ปิดฉาก MK งานนี้…สุกี้ไม่เกี่ยว

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

องค์กรธุรกิจถ้าเปรียบเป็นคน มีลมหายใจ ย่อมเข้ากฎวัฏสงสาร มีเกิด มีรุ่งเรือง และมีโรยรา

เดิมทีตั้งใจจะชวนคุยเกี่ยวกับทางตัน-ทางรอดภาษีทรัมป์ เพราะผู้ว่าการแบงก์ชาติ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ท่านได้ส่งสัญญาณชัดเจนในโอกาสจัด Meet the Press เมื่อ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา การเจรจาต่อรองภาษีทรัมป์ของรัฐบาลไทย จนกว่าทุกอย่างจะนิ่ง คาดว่าไม่เร็วกว่าไตรมาส 4/68

หมายความว่าไตรมาส 2/68 ซึ่งเหลืออีก 1 เดือนครึ่ง กับไตรมาส 3/68 อีกเต็มไตรมาส ฝุ่นก็ยังตลบอบอวลสำหรับวงการธุรกิจ แปลความอีกทีก็คือยังต้องเหนื่อย เหนื่อย เหนื่อย ต่อไปอีกอย่างน้อย 135 วัน (ถ้าเราเชื่อตามคำทำนายของท่านผู้ว่าการแบงก์ชาติ)

แต่ทว่ามีคลื่นแทรกจากการประกาศยุติบทบาทพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ภายในไม่เกิน 3 ปีนับจากนี้ มาจาก “วรสิทธิ์ โภคาชัยวัฒน์” CEO คนปัจจุบันของบริษัทมหาชน “มั่นคงเคหะการ” ซึ่งมีรหัสย่อในกระดานหุ้นว่า MK เพี้ยนรู้สึกเงียบ

ก่อนหน้านี้ มักจะเป็นเรื่องอำกันระหว่างสื่อสายอสังหาฯ กับผู้บริหารมั่นคงเคหะการ เกี่ยวกับตัวย่อ MK ซึ่งไปตรงกับชื่อสุกี้แบรนด์ดัง “MK สุกี้” ของตระกูลธีระโกเมน เป็นเพราะ MK-มั่นคงเคหะการ เข้าตลาดหุ้นก่อน ก็เลยตั้งชื่อตัวย่อได้ก่อน เป็นความบังเอิญแบบ บังเอิ๊ญ บังเอิญ

น่าสนใจว่า MK ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เกิดขึ้นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว โดยผู้ก่อตั้ง “ชวน ตั้งมติธรรม” ผ่านทีมผู้บริหารน่าจะ 3-4 เจเนอเรชั่น ทั้งในและนอกครอบครัวตั้งมติธรรม วันนี้ เอาไม่อยู่

โดยโครงการที่อยู่อาศัยลอตสุดท้าย ซึ่งน่าจะเป็นบ้านแนวราบเป็นส่วนใหญ่ อยู่ในแผนพัฒนาโครงการจำนวน 800 หลัง มูลค่าโครงการรวม 2,900 ล้านบาท เฉลี่ยราคาขายหลังละ 3.625 ล้านบาท ซึ่งต้องบอกว่าเป็นระดับราคาตลาดแมสที่ MK ถนัด โดยมีแบรนด์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ “หมู่บ้านชวนชื่น” ซึ่งอาจจะดังและคนจดจำได้มากกว่า “หมู่บ้านชวนชม” ด้วยซ้ำไป

ย้อนเวลากลับไปในช่วงปี 2533-2534 เชื่อหรือไม่ “หมู่บ้านชวนชื่น” ของ MK ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับยี่ห้อหมู่บ้านค่ายแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ของตระกูลอัศวโภคิน เรียกว่ากระดูกเบอร์เดียวกันก็ว่าได้ นับเป็นช่วงพีกของ MK ในยุคสมัย

ภาพจำที่ติดตาคนวัยเบบี้บูม สองหนุ่มน้อยตั้งมติธรรม “ชวน-ประทีป” สวมหมวกคนละใบ ยืนขนาบบ่อบำบัดน้ำเสีย ทำท่าชี้นิ้วชี้มือเพื่อโฆษณาสื่อสารว่า หมู่บ้านชวนชื่น มีระบบบำบัดน้ำเสียนะเฟ้ย ประวัติศาสตร์ยุคนั้นจะบอกพวกเราว่า หมู่บ้านที่มีบ่อบำบัดน้ำเสีย ถือเป็นของเท่ เก๋ ทันสมัย

แต่วันนี้ไม่ใช่วันนั้น ภาษาการตลาดเรียกว่าอะไรนะ …Good will ใช่ไหม กู๊ดวิลล์ของ MK มีมูลค่าเท่าไหร่กันล่ะ

ณ นาทีแรกที่ “CEO วรสิทธิ์” ตอบคำถามเกี่ยวกับอนาคตพอร์ตธุรกิจที่อยู่อาศัยว่า ความน่าจะเป็นในการเคลียร์สต๊อกลอตสุดท้าย 800 หลัง น่าจะจบภายใน 2-3 ปี หลังจากนั้นจะยุติบทบาทธุรกิจที่อยู่อาศัย แล้วหันไปตบเกียร์ 5 เหยียบคันเร่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม ผ่านบริษัทลูก “พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์” ที่กำลังขึ้นหม้อ

มี 2 คำถามแรกผุดแว่บขึ้นมา 1.ทีมงานพัฒนาที่อยู่อาศัยจะไปต่อหรือพอแค่นี้ กับ 2.ลูกบ้านในเครือมั่นคงเคหะการ ตั้งแต่อดีตกาลเมื่อ 60 ปีมาแล้วจนถึงปัจจุบัน จะอยู่กันอย่างไร

ทั้งนี้ ในแง่มุมทางกฎหมาย ความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการ จบสิ้นเมื่อการรับประกันโครงสร้าง 2 ปี และรับประกันส่วนควบ 5 ปี แต่ในข้อเท็จจริง หมู่บ้านที่มีชื่อแบรนด์ติดหราหน้าโครงการ แบรนด์มักจะถูกยึดเป็นตัวประกัน ตามที่เราได้เห็นในประสบการณ์วิกฤตหลายรอบที่ผ่านมา อาทิ น้ำท่วมใหญ่ปี 2554, โควิดปี 2563, แผ่นดินไหวปี 2568 เป็นต้น

ทั้งโครงการใหม่และโครงการเก่าที่มีแบรนด์ติดหราหน้าโครงการ มักได้รับการดูแลจากบริษัทเจ้าของโครงการ เป็นทั้ง CSR และเป็นการตอกย้ำความน่าเชื่อถือของแบรนด์ (เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับกฎหมายแล้ว)

นับถอยหลังปิดฉากธุรกิจที่อยู่อาศัยของ MK แบรนด์ที่ไม่เกี่ยวกับสุกี้ เข้ากฎธรรมะ-ชาติ เกิดขึ้น มีรุ่งเรือง และมีโรยรา...

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/opinion-column-10/news-1812290

แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่