Review : Tonium Pacemaker

กระทู้สนทนา
Review : Tonium Pacemaker 60 GB


    
    ในฐานะที่ผมเป็นคนที่ชอบฟังเพลงหลากหลายแนวมาตั้งแต่อายุน้อยๆ ดังนั้นพฤติกรรมในการออกเที่ยวตระเวณราตรีของผมออกจะแตกต่างไปบ้างเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนคนอื่นๆ ในกลุ่ม แน่นอนที่ว่าสาวๆ และความสนุกย่อมเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ในการออกรอบแต่ละครั้ง แต่จนแล้วจนรอดทุกๆ ครั้งสายตากับหูของผมก็มุ่งไปที่ต้นกำเนิดของเสียงเพลงที่ออกมากระตุ้นกลุ่มมนุษย์ที่แออัดกันอยู่ให้เกิดการเคลื่อนไหวให้เป็นจังหวะและทิศทางเดียวกันอย่างง่ายดายไปเสียทุกๆ ครั้งเพื่อชื่นชมกับความสามารถของกลุ่มคนที่สามารถทำเรื่องเช่นดีได้อย่างดีเยี่ยมในทุกๆ วันที่พวกเราเรียกพวกเขาว่า พี่ DJ

ภาพ : เท่โพดๆ (เครดิตภาพจาก Flickr)


    และแน่นอนแม้ว่าผมจะรู้น้อยแต่อย่างน้อยผมก็รู้ว่าการที่จะก้าวเข้าไปสู่พื้นที่ๆ เหล่าพี่ DJ เหล่านั้นสิงสถิตย์อยู่มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แน่นอน แต่การทำอะไรที่เท่ๆ ให้สาวๆ หลงไหลนั้นเป็นอะไรที่ยั่วยวนใจผมเสียเหลือเกิน แต่หลังจากที่ผมหาข้อมูลเบื้องลึกในการร่ำเรียนวิชาในการก้าวเป็นพี่ DJ  ได้สักพักผมก็ต้องท้อใจอย่างหนักเมื่อเห็นราคาของอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มากมาย พร้อมๆ กับการจากไปของเครื่องเล่นเพลงมือถือเครื่องเก่าของผมที่จู่ๆ ก็บอกลากันไปอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และด้วยทรัพย์สินอันน้อยนิดทำให้ผมต้องเลือกตัดสินใจสักทางหนึ่ง ซึ่งแต่ละทางก็สำคัญไม่แพ้กัน ช่างเป็นเรื่องที่น่าหนักใจเสียจริงๆ

                     ….แต่นั่นมันเป็นเรื่องก่อนหน้าที่ผมได้ผมเจอกับเจ้า Pacemaker นะครับ =D

     มันประกอบไปด้วยหน้าจอวงกลมอยู่ข้างบนและตัวควบคุมกึ่ง Touch Screen อยู่ด้านล่าง ไฟแสดงสถานะการควบคุมแทรคทั้งสองข้าง และรอบๆ ตัวของมันนั้นประกอบไปด้วยปุ่มควบคุมอีก 3 ปุ่ม และมีสายสัญญาณเข้า-ออก อุปกรณ์กำเนิดเสียงอีก 2 สายและ สายเชื่อมข้อมูลกับพีซีและชาร์ตพลังงานกระจายอยู่รอบๆ ตัวเครื่อง (ตามรูป)



Feature ( Portable Sound Mixing )


    คุณจะต้องการการเรียนรู้สักนิดก่อนที่จะเริ่มใช้งานเจ้า  Pacemaker ให้ได้ในเบื้องต้น (และต้องการการเรียนรู้อย่างมากถ้าหากต้องการควบคุมมันให้ได้อย่างโปรฯ ) การควบคุมต่างๆ ของ  Pacemaker แม้จะดูยุ่งยากแต่มันก็ครบถ้วนเต็มประสิทธิภาพตามอย่างที่คุณต้องการ


    ขั้นแรกคุณจะต้องเรียนรู้ทักษะการผสมผสานเสียงเพลงขั้นต้นจากโปรแกรมจำพวกมิกซ์เพลงทั้งหลายแหล่ในตลาดก่อนที่จะกระโจนเข้าไปทำความรู้จักกับเจ้า Pacemaker  และหลังจากที่คุณใส่เพลงโปรดเข้าไปในฮาร์ดดิสก์ความจุ 60 Gbและจัดการเปิดเครื่องขึ้นมา เมื่อคุณทำการเลือกเพลงคุณจะสามารถเลือกให้มันเล่นผ่าน “ช่องเสียง” ทั้งสองช่องได้ โดยผ่านปุ่ม Channel Selection รูปวงรียาวใต้หน้าจอแสดงผล

ภาพ : Effect ต่างๆ ที่ใช้ผสมผสานเสียงเพลง


    ฟีเจอร์ที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งของของเจ้า Pacemaker  ก็คือมันสามารถบันทึกเพลงที่คุณทำการมิกซ์และส่งผ่านให้เพื่อนๆ คุณได้ลองฟังได้ด้วยฟอร์เมต Ogg.(เพลงที่คุณมิกซ์ขึ้นเองด้วย Pacemaker  ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของคุณดังนั้นมันจึงถูกกฎหมายครับ)
 
    และสุดท้ายผมก็ต้องสารภาพว่า ความสามารถของผมไม่ถึงขั้นที่จะดึงประสิทธิภาพของเจ้า Pacemaker ออกมาได้เต็มๆ เท่าที่ผมทดลองสัมผัสดูเจ้า Pacemaker  ยังคงเต็มไปด้วยความสามารถลี้ลับอีกหลายประการที่ผมไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ แม้ว่าศาสตร์ของการผสมผสานเสียงเพลงเป็นอะไรที่เจ๋งและเย้ายวนใจอย่างสุดๆ แต่ความสามารถของผมที่มีขีดจำกัดคงต้องหยุดไว้ตรงนี้ และการีวิวขั้นต่อไปจะเป็นการรีวิวฟีเจอร์ของเจ้า Pacemaker  ในฐานะที่ผมเป็นผู้รักในการฟังเสียงเพลงแทนจะดีกว่า (แต่ถ้าหากท่านไหนสนใจที่จะลิ้มลองความลี้ลับยั่วยวนที่ผมว่าละก็ เชิญพบกับน้องหนู Pacemaker  ได้ที่ Sanuk Gadget CTW. ชั้น 4เพื่อทดลองเล่นได้ฟรีๆ ขอรับ )



Feature ( Music Player )
    
    ถ้าหากอ้างอิงจากสเปคตามเวปไซต์อย่างเป็นทางการของเจ้า  Pacemaker นั้น มันสามารถรองรับไฟล์เสียงได้มากมายหลายหลากฟอร์เมต ได้แก่  MP3 (320Kbps), AAC (unprotected), AIFF, WAV, Ogg Vorbis และ FLAG ใช่แล้วล่ะครับ มันสามารถรองรับไฟล์ FLAC ไฟล์เสียงคุณภาพสูงที่เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่นักฟังพลงอย่างเราๆ ได้  และในการทดสอบในครั้งนี้ไฟล์เพลงที่ผมใช้ทั้งหมดจึงเป็นไฟล์ FLAC ที่คัดมาจาก CD ต้นฉบับล้วนๆ ในการทดสอบครับ (ยกเว้น Album a Girl Meets Bossanova 2 ของ Olivia Ong ที่ได้รับการสนับสนุนมาจากสมาชิกท่านหนึ่งครับ (เพราะของผมโดนเพื่อนตัวดีแฮ้ปไปแล้ว T T) )

ภาพ : ล๊อตแรก สนใจแผ่นไหนหลังไมค์ครับ (ล้อเล่นนะครับ เเฮะๆ )


    การติดตั้งหรือการลงไฟล์เพลงเพิ่มเติมใน Pacemaker นั้นจะทำผ่านโปรแกรม Pacemaker Editor ที่แถมมากับความจำในตัวเครื่อง การใช้งานของโปรแกรมนี้ก็ค่อนข้างง่าย โดยจะใช้เมนูย่อย Device เป็นการแสดงรายชื่อเพลงต่างๆ  และเราจะสามารถสร้าง Playlist (Cases) เพื่อที่จะนำไปเล่นใน Pacemaker ได้โดยการปรับแต่งรายชื่อในเมนู Editor ของโปรแกรมและลากรายชื่อเข้าไปในเมนู Device เพื่อให้ข้อมูลของเครื่องและอุปกรณ์ตรงกัน

ภาพ : Program Pace Maker Editor



    ในการทดสอบครั้งนี้จะใช้หูฟัง 3 รุ่น 3 แบบในการทดสอบคุณภาพและแนวเสียงที่ได้จากเจ้าPacemaker ซึ่งหูฟังทั้ง 3 ตัวที่ว่านั้นได้แก่ อันดับแรกหูฟังสามัญประจำบ้านอย่าง Sennheiser MX 400 อันดับสองก็คือ Full Size ดีไซน์เฉี่ยว EQUATION RP-21 และอันดับสุดท้ายได้แก Full Size Bass Head  Sony XB-700 ครับผม



    การควบคุมเมนูการเล่นเพลงของ Pacemaker สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการเคาะ Touch pad ย้ำๆ สองที (ดับเบิ้ลเคาะ !) เมนูรายชื่อ Track ทั้งหมดก็จะเรียงหน้ากันเข้ามาให้คุณได้เลือกเล่นกัน และสามารถเลือกเพลงโดยการแบ่งตาม BPM ชื่อศิลปิน ชื่ออัลบั้ม เพลย์ลิสต์ ได้ผ่านการกดปุ่มเปลี่ยนโหมดด้านข้างร่วมกับการเลื่อน Touch Pad การเพิ่มเสียงก็คล้ายคลึงกันมันสามารถทำได้โดยผ่านการเลื่อนปุ่มเปลี่ยนโหมดด้านข้าง และทำการเตะและหมุน Touch Pad ให้ไปในทิศทางเดียวกับเข็มนาฬิกา



    ยกแรกในการประกบคู่ระหว่าง Pacemaker  และหูฟังสามัญประจำบ้าน Sennheiser MX 400 เป็นไปด้วยความตื่นตะลึง น้ำหนักเสียงที่ได้ไม่ว่าจะเป็นเสียงเบส เสียงกลางและเสียงแหลมถูกขับออกมาอย่างเต็มพิกัดเท่าที่หูฟังตัวน้อยๆ ราคาเบาๆ อย่าง MX 400 จะสามารถทำได้ ถ้าหากหูผมไม่ได้เบลอจนผิดเพี้ยนไปละก็แนวเสียงที่ได้จาก Pacemaker นั้นมีความใกล้เคียงกับ Sony X Series มากเลยทีเดียว ต่างกันตรงที่ Pacemaker นั้นให้เสียงที่ฟังดูก็รู้ว่ามันออกมาจากเครื่องเล่นที่เป็น Digital

ภาพ : เจ๋งจริงๆ ปรับกันได้ตามใจชอบโลด



    ข้อเสียอย่างสุดๆ ที่ผมพบในการใช้  Pacemaker เป็นเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาก็คือการที่มันไม่เล่นเพลงต่อไปแบบอัติโนมัติ แม้ว่าผมจะเลือกเล่นเพลงในแบบของเพลยลิสต์แล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยจุดประสงค์หลักของมันอาจจะไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาข้อเสียดังกล่าวอาจแตกต่างไปตามความเห็นของแต่ละท่านครับ



To Summary

    ด้วยราคาค่างวดที่ค่อนข้างสูง (มาก) ประกอบกับลูกเล่นและฟังค์ชั่นต่างๆ ที่ค่อนข้างยากและต้องอาศัยความพยายามควบคู่ไปกับแรงใจที่ไม่ตกในการรีดเร้นประสิทธิภาพของ  Pacemaker ให้ถึงขีดสุด ทำให้ผู้ใช้หลายต่อหลายท่านมองข้ามมันไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งในความคิดของผมนั้นเจ้า Pacemaker แตกต่างจากเครื่องเล่นพกพาอื่นๆ อยู่สักนิดหน่อยตรงที่ว่ามันสามารถเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างทางสู่ฝันในการเป็น DJ ของหลายๆ ท่านได้ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นการผสมผสานเพื่อใช้งานจริง หรือเพื่อเป็นการฝึกหัดและทดสอบความสามารถในการเป็นนักผสมเสียงนั้น เจ้า Pacemaker  นั้นตอบสนองความต้องการเหล่านั้นของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงพลังและคุณภาพของเสียงที่ได้จากมันนั้นก็จัดอยู่ในขั้นยอดเยี่ยมเทียบเทียมเพลย์เยอร์แถวหน้ายี่ห้ออื่นๆ เลยทีเดียว สุดท้ายผมก็ขอแนะนำว่าถ้าหากคุณยังมีความฝันและต้องการความแตกต่าง Pacemaker คือสิ่งหนึ่งที่คุณต้องการครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่