มช.เจ๋งสารเลียนแบบฟีโรโมนของมอดเจาะกาแฟได้สำเร็จ

กระทู้สนทนา
.................................วันนี้ (21 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่ภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการคิดค้นกับดักมอดเจาะผลกาแฟ เพื่อเป็นตัวล่อไม่ให้ตัวมอดไปกัดกินเมล็ดกาแฟจนทำให้ผลผลิตเสียหาย ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศ เมื่อทราบดังนั้นจึงได้เข้าไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องงานวิจัยนี้

                                ดร.เยาวลักษณ์ จันทร์บาง อาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรที่ปลูกกาแฟในภาคเหนือเกิดปัญหาอย่างหนักในเรื่องของมอด ซึ่งเป็นแมลงขนาดเล็ก ที่เป็นศัตรูตัวฉกาจของกลุ่มผู้ปลูกกาแฟ เข้าไปเจาะเมล็ดกาแฟ แล้วไปสร้างตัวอ่อนอยู่ด้านใน เพื่อขยายพันธุ์ จนทำให้เมล็ดกาแฟเกิดความเสียหาย เกษตรกรเกิดภาวะเริ่มขาดทุนมากขึ้น ต่อมาทางภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเกิดความคิดที่อยากจะศึกษาเกี่ยวกับตัวมอดเจาะผลกาแฟว่ามีการเจริญเติบโตอย่างไร และจะกำจัดออกไปได้อย่างไร เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มากขึ้น เพราะหากปล่อยทิ้งไว้และเกิดการแพร่ระบาดก็จะทำให้เกิดความเสียหายได้เป็นวงกว้าง ซึ่งผลจากการศึกษาวิเคราะห์มาอย่างต่อเนื่อง จึงรู้ว่าตัวมอดเจาะผลกาแฟนั้นจากไข่จนถึงตัวโตเต็มวัยจะใช้เวลา 1 เดือน มีขนาดความยาวลำตัวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร และหากเป็นตัวแม่ที่วางไข่ได้ จะเกิดลูกได้ครั้งละ 80 ตัว และตัวแม่ยังมีอายุนานถึง 5 เดือน ดังนั้นจึงวนเวียนอยู่ในไร่กาแฟได้ตลอดทั้งปี และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย เพราะลูกเกิดออกมาจำนวนมาก และตัวมอดนี้ทราบว่ามีถิ่นกำเนินอยู่ในทวีปอัฟริกา ที่เป็นแหล่งปลูกกาแฟ และยังมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก

                                ดร.เยาวลักษณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อทราบวงจรของตัวมอดแล้ว จึงได้คิดหาสารเคมีมาทดลองดู ก็ปรากฏว่าไม่มีสารเคมีตัวไหนที่จะสามารถไปทำลายตัวมอดนี้ได้เป็นจำนวนมาก หากมีการฉีดพ่นสารเข้าไปที่ผลกาแฟมาก แม้จะทำลายหรือป้องกันไม่ให้มอดไปเจาะกาแฟได้ แต่ก็มีผลกระทบต่อผู้ที่ทานกาแฟเข้าไปด้วย อีกทั้งการปลูกกาแฟจะปลูกบนยอดดอยสูง เมื่อมีการฉีดยาฆ่าแมลง จึงเป็นอันตรายเพราะสารพิษแพร่กระจายไปได้ไกล ดังนั้นจึงมีการคิดค้นหาสารที่เป็นตัวดักแมลงแทน จนกระทั่งใช้เวลาในการศึกษานานถึง 3 ปีจนสำเร็จ ซึ่งเป็นสารเลียนแบบฟิโรโมนรวมกลุ่มของตัวมอด ซึ่งทางผู้วิจัยได้ตั้งชื่อว่าสาร "CMU-C1" ซีเอ็มยู ซีวัน โดยทำออกมาในรูปแบบคล้ายกับครีมสีขาวขุ่น แต่ต่อมาได้มีการพัฒนาให้เป็นแบบน้ำใสๆ ซึ่งวิธีการใช้ก็ง่าย เพียงแค่นำสารดังกล่าวไปใส่ไว้ในภาชนะ จะเป็นขวด เป็นชาม หรืออะไรก็ได้ หากเป็นขวดก็ต้องเจาะให้มีรูออกมา เพื่อให้กลิ่นของสารดังกล่าวเป็นตัวดึงดูดตัวมอด

                                จากนั้นก็หาขวดใบที่ใหญ่กว่ามาอีก 1 ใบ ใส่น้ำไว้ใต้ขวด และนำไปครอบขวดที่เราใส่สารไว้ หากแมลงมาดมที่ขวดและไม่สามารถออกจากขวดได้ก็จะตกลงไปในน้ำ ซึ่งสามารถดักตัวมอดได้เป็นจำนวนมากถึง 1,000 ตัวต่อสารล่อ 1 ชิ้น ซึ่งผลการทดลองและให้เกษตรกรนำไปใช้ในเบื้องต้น ก็ได้ผลเป็นอย่างดี จากปกติแล้วเกษตรกรเมื่อปลูกกาแฟ หากคิดเป็นจำนวน 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อก่อนที่มีมอดระบาดก็จะได้ผลผลิตเพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากนำสารฟิโรโมนดังกล่าวไปใช้ ก็จะได้ผลผลิตที่ขึ้นมา 80 - 90 เปอร์เซ็นต์ จึงถือว่าดีมากขึ้น นอกจากนี้ก็ขอให้เกษตรกรเก็บผลแก่ที่ตกลงใต้ต้นเมล็ดกาแฟนำไปทำลายด้วย เพราะผลเหล่านั้นก็จะเป็นผลที่มีตัวมอดเจาะกาแฟอาศัยอยู่ และเป็นแหล่งพาหนะที่จะทำให้ต้นกาแฟเกิดความเสียหายด้วย ซึ่งหากมีการดูแลไปพร้อมกับการใช้สารฟิโรโมนตัวนี้ ก็จะทำให้เกษตรกรสามารถได้ผลผลิตที่มากขึ้นอย่างแน่นอน

                                สำหรับทุนการวิจัยครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโครงการหลวง และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หลังจากที่มีการคิดค้นได้แล้ว ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการยืนจดสิทธิบัตร แต่ก็ได้มีการเปิดจำหน่ายให้กับประชาชนและเกษตรกรที่สนใจด้วย โดยจำหน่ายในราคาต้นทุนคือ 8 บาทต่อ 1 ถ้วย ซึ่งถือว่าถูกกว่าการนำสารลักษณะคล้ายกันนี้เข้ามาจากต่างประเทศหลายเท่าตัว ซึ่งในจำนวน 1 ไร่ จะใช้ประมาณ 20 ถ้วย และสารฟิโรโมนแบบรวมกลุ่มนี้จะอยู่ได้ 1 เดือน ซึ่งหลังจากนี้ทีมวิจัยเตรียมต่อยอดให้สารนี้มีความเข้มข้นและอยู่ได้นานขึ้น ซึ่งผู้สนใจก็สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 053 - 944026

ที่มา  http://www.dailynews.co.th/agriculture/173744<br>
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่