Review : Sony Walkman X Series

กระทู้สนทนา
Review : Sony Walkman X Series

ครึ่งเดือนเหมือนครึ่งวันกับ NWZ-X1050

    ได้โปรดเถอะ อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ iPod !  ผมแอบคร่ำครวญในใจในขณะที่อยู่ท่ามกลางวงสนทนาของกลุ่มเพื่อนที่ชื่นชอบและหลงไหลในการฟังเพลงกลุ่มประจำของผม  แต่ว่าเราจะชื่นชอบการฟังเพลงเหมือนๆ กันแต่กลุ่มเพื่อนๆ ของผมมากกว่า 80 เปอร์เซนต์นั้นหลงไหลได้ปลื้มไปกับผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่ข้องเกี่ยวกับผลไม้แหว่งลูกหนึ่ง , ไม่หรอก ผมไม่ปฎิเสธว่ามันแย่ (ผมเองก็ยังเป็นเจ้าของ Nano Gen 3 อยู่เครื่องหนึ่ง) แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาเหล่านั้น (เพื่อนๆ ) ไม่มีสายตาไว้มองว่าทุกอย่างที่ไม่มีรูปผลไม้แหว่งแปะเป็นโลโก้เสียเเล้ว..

Join us  MAC Zealot !

    ฉันใดก็ฉันนั้นตามสุภาษิตและคำพังเพยที่เราได้ยินกันมา น้ำน้อยวันไหนก็ย่อมแพ้ไฟวันนั้น แม้ผมจะเปิดใจให้กับเครื่องเล่นทุกๆ ยี่ห้อ ทุกรุ่นที่เข้ามาในสายตาแล้วก็ตาม แต่ด้วยแรงยุและคำพูดปลุกปั่นยุแยงของเพื่อน ที่เพียรกรอกหูอยู่ทุกทุกเมื่อเชื่อวัน ก็ทำให้ผมมองเครื่องเล่นแปะโลโก้ผลไม้แหว่งมีภาษีเหนือกว่าเครื่องเล่นอันอื่นอยู่เล็กน้อย แต่บทพิสูจน์ที่แท้จริงเรื่องความคิดนั้นก็มาถึงเร็วกว่าที่ผมจะถูกล้างสมองสำเร็จ ด้วยน้ำมือ (น้ำเสียง) ของ Sony NWZ-X1050 เพลย์เยอร์ระดับหัวแถวรุ่นล่าสุดของซีรีย์ Walkman

    Sony NWZ-X1050B จัดได้ว่าเป็นเครื่องเล่นมัลติมีเดียชั้นสุดยอดระดับเรือธง (Premier Flagship Products) ของซีรีย์ Walkman และเป็นหนึ่งในสองของ X Series ที่ออกมาเขย่าวงการเครื่องเล่นมัลติมีเดียในขณะนี้ (NWZ-X1050B มีความจุ 16 GB และ NWZ-X1060B มีความจุ 32 GB ทั้ง 2 รุ่นแตกต่างกันแค่ความจุเท่านั้น) และมันยังเป็น Walkman ตัวแรกที่ติดตั้งหน้าจอแสดงผล OLED (Organic Light Emitting Diode) แบบสมบูรณ์มาให้ พร้อมทั้งระบบเสียงเทคโนโลยีดิจิตอลแอมป์ S-master Class D , ระบบเชื่อมต่อไร้สาย Wi Fi, ฟีเจอร์กันเสียงรบกวน Noise Canceling, หน้าจอสัมผัส Touchscreen และอื่นๆ อีกมากพร้อมทั้งราคาอันเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าที่พะยี่ห้อโซนี่ แต่ทุกฟีเจอร์และฟังค์ชั่นจะใช้งานได้ดีหรือไม่นั้น ประสบการณ์สองอาทิตย์ของผมที่อยู่ในบทความนี้จะถ่ายทอดให้ทุกท่านได้รับรู้กันครับ

Look and Feel


    Sony NWZ-X1050B จัดได้ว่าเป็นเพลย์เยอร์ที่หน้าตาหล่อเหลาเอาการทีเดียวในสายตาของผม (มีปริมาตรทรงอยู่ที่ 53x97x11 มม. (กว้างxยาวxหนา ตามลำดับ)) แม้มันจะดุเรียบๆ ไม่หรูหราแต่ถ้าหากเพิ่งพิจารณาสักนิดก็จะเห็นถึงความแตกต่าง อย่างแรกที่ผมสังเกตเห็นก็คือ วัสดุที่อยู่ด้านข้างของ X1050B ที่ทำมาจากวัสดุแปลกตาที่ไม่เคยพบเจอในเครื่องเล่นยี่ห้ออื่นมาก่อน  (แก้ไขข้อมูลครับ - วัสดุขอบนอกของ X Series ทำมาจาก  แม๊กนีเซี่ยมอัลลอย ครับ)  จากการสัมผัสและสังเกตวัสดุที่ใช้ทำกรอบนอกของ เจ้าเพลย์เยอร์รุ่นนี้มีลักษณะคล้ายกับวัสดุประเภทหินแกรนิตบางๆ ที่ถูกออกแบบลายมาอย่างสวยงามและมันทำให้เจ้า X1050B ดูแข็งแรงบึกบึนขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว

    ด้านบนของ X1050B ประกอบไปด้วยช่องเสียบหูฟัง และปุ่มกด Play/Pause และปุ่ม Forward, Backward Track ที่ดูภูมิฐานและแข็งแรง

    ส่วนด้านขวาจะประกอบไปด้วย สวิซส์ปรับสถานะของฟีเจอร์ Noise Cancellation (การทำงานของฟีเจอร์นี้ขึ้นอยุ่กับหูฟังว่ารองรับหรือไม่ด้วยนะครับ) และปุ่มปรับระดับความดัง-เบาของเสียงหลักจากเครื่องเล่น


    สุดท้ายด้านหลังของ X1050B ก็คือปุ่ม HOLD อันเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเครื่องเล่นตระกูล Walkman แม้ขนาดอันใหญ่โตและตำแหน่งของการวางอาจจะดูแปลกตาไปสักหน่อย แต่การใช้งานของมันง่ายและถนัดมือมากๆ เลยทีเดียว

ภาพ : เทียบขนาดกับ HDD 2.5

OLED and Touch Screen

    Organic Light Emitting Diode (OLED) คือเทคโนโลยีที่การแสดงผลที่ไม่ว่าคุณจะมองหน้าจอจากมุมไหน การแสดงผลของมันก็ยังเหมือนกับการมองตรงๆ อย่างไม่มีผิดเพี้ยน ( แม้ในแสงแดดจ้าก็ยังแสดงผลได้ดูดีกว่าหน้าจอแบบอื่นๆ ) และเจ้า X-Series ก็คือ Walkman ตัวแรกที่นำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้แบบเต็มประสิทธิภาพพร้อมๆ กับทัชสกรีน (Gadget เครื่องแรกที่ใช้ OLED และ ทัชสกรีนคือ PDA Sony Clie VZ90 )

ภาพ : หลากหลายมุม OLED

    หน้าจอแสดงผลของ X-Series มีขนาดใหญ่กว่า 3 นิ้วและกินเนื้อที่ไปมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของด้านหน้าเครื่อง มีความละอียดของจออยู่ที่ 432*240 px สามารถแสดงผลได้มากสูงสุดถึง 262,000 สี และด้วยการที่มันเป็น OLED (ที่ในคู่มือและทุกเวบไซต์ย้ำกันนักหนา) ดังนั้นการตอบสนองของหน้าจอ (Response Time)  จึงสูงกว่าหน้าจอแบบ LCD ธรรมดาทั่วๆ ไป (ที่จะแสดงผลต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อมีการเล่นไฟล์ภาพเคลื่อนไหว) และแน่นอนการรับประทานพลังงานก็มากกว่า LCD ทั่วไปเป็นเงาตามตัวเช่นเดียวกัน

    หน้าจอระบบสัมผัสของ X-Series ก็มีการตอบสนองได้แม่นยำและฉับไว ในทุกๆ ฟีเจอร์ และถึงแม้ว่ามันจะไม่สวยงามฉาบฉวยเหมือนกับเครื่องเล่นตัวอื่น แต่มันก็ใช้งานได้อย่างสะดวกมือเลยทีเดียว คุณสามารถทำได้ทั้งการเลื่อนอัลบั้มขึ้ลงด้วยการสไลด์นิ้วมือไปตามหน้าจอ หรือกดเรียกเมนูแสดงผลแยกย่อยที่แบ่งตามรายละเอียดต่างๆ ตามที่คุณต้องการได้ (เรียงตาม รายชื่อศิลปิน อัลบั้ม ประเภทของเพลง ฯลฯ) ซึ่งผมจะพูดถึงโดยละเอียดอีกทีในหัวข้อ Interface ครับ

ภาพ : เร็วจนกล้องจับไม่ทันเลยทีเดียว

User Interface (UI)

    หลังจากการเกิดเครื่องครั้งแรกหรือกดปุ่ม HOME เพื่อเข้าไปสู้หน้าจอเมนูหลัก คุณจะได้พบกับเมนูหน้าตาเรียบๆ ประกอบไปด้วย ไอคอน  Music, Movies, Photos,YouTube (แหล่มมากขอบอก), Fm Radio, Podacst และ NC (Noise Canceling) Setting

ภาพ : ไอคอนหลักทั้งหมด

    เมนูการค้นหาและการสัมผัสใน X-Series มีความละม้ายคล้ายกับ iPod Touch อยู่มาก การเลื่อนเมนูหน้าจอด้วยการกดและหมุน (หรือตวัด) เพื่อหาอัลบั้ม (หรือเพลง) ใน X-Series จะมีความเร็วในการแสดงผล (ในขณะที่มีวัตถุบนหน้าจำนวนมาก) มากกว่า Touch อยู่ค่อนข้างมาก และที่หน้าจอหลักการเล่นเพลงจะถูกแสดงด้วยรูปหน้าปกอัลบั้มอยู่ด้านหลัง ชื่อเพลง ชื่อศิลปินและชื่ออัลบั้มที่สามารถกดเลื่อนความเร็วของเพลงหรือค้นหาเพลงได้ทั้งหน้าจอสัมผัสและปุ่มกดรอบๆ ตัวเครื่อง

ภาพ : ค้นหารวดเร็วด้วยไอคอน Album

    และที่ด้านล่างของหน้าจอหลักการเล่นเพลงจะมีเมนูย่อยๆ เล็กๆ อีก 4 เมนูให้เลือกใช้ มันประกอบไปด้วยเมนูแสดงรายชื่อเพลงทั้งหมดของอัลบั้มนั้นๆ เมนูค้นหา (ที่ยอดเยี่ยมมากๆ ) เมนูเชื่อมต่อกับอินเตอร์เนต และเมนูตั้งค่าเสียง เมนูค้นหาเป็นอะไรที่ผมถูกใจมันจริงๆ เมื่อคุณเรียกใช้งานมันขึ้นมา คุณสามารถหาทุกสิ่งที่คุณต้องการได้ผ่านเกณฑ์ต่างๆ ที่ระบบมีมาให้คุณ (ตั้งแต่เมนูแสดงเพลงทุกเพลง แสดงเฉพาะหน้าปกอัลบั้มไปจนถึงเลือกค้นหาในโฟลเดอร์ของเครื่องก็ยังได้) และมีเมนูเชื่อมต่อกันอินเตอร์เนตที่จะสามารถให้คุณค้นหารายละเอียดต่างๆ  ของเพลงที่กำลังฟังอยู่ผ่านทางบริการของ Yahoo และ Youtube ได้  (สามารถดูได้จากวิดีโอรีวิวของทาง STUFF ที่แนบมากับบทความครับ)

Features and Features...

    อาจจะเป็นธรรมดาไปแล้วที่เครื่องเล่นระดับ Hi-End ในยุคนี้จะต้องยัดทะนานฟีเจอร์อันมากมายหลายหลากเข้ามาในเครื่องเล่นอันเดียวกัน มันอาจจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้บริโภคอย่างเราๆ ถ้าหากฟีเจอร์ต่างๆ เหล่านั้นสามารถใช้ได้ดีและไม่ไปบั่นทอนความสามารถหลักของเครื่อง Gadget นั้นๆ   

    เจ้า X-Series ก็เช่นเดียวกัน นอกจากเรื่องฟีเจอร์ต่างๆ ที่ข้องเกี่ยวกันกับเรื่องคุณภาพและการควบคุมเสียงแล้ว มันก็เต็มไปด้วยฟีเจอร์อื่นๆ อีกมากมายทั้งที่สามารถใช้งานได้จริงและประเภทเผื่อไว้ใช้งานเฉยๆ ยกตัวอย่างเช่นเมนูวิทยุ FM ที่รับสัญญาณได้ค่อนข้างแย่ (และด้วยความคิดส่วนตัวของผมที่ว่าคนที่ซื้อเครื่องเล่นระดับนี้ได้คงไม่อยากฟังเพลงคุณภาพเสียง 56kbps ที่เลือกไม่ได้บนคลื่นวิทยุหรอกครับ) หรือฟีเจอร์เมนู PODCAST ที่เอาเข้าจริงๆ แล้วก็ไม่ค่อยมีใครใช้งานสักเท่าไร แถมการจัดเรียงหน้าจอแสดงผลและการดาวน์โหลด PODCAST จากเจ้า X-Series ก็ลำบากยากเย็นกว่าการลุกไปเปิดเครื่อง PC เพื่อต่ออินเตอร์เนตและเข้าชมสักสิบเท่าได้

     ฟีเจอร์ที่น่าตำหนิอย่างแรงในความคิดของผมคือฟีเจอร์อินเตอร์เนตที่ใช้โปรแกรมเวบบราวเซอร์เอนจิ้น NetFront เป็นบราวเซอร์ ที่แม้กระทั้งปี 2000 ผ่านไปเกือบทศวรรษแล้ว แต่คุณก็ยังต้องมานั่งพิมพ์ "http://www" ในทุกหน้าเวปไซต์ที่คุณต้องการจะเข้าชม แต่หลังจากที่คุณทำสำเร็จเเล้วคุณจะต้องตกตะลึงอีกครั้งเมื่อคุณได้เห็นหน้าจอแสดงผลที่มีการจัดเรียงหน้าและการแสดงผลไม่เข้าท่าเอามากๆ (เข้าขั้นแย่เสียด้วยซ้ำ) แม้ในคู่มือจะบอกว่ามันไม่เกิดขึ้นกับทุกเวบไซต์แต่เท่าที่ผมได้ลองมันเกิดขึ้นกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเวบไซต์ที่ผมเข้าชม  

ภาพ : ไม่ยักกะรู้ว่าพันทิปมีบริการแปลภาษา (- -")

    การแสดงผลภาพนิ่ง (Jpeg) และไฟล์วิดีโอ (AVC, MPEG-4, WMV) ถือว่าทำได้ดีสมราคาเนื่องจากหน้าจอที่มีความละเอียดสูง (และด้วย OLED ) การชมไฟล์วิดีโอหรือไฟล์รูปภาพใน  X-Series จึงไม่ค่อยเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่มีสายตาสั้น (หรือยาว) สักเท่าไร
    การถ่ายโอนไฟล์เพลงที่เป็นจุดอ่อนในเครื่องเล่นตระกูล Walkman รุ่นก่อนๆ ด้วยโปรแกรม Sonic Stage ก็ถูกขจัดไปด้วยการถ่ายโอนเพลงแบบง่ายๆ ด้วยการลากและวาง อ่อ ! ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เจ้า X-Series  สามารถอ่านชื่อเพลงเป็นภาษาไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบด้วยนะครับ

ภาพ : ลากใส่ได้เลย

ภาพ : อ่านไทยได้ 100% !!

    ส่วนฟีเจอร์ Noise Cancellation นั้นสามารถกันเสียงได้ดีและน่าประดับใจถ้าหากคุณเลือกใช้โหมดให้เข้ากับสถานะการณ์ (มี 3 โหมดให้เลือก ได้แก่ Bus/Train, Airplane และ Office) แต่ในทางกลับกันข้อเสียของมันก็คือการเปิดใช้นั้นสามารถทำให้ถ้าหากคุณใช้หูฟังที่รองรับเท่านั้น ( ส่วนใหญ่คือ Sony Ex Series แบบ Ear Bud ที่ดูไม่ค่อยจะเท่เอาเสียเลย ) ซึ่งเป็นเหมือนการบังคับให้ผู้ใช้ซื้อพ่วงหูฟังของคนเองไปด้วยอีกอย่างหนึ่ง (แค่เครื่องอย่างเดียวก็เเพงเเล้วววววว...) ข้อควรระวังอีกอย่างหนึ่งของ Noise Cancellation  ก็คือการเปิดมันเเล้วเดินไปท่ามกลางถนนเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

    ฟีเจอร์ที่น่าสรรเสริญยกย่องเป็นอันดับ 2 ในความคิดของผมก็คือฟีเจอร์ Youtube อันยอดเยี่ยมที่คุณสามารถค้นหาไฟล์วิดีโอทุกไฟล์บนยูทูปได้ผ่านทางระบบค้นหาที่ครบถ้วน พร้อมกันนั้นการโหลดข้อมูลก็เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่ง (ตามความเร็วของจุดเชื่อมต่อที่คุณใช้) รวมไปถึงการแสดงผลที่ครบถ้วนและชัดเจน ทำให้คุณไม่จำเป็นต้องหลบๆ ซ่อนๆ เพื่อดูคลิปวีดิโอของเว็บไซต์ยูทูปของนักร้องคนโปรดในออฟฟิศทำงานอีกต่อไป... (อ่าว !!)

ภาพ : ค้นหาและแสดงผลเกี่ยวกับวง Twentyfour64


    ส่วนฟีเจอร์อันดับหนึ่งที่สามารถน๊อคผมได้อยู่หมัดภายหลังจากการเปิดใช้งานเพียงแค่ 5 นาทีนั้นได้แก่...

Sound Quality

    ด้วยนิสัยส่วนตัวของผมที่เหลือของที่ชอบที่สุดเอาไว้หลังสุด  หลังจากที่ผมนั่งมึนงงกับฟีเจอร์อื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้นมาครึ่งค่อนวัน พร้อมๆ กับความสงสัยในใจที่เริ่มก่อตัวขึ้นว่า "อุวะ ! นี่นะหรือคือ Walkman Flagship" แต่หลังจากที่ผมได้สัมผัสกับเสียงที่ชอนไชเข้ามาในประสาทสัมผัสของผม ผมจึงได้รู้ตัวเเล้วว่าผมคิดผิดเสียเเล้ว...

    การที่ Sony ไว้วางใจให้เจ้า X-Series เข้ามาทำหน้าที่หลักในแนวรบของสงครามเครื่องเสียงระบบพกพาก็อาจจะด้วยเหตุผลหลักเหตุผลเดียวข้อนี้  จากการฟังเสียงอย่างคร่าวๆ คุณภาพของเสียงที่ได้จาก X-Series  ในความคิดของผมหลังจากที่ฟังเพลงแรกจบไปนั้น X-Series จัดได้ว่าเป็นเครื่องเล่นที่มีคุณภาพสูงลิ่วเข้าขั้นสุดยอดมากๆ จากเครื่องเล่นรุ่นต่างๆ เท่าที่ผมเคยได้ลองเลยทีเดียว

ภาพ : แค่หูแถมก็เพราะเเล้ว

     เสียงในแต่ละ EQ ทีทาง Sony ได้ติดตั้งไว้แต่แรก (Default Preset) มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงเสียงอย่างชัดเจน และถึงแม้ว่าจะมีให้เลือกการตั้งค่าพิเศษเพิ่มมาอีก 2 ชนิด (แต่เดิมมี None, Heavy, Pop, Jazz, Unique) แต่จากการทดสอบผมคิดว่าทั้ง 5 ชนิดนั้นก็ครอบคลุมกับแนวเพลงทั้งหมดเเล้ว และนอกจากนั้นในเมนูจัดการเสียงก็ยังมีฟีเจอร์ Clear Stereo  และ DSEE ( Digital Sound Enhancement Engine) ที่เพิ่มมิติและคุณภาพของเสียงที่ออกมาอีกด้วย (DSEE จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อใช้กับไฟล์เสียงที่มี Bitrate น้อยกว่า 320 kbps เท่านั้น ) ข้อเสียเล็กน้อยอีกอย่างหนึ่งของ  X-Series ก็คือ มันไม่สามารถเล่นไฟล์เพลงประเภท  FLAC และ Ogg ได้ (อ้างอิงจากเวบไซต์เป็นทางการ X-Series รองรับไฟล์เสียงประเภท MP3, WMA, และ ACC )

    การทดสอบในครั้งนี้ผมได้ทดสอบพลังและคุณภาพเสียงของ X-Series ผ่านทางหูฟังรวมทั้งสิ้น 3 ตัวได้แก่ Sony MDR Ex-500, SENNHEISER PX200 และ Sony MDR-XB700 (ทุกตัวผ่านการเผามาเเล้วไม่ต่ำกว่า 100+ ชั่วโมง) หลังจากการเล่นเพลงผมพบว่า X-Series สามารถขับเสียงได้ทรงพลังแม้มันจะเปลี่ยนคู่หุฟังไปเรื่อยๆ และมินำซ้ำยังเพิ่มจุดเด่นให้กับหูฟังนั้นๆ เมื่อปรับการตั้งค่าให้เหมาะสมกัน

ภาพ : ตั้งวง !!

         เริ่มต้นด้วยด้วย Sony MDR Ex-500 ตัวแรก เสียงเบสตูมตามและเสียงช่วงกลางอันหนักแน่นที่เป็นจุดเด่นของ Ex-500 ถูกเติมเต็มด้วยพลังเสียงคุณภาพจาก X-Series  รายละเอียดและความแม่นยำของเสียงประกอบที่ได้ก็ออกมาครบถ้วนและเด่นชัด 500 (รวมไปถึงเสียง S หรือ SH โทนสูงที่บาดหูผมแถบขาดของ EX -500 ก็ยังได้รับการเติมเต็มเช่นกัน (T.T) ) และจากประสบการณ์ที่ผมสัมผัสมาตลอด 2 อาทิตย์ด้วยการทดลองด้วยหูฟังหลากหลายแบรนด์ การจับคู่ X-Series และ Ex-500 เป็นอะไรที่เข้าคู่ที่เหมาะสมกันราวกับกิ่งทองใบหยกเลยทีเดียว

ภาพ : จับถูกคู่

    ในการประกบคู่กับ PX 200 เสียงนุ่มนวลที่เป็นเอกลักษณ์ของหูฟังตัวนี้ถูกถ่ายทอดมาอย่างทรงพลัง  และหนักแน่น ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเสียงของ  X-Series  จะค่อนข้างอบอุ่นและหนักแน่นคล้ายคลึงกับพวกเครื่องเล่นประเภท Analog จำพวก MD มากกว่า แต่โดยรวมเเล้วเมื่อประกบคู่กันทั้งสองอย่างนี้ก็ทำให้ผมนั่งฟังเพลง Vocal Jazz เย็นๆ สบายๆ ได้ทั้งวันโดยไม่มีอาการล้าของหูหรือหงุดหงิดกับเสียงประกอบที่ไม่ครบถ้วนแต่อย่างใด (จนกว่าจะถูกเจ้า PX 200 บีบหัวจนทนไม่ไหว (-..-) )

ภาพ : PX 200 สภาพผ่านศึก

    สุดท้ายในการควบคู่  X-Series กับ Sony MDR-XB700 ( ที่หลายๆ เวบไซต์เมืองนอกเรียกมันว่า Bass-Head Monster ) หลังจากการทดลองฟังในหลายๆ ประเภทของเพลงสลับกันไปมาโดยใช้เวลารวมประมาณ 3 ชั่วโมง (นานกว่านั้นไม่ได้มันหนักครับ (-..-)) ผมหงุดหงิดเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องของโทนเสียงกลางที่ถูกเบสกลบไปจนเกือบหมดในเพลงประเภท POP/JAZZ แต่เมื่อ ผมได้ลองเปลี่ยนไปฟังประเภทของเพลงที่ต้องใช้เบสหนักๆ หรือเน้นไปที่ความรุนแรงของพลังเสียง ผมถึงกับอุทานออกมาอย่าลืมตัวเนื่องด้วยความหนักแน่นทรงพลังของพลังเสียงที่ได้ เมื่อ XB700 รวมพลังกับ ดิจิตอลแอมป์ Class D ของ X-Series  เสียงเบสที่ได้หนักแน่นทรงพลังจนไม่น่าเชื่อว่าจะออกมาจากเครื่องเล่นเครื่องเล็กๆ เครื่องเดียว หากใครที่นิยมเพลงที่เน้นการใช้เบสหรือเสียงที่รุนแรงหนักหน่วงการจับคู่ในครั้งนี้ถือว่าเป็นการจับคู่ในฝันของคุณเลยทีเดียว (เพราะแม้กระทั่งผมเอาหูฟังออกไปแล้ว เสียงเบสหนักแน่น เป็นคลื่นที่ได้รับฟังยังติดหูผมอยู่เลย...)

Conclusion...

     หลังจากวันแรกที่ผมได้รับเจ้า X-Series มาร่วมเรียงเคียงหมอน (เอาเข้าไปฟังแม้กระทั่งก่อนนอน) นับเป็นเวลากว่า 2 อาทิตย์ (ครึ่งเดือน)  มันอาจจะเป็นเวลาที่ไม่นานเท่าไร แต่ในเวลาเท่านี้ก็เพียงพอที่จะสรุปสมรรถนะและอรรถประโยชน์โดยรวมของเจ้า X-series นี่ได้อย่างครบถ้วนไม่มีขาดตกบกพร่อง และหลังจากครึ่งเดือนที่เหมือนครึ่งวันของผมได้ผ่านพ้นไป ผมก็พอที่จะสรุปตัวเองได้ว่าผมสมควรที่จะได้ครอบครองเจ้า X-series อย่างเป็นทางการและถูกต้องตามกฏหมายเสียที (ถึงแม้ว่ามันจะมีราคาค่อนข้างสูงก็ตาม)

    กล่าวโดยย่อและสรุปโดยรวมการที่โซนี่เข็นเครื่องเล่นตระกูล  X-Series ออกวางจำหน่ายและประกาศทวงตำแหน่งผู้นำทางด้านเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาอีกครั้งในตลาด อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ถ้าหากผู้ใช้ทุกคนมองกันถึงเรื่องคุณภาพเสียงเพียงอย่างเดียว  ว่ากันตามตรงเครื่องเล่นเพลง Sony X-Series อาจจะเรียกได้ว่า "เป็นเครื่องที่เกิดมาเพื่อเล่นเพลง" เพียงอย่างเดียวจริงๆ (นอกจากเรื่องเสียงแนะนำให้ย้อนไปดูข้อความข้างต้น) แต่ถ้าหากคุณหวังจะได้เครื่องเล่นที่มีลูกเล่นเเพรวพราวน่าตื่นตาตื่นใจ และใช้อินเตอร์เนตได้ดีผมแนะนำให้คุณเลือกเครื่องเล่นอย่าง iPod Touch จะดีกว่า (สบายกระเป๋ากว่าด้วย) ในสุดท้ายเเล้วหากคุณคิดว่าการซื้อเครื่องเล่นสักเครื่องคุณต้องการเพียงแค่ให้มันทำหน้าที่ที่มันถนัดให้ดีที่สุด เชื่อผมเถอะว่า X-Series เป็นเครื่องเล่นที่คุ้มค่าในทุกบาททุกสตางค์ที่คุณลงทุนไปอย่างแน่แท้


    


แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่