ม่านม่านชิงหลัว คุณหลินโหม่วบอกว่าจะเสร็จ เดือน มิ.ย. 56

กระทู้สนทนา
จดหมายข่าวประจำวันเสาร์ ที่ 16 ธันวาคม 2555

แจ้งท่านที่ประสงค์จะเข้าไปอ่านม่านม่านชิงหลัวในห้องพิเศษค่ะ

1. สำหรับท่านที่ชำระเงินภายในไม่เกิน 31 มกราคม 2555 หากประสงค์จะเข้าอ่านม่านม่านชิงหลัวบทที่ 1-45 ที่โพสต์อยู่ในห้องพิเศษ รบกวนส่งข้อความไปแจ้งความประสงค์ให้ admin-ta ทราบ เพื่อจะได้ปลดล็อกให้นะคะ

2. สำหรับท่านที่ชำระเงินตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2555 เป็นต้นไป จะสามารถเข้าอ่านในห้องพิเศษ "ม่านม่านชิงหลัว (ต้น)" ได้ ซึ่งเวลานี้ลงถึงบทที่ 34 และจะทยอยลงเพิ่มอาทิตย์ละ 1 ตอนทุกวันอาทิตย์ค่ะ


ต่อไป กรณีชี้แจงตามที่ผู้ซื้อบางท่านตั้งกระทู้ในโต๊ะห้องสมุดเว็บ pantip เรียกร้องขอคำชี้แจงว่า

1. ขอให้ระบุเวลาที่ม่านม่านชิงหลัวจะเสร็จ
2. ทำไมถึงลัดคิวแก้ป่าท้อพิมพ์ครั้งที่ 2 ก่อน


ตอบข้อ 1. ขอให้ระบุเวลาที่ม่านม่านชิงหลัวจะเสร็จ

1. ณ เวลานี้ ตั้งเป้าไว้ว่า จะจัดส่งในเดือนมิถุนายนค่ะ โดยที่ :
1.1 เดือนมกราคม - มีนาคม แก้ไขต้นฉบับ
1.2 เดือนเมษายน จัดหน้า
1.3 เดือนพฤษภาคม จัดพิมพ์


2. ในจดหมายข่าวฉบับวันที่ 10 ธันวาคม เหตุที่ดิฉันไม่ได้เอ่ยถึงว่าจะเสร็จได้เมื่อไหร่ เพราะว่า

2.1 หลังจากได้ลงมือจัดหน้าป่าท้อ ถึงได้รู้ว่าเวลาที่ใช้จัดหน้ามันไม่ใช่แค่ 2-3 วันอย่างที่คิดไว้ในตอนแรก เนื่องจากไม่ได้จัดหน้าต้นฉบับมา 2 ปีเต็ม ทำให้ลืมเหตุการณ์ตอนจัดหน้าป่าท้อครั้งก่อนไปแล้ว จึงต้องทุ่มเวลาลองทำดูอย่างเต็มที่จริงจัง จึงจะสามารถประมาณเวลาที่จะใช้ในการจัดหน้าม่านม่านชิงหลัวได้ เพื่อจะได้นำไปบวกเข้ากับเวลาที่ต้องใช้ในการจัดทำขั้นตอนอื่น

2.2 เนื่องจากก่อนหน้านี้ดิฉันเคยระบุเวลาที่หนังสือจะเสร็จมาแล้วหลายรอบ แล้วเกิดเรื่องให้ไม่สามารถทำตามที่เคยได้ลั่นปากบอกไว้ได้ทุกครั้ง ดิฉันจึงวิตกจริตว่าหากระบุออกไปให้แน่ชัดแล้วทำตามไม่ได้อีก จะโดนต่อว่าอีก จึงได้ใช้วิธีแจ้งความคืบหน้าให้ทราบทุกเดือนแทน และเปิดห้องพิเศษให้ลูกค้าที่ชำระเงินมานานมากแล้วได้เข้าไปอ่านเนื้อหาแปลสด ทั้งเพื่อให้ได้เห็นความคืบหน้าในการทำงานของดิฉัน และเพื่อให้ได้อ่านแก้ขัดระหว่างรอหนังสือ ทั้งนี้ดิฉันทราบดีเช่นกันว่าบางท่านไม่ถนัด/ไม่ชอบอ่านจากหน้าเว็บ แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่ดิฉันพอจะสามารถชดเชยให้ได้สำหรับการที่ทำให้ทุกท่านต้องรอหนังสือนาน




ตอบข้อ 2. ทำไมถึงลัดคิวแก้ป่าท้อพิมพ์ครั้งที่ 2 ก่อน


1. ตอนช่วงน้ำท่วม เรื่องป่าท้อที่พิมพ์เผื่อไว้เหลือเล็กน้อย และมีเล่มที่เสีย ซึ่งจะได้รับการชดเชยพิมพ์ให้ใหม่จากโรงพิมพ์จำนวนหนึ่ง ดิฉันจึงได้เปิดให้สั่งซื้อ แล้วหลังจากนั้นมา ดิฉันก็ไม่สะดวกไปติดต่อโรงพิมพ์เพื่อคืนเล่มเสียและขอให้พิมพ์เล่มชดเชยเสียที ซึ่ง ณ เวลานั้น ในความเข้าใจของดิฉันที่ยังไม่ได้ตรวจทานหนังสือเป็นเล่มที่พิมพ์ออกมา ก็รู้แค่ว่า ในเล่มที่พิมพ์ออกมามีข้อบกพร่องดังนี้ :

- ตำแหน่งตัวหนังสือส่วนของเนื้อหาชิดขอบมากเกินไปเล็กน้อย
- มีการตัดคำผิด 2-3 จุด
- เจ้าของโรงพิมพ์แนะนำมาหลังจากตรวจดูหนังสือที่พิมพ์เสร็จแล้วว่า ความจริงการจัดหน้า ไม่ควรเว้นบรรทัดบนให้ว่างไว้ แม้ว่ามันจะเป็นการเปลี่ยนฉากขึ้นฉากใหม่ เพราะจะดูไม่สวย

ซึ่งด้วยข้อบกพร่องเพียงแค่นี้ ไม่ได้มีส่วนกระทบอะไรกับเนื้อหาในเล่ม ดิฉันจึงไม่ได้มีความคิดจะทำเพลทใหม่แต่อย่างใด


2. หลังจากนั้นได้มีผู้อ่านท่านหนึ่งแจ้งมาว่า มีคำผิดอยู่ในเล่ม ดิฉันตกใจมาก เป็นคำผิดที่ตัวเองใช้ผิดมาตลอดโดยไม่เคยรู้ว่ามันผิด ดิฉันจึงกล่าวขอบคุณผู้อ่านท่านนั้นไปและตอบแทนโดยจะมอบฉบับที่พิมพ์ใหม่ซึ่งแก้คำผิดแล้วให้เธอฟรี 1 ชุด นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ดิฉันเกิดความคิดว่าควรต้องแก้ไขเพลทบางแผ่นก่อนจะพิมพ์ชดเชย


3. เดิมทีดังที่ได้แจ้งไปแล้วว่า ดิฉันตั้งใจจะพิมพ์ป่าท้อครั้งที่ 2 พร้อมกับม่านม่านชิงหลัว เพื่อจะได้ไม่ต้องติดต่อไป-กลับโรงพิมพ์ให้วุ่นวายและเสียเวลาสองรอบ ตอนเปิดให้สั่งซื้อ + ชำระเงินรอบล่าสุด ดิฉันจึงได้พ่วงเรื่องป่าท้อเข้าไปด้วย


4. เมื่อเล็งเห็นแล้วว่า ม่านม่านชิงหลัวไม่มีทางเสร็จทันสิ้นปี (ดูเหตุผลประกอบข้างล่าง สำหรับท่านที่ยินดีจะอ่านค่ะ) ดิฉันก็เกิดความคิดเป็นลูกโซ่ดังนี้ :

4.1 ผู้ที่ชำระเงินค่าป่าท้อฉบับพิมพ์ชดเชยเขาจ่ายมาแล้วรอมาแล้วหนึ่งปีเต็ม โดยคิดว่าหนังสือแปลเสร็จแล้ว พิมพ์ออกมาแล้ว มีเพลทแล้ว การจะพิมพ์เพิ่มนั้นง่ายและเร็วมาก ซึ่งในความเป็นจริงก็ควรจะเป็นเช่นนี้

4.2 เนื่องจากผู้สั่งซื้อป่าท้อรอบล่าสุดมีเยอะพอควร ทำให้ถ้าจะสั่งพิมพ์ ย่อมควรจะสั่งพิมพ์ครั้งเดียวให้ลูกค้าที่สั่งซื้อทั้งสองรอบพร้อมกันไปเลย เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาติดต่อและไป/กลับโรงพิมพ์หลายรอบ

4.3 ในเมื่อดิฉันรู้อยู่แล้วว่าเพลทเก่ามีคำผิด รู้อยู่แล้วว่ามีการตัดคำผิด และมีการเว้นบรรทัดแบบไม่สวย ก่อนจะสั่งพิมพ์ครั้งที่ 2 ดิฉันจึงหยิบหนังสือป่าท้อฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 มาเปิดดูตรวจทาน แล้วทำเครื่องหมาย + พับหน้าที่ต้องแก้ไขทั้งหมด ขั้นตอนนี้ใช้เวลาเพียงหนึ่งวัน

4.4 ผลลัพธ์จากการตรวจทานคือ เพลทที่ต้องแก้กลับมีมากกว่า 50% ทีนี้เลยได้เรื่อง ว่าระหว่างแก้เพลทเกิน 50% กับทำเพลทใหม่โดยจัดหน้าใหม่แก้ปัญหาเรื่องเนื้อหาชิดขอบเกินไปด้วยเสียเลย จะเลือกอย่างไรดี ถึงอย่างแรกจะเสียเงินน้อยกว่า แต่ด้วยนิสัยบ้าความสมบูรณ์แบบ ถ้าไม่รู้เรื่องข้อผิดพลาดต่างๆ เหล่านั้นก็ว่าไปอย่าง นี่ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกเห็นอยู่ตำตาว่าเพลทเก่ามีข้อบกพร่องก็ยังจะใช้นั้น ดิฉันทำไม่ลง ดิฉันจึงเลือกที่จะทำเพลทเนื้อในใหม่ทั้งหมด

4.5 เนื่องจากห่างเหินจากการจัดหน้ามา 2 ปีเต็ม จึงจำได้แค่ว่า ขอแค่มีโปรแกรม In Design มี Hardlock การ copy เนื้อหามาแปะจัดหน้า ใช้เวลาอย่างมาก 2 วันก็เสร็จ ซึ่งก็ใช่ แต่พอลงมือเปิดตำราสอนใช้ In Desigh CS5 อ่านประกอบไปจัดหน้าไป รื้อฟื้นความจำของเมื่อ 2 ปีก่อน ก็ต้องอึ้งมากเมื่อพบว่า ถึงการแปะเนื้อหา + เชิงอรรถ จะสามารถทำเสร็จได้ใน 2 วัน แต่การทำให้การกระจายของตัวหนังสือในทุกบรรทัดออกมาสวยงามสม่ำเสมอไม่ขัดตานั้น ใช้เวลาเยอะมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ลืมไปเสียสนิท เพราะมันผ่านมาตั้ง 2 ปีแล้ว

4.6 คราวนี้ปัญหาจึงมาตกอยู่ที่ จะทำเพลทใหม่ของป่าท้อต่อไป หรือจะวางไว้ แล้วย้อนกลับไปทำม่านม่านชิงหลัวก่อนดี?

4.7 ดิฉันย้อนนึกไปถึงตอนจัดหน้า + พิมพ์ป่าท้อครั้งที่ 1 ตอนนั้นการเว้นขอบได้เอาตามอย่างของเรื่องศึกจอมขมังเวทที่เคยพิมพ์มาแล้วหลายเล่มจากหลายโรงพิมพ์ และการเว้นขอบระยะเท่านั้นไม่มีปัญหาในการตัดเจียนเล่มของทุกโรงพิมพ์เหล่านั้น แต่โรงพิมพ์ที่พิมพ์ป่าท้อ (แห่งเดียวกับที่จะใช้พิมพ์ม่านม่านชิงหลัว) เป็นคนละโรงพิมพ์กับที่เคยพิมพ์ศึกจอมขมังเวท และตอนที่ทางโรงพิมพ์พิมพ์เพลทดิจิตอลออกมาให้ดู เมื่อดิฉันลองนำมาตัดเป็นเล่มเลียนแบบหนังสือของจริง การเว้นขอบไม่ได้มีปัญหาเลย แต่เมื่อพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มจริง ส่วนเนื้อหากลับชิดขอบหนังสือเกินไปเล็กน้อยอย่างคาดไม่ถึงเฉยเลย

4.8 จากข้อ 4.7 ทำให้ดิฉันได้รู้ว่า ต่างโรงพิมพ์กัน ผลลัพธ์การพิมพ์ก็ต่างกันได้ และผลลัพธ์นั้นเราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้จนกว่าหนังสือจะออกมาเป็นเล่ม นั่นคือ "สายเกินแก้" แบบนี้แล้ว ถ้าจะทำม่านม่านให้เสร็จก่อนเพื่อจะพิมพ์ออกมาโดยไม่รู้ว่าจะเกิดกรณี "สายเกินแก้" แบบป่าท้อฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 อีกหรือเปล่า อย่างนั้นดิฉันขอทำการแก้ไขเพลทและสั่งพิมพ์ป่าท้อฉบับพิมพ์ครั้ง 2 เพื่อเป็นตัวทดลองว่าสิ่งที่ได้แก้ไขไปให้ออกมาดีขึ้นนั้น ออกมาดีขึ้นอย่างที่คิดจริงหรือเปล่าจะดีกว่า เพราะว่าหนังสือเรื่องม่านม่านชิงหลัวนั้น

- จำนวนผู้สั่งซื้อมากกว่าป่าท้อ
- ราคาแพงกว่าป่าท้อ
- ผู้สั่งซื้อรอนานกว่าป่าท้อมาก ซึ่งความคาดหวังในความสมบูรณ์ของหนังสือย่อมจะมากตามไปด้วย หากสามารถลดความเสี่ยงในเรื่องความบกพร่องลงได้ ย่อมสมควรทำ

4.9 ตอนพิมพ์ป่าท้อครั้งที่ 1 ในส่วนหน้าสี เนื่องจากดิฉันได้รับคำแนะนำมาจากหลายคนทั้งนักวาดภาพปก, ภาพประกอบ และเจ้าของโรงพิมพ์ว่า ไม่จำเป็นต้องพิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตมันหรอก เปลืองเงินโดยใช่เหตุ พิมพ์ด้วยกระดาษถนอมสายตาสวยกว่า (กระดาษอาร์ตมันแพงกว่ากระดาษถนอมสายตา) เพราะเนื้อกระดาษที่เป็นสีนวลอยู่แล้วจะยิ่งเสริมสีของภาพให้สวยขึ้น แต่ผลที่ออกมาจากป่าท้อเล่ม 1 ถึงแม้ผู้ซื้อทุกท่านจะชอบใจที่ได้ภาพประกอบสี และบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าสวยดี แต่สำหรับดิฉันที่เคยพิมพ์ศึกจอมขมังเวทโดยใช้กระดาษอาร์ตมันพิมพ์หน้าภาพประกอบสี่สีมาแล้ว รู้สึกได้ชัดเจนว่าภาพสีพิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตมันแบบศึกจอมขมังเวทสวยกว่า ในการพิมพ์ป่าท้อฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ดิฉันจึงอยากจะเปลี่ยนไปใช้กระดาษอาร์ตมันพิมพ์หน้าสี ซึ่งหากผลลัพธ์ออกมาดีกว่าฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ตอนพิมพ์ม่านม่านชิงหลัวจะได้ใช้กระดาษอาร์ตมันด้วย แต่ถ้าผลลัพธ์ออกมาแย่กว่า ตอนพิมพ์ม่านม่านชิงหลัวก็ใช้กระดาษถนอมสายตาพิมพ์หน้าสีเหมือนเดิม

4.10 อาจมีผู้อ่านบางท่านอยากให้พิมพ์ออกมาพร้อมกันและจัดส่งพร้อมกัน แต่เพราะปัจจัยที่ไม่อาจคาดได้ในเรื่องผลลัพธ์ของการพิมพ์ ทำให้หากพิมพ์ออกมาพร้อมกันโดยไม่ใช้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นตัวทดลองนำร่อง หากเกิดความผิดพลาด จะโดนทั้งสองเรื่อง และได้แต่รอไปแก้ไขในเรื่องหย่งเยี่ย ซึ่งดิฉันคิดว่าทุกท่านที่รอหนังสือ น่าจะไม่ยินดีกับผลลัพธ์นี้นัก

4.11 เมื่อได้ข้อสรุปดังนี้ ดิฉันจึงเดินหน้าเร่งลงมือจัดหน้าเรื่องป่าท้อใหม่ เพื่อจะดูว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน และเวลานี้ก็สามารถกำหนดได้แล้วว่า จะส่งต้นฉบับป่าท้อเข้าโรงพิมพ์ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ จากนั้นจะได้หันมาเร่งปั่นเรื่องม่านม่านชิงหลัวต่อค่ะ

4.12 คำนวณจากเวลาที่ใช้ในการจัดหน้าป่าท้อ หักช่วงเวลาเปิดตำราทำความคุ้นเคยออกไป ประมาณว่าในการจัดหน้าม่านม่านชิงหลัวให้ออกมาสวยเนี้ยบ ต้องใช้เวลา 1 เดือนเต็มค่ะ เนื่องจากเรื่องม่านม่านชิงหลัวมี 3 เล่ม และทุกเล่มหนากว่าเรื่องป่าท้อ


จบคำชี้แจงต่อข้อ 2. ทำไมถึงลัดคิวแก้ป่าท้อพิมพ์ครั้งที่ 2 ก่อน



คำอธิบายเกี่ยวกับขั้นตอนการทำม่านม่านชิงหลัว ว่าทำไมเมื่อเริ่มลงมือแก้ไขต้นฉบับอย่างจริงจัง จึงได้รู้ว่าไม่มีทางทำเสร็จทันสิ้นปี 2555 จนต้องหันไปแก้ไขเพลทป่าท้อก่อน


1. ดังที่เคยได้แจ้งไว้ว่า ดิฉันเพิ่งแปลเนื้อหานิยายเรื่องม่านม่านชิงหลัวจนเสร็จหมดรวมถึงตอนพิเศษทั้ง 5 ตอนเมื่อราวๆ กลางเดือนตุลาคม 2555 หลังจากนั้นจึงได้เริ่มตรวจเทียบเนื้อหากับต้นฉบับภาษาจีนเพื่อ :

1.1 ตรวจเทียบให้แน่ใจว่าแปลได้ถูกต้องแล้วทุกประโยค

1.2 ตรวจให้แน่ใจว่าแปลครบหมดทุกบรรทัดทุกประโยคไม่มีตกหล่น

1.3 ตรวจเทียบภาษาจีนระหว่างฉบับก่อนส่งบก.และฉบับพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือประโยคต่อประโยค เนื่องจากนิยายของจวงจวงมักจะถูกตัดทอน + แก้ไขเนื้อหาบางช่วงบางประโยคโดยบก. เป็นการแก้โดยไม่มีการแจ้งให้จวงจวงผู้เขียนทราบ และในการแก้ไขบางครั้งจากที่พบมา มีส่วนทำให้เนื้อเรื่องเกิดความขัดแย้งกัน เมื่อตรวจเทียบแล้ว จึงพิจารณาแปลในประโยคที่เนื้อหาของทั้งสองเวอร์ชันแตกต่างกันตามความเหมาะสม

1.4 ส่งอีเมลสอบถามจวงจวงผู้เขียนเมื่อเจอประเด็นที่ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกต้อง หรือส่วนที่เวอร์ชันจีนทั้งสองแตกต่างกันมากจนสมควรถามความเห็นผู้เขียนว่าควรเลือกแปลโดยอิงเวอร์ชันไหน

1.5 จากที่ไถ่ถามเพื่อนฝูงนักแปล ปกตินักแปลจะไม่ทำขั้นตอน 1.1-1.4 นี้ เพราะแค่แปลจบรอบเดียว นักแปลก็ไม่อยากอ่านทวนตรวจเทียบกับต้นฉบับซ้ำแล้ว หน้าที่นี้จึงจะตกเป็นของบก.ที่จะต้องเชี่ยวชาญภาษาจีนไม่แพ้นักแปล หรือไม่ก็ตกเป็นของนักแปลคนอื่นที่นักแปลเชื่อใจ ว่าจ้างให้มาช่วยตรวจดูให้

2. ในงานแปลชิ้นอื่นที่ดิฉันเคยแปลมา ในขั้นตอนที่ 3 ดิฉันจะตรวจเทียบรวดเดียวจบแล้วค่อยมาเช็กสำนวนภาษาไทยล้วนอีกที แต่สำหรับเรื่องม่านม่านชิงหลัว ขั้นตอนการทำได้แตกต่างออกไปโดย :

2.1 ตรวจเทียบภาษาจีนจบบทที่ 1 ก็เช็กสำนวนภาษาไทยทันที โดยอ่านทวนซ้ำ + แก้ไข 3 รอบ
2.2 ตรวจเทียบภาษาจีนจบบทที่ 2 ก็เช็กสำนวนภาษาไทยบทที่ 1+2 โดยอ่านทวนซ้ำ + แก้ไข 3 รอบ
2.3 ตรวจเทียบภาษาจีนจบบทที่ 3 ก็เช็กสำนวนภาษาไทยบทที่ 1-3 โดยอ่านทวนซ้ำ + แก้ไข 3 รอบ
2.4 โดยในระหว่างนี้ก็เขียนเชิงอรถ + เสิร์ชหาและทำภาพประกอบเชิงอรรถไปด้วย

3. สาเหตุที่ม่านม่านชิงหลัวมีขั้นตอนการทำแตกต่างจากเรื่องอื่น มีเหตุผลดังนี้

3.1 ก่อนจะมาเขียนเรื่องม่านม่านชิงหลัว ที่เป็นนิยายแนวนางเอกข้ามมิติไปยุคโบราณของจีนซึ่งไม่มีอยู่ในประวัติศาสตร์จีน จวงจวงได้เขียนนิยายแนวปัจจุบันมาก่อนแล้ว 3 เรื่อง ทำให้สำนวนของเธอเป็นสำนวนแบบนิยายแนวปัจจุบัน ปกติดิฉันจะแปลนิยายโดยอิงตามสไตล์ของผู้เขียน แต่สำหรับจวงจวง ตอนที่แปลเรื่องม่านม่านชิงหลัวโพสต์ลงในเว็บ ผู้อ่านที่เคยอ่านจอมนางคู่บัลลังก์แล้วชอบสำนวนของเรื่องหลายท่านบอกว่า สำนวนแปลเรื่องม่านม่านชิงหลัวไม่สละสลวยอย่างจอมนางคู่บัลลังก์ อยากให้แปลด้วยสำนวนแบบจอมนางคู่บัลลังก์มากกว่า อนึ่ง เฟิงน่ง ผู้เขียนเรื่องจอมนางคู่บัลลังก์นั้น เป็นเจ้าแม่นักเขียนนิยายแนวโบราณ เธอเขียนนิยายแนวโบราณมาแล้วหลายเรื่องก่อนจะมาเขียนจอมนางคู่บัลลังก์ ด้านสำนวนการเขียน เธอจึงเขียนได้ดีและสละสลวยกว่าจวงจวงมาก ดิฉันเห็นด้วยว่าการแปลตามสำนวนสไตล์จวงจวงไม่สละสลวยเท่าสไตล์เฟิงน่ง และนิยายโบราณแนวโรแมนซ์แบบนี้ สำนวนโบราณหน่อยจะกินใจกว่า จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนสำนวนให้เป็นลูกผสมระหว่างจวงจวงกับเฟิงน่งเท่าที่สามารถทำได้ และการปรับเปลี่ยนสำนวนนั้น แม้จะสามารถทำได้ แต่แน่นอนว่าไม่ได้ง่าย และต้องระวังความสม่ำเสมอตลอดทั้งเรื่องอย่างมาก ดังนั้นผลลัพธ์ในการจัดทำจึงออกมาได้เป็นดังขั้นตอนในข้อ 2

3.2 ที่ช่วง 2-3 บทแรกต้องอ่านทวนซ้ำบ่อยมาก เพราะเป็นช่วงสำคัญที่จะเปลี่ยนจากมุมมองของนางเอกซึ่งเป็นคนในยุคปัจจุบัน ให้ค่อยๆ หลอมรวมเข้าสู่สภาพแวดล้อม + มุมมอง + ลักษณะคำบรรยายของคนยุคโบราณอย่างเนียนๆ

3.3 เรื่องม่านม่านชิงหลัวเป็นนิยายโรมานซ์กึ่งกำลังภายใน และยังมีพาดพิงถึงตำแหน่งขุนนางบ้างเล็กน้อย ซึ่งเรื่องขุนนางจีนเป็นความถนัดของดิฉันพอดี ในการแปล จึงต้องดูว่าควรแปลตำแหน่งไหน ควรทับศัพท์ตำแหน่งไหน ซึ่งไม่ใช่ว่าตัดสินใจเลือกปุบก็ไม่มีการเปลี่ยนอีก เมื่อแก้ไขไปเรื่อยๆ พบว่าควรทำอีกแบบดีกว่า ก็ต้องมานั่งไล่เปลี่ยนหมดทั้งเรื่อง และกรณีแบบนี้ ทำมาไม่ใช่แค่ 2-3 ครั้ง ดังที่ท่านซึ่งอ่านฉบับแปลสดอาจจะสังเกตเห็นบ้างแล้วว่าคำเรียกตัวละครมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่หลายครั้ง ซึ่งก็ต้องเป็นอย่างนี้ไปจนกว่าจะตบรูปแบบเข้าที่เมื่อตรวจทานจนจบเรื่อง

3.4 เรื่องม่านม่านชิงหลัว มีพวกเจ้าชาย พระราชาอยู่หลายองค์ และมีกรณีหลายกรณี มีจุดที่ต้องระวังหลายจุด เช่น

- จื่อหลี ที่กลายมาเป็นองค์ชายสี่หลิวเฟย
- หลิวเจว๋ ที่จากสามัญชนอัพเลเวลไปเป็นผิงหนานหวาง
- การพูดคุยระหว่างหน่วยอัศวินชุดดำกับหลิวเจว๋
- การพูดคุยระหว่างหน่วยอัศวินชุดดำกับอานชิงหวาง
- การใช้คำราชาศัพท์ต่อไท่จื่อ, หวาง, ฮ่องเต้
- การใช้คำราชาศัพท์ต่อไท่จื่อเฟย, หวางเฟย, เช่อเฟย (เหลียงตี้)
ซึ่งการใช้คำเหล่านี้ ต้องดูทั้งในบทบรรยายและบทพูด และต้องระวังให้มีความสม่ำเสมอไม่ให้หลุดตลอดทั้งเรื่อง จึงไปลงเอยเหมือนในข้อ 3.2 คือมีการทดลองเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดขั้นตอนการตรวจทาน และต้องคอยดูให้ดีว่าเปลี่ยนครบหมดแล้วจริงๆ

3.7 ในม่านม่านชิงหลัว มีการใช้คำเรียกพระราชา, เจ้าชาย และหวางโฮ่วอย่างสับสนมาก อาจเป็นได้ว่าเป็นเพราะในปัจจุบันประเทศจีนเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่มีฮ่องเต้ ไม่มีราชนิกุลแล้ว ดังนั้นนิยายเหล่านี้ ผู้เขียนจึงเขียนแบบสับสนปนเป บก.ก็ปล่อยผ่านมาแบบสับสน คนอ่านที่ไม่ว่าจะเป็นจีนแดง ไต้หวัน ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ เขาก็ไม่สนใจความสับสนปนเปนี้ เพราะประเทศพวกเขาไม่มีกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ แต่ประเทศไทยเรายังมีพระมหากษัตริย์อยู่ เรื่องนี้จึงต้องระวังและปรับแก้ให้ถูกต้อง จะปล่อยแบบสับสนปนเปตามคนเขียนไม่ได้

4. ปริมาณเชิงอรรถของเรื่องม่านม่านชิงหลัวต่อเรื่องป่าท้อจากที่ได้ตรวจทานไป 3 บทเป็นดังนี้ :

สรุปเชิงอรรถป่าท้อ
บทอดีต : 7 เชิงอรรถ 2 หน้า
บทอารัมภ์ : 6 เชิงอรรถ 2 หน้า
บทที่ 1 : 11 เชิงอรรถ 3 หน้า
บที่ 2 : 15 เชิงอรรถ 3 หน้า

สรุปเชิงอรรถม่านม่านชิงหลัว :
บทที่ 1 : 31 เชิงอรรถ 9 หน้า
บทที่ 2 : 28 เชิงอรรถ 9 หน้า
บทที่ 3 : 39 เชิงอรรถ 9 หน้า

เวลาในการเขียนเชิงอรรถจึงเยอะมาก แถมหลายส่วนยังเป็นบทกวี แม้แต่ภาพประกอบ ขนาดว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดิฉันได้ทยอยสั่งวาดภาพประกอบสำหรับเรื่องม่านม่านชิงหลัวรวมแล้วหลายสิบภาพ เมื่อมาตรวจทานใหม่ทั้งหมด ก็ยังต้องทำเพิ่มอีกเกือบสิบภาพสำหรับ 3 บทแรก ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ก็ได้ใช้เวลาไปไม่น้อย เนื่องจากเชิงอรรถเป็นหนึ่งในจุดขายหลักที่สำคัญของดิฉัน ดิฉันทราบด้วยว่าหลายท่านซื้อนิยายเรื่องนี้เพราะเชิงอรรถที่คาดหวังว่าจะได้รับอย่างเต็มที่โดยเฉพาะ ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรดิฉันก็ต้องทำเชิงอรรถออกมาให้ดีในระดับที่ดิฉันเห็นว่าสมควรทำ ดังนั้นท่านใดที่ไม่ได้ต้องการเชิงอรรถ ต้องการแต่เนื้อหา ดิฉันก็ต้องขออภัยอย่างสูง

5. เนื่องจากเมื่อได้เริ่มลงมือทำตามขั้นตอนในข้อ 1,2 ดิฉันก็เล็งเห็นแล้วว่า เวลาที่กะไว้ในตอนต้นที่ว่าจะเร่งปั่นให้เสร็จทันสิ้นปีนั้น ไม่มีทางเสร็จทันได้อย่างแน่นอน ซึ่งก่อนจะลงมือทำจริงๆ ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าเมื่อลงมือทำจริงๆ จะเจอปัญหาจุกจิกที่คิดไม่ถึงเหล่านี้ เพราะในนิยายเรื่องอื่นที่แปลมาไม่เคยมีปัจจัยที่ซับซ้อนมากขนาดนี้ อย่างจอมนางคู่บัลลังก์กับมนตร์อสูรที่มีเจ้าชาย เจ้าหญิง พระราชา บทบาทของตัวละครที่เป็นเจ้าชาย เจ้าหญิง พระราชา ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาและมีความซับซ้อนหลายมิติมากเหมือนเรื่องม่านม่านชิงหลัว ถึงจะมีขุนนางโผล่มาบ้าง ก็มีบทน้อยมากจนไม่ใช่สิ่งสำคัญจนต้องมาระวัง

6. เนื่องจากนอกจากเรื่องม่านม่านชิงหลัวแล้ว ดิฉันยังซื้อเรื่องหย่งเยี่ย และบันทึกฮองเฮาออกจากวังของจวงจวงมาด้วย ซึ่งใน 2 เรื่องนั้นก็มีจุดที่ต้องระวังหลายๆ จุดเหมือนกับม่านม่านชิงหลัว ดังนั้นเรื่องม่านม่านชิงหลัวจึงกลายเป็นนิยายเล่มแรกที่ต้องวางแนวทางให้แก่สองเรื่องหลังนั้นด้วย จึงยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นเท่าตัว


สุดท้าย เนื่องจากว่าหนังสือ "ม่านม่านชิงหลัว" นี้ :

1. เป็นหนังสือปกแข็งเรื่องแรกที่ดิฉันพิมพ์
2. มี Bex set
3. ใช้เวลาจัดทำนานมากที่สุดในหนังสือนิยายทั้งหมด 7 เรื่องที่ได้แปลมา ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องที่ยาวที่สุดที่เคยแปลมา

ดิฉันจึงใช้ความระมัดระวังในการจัดทำมากยิ่งกว่านิยายทุกเรื่องที่เคยทำ เพราะไม่ต้องการให้ผู้ซื้อที่ยินยอมรอเกิดความรู้สึกว่า "ใช้เวลาทำนานตั้ง 3 ปี ทำออกมาได้แค่นี้เองเหรอ?"

อย่างไรก็ตาม ท่านใดที่ไม่สามารถรอได้ สามารถขอรับเงินคืนได้ค่ะ โดยรบกวนแจ้งรายละเอียดมาดังนี้

- ชื่อธนาคาร + สาขา
- ชื่อบัญชี
- เลขบัญชี

อนึ่ง ท่านที่ขอเงินคืน สำหรับท่านที่จ่ายในราคา 1,200 บาท และ 1,300 บาท จะได้รับการบันทึกไว้โดยที่หากท่านตัดสินใจย้อนกลับมาซื้อ ในการชำระเงินครั้งหน้า ท่านจะได้สิทธิพิเศษให้จ่ายในราคาเดิมโดยได้รับของแถมอย่างเดิมค่ะ


ต้องขออภัยอย่างยิ่งกับนิสัยบ้าความสมบูรณ์แบบของตัวเองค่ะ
m(_ _)m
หลินโหม่ว
16 ธันวาคม 2555
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่