สร้างโรงเรือนเพาะเห็ดแบบถาวร คุ้มการลงทุน-ทนทานใช้ได้นาน

กระทู้สนทนา
.................................เดิมทีการเพาะเห็ดเกษตรกรมักทำโรงเรือนเพาะเห็ดแบบชั่วคราว มีโครงการด้วยไม้หรือไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วยใบจากหรือแฝก แม้จะลงทุนต่ำแต่ก็มีอายุการใช้งานสั้นใช้ได้เพียง 2-3 ปี ต้องซ่อมแซมใหม่ ที่สำคัญยังเป็นที่อาศัยของมอดและแมลงเป็นอย่างดี ล่าสุดทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ยืนยันว่า โรงเรือนนางรมแบบถาวร สร้างด้วยโครงเหล็ก หลังคามุงกระเบื้อง จะมีอายุการใช้งานนาน และรักษาความสะอาดได้ง่ายด้วย เหมาะกับการลงทุนที่จะเพาะเห็ดเพื่อการค้า

                                นายนาวี จิระชีวี วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ และผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาพื้นที่เกษตร สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร บอกว่า การวิจัยและพัฒนาโรงเรือนเปิดสำหรับเพาะเห็ดนางรมแบบถาวร เพื่อจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการเพาะเห็ดระยะยาวได้ เนื่องโรงเพาะเห็ดเดิมที่ใช้โครงสร้างด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วยใบจากหรือแฝก อายุการใช้งานสั้น เกษตรกรต้องซ่อมแซมทุก 2-3 ปี เสียงบประมาณ ดังนั้นถ้าเกษตรกรมีเงินลงทุนพอ ควรสร้างโรงเพาะเห็ดแบบถาวร ทำโครงสร้างด้วยเหล็ก มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง แต่ต้องหาวิธีการควบคุมสภาพแวดล้อมและรูปแบบของโรงเรือนเปิดดอกเห็ดที่เหมาะสมที่ขนาดที่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และติดตั้งระบบควบคุมสภาพแวดล้อมภายในที่เหมาะสม สำหรับการเพาะเห็ดนางรมและให้สามารถ ประยุกต์ใช้ในการเพาะเห็ดอื่นๆ ได้ด้วย

                                ด้าน นายวิโรจน์ โหราศาสตร์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ  กลุ่มพัฒนาพื้นที่เกษตร หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาโรงเรือนเปิดดอกเห็ดนางรม บอกว่า โรงเรือนเพาะเห็นนางรมแบบถาวร มีลักษณะเป็นโครงหลังคาเหล็กทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้อง ด้านข้างปิดด้วยซาแรนทึบ  พื้นเทคอนกรีตซึ่งสะดวกในการทำความสะอาดและจัดการต่างๆ ภายในโรงเรือนเพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของเชื้อโรค โรงเรือนขนาด 6x8 เมตร เป็นขนาดที่เหมาะสมในการลงทุนมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่าวิธีวางก้อนเชื้อเห็ดแบบแขวนเป็นชั้นๆ ในแนวตั้งจะมีการระบายอากาศได้ดีกว่าแบบตั้งโต๊ะวางก้อนเชื้อเห็ดแบบตัวเอ และยังสะดวกในการเก็บดอกเห็ดและการนำก้อนเชื้อเห็ดออกมาด้วย

                                ส่วนการวัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือนเปิดดอกเห็ด ขนาด 6x8 เมตร ได้ปรับปรุงและติดตั้งระบบต่างๆ เพื่อลดอุณหภูมิและเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในโรงเรือน คือเปิดจั่วด้านหน้าและด้านหลังโรงเรือนเพื่อให้ความร้อนใต้หลังคาระบายออกมา พร้อมกับมุงซาแรนใต้คานเพื่อป้องกันความร้อนจากใต้หลังคาแผ่ลงมา และป้องกันความชื้นออกจากโรงเรือน ด้านข้างของโรงเรือนมุง 3 ชั้นด้วยซาแรน 50% พลาสติกหนา 150 ไมครอน และซาแรน 50% อีกชั้นหนึ่ง ทำให้เก็บความชื้นในโรงเรือนได้ดีขึ้น

                               นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติ ได้แก่ ระบบพ่นฝอยภายในโรงเรือนด้วยปั๊มขนาด 0.5 แรงม้า เพื่อลดอุณหภูมิและความชื้นภายในโรงเรือน ควบคุมการทำงานด้วยชุดตรวจจับสัญญาณ (เซ็นเซอร์)  และระบบควบคุมไมโครคอนโทรลเลอร์ที่สามารถกำหนดค่าความชื้นสัมพัทธ์ไม่ต่ำกว่า 70% และอุณหภูมิไม่เกิน 33 องศาเซลเซียส และติดตั้งระบบมินิสปริงเกอร์รดน้ำบนหลังคาโรงเรือน ให้ทำงานอัตโนมัติพร้อมกับระบบพ่นฝอยอัตโนมัติในโรงเรือนโดยใช้ปั๊มตัวเดียวกัน พร้อมกับติดตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติด้วยนาฬิกาตั้งเวลา วันละ 3 เวลา เช้ากลางวัน เย็น ด้วยระบบพ่นฝอยป้องกันเห็ดแห้งโดยใช้ปั๊มน้ำชุดเดียวกันกับระบบพ่นฝอยควบคุมสภาพแวดล้อมอัตโนมัติ

                                ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพัฒนาพื้นที่เกษตร  สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-2579-8519 หรือ 08-1811-5653 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา  http://www.komchadluek.net/detail/20121225/147976/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3!%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99.html#.UNiwjKyI5GE<br>
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่