พระสงฆ์กับการเมือง (ภารกิจเพื่อแผ่นดิน)

กระทู้สนทนา
สืบเนื่องจากเห็นกระทู้ของสมาชิกหลายๆท่านในห้องราชดำเนินที่มีต่อกรณีของท่าน ว. เกี่ยวกับว่าจริงๆแล้วพระสงฆ์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้นถูกต้องหรือไม่ ผมจึงอยากจะขอแสดงความคิดเห็นในมุมมองของตัวเองบ้าง 
              ในอดีตเราจะเห็นได้ว่าในศาสนาพราหมณ์ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ฯลฯ นักการศาสนาหรือผู้นำในศาสนาดังกล่าวในเบื้องต้นนั้น จะเป็นผู้นำทางการเมืองด้วย คือเป็นทั้งผู้นำศาสนาและผู้นำทางการเมืองในเวลาเดียวกัน จึงมีจุดเด่นที่ผู้นำศาสนานั้นๆ มีความรอบรู้มีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ แต่มีจุดด้อยคือ การกระทำใดๆ ทางการเมืองมักจะอ้างว่าเป็นความประสงค์ของพระเจ้า แล้วก็สร้างกระแสให้เห็นจริงเห็นจังไปตามนั้น ก็เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนแท้ที่จริงเป็นความประสงค์ของบุคคล หรือคณะนั้นๆ ทุกครั้งไป  

     ในศาสนาพุทธ นับแต่ องค์ศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเกี่ยวข้องทางการเมืองหรือไม่ พระองค์ทรงเกี่ยวข้องทางการเมือง แต่ทรงอยู่เหนือการเมือง พระองค์ทรงเป็นผู้นำทางสัจธรรม เต็มเปี่ยมไปด้วย พระมหากรุณาธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระบริสุทธิคุณ คือ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ พระมหาราชา ให้ตั้งอยู่ในธรรมโดยไม่บังคับ ทรงแจกแจง ให้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมอย่างลึกซึ้ง จนพระมหาราชา ทั้งหลาย ต่างก็ยอมรับ และตั้งมั่นอยู่ในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ พระองค์ทรงเปลี่ยนความเห็นเดิม มาเป็นความเห็นตามวิถีธรรมหรือธรรมวินัย ที่พระองค์ได้สั่งสอน พระมหาราชา ทรงตั้งอยู่ในธรรม (ทศพิธราชธรรม) ข้าราชบริพาร ต่างก็ปฏิบัติธรรมตาม เมื่อการปกครองบ้านเมืองโดยธรรม ประชาชนก็อยู่เย็นเป็นสุข จะเห็นว่าทรงวางพระองค์อยู่เหนือการเมืองการปกครอง เพราะพระองค์คือ ผู้นำทางสัจจะ ผู้นำทางจิต และวิญญาณ และผู้นำทางปัญญา ฯลฯ ย่อมสูงกว่าเหนือกว่า พระมหาราชาหรือผู้นำทางการเมืองทั้งหลาย
              ในสมัยพุทธกาลเองจะเห็นว่าพระสงฆ์หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะเกี่ยวข้องกับการเมือง นับแต่ พระมหากัสสปะเถรเจ้า ผู้นำในการปฐมสังคายนาพระธรรมวินัย ในปีแรกหลังพุทธปรินิพพาน พระพุทธเจ้า มิได้ทรงตั้งใครเป็นผู้นำศาสนาหรือศาสดาองค์ต่อไป แต่ทรงให้ถือเอาพระธรรมวินัยเป็นศาสดา แต่พระธรรมวินัยยังกระจัดกระจาย ยังมิได้จัดเป็นหมวดหมู่ชัดเจน เห็นควรจัดทำสังคายนา จึงได้ร่วมกับคณะสงฆ์ 

              ในการจัดทำสังคายนาเป็นงานใหญ่ ต้องจัดเตรียมสถานที่ จัดคณะสงฆ์ผู้ทรงภูมิอรหันต์เข้าร่วม 500 รูป ต้องเตรียมอาหารถวายสงฆ์ตลอดเวลาสังคายนา เป็นต้น จะเห็นว่าเป็นงานใหญ่ พระมหากัสสปะเถรเจ้า ผู้อาวุโสในหมู่พระอรหันตสาวก พระอุบาลีเถรเจ้า พระอานนท์เถรเจ้า จึงได้ถวายพระพรต่อ พระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธ ถึงเหตุผลในการทำสังคายนาพระธรรมวินัย 

              พระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนาทรงเล็งเห็นคุณประโยชน์ในการปกครอง แผ่นดินมคธและชาวโลกในอนาคตข้างหน้า จึงทรงรับเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก จึงตรัสว่า "ฝ่ายธรรมจักรเป็นธุระของพระผู้เป็นเจ้า ฝ่ายอาณาจักรเป็นธุระของโยม" การประชุมสงฆ์ล้วนพระอรหันตสาวกทั้งสิ้น เพื่อทำสังคายนา ณ ถ้ำสัตบรรคูหา จนสำเร็จ  
             
               ตัวอย่างที่เด่นชัดของการที่พระต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวในเรื่องของการเมือง ก็คือช่วงเวลาสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยา-พม่า พระมหาเถรคันฉ่อง กับพระมหาเถรเสียมเพรียม สองอภิมหาเถรชาวมอญ  ซึ่งนับได้ว่าสองท่านนี้ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวในเรื่องของการเมืองการสงครามแบบ "เต็มข้อ" ตั้งแต่การสอนวิชาศาสตราวุธของพระมหาเถรคันฉ่อง ใช้ในการประหัตประหารทั้งที่กิจของสงฆ์ควรจะชี้แนะมิให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ปลุกเสกทำพิธีต่างๆก่อนทำสงคราม การวางตัวเป็นกุนซือชี้แนะกลศึกของพระมหาเถรเสียมเพรียมฝ่ายตองอู  ขนาดมีพระแบ่งข้างแบ่งสีแถมยังยัดอาวุธใส่มือฆราวาชยังเคยมีให้เห็นมาแล้ว  สิ่งที่ท่าน ว.ทำยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไม่ใช่เรื่องแปลกและนับว่าเบากว่ามากเมื่อเทียบกับอภิมหาเถรสองท่านนี้ ตามหลักพระวินัยในพระพุทธศาสนาจริงๆแล้วมันเป้นสิ่งไม่ควรทำ แต่เราก็ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งได้ เพราะถึงอย่างไรพระก็ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ท่านได้ละ รักโลภโกรธหลง แต่น้อยท่านนักที่จะทำได้ในระดับที่ไกล้เคียงกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
        
             ดังนั้นจงอย่าคาดหวังว่าพระสงฆ์ทุกรูปจะสามารถละตนเองให้อยู่เหนือการเมืองได้ เราจึงควรจะเปลี่ยนเป็นว่า หากพระสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองแล้ว ท่านควรจะทำในเชิงสร้างสรรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นบวกหาใช่เพื่อธุรกิจของตน ถ้าพระสงฆ์ที่คิดจะเข้ามายุ่งในโลกของการเมืองแล้ว ไม่มีความรู้ทางการเมือง มองไม่เห็นวิธีคิด มองไม่เห็นว่านโยบายของพรรคนั้นๆ จะเป็นคุณ หรือเป็นโทษ จริงใจต่อชาติบ้านเมือง หรือว่าเล่นการเมืองเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจของเขา พระสงฆ์จะต้องรู้เท่าทันและมองเห็น เพื่ออะไร? ก็เพื่อนำไปเป็นข้อมูลเทศนาสั่งสอนให้ประชาชนได้รู้เท่าทัน ในวิธีการนั้นๆ 

              อุปมาได้ว่า การเมืองเหมือนน้ำ ประชาชนเหมือนปลา ถ้าน้ำเน่า พิษร้ายจากน้ำเน่าย่อมกระทบต่อชาวพุทธมากที่สุด พระสงฆ์ก็เหมือนฝูงปลาฝูงหนึ่งในน้ำเน่านั้น ฉะนั้นพระสงฆ์ต้องฉลาดในการสอนผู้นำทางการเมือง แนะแนวทางเรื่องระบอบการเมืองที่จะเป็นคุณต่อประเทศชาติและปวงชนทั้งแผ่นดิน 



แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่