ผลวิจัยความผิดพลาดในการผ่าตัดของหมออเมริกา

กระทู้ข่าว
ไม่ใช่ว่าเป็นแพทย์แล้วจะปราศจากความผิดพลาดโดยสิ้นเชิง เป็นแพทย์ก็ผิดพลาด พลั้งเผลอกันได้ แต่ที่แตกต่างออกไปจากความพลั้งเผลอของบุคคลทั่วไปก็คือ ความผิดพลาดของแพทย์ โดยเฉพาะศัลยแพทย์นั้นเป็นอันตรายสูงยิ่ง บางครั้งถึงตายและอีกหลายครั้งถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยพิการโดยถาวร

นายแพทย์ มาร์ตี้ แมคารีย์ ศัลยแพทย์ของศูนย์การแพทย์จอห์น ฮอปสกิน สหรัฐอเมริกา ที่เชี่ยวชาญการศึกษาเรื่องข้อบกพร่องของโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งนำเอาคดีฟ้องร้องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2533 ถึงปี 2553 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับศัลยแพทย์ ที่มีผู้ป่วยเป็นโจทก์และโรงพยาบาลตกเป็นจำเลย รวม 9,744 คดี มาศึกษาสาเหตุที่มาของการฟ้องร้องดังกล่าวว่าเกิดจากความผิดพลาดของแพทย์หรือไม่และด้วยสาเหตุผิดพลาดบกพร่องใด เพื่อจัดทำเป็นสถิติให้เห็นเป็นภาพรวมของความผิดพลาดพลั้งเผลอที่เป็นรูปธรรมของแพทย์ในสหรัฐอเมริกา

ผลการศึกษาวิจัยที่เพิ่งแล้วเสร็จและตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ เดอะ เจอร์นัล เซอร์เจอรี่ ฉบับประจำวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดผู้ป่วยแล้วผิดพลาดนั้น แม้จะเปรียบเทียบแล้วต่ำกว่าความผิดพลาดพลั้งเผลอของแพทย์ด้านอื่น แต่ก็ยังถือว่าน่าตกใจ เพราะพบว่า แพทย์มักลืม ผ้าขนหนู, ก้อนสำลี, ฟองน้ำ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ไว้ในร่างกายของผู้ป่วยโดยเฉลี่ยแล้วมากถึง 39 ครั้งต่อสัปดาห์ ไปดำเนินการผ่าตัดในส่วนของร่างกายที่ไม่ใช่ส่วนที่ผู้ป่วยต้องการผ่าตัด หรือเรียกง่ายๆ ว่า ผ่าตัดผิดที่โดยเฉลี่ยแล้ว 20 ครั้งต่อสัปดาห์

ที่แย่กว่านั้นก็คือ ศัลยแพทย์อเมริกัน ผ่าคนไข้ผิดคนมากถึง 20 ครั้งต่อสัปดาห์โดยเฉลี่ยเช่นเดียวกัน

(สถิติที่ว่านี้เป็นสถิติเชิงอนุมานจากกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อให้ครอบคลุมจำนวนประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา)

สิ่งที่นายแพทย์ แมคารีย์ เตือนเอาไว้ก็คือ สถิติที่บอกเอาไว้ในการศึกษาวิจัยดังกล่าวนั้นเป็น "ขั้นต่ำ" ของพิสัยที่เป็นไปได้ทั้งหมด เพราะจำนวนความผิดพลาดที่แท้จริงนั้นสูงกว่าที่เกิดเป็นคดีฟ้องร้องกันมากมายนัก เขาบอกว่ายังมีการศึกษาวิจัยอีกบางชิ้นที่บอกว่า การลืมของหมอมักเกิดขึ้นเมื่อผ่าตัดผู้ป่วยที่ "อ้วนเกินไป" หรือเมื่อการผ่าตัดดำเนินการเป็น "ทีม" หรือ "หลายๆ ทีม" ในตัวผู้ป่วยเพียงรายเดียว

ความผิดพลาด พลั้งเผลอ ยังเกิดขึ้นได้ง่ายในกรณีที่แพทย์เร่งรีบ และเกิดขึ้นในกรณีที่วัฒนธรรมของสถานพยาบาลแห่งนั้นยึดถือแพทย์เป็นใหญ่ ทำให้พยาบาลไม่กล้าปริปากแม้จะเกิดความรู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติขึ้นก็ตามที

ทีมวิจัยครั้งล่าสุดสรุปเอาไว้ว่า ในช่วง 20 ปีที่ศึกษาวิจัย พบความบกพร่องของศัลยแพทย์ที่สำคัญๆ มากถึง 80,000 ครั้ง ราว 7 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยที่โชคร้ายเหล่านั้นเสียชีวิตลงเพราะความผิดพลาดดังกล่าว ส่วนอีกราว 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เกิดความผิดพลาด ลงเอยด้วยการบาดเจ็บหรือพิการอยู่อย่างถาวรเพราะความผิดพลาดเหล่านั้น

นายแพทย์ แมคารีย์ เชื่อว่าหนทางแก้เพื่อลดความผิดพลาดลงให้เหลือน้อยที่สุด จำเป็นต้องนำเอาเรื่องความปลอดภัยเข้าไปบรรจุไว้ในระบบการรักษาพยาบาลทั้งระบบ ให้ทุกส่วนในทีมผ่าตัดคำนึงถึงเป็นลำดับแรกเพื่อปกป้องผู้ป่วย แม้แต่พยาบาลก็ควรมีสิทธิบอกหรือโวยนายแพทย์ได้หากพบเห็นความผิดพลาดบกพร่อง การติดตั้งระบบติดตามวัสดุอุปกรณ์ทุกชิ้นไว้ด้วยชิปอาร์เอฟไอดี นอกจากจะช่วยตรวจสอบการหลงลืมวัสดุไว้ในร่างกายผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วแล้วยังเป็นการบีบกลายๆ ให้แพทย์ต้องรายงานความบกพร่องและโรงพยาบาลต้องยอมรับผิดและหาทางแก้ไขโดยเร็วได้อีกด้วย


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1356424409&grpid=&catid=09&subcatid=0902


"แม้แต่พยาบาลก็ควรมีสิทธิบอกหรือโวยนายแพทย์ได้หากพบเห็นความผิดพลาดบกพร่อง"

สี่เท้ายังรู้พลาดนักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่