ป่วยโควิดสะสมพุ่ง 1.8 แสนราย และ ทำไมป่วย “เบาหวาน” ถึงต้องเป็น “โรคหัวใจ”

ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ออกประกาศ COVID-19 ระบาด ประชาชนแห่ใช้บริการจำนวนมาก ส่งผลยาต้านไวรัสบางชนิดขาดแคลนชั่วคราว ระบุจะได้ยาบรรเทาตามอาการเท่านั้น ด้านกรมควบคุมโรคอัพเดตยอดป่วยสะสมโควิดล่าสุดพุ่งทะลุ 1.8 แสนรายแล้ว กทม.ป่วยเยอะสุด นอนรพ.กว่า 3.3 พันคน เสียชีวิตสะสม 41 ราย ยังไม่นับป่วยไข้หวัดใหญ่สะสมอีกกว่า 3.4 แสนราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2568 ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์แจ้งให้ผู้รับบริการทราบว่า เนื่องจากขณะนี้มีการระบาดของ COVID-19 มีผู้มารับบริการที่ศูนย์การแพทย์ฯ เป็นจำนวนมาก ทำให้คลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ไม่สามารถให้บริการได้อย่าง“ทั่วถึง” ในกรณีที่ท่านอยู่ในกลุ่มสีเขียว** (กลุ่มสีเขียว คือ กลุ่มอาการไม่รุนแรง/ไม่มีภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์ เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก อายุน้อยกว่า 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัวใดๆ ร่วม) สามารถจองคิวออนไลน์เพื่อความสะดวกในการเข้ารับบริการ

โพสต์ประกาศดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ขณะนี้ ยาต้านไวรัสบางชนิดขาดแคลนชั่วคราว ผู้ป่วยที่เข้ามารักษา ณ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก จะได้รับยาบรรเทาตามอาการเท่านั้น จึงขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้

ป่วยสะสมพุ่ง 1.8 แสนราย
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยล่าสุด จากการรรายงานของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แบบเรียลไทม์ ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 24 พ.ค. 2568 พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ 56,953 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 11 ราย ผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 จนถึงปัจจุบันมีจำนวน 41 ราย

ข้อมูลที่น่าสนใจคือจำนวนผุ้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 จนถึงปัจจุบัน(24 พ.ค.) ตัวเลขผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นไปถึง 180,681 รายแล้ว ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล จำนวน 3,387 ราย ผู้ป่วยนอก 53,566 ราย

สำหรับ 5 จังหวัดที่มีผู้ป่วยโควิดมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นนทบุรี ระยอง และสมุทรปราการ ในจำนวนนี้พบว่าผู้ที่มีอายุระหว่าง 30-39 ปี เป็นกลุ่มที่ป่วยมากสุด รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 20-29 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป (ตามตาราง)


ทั้งนี้ยังไม่นับรวมผู้ป่วยที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งข้อมูลที่กรมควบคุมโรครายงานนั้นมีจำนวน ผู้ป่วยรายใหม่ 7,687 ราย เสียชีวิตรายใหม่ 1 ราย เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 จนถึงปัจจุบันมีจำนวน 33 ราย และมีจำนวนผู้ป่วยสะสมจากไข้หวัดใหญ่มากถึง 341,162 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล 952 ราย และเป็นผู้ป่วยนอก 6,735 ราย และกรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด(ตามตาราง)

ก่อนหน้านี้ ศูนย์โควิด-19 ของรัฐบาล รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 พฤษภาคม 2568 ว่าพบผู้ป่วย 71,067 ราย ผู้เสียชีวิต 19 ราย แนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้น พบการระบาดแบบกลุ่มก้อน จำนวน 2 เหตุการณ์ ทั้งนี้ หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ (สัปดาห์ที่ 16) พบผู้ป่วยจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าในปีนี้ ระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ประเทศไทยพบการระบาดของสายพันธุ์ XEC เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ไม่ประมาท สังเกตอาการ ล้างมือบ่อย ๆ และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปในพื้นที่ที่มีความแออัด

สายพันธุ์ XEC กรมวิทย์ชี้แนวโน้มลดลง
เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2568 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ว่า สถานการณ์สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 – วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 พบ JN.1ยังเป็นสายพันธุ์หลัก คิดเป็นสัดส่วนสะสมร้อยละ 63.92 ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่พบในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกที่ยังคงมี JN.1 เป็นสายพันธุ์หลัก

สำหรับสายพันธุ์ XEC พบแนวโน้มลดลง คิดเป็นสัดส่วนสะสมร้อยละ 3.07 ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก ส่วน LP.8.1 (สายพันธุ์ย่อย KP.1.1.3) เริ่มพบในประเทศไทยช่วงเดือนมกราคม 2568 ขณะนี้มีอัตราลดลงเช่นกัน โดยสัดส่วนสะสมที่พบยังน้อยกว่าร้อยละ 10 ทั้งนี้วัคซีนโควิด 19 ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันความรุนแรงจากสายพันธุ์นี้

นายแพทย์ยงยศ กล่าวอีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคโควิด 19 เพื่อเตรียมความพร้อมหากมีการระบาดในอนาคต โดยเผยแพร่จีโนมบนฐานข้อมูลสากล GISAID ตั้งแต่เริ่มสถานการณ์ระบาดโรคโควิด 19 ในประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม 2563 ถึง 6 พฤษภาคม 2568 มีจำนวนสะสม 47,571 ราย

อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างสม่ำเสมอ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การปิดปาก ปิดจมูกเมื่อไอหรือจาม การล้างมือเป็นประจำ สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้


กทม.ป่วยมากสุด สธ.เตือนอย่าตื่นตระหนก
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีแพทย์ออกมาเตือนโควิดกลับมาระบาดหนักว่า สถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ 1 ม.ค.68 – ปัจจุบัน มีผู้ป่วยสะสม 53,676 ราย เสียชีวิต 16 ราย โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 16,723 ราย ซึ่งเริ่มมีการติดเชื้อสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 15 และติดเชื้อสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่ 18 ระหว่างวันที่ 27 เม.ย. – 3 พ.ค.68 จำนวน 14,349 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 2 ราย

ซึ่งมีการติดเชื้อมากที่สุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 4,624 ราย รองลงมา จ.ชลบุรี 1,177 ราย จ.นนทบุรี 866 ราย และ จ.ระยอง 553 ราย แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ 19 ระหว่างวันที่ 4 พ.ค.-10 พ.ค.68 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 12,543 ราย โดยจะเห็นได้ว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ เริ่มลดลงแล้ว

“จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ประเทศไทยสามารถพบผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคมีความสัมพันธ์กับกิจกรรม หรือ การรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก รวมถึงปัจจัยด้านฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนจะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งขอเน้นย้ำว่า โรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี จึงขอให้พี่น้องประชาชน ไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะโควิด-19 ปัจจุบัน ติดง่าย แต่อาการรุนแรงน้อย แต่ก็ขอเน้นย้ำ ให้ระมัดระวัง ปฎิบัติตามคำแนะนำด้านสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด” รมว.สาธารณสุข กล่าว...

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/general/news-1816992



ทำไมป่วย “เบาหวาน” ถึงต้องเป็น “โรคหัวใจ” สัญญาณเตือนและวิธีป้องกัน

หลายคนอาจสงสัยว่า “โรคเบาหวาน” เกี่ยวข้องกับ “โรคหัวใจ” อย่างไร
แท้ที่จริงแล้ว “โรคเบาหวาน” (Diabetes) และ “โรคหัวใจ” (Heart Disease) เป็นโรคที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะการเกิดโรคหัวใจวาย หลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

เพราะ “โรคเบาหวาน” ทำให้หลอดเลือดตีบและแข็งตัว ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานานทำให้เกิดการสะสมของไขมันและคราบหินปูนในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบและเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายได้ ผู้ป่วยเบาหวานมักมีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นและเพิ่มโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ขณะเดียวกันคนที่เป็นเบาหวานมักมีระดับไขมัน LDL (ไขมันไม่ดี) สูง และระดับ HDL (ไขมันดี) ต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจ

ยังไม่นับรวม ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ภาวะนี้ส่งผลให้เกิดการอักเสบในร่างกายและทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพเร็วขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ และเส้นประสาทถูกทำลาย ผู้ป่วยเบาหวานบางคนอาจมีเส้นประสาทเสียหาย ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีอาการหัวใจขาดเลือด ไม่รู้สึกเจ็บหน้าอกแม้มีภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผู้ป่วยเบาหวานจึงมักตรวจพบโรคหัวใจในระยะที่รุนแรงแล้ว

ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวาน จำเป็นต้อง
1. ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ
2. ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FBS, HbA1c) ควบคุมให้เหมาะสม
3. ตรวจไขมันในเลือด (Lipid Profile)
4. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG - Electrocardiogram) เพื่อวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจขาดเลือด และปัญหาทางไฟฟ้าหัวใจอื่น ๆ
5. ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram หรือ Echo) 6. ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test)

สัญญาณเตือน ที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ อาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือรู้สึกเหมือนถูกกดทับบริเวณอก หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ใจสั่น หน้ามืด เวียนหัว เท้าบวมจากภาวะหัวใจล้มเหลว
แนวทางป้องกันและดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง น้ำตาลสูง และโซเดียมสูง
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน
ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
เลิกสูบบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์
ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อติดตามค่าความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือด
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่มีอาการผิดปกติ แนะนำให้ตรวจสุขภาพหัวใจ อย่างน้อยปีละครั้ง หรือทุก 6 เดือนในรายที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น มีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือโรคไตร่วมด้วย แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น หรือเหนื่อยง่ายผิดปกติ แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์โดยทันที
อย่างไรก็ดี โรคเบาหวาน สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้หลายเท่าตัว การตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำสามารถช่วยให้พบปัญหาได้เร็วขึ้นและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
 

ขอบคุณ : ศูนย์หัวใจ (Heart Center) โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่