช้งานได้
3.พื้นผิวฝาพับเป็น วัสดุมันเงา จึงทำให้เป็นรอยนิ้วง่าย รวมถึงที่คีย์บอร์ด

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่