สตาร์ทอัพจีนเปิด 'คลินิกหมอ AI' แห่งแรกของโลกในซาอุดีอาระเบีย

สตาร์ทอัพจีนเปิด 'คลินิกหมอ AI' แห่งแรกของโลกในซาอุดีอาระเบีย
เครดิต ข่าวposttoday.com
สตาร์ทอัพจีน ประเดิมเปิด "คลินิกหมอ AI" แห่งแรกของโลกในซาอุดีอาระเบีย ให้ AI วินิจฉัยผู้ป่วยโดยตรง คาดเพิ่มประสิทธิภาพ 10 เท่า ลดต้นทุนค่ารักษา
คลินิกหมอ AI ทำงานอย่างไร?
ลองจินตนาการว่าเดินเข้าคลินิก แล้วแทนที่จะเจอคุณหมอตัวจริงตรงหน้า เราต้องคุยกับ AI ผ่านแท็บเล็ตแทน
AI ตัวนี้มีชื่อว่า "Dr. Hua หรือ คุณหมอฮัว" ผู้ป่วยจะเริ่มด้วยการอธิบายอาการ จากนั้น Dr. Hua จะซักประวัติเพิ่มเติม วิเคราะห์ข้อมูลและภาพทางการแพทย์ต่างๆ เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และภาพเอกซเรย์ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์คอยช่วยเหลือในการเก็บข้อมูล
เมื่อ AI ประมวลผลเสร็จสิ้น Dr. Hua ก็จะเสนอแผนการรักษาออกมา ซึ่งแผนนี้จะถูกส่งให้แพทย์ที่เป็นมนุษย์อีกคนหนึ่งทำการตรวจสอบและลงนามอนุมัติ
โดยแพทย์ที่เป็นมนุษย์ไม่จำเป็นต้องพบผู้ป่วยด้วยตัวเองแต่ยังพร้อมเข้าดูแลสถานการณ์ฉุกเฉินที่ซับซ้อนเกินกว่า AI จะรับมือได้
Synyi AI อ้างว่า ในระหว่างการทดสอบเบื้องต้น เทคโนโลยีนี้มีอัตราความผิดพลาดน้อยกว่า 0.3% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับวงการแพทย์
ขณะที่จาง เส้าเตี้ยน ซีอีโอของ Synyi AI กล่าวถึงวิสัยทัศน์นี้ว่า
"ในอดีต AI ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ช่วยแพทย์ แต่ตอนนี้เรากำลังก้าวไปสู่ขั้นตอนสุดท้าย นั่นคือการให้ AI ทำการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้โดยตรง"
จากห้องแล็บ สู่คลินิกจริง
ปัจจุบัน มีผู้ป่วยหลายสิบรายเข้ารับบริการนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งยังอยู่ในช่วงทดลอง และมีแพทย์ที่เป็นมนุษย์ดูแลใกล้ชิด 
ข้อมูลการวินิจฉัยของ AI ที่ได้จากช่วงทดลองนี้ จะถูกนำไปยื่นขออนุมัติจากหน่วยงานทางการซาอุดีอาระเบีย เพื่อขออนุญาตเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ต่อไป
โดยนายจางคาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายใน 18 เดือน
การเลือกซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดแรกนอกประเทศจีน สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจในตลาดที่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ค่อนข้างสูง 
ซึ่ง AI จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างมหาศาล โดยนายจางมองว่าเทคโนโลยี AI อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้มากถึง "สิบเท่า" และมีประโยชน์อย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกลที่มักขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์
ในทางตรงกันข้าม การเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในจีนอาจต้องผ่านการพิจารณาด้านความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์อย่างรอบคอบ เนื่องจากระบบสาธารณสุขของรัฐทำให้ค่าใช้จ่ายในการพบแพทย์ไม่สูงนัก
อย่างไรก็ตาม เส้นทางของ "หมอ AI" ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ยังคงมีเสียงจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่แสดงความกังขา
เหงียม คี หยวน ที่ปรึกษาอาวุโสโรงพยาบาลแห่งชาติสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า
"เราทราบถึงความพยายามหลายครั้งในการสร้างหมอ AI ที่มีความสามารถพอสมควร สามารถพูดคุยกับผู้ป่วยได้โดยตรง
"ถึงอย่างนั้น แม้แต่ระบบที่ดีที่สุดก็ยังทำงานได้ไม่เทียบเท่ากับแพทย์ปฐมภูมิ ผมจึงยังรู้สึกไม่เชื่อมั่นนัก"
ปัจจุบัน Dr. Hua ยังมีความสามารถจำกัด โดยเน้นไปที่โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจประมาณ 30 โรค เช่น โรคหืด และคออักเสบ
แต่ Synyi AI มีแผนขยายขอบเขตการวินิจฉัยให้ครอบคลุมโรคในระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และผิวหนัง รวม 50 โรค ภายในปีหน้า
และกำลังเจรจากับโรงพยาบาลอื่นๆ ในซาอุดีอาระเบีย เพื่อเปิดคลินิกในลักษณะเดียวกันนี้เพิ่มเติม
กระแสเทคสุขภาพจีนบุกตะวันออกกลาง
การที่ Synyi AI มาเปิดการทดลองในซาอุดีอาระเบีย สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์ของบริษัทเทคโนโลยีสุขภาพจีนที่กำลังมองหาตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง เพื่อทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับการใช้งานจริงทั่วโลก
ก่อนหน้านี้ Shanghai Fosun Pharmaceutical ก็ได้จับมือกับ Fakeeh Care Group ของซาอุดีอาระเบีย เพื่อพัฒนาการบำบัดด้วยเซลล์และยีน รวมถึงการวินิจฉัยทางไกล
ขณะที่ XtalPi Holdings บริษัทค้นคว้ายาโดยใช้ AI ก็กำลังจัดตั้งแล็บหุ่นยนต์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
แม้ในจีนเอง AI ได้ถูกนำมาใช้ในการปรึกษาทางการแพทย์ออนไลน์อย่างแพร่หลายแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์เท่านั้น
แม้หลายบริษัทกำลังพัฒนาแพทย์ AI ที่สามารถให้คำปรึกษาได้อย่างอิสระ เช่น MedGPT ของ Medlinker แต่ก็ยังไม่มีการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ
การที่ AI เข้ามามีบทบาทโดยตรงกับการวินิจฉัยโรค ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนโดยตรง ย่อมนำมาซึ่งคำถามด้านการกำกับดูแลและความปลอดภัย
ดีแลน แอตตาร์ด ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ MedTech World กล่าวเน้นย้ำว่า
"AI ทางการแพทย์ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตผู้คน ดังนั้นการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจึงเป็นสิ่งจำเป็น"
"ต้องมีมาตรการป้องกันเพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย ประสิทธิผล และความไว้วางใจของประชาชน"
"อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับดูแลก็จำเป็นต้องสร้างสมดุล โดยต้องละเอียดถี่ถ้วน แต่ก็ต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะไม่ขัดขวางนวัตกรรม"
ทั้งนี้ Synyi AI ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนรายใหญ่อย่าง Tencent และ GGV Capital รวมถึงเงินทุนจากรัฐบาลท้องถิ่น
ได้สั่งสมประสบการณ์จากการร่วมงานกับโรงพยาบาลและสถาบันการแพทย์กว่า 800 แห่งในจีน ในการนำ AI มาช่วยจัดการข้อมูลและสนับสนุนงานแพทย์
การบุกตลาดซาอุดีอาระเบียจึงถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญสู่เวทีระดับโลก
การทดลองคลินิกแพทย์ AI ในซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ จึงเป็นมากกว่าแค่การเปิดคลินิก แต่เป็นการทดสอบโมเดลธุรกิจและเทคโนโลยีที่อาจพลิกโฉมวิธีการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในอนาคต
ผสมผสานบทบาทของมนุษย์และ AI เพื่อให้การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพ เข้าถึงง่ายขึ้น และมีต้นทุนที่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่