เคล็ดลับการปลูกต้นไม้ จาก "มือใหม่" สู่ "มือเย็น"

"มือเย็น" คือ เป้าหมายของคนที่รักต้นไม้ ที่อยากกลายเป็นผู้ปลูกพืชใดก็เติบโตได้
หรือ สำเร็จได้ผล 80% จากจำนวนต้นกล้าที่ลงมือปลูก
แต่หากคุณปลูกต้นไม้มาหลายครั้งแล้วตายจากไปทุกรอบ อย่าเพิ่งท้อ ลองศึกษาเทคนิควิธี
ทดลองวิธีที่ง่ายที่สุดก่อน  คือ การปักชำ พืชที่เหมาะได้แก่ บานบุรี โกศล กระเพรา โหระพา ชบา
เมื่อตัดกิ่งมาปักชำ ระบบรากหายไป พืชจึงเร่งสร้างรากใหม่ที่โคนกิ่ง โดยฮอร์โมนเจริญเติบโต
เคลื่อนจากการสร้างยอด สู่การสร้างราก เซลล์ที่ฐานกิ่งจะเปลี่ยนหน้าที่
จากเซลล์ลำเลียง/เซลล์ทั่วไป เป็นเซลล์สร้างราก
ด้วยปัจจัยกระตุ้น คือ ฮอร์โมนพืช   น้ำที่ช่วยให้เซลล์แบ่งตัว  
อากาศซึ่งส่งเสริมกระบวนการเจริญของราก

ขั้นตอนการปักชำ
1.     ตัดกิ่งที่แข็งแรง  ยาวประมาณ 15-30 ซม.
ไม่ใช่กิ่งอ่อนในการปักชำ เพราะโครงสร้างและเนื้อเยื่อยังไม่เจริญสมบูรณ์
ส่วนที่ปักลงดิน จึงควรเป็นก้านกิ่งที่มีสีลำต้น โดยมียอดอ่อนอยู่ส่วนบน

2.     ปลิด/ตัดใบออก เหลือใบที่แข็งแรงไว้ส่วนยอด 3-4 ใบ หรือ 1 ใน 3 ของกิ่งที่จะปลูก
หากมีใบมากเกินไป  พืชจะคายน้ำผ่านปากใบ จนทำให้กิ่งปักชำแห้งตาย
ในช่วงปักชำ พืชยังไม่สามารถดูดน้ำและแร่ธาตุผ่านรากได้
จึงควรลดภาระการใช้พลังงานจากการสังเคราะห์แสง
นอกจากนี้ ใบที่มากเกินไปอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อรา ไข่แมลง  เชื้อโรคต่างๆ

3.     ใช้ไม้หรือเหล็กปลายแหลมปักให้เกิดรูลึกในดินนำร่องก่อน
เพื่อให้การเสียบกิ่งลงดินไม่ทำให้โคนกิ่งช้ำ

4.     ปักกิ่งลงดินลึก 1-2 นิ้ว ให้แน่นพอดี  ไม่ให้กิ่งโยกได้  แต่ไม่อัดดินรอบกิ่งจนแน่น  
เนื้อเยื่อกิ่งที่สัมผัสดินอย่างพอเหมาะ ช่วยให้ความชื้นและสารอาหารเข้าสู่กิ่งได้ดี 
มีอากาศไหลผ่านได้ ช่วยให้รากหายใจ ไม่เน่าเสีย
กิ่งที่โยกได้ จะรบกวนการเติบโตของราก
กิ่งจึงควรถูกปักลงดินอย่างมั่นคง โดยไม่อัดดินแน่นจนกิ่งส่วนใต้ดินขาดอากาศ

5.     การบำรุงดูแล  เน้นความโปร่งของดิน และการไหลเวียนของอากาศ
แม้น้ำจะมีบทบาทให้เซลล์พืชขยายตัว แต่น้ำที่มากเกินไป
ทำให้รากขาดอากาศ  สภาพออกซิเจนต่ำจากดินชื้นแฉะหรือน้ำขัง
ส่งผลให้เชื้อราและแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนเติบโตได้ ส่งผลให้รากเน่า
ระหว่างปักชำ พืชยังคงมีกระบวนการหายใจระดับเซลล์
ซึ่งต้องใช้ออกซิเจน เพื่อเผาผลาญน้ำตาลเป็นพลังงานสำหรับ
การแบ่งตัวของเซลล์ปลายกิ่ง  และการเจริญของเนื้อเยื่อราก
 

สำหรับมือใหม่ ไม่แนะนำให้เพาะเมล็ด เพราะกระบวนการค่อนข้างซับซ้อน
ปักชำ หรือ ซื้อต้นไม้ปฐมวัยที่โตจนแกร่ง จะเลี้ยงง่ายกว่า
อุปมา เหมือนเราซื้อเด็กประถมมาเลี้ยง จะดีกว่าเอาเด็กอายุ 6 เดือนมาเลี้ยง
ซึ่งยังมีสภาพเด็กวัย 6 เดือนจะอ่อนแอกว่าวัย 6 ขวบ

กรณีที่ซื้อต้นไม้มาจากร้าน แกะถุงโดย กรีดถุงแล้ว
จับลำต้นด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ คว่ำถุงให้ปึกดินลงฝ่ามือแบบคงสภาพรูปทรงถุง
หรือ พยายามแกะให้คงสภาพรากผนึกดิน-วัสดุปนดินไว้
ก่อนนำลงปลูกในกระถาง  หรือ ลงพื้นดิน
หากแกะออกแบบใจร้อน จนดินกระจาย  รากขาด
รากจะไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ พืชมีแนวโน้มตายได้ในเวลาต่อมา  
 

อนึ่ง คำแนะนำนี้ อาจไม่เหมาะกับพืชบางชนิด ที่ต้องใช้การเลี้ยงดูในแบบเฉพาะ
เช่น กระบองเพชร ผักบางชนิดที่ใช้การหว่านเมล็ดพันธุ์  บอน ที่ปลูกลงดินทั้งหัว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่