บทความนี้ไม่ได้จะมาอะบูลิจี้น้องถั่วงอกนะะะ แต่มันมีคนที่กินถั่วงอกไม่ได้จริง ๆ แถมยังมีสารฟอกขาวที่เราต้องระวังอีกด้วยย ไปสืบสาวราวเรื่อง น้องถั่วงอกกันเถอะะ
“กลบกลิ่นน้ำซุป จุดจบก๋วยเตี๋ยว” ใครเคยมีความรู้สึกแบบนี้หรือมีคนรอบข้างเกลียดถั่วงอกจนเข้าไส้บ้างไหม ? เรียกได้ว่าสั่งก๋วยเตี๋ยวทีไร ต้องตบท้ายด้วยคำสร้อยติดปากอย่าง “ไม่งอก” แต่บางทีก็งานงอก เพราะแม่ค้าดันไม่ได้ยิน ต้องมานั่งเขี่ยออกเองอีก
.
สำหรับหลายคน ถั่วงอกกรอบ ๆ เคี้ยวพร้อมเส้นนุ่ม ๆ คือความดีงามของโลกใบนี้ แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่แค่เห็นก็เหม็นเขียว แบบที่ว่าไปกันไม่ได้ จริง ๆ เปิดใจกี่รอบก็คงเส้นคงวา ขอกลับไปเกลียดเหมือนเดิมดีกว่า
.
1.ทำไมเราถึงอี๋ถั่วงอก
“ถึงตัวจะไป แต่กลิ่นยังอยู่” สำหรับคนจำนวนมาก ถั่วงอกคือตัวทำลายจานอาหารของมนุษยชาติ คือความบาปที่โลกนี้ไม่ควรมี เพราะเมื่อมันลงมาอยู่ในน้ำซุปเมื่อไหร่ ก็พร้อมจะแผ่กลิ่นฟุ้งกระจาย กลบเครื่องปรุงอื่นทั้งหลายทั้งปวง แม้จะตักออกก็ไม่ได้ช่วย เพราะสิ่งที่มันทิ้งไว้คืออานุภาพทำลายล้างอย่างถาวร
.
แต่เพื่อความยุติธรรมเราก็ต้องฟังความสองฝ่าย เสียงจากฝั่งทาสรักถั่วงอกบอกมาว่า “ก๋วยเตี๋ยวที่ไม่มีถั่วงอก ถือว่าผิดศาลโลก” ก๋วยเตี๋ยวกับถั่วงอกคือสองสิ่งที่ถูกสรรค์สร้างมาเพื่อกันและกัน
.
แล้วอะไรทำให้เสียงแตกเป็นสองฝ่ายขนาดนี้ ? เหตุผลอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ถั่วงอกตกเป็นประเด็นก็คงหนีไม่พ้นกลิ่นนี่แหละ กลิ่นนี้เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว (ชื่อเรียกจากฝั่งแฟนคลับ) หรือกลิ่นเหม็นเขียว บ้างก็ว่าเหม็นเหมือนดินชื้น ๆ พร้อมทำลายน้ำซุปทุกถ้วย (ความในใจของฝั่งแอนตี้แฟน) กินดิบ ๆ กลิ่นนี้จะยิ่งชัดเจนแบบฟาดหน้า ถ้าต้มจนสุกแล้วก็อาจจะจางลงไปบ้าง แต่มันก็ไม่ได้หายไปไหน
.
นอกจากกลิ่นที่เป็นเรื่องปัจเจกมาก ๆ แล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คงจะเป็นเนื้อสัมผัสที่เคี้ยวเพลิน กรุบ ๆ ฉ่ำ ๆ ทำให้ครองใจนักกินมากมาย แต่ก็เป็นไปตามหลักสัจธรรมของมนุษย์เรา มีคนรักย่อมต้องมีคนเกลียด (และคนเกลียดมันก็เยอะมากซะด้วย) เนื้อสัมผัสบวกกับรสชาติที่อธิบายเป็นคำพูดยากแบบนี้ ทำเอาหลายคนขนลุกถึงขั้นเบือนหน้าหนี
.
2.ถั่วงอกมีประโยชน์ = เฟคนิวส์ ?
ถึงจะโดนเหยียดหนักมากก็ไม่ได้สะทกสะท้าน ถั่วงอกไม่ได้อยู่แค่ในชามก๋วยเตี๋ยว แต่มันยังเที่ยวไปโผล่อยู่บนแผ่นโปสเตอร์ และอินโฟกราฟิกมากมาย บอกเล่า (ถึงขั้นอวย) เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของมัน ทั้งช่วยลดน้ำหนัก ขับสารพิษ บำรุงสมอง สะเทือนไปถึงวงการความงามอย่างการช่วยชะลอวัยได้ด้วย
.
ถึงขั้นมีเรื่องเล่าว่าในช่วงปีค.ศ. 1700 ปัญหาสำคัญที่กวนใจนักเดินเรือคือ โรคลักปิดลักเปิด ซึ่งเกิดจากการขาดวิตามิน เพราะเหล่านักเดินเรือต้องอยู่กลางทะเลนานหลายปี ไม่มีผลไม้ดี ๆ ให้กิน หนึ่งในอาหารที่กัปตันเจมส์ คุก (James Cook) ภูมิใจนำเสนอ นอกจากเลม่อนแล้ว ก็ยังมีถั่วงอกด้วย มันเป็นพืชที่ปลูกบนเรือได้ เจริญเติบโตง่าย แถมวิตามินสูงปรี๊ด
.
แต่ถ้าเราลองใจเย็น ๆ แล้วมาขบคิดกันสักหน่อย ความมหัศจรรย์เยอะขนาดนี้ มันฟังดู too good to be true รึเปล่า เรื่องจริงหรือขายฝันกันแน่ ?
.
แท้จริงแล้ว ประโยชน์ของถั่วงอกก็มีความจริงอยู่ แต่มันก็เกินจริงไปมากเหมือนกัน ประเด็นแรกคือ มันมีวิตามินจริง แต่ถ้าจะบอกว่ามันคือแหล่งวิตามินซีชั้นเยี่ยม กินแล้วช่วยป้องกันหวัด ก็คงจะเป็นการโฆษณาที่โอเวอร์ เพราะปริมาณที่มีมันน้อยมาก ห่างชั้นกับผลไม้รสเปรี้ยวแบบเทียบไม่ติดฝุ่น
.
ประเด็นถัดมาที่ว่าถั่วงอกช่วยบำรุงสมอง เพราะมีเลซิติน (Lecithin) ก็ยังไม่ได้มีตัวเลขชัดเจนเรื่องปริมาณของเจ้าสารนี้ในถั่วงอก นักวิทยาศาสตร์คาดกันว่ามันมีเพียงกระจิ๋วหลิว ไม่ถึงขั้นจะเคลมตัวเองแบบนี้ได้
.
แล้วถั่วงอกช่วยลดเซลลูไลท์จริงไหม ? ประเด็นนี้ก็ขอบอกว่าอย่าเพิ่งปักใจเชื่อ มันไม่ได้มีความวิเศษวิโสถึงขั้นช่วยลดความอ้วนได้โดยตรง แต่ด้วยความที่มันเป็นพืช ก็ย่อมมีปริมาณแคลลอรีต่ำ ถ้าเรากินถั่วงอกแทนข้าว พลังงานที่ได้รับก็ย่อมน้อยกว่าและก็อาจทำให้น้ำหนักลดลงไปบ้าง
.
ส่วนความสามารถในการขับสารพิษหรือชะลอวัย ก็ยังไม่มีงานวิจัยรองรับ ฉะนั้นถ้าจะกินถั่วงอกเพื่อความฟินส่วนบุคคล อันนี้ก็คงเห็นผลทันใจ แต่ถ้าฝืนกินเพื่อให้มันบำรุงร่างกาย น่าเสียดายที่ต้องบอกว่าอาจจะผิดหวัง
.
3.ถั่วงอกเคยเป็นตัวอันตราย
ใครเกิดในยุค 90 คงจะทันเห็นโฆษณาที่ฉายพร้อมละครหลังข่าว ภาพของ (ผู้หญิงใส่ชุด) ถั่วงอกเต้นได้ พร้อมเนื้อร้องว่า “ขาว ๆ อวบ ๆ แบบนี้ ถามหน่อยเถอะพี่ชอบนักชะม้าา “ ตามมาด้วยคำเตือนจากคุณลุงใส่สูทผูกเนคไท ใบหน้าจริงจัง “อย่าปล่อยให้ถั่วงอกขาว ๆ อวบ ๆ มายั่วยวนคุณนะครับ”
.
แม้โฆษณาจะดูติดตลกเรียกเสียงหัวเราะ แต่ในยุคสมัยนั้นมันถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ถั่วงอกถือเป็นตัวอันตราย เพราะมีผู้ผลิตบางรายนำเอาสารฟอกขาว หรือโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ (Sodiumhydrosulfite) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมย้อมเส้นใยผ้ามาใช้กับถั่วงอก ทำให้มันดูสดใหม่ยั่วน้ำลาย มีสีขาวแบบโอโม่
.
ระบาดหนักถึงขั้นที่สำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องออกมาเตือนภัย
เพราะหากเรารับประทานสารนี้เข้าไปในปริมาณมาก ๆ อาจเกิดการอักเสบของอวัยวะภายในร่างกาย ยิ่งใครที่แพ้ ก็อาจถึงขั้นช็อก และหมดสติได้
.
มันได้ออกทีวีซ้ำ ๆ วันละหลาย ๆ รอบ จึงไม่แปลกที่จะทำให้คนไทยหลอน เรียกได้ว่าขยาดกับการกินถั่วงอกไปเลย นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ถั่วงอกยังคงโดนเหยียด และถูกเหลือทิ้งไว้ในชามมาจนถึงวันนี้
.
อีกความน่ากลัวของถั่วงอกคือ ถั่วงอกดิบ ๆ อาจมีสิ่งที่เรามองไม่เห็นอีกหนึ่งอย่างคือ “เชื้อรา”
ฉะนั้นความอี๋ถั่วงอกของหลายคน ก็อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องความชอบส่วนตัวเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นเพราะถูกฝังหัวให้กลัวมันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร
.
แต่ก็ใช่ว่าถั่วงอกจะอันตรายไปซะหมดจนถึงขั้นต้องหลีกเลี้ยงให้ไกล เพียงเลือกให้ดี ซื้อจากแหล่งที่ปลอดภัยก็สบายใจได้
.
4.ใครเริ่มเอาถั่วงอกใส่ไปในก๋วยเตี๋ยว
ผลสำรวจจากหนุ่มสาวชาวออฟฟิศที่แอบไปถามมา มีเปอร์เซ็นไม่น้อยที่ตอบว่า “ยอมโดนตบหน้า ดีกว่าต้องฝืนกินถั่วงอกในก๋วยเตี๋ยว”
.
แล้วใครเป็นคนต้นคิดเอาถั่วงอกไปใส่ในชามก๋วยเตี๋ยว ? บทความนี้เราจะพาย้อนประวัติศาตร์กลับไปหาตัวต้นเรื่องสักหน่อย มีความเป็นไปได้ว่า เรื่องราวเบื้องหลังของมันย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2485 ซึ่งเป็นปีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในพระนคร
.
ในปีนั้น เกิดน้ำท่วมในกรุงเทพรวมไปถึงจังหวัดรอบข้างด้วย สร้างความเสียหายให้กับพืชสวนไร่นา ตั้งแต่พืชล้มลุกยันไม้ยืนต้น โดยเฉพาะในแถบตลิ่งชัน ทำให้ผักขาดแคลน ราคาพุ่งสูงมาก
.
ถั่วงอกกลายมาเป็นพืชฮีโร่ในวิกฤตนี้นี่เอง เพราะมันปลูกได้แม้ในสภาวะที่น้ำไหลบ่าท่วมกรุง ขึ้นได้ไม่ง้อดิน เมื่อจอมพลป. พิบูลสงครามขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็ได้ส่งเสริมให้คนทำก๋วยเตี๋ยวมากขึ้น แถมยังมีนโยบายให้คนไทยบริโภคโปรตีนด้วย
.
เพราะถั่วงอกเหมาะเจาะ ตอบโจทย์สถานการณ์ในขณะนั้น ทั้งปลูกได้ดี มีโปรตีนเพราะเป็นถั่ว ประกอบกับความมาแรงของก๋วยเตี๋ยว จึงมีการสันนิษฐานกันว่าถั่วงอกกลายมาเป็นส่วนผสมสำคัญในชามก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
.
5.ใครจะงอกไม่งอกก็เอาที่ถูกใจ
สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นทีมงอกหรือไม่งอกก็แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล คำว่าอร่อยของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน จะเขี่ยออกก็คงไม่มีใครว่า แต่อย่าไปอี๋ใส่ชามตรงหน้าใครก็เป็นพอ
.
ที่แน่ ๆ คือถั่วงอกให้ใยอาหาร เป็นแหล่งไฟเบอร์แห่งเมนูเส้น สำหรับแฟนคลับตัวยงของถั่วชนิดนี้ สิ่งสำคัญท่องไว้ให้ขึ้นใจคือ ต้องเลือกที่สะอาดปลอดภัย ระวังถั่วงอกที่หน้าตาดีแต่ไม่จริงใจ (มีเชื่อราและสารฟอกขาว)
.
หรือใครที่ยังอยากเปิดใจให้ส่วนผสมนี้อยู่ อาจจะลองเมนูถั่วงอกอื่น ๆ เช่น ยำถั่วงอก ซุปกิมจิถั่วงอก หรือถั่วงอกผัดไข่แบบไทย ๆ ก็ได้ ควรเป็นถั่วงอกที่ต้มแล้วจะดีที่สุด เพราะถั่วงอกดิบมักแฝงไว้ซึ่งอันตราย ส่วนใครที่ฝืนไม่ไหวใจไม่สู้ ก็ไม่จำเป็นต้องบังคับตัวเองให้ชอบมันก็ได้
.
ที่มา : Wongnai
ถั่วงอก = จอมมารในจานก๋วยเตี๋ยว ใส่ทำไม ถ้าใส่ไปแล้วเสียรสชาติ