เรื่องเล่าจากเกม : เรื่องเล่าจากเชอร์โนบิล

กระทู้สนทนา

01.23 น. : เมษายน 26 , 1986

นี่ก็คือช่วงเวลาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่ยากจะลืมสำหรับใครหลายๆคนครับ แน่นอนว่าเหตุการณ์ที่ว่าก็คือเหตุการณ์ โศกนาฏกรรมที่เชอร์โนบิล (Chernobyl Disaster) นั่นเอง เหตุการณ์ในครั้งนี้ก่อให้เกิดความสูญเสียมากมายมหาศาลทีเดียว อาจจะจริงที่ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่ได้มีผู้เสียชีวิตมากมายเหมือนอย่างในเฮติหรือสึนามิในแถบบ้านเรา (มีผู้เสียชีวิตเป็นพนักงาน 47 คน) แต่ทว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้เกิดผลกระทบลูกโซ่ต่อเนื่องมาอีกมากมายครับทั้งในรูปของนามธรรมและรูปธรรม

สำหรับวันนี้เราจะไปทัวร์เชอร์โนบิลกันครับ อาจจะไม่ได้น่าระทึกเหมือนในเกม STALKER หรอกนะ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว เพราะเหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลนี้เองครับที่ทำให้เกิดเรื่องราวเกี่ยวกับ การกลายพันธุ์ หรือ หายนะจากนิวเคลียร์ ขึ้นมา หรือถ้าจะให้ขยายความอีกนิด เหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลนี้เองครับที่เป็นรากฐานที่ก่อให้เกิดเกมอีกหลายๆเกมที่เราเล่นกันอยู่ในปัจจุบัน...

โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล
สถานที่ตั้งของโรงไฟฟ้านั้นอยู่บริเวณ 10 ไมล์จากรอยต่อของยูเครนและเบลารุสครับ ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ถึง 4 ตัวด้วยกัน (แต่ละตัวผลิตไฟฟ้าได้ 1 gigawatt หรือคิดเป็น ร้อยละ 10 ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ในประเทศ ณ ช่วงเวลานั้น) และถ้าไม่เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะมีเตาปฏิกรณ์มาติดตั้งอีก 2 ตัว รวมแล้วก็เป็น 6 ตัวเลยทีเดียว

โรงไฟฟ้าแห่งนี้เริ่มทำงานตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 70 ซึ่งในครั้งนั้นมีเตาปฏิกรณ์เพียงตัวเดียวเท่านั้น (ถ้าจะให้ระบุเวลาสักนิดก็ปี 1977) ก่อนที่เตาปฏิกรณ์ตัวอื่นๆจะถูกนำมาติดตั้งเพิ่มเติมในปีต่อๆมารวมเป็น 4 ตัวเช่นเมื่อตอนที่เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น

เหตุการณ์ที่เราจะไม่มีวันลืม
เมษายน 26 , 1986 : เวลา 01.23...
สาเหตุของหายนะนั้นเกิดขึ้นจากการทดสอบระบบรักษาความปลอดภัยและการบำรุงรักษาที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ครับ และระหว่างการทดสอบนี้เองครับที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น
พลังงานลดลงต่ำเหลือแค่เพียง 700 Megawatt ด้วยเหตุนี้ทำให้พนักงานจำเป็นต้องเร่งการทำงานของ The Steam Turbine ขึ้น (จากการสอบถามจากผู้รู้ The Steam Turbine มีความหมายว่าก้านสูบ แต่เพื่อไม่ให้ความหมายผิดเพี้ยน ผมขออนุญาตใช้แบบทับศัพท์ละกันนะครับ) ซึ่งถ้าต้องการเร่งการทำงานขึ้น ระบบรักษาความปลอดภัยก็จำเป็นจะต้องถูกปิดลง ด้วยเหตุนี้พนักงานจึงจำเป็นต้องปิดระบบความปลอดภัยเพื่อเร่งระบบการทำงานและเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าขึ้น
และหลังจากที่ระบบรักษาความปลอดภัยปิดตัวลง แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก็คือความร้อนเกินกว่าจะถ่ายทิ้งออกจากเตาปฏิกรณ์ได้ ความร้อนจึงสูงขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งในที่สุด เตาปฏิกรณ์ก็เกิดการระเบิดขึ้นเช่นที่เราทราบกัน
(อันที่จริงมีรายละเอียดทางเทคนิคและเคมีเยอะพอสมควร แต่ผมขออนุญาตย่อเหลือแค่นี้เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจนะครับ)

ผลกระทบจากการระเบิด
ผลจากการระเบิดทำให้พนักงานของโรงไฟฟ้าเสียชีวิตใ 47 คนครับ ผลจากการระเบิด ณ เวลานั้นก่อให้เกิดกัมมันตรังสี 5.6 roentgen ต่อวินาที (หรือ 20,000 R/ชั่วโมง) ซึ่งถ้าคุณเข้าไปอยู่ในสถานที่เกิดเหตุโดยไม่ได้ป้องกัน คุณอาจจะป่วยหนักเพราะกัมมันตรังสีได้ในเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้น (ซึ่งพนักงานผู้รอดชีวิตและได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสีนี้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 31 คนในช่วง 3 สัปดาห์แรกเพราะอาการป่วยอันเกิดจากกัมมันตรังสีที่ได้รับ)
แต่การระเบิดคือจุดเริ่มต้นของหายนะเท่านั้น เพราะผลกระทบที่สืบเนื่องต่อมาก็คือ Fallout ที่มีผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วทั้งยุโรป (แน่นอนว่าที่ได้รับผลกระทบหนักสุดก็คือ ยูเครน , เบลารุส และรัสเซีย) ว่ากันว่าผลกระทบจากการเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้นั้นร้ายแรงกว่าระเบิดที่ฮิโรชิม่าถึง 400 เท่าเลยทีเดียว (แต่ก็แค่ว่ากันว่าล่ะนะ ถ้ามองดีๆจากในอีกมุมมองหนึ่ง เหตุการณ์ครั้งนี้นั้นต่างจากฮิโรชิม่าพอสมควร ปัจจัยที่เห็นได้ชัดๆเลยก็คือ เหตุการณ์ที่ฮิโรชิม่า เกิดจากความตั้งใจของมนุษย์ แต่ทว่า โศกนาฏกรรมที่เชอร์โนบิล เกิดจากความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจของมนุษย์)

จริงที่ว่าผลจากการระเบิดคร่าชีวิตของพนักงานไปเพียง 47 คนเท่านั้น (ขออนุญาตใช้คำว่า เท่านั้น นะครับ เพราะเมื่อเทียบกับผลกระทบที่เกิดสืบเนื่องต่อมาในภายหลังแล้ว ผลกระทบที่มีต่อเนื่องมานั้นร้ายกาจกว่าเยอะเลยทีเดียว) แต่ทว่า Fallout จากแรงระเบิดนั้นเป็นผลทำให้มีผู้ป่วยมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กผู้ที่ยังมีภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งจากการตรวจสอบในภายหลัง (อ้างอิงจาก IAEA : International Atomic Energy Agency) พบว่ามีผู้เสียชีวิตในภายหลังจากผลกระทบของการระเบิดอีกกว่า 4,000 เลยทีเดียว และมีอีกกว่า 600,000 คนที่ป่วยหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านพันธุกรรม แน่นอนว่าเกิดจากผลกระทบจากการระเบิดในครั้งนี้

ณ ปัจจุบันนี้ บางพื้นที่ซึ่งเคยได้รับผลกระทบก็ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะแก่การอยู่อาศัยเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ แต่สำหรับบางพื้นที่นั้นยังคงถูกระบุให้เป็นเขตหวงห้ามเพราะอาจมีสารกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนอยู่ในบริเวณนั้น  ซึ่งสถานที่ส่วนใหญ่ที่เราเห็นในเกม STALKER นั้นก็มาจากสถานที่จริงนี่เองครับ (เพียงแต่ว่าไม่มี Mutant และพวก Stalker เดินว่อนเต็มไปหมดแค่นั้นเอง)
แต่ก็ใช่ว่าการระเบิดจะสร้างแต่หายนะเพียงอย่างเดียว ผลจากการระเบิดนั้นทำให้มนุษย์เริ่มหันมาสนใจกับผลกระทบอันเกิดจากการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างจริงจังครับ (ยกตัวอย่างก็เช่นที่อิตาลีซึ่งกำลังวางแผนจะสร้างโรงฟ้านิวเคลียร์ของตน แต่ทว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลขึ้น อิตาลีจึงจำเป็นต้องนำแผนงานมาทบทวนอีกครั้งเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและผลกระทบที่อาจเป็นไปได้) ระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆได้รับการพัฒนาให้รัดกุมขึ้น มนุษย์ใส่ใจต่อผลกระทบที่อาจจะตามมาในภายหลังมากขึ้นทั้งต่อตนเองและธรรมชาติ และที่สำคัญที่สุดก็คือ มนุษย์รู้จักที่จะมองอดีตเพื่อนำไปใช้กับอนาคตมากขึ้น (แต่ก็จะว่าเป็นข้อดีก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะในบางครั้งเหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลก็ถูกนำไปอ้างเพื่อเอาชนะคะคานกัน แต่อย่างไรนั้นผมขออนุญาตไม่พูดถึง) โศกนาฏกรรมที่เชอร์โนบิลจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เปลี่ยนโฉมหน้าของโลกไปครั้งใหญ่เลยทีเดียวครับ

ก็อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นครับ โศกนาฏกรรมครั้งนี้ก็คือจุดกำเนิดของแนวคิดในเกมที่เราเล่นๆกันอยู่หลายต่อหลายเกม (แน่นอนว่าหลักๆก็เกี่ยวกับผลกระทบจากอาวุธนิวเคลียร์ที่ใช้รบกัน) และแน่นอนว่ารวมไปถึงแนวคิดเกี่ยวกับ การกลายพันธุ์ ด้วย เราจึงไม่อาจปฏิเสธได้เลยครับว่า โศกนาฏกรรมที่เชอร์ิล นั้นใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด อาจจะไม่ได้หมายถึง อันตรายใกล้ตัว แต่มันก็คือเรื่องน่ารู้ที่อยู่ใกล้ตัวเรามากๆครับ  ทว่าเรามักมองข้ามมันไปเสมอ

เครดิตภาพและข้อมูล  www.chernobyl2008.com - en.wikipedia.org


แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่