ครอบครัวผมกำลังถูกรัฐขังไว้ในบ้านไม่ให้เข้าออก ไร้การช่วยเหลือเยียวยา!

สวัสดีครับ

ครอบครัวผมกำลังถูกรัฐขังไว้ในบ้านไม่ให้เข้าออกและมีหลายบ้านได้รับผลกระทบบ้านเรือนเสียหายจากเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากตอนนี้สำนักงานโยธาเขตทุ่งครุได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนิน "โครงการปรับปรุงท่อระบายน้ำและยกระดับพื้นถนนเดิมให้สูงขึ้น" ในพื้นที่ซอยที่ผมพักอาศัย คือ หมู่บ้านวิเศษสุขนคร ซอยประชาอุทิศ 79 ก่อสร้างตั้งแต่โครางการที่ 8 ช่วงท้าย จนถึง โครางการ 17. โดยสำนักงานโยธาเขตทุ่งครุอ้างถึงปัญหาน้ำท่วมขังในซอย ซึ่งในซอยไม่เคยมีปัญหาดังกล่าวตามที่อ้าง  ตอนนี้โครงการอยู่ขณะก่อสร้าง และไม่อีกไม่นานคงจะเสร็จแล้ว


ปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผม คือ

1. บ้านต่ำกว่าถนน เสี่ยงถูกปิดตาย ไร้ทางเข้าออก:
การยกระดับถนนให้สูงขึ้นกว่าเดิมมาก ทำให้บ้านของผมและเพื่อนบ้านจำนวนนึงอยู่ในระดับต่ำกว่าถนนอย่างมีนัยสำคัญ หากโครงการเสร็จสิ้น จะทำให้ไม่สามารถเปิดประตูหน้าบ้านได้เลย (ชนิดบานสวิงเปิดออก) เนื่องจากประตูจะอยู่ต่ำกว่าระดับถนนใหม่ที่สูงขึ้น เปรียบเสมือนการถูกปิดกั้นทางเข้าออกบ้านโดยสิ้นเชิง
2. เสี่ยงน้ำท่วมขังภายในบ้าน ระบายออกไม่ได้:
เมื่อระดับพื้นบ้านต่ำกว่าถนน หากมีฝนตกหนัก น้ำจากถนนที่สูงกว่ามีแนวโน้มจะไหลบ่าเข้าท่วมภายในบ้าน และเนื่องจากไม่มีทางระบายน้ำออกจากตัวบ้านกลับสู่ถนนได้ตามปกติ จะทำให้น้ำท่วมขัง สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินและสุขอนามัย
3. หน่วยงานรัฐปฏิเสธความรับผิดชอบ ผลักภาระให้ประชาชน:
เมื่อแจ้งปัญหาและขอความช่วยเหลือไปยังสำนักงานโยธาเขตทุ่งครุ ผมกลับได้รับคำตอบที่จะปฏิเสธความช่วยเหลือหรือการเยียวยา โดยสำนักงานโยธาเขตทุ่งครุแจ้งว่า

"โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การปรับปรุงถนนอยู่ในอำนาจหน้าที่ ส่วนที่ดินเอกชนที่ต่ำลง เจ้าของต้องดูแลปรับปรุงเอง"

ซึ่งค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปรับปรุงบ้านให้สามารถใช้งานได้เหมือนเดิมปกติ เช่น การเทพื้นบ้านให้สูงขึ้น หรือทำประตูใหม่ คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 10,000 - 30,000 บาท ถือเป็นภาระที่หนักหนาเกินกำลังสำหรับครอบครัวของผม เพราะปัจจุบันก็ประสบปัญหาทางการเงินอยู่แล้ว เช่น ค่าใช้จ่าย หนี้สิน และคา่เล่าเรียนลูก ของที่เคยขายดีก็เงียบๆไปจนช็อต

การที่รัฐสร้างทำแบบนี้เหมือนเป็นการสร้างปัญหาแล้วผลักภาระค่าแก้ไขให้ประชาชน ไม่ต่างอะไรกับการซ้ำเติมความเดือดร้อน หากประชาชนเช่นผมไม่มีเงินมาแก้ไขได้ ก็เท่ากับว่าครอบคัรวผมจะถูกขังอยู่ในบ้าน ถือเป็นการจำกัดสิทธิในการใช้ที่อยู่อาศัยของตนเอง อีกทั้งการไปกู้แบงค์ก็เป็นเรื่องยากลำบาก เพราะเครดิตเต็ม หากต้องไปกู้นอกระบบอีกครอบครัวผมคงไม่ต้องลำบากในการใช้ชีวิตกว่าเดิมแน่ๆครับ

4. ปัญหาความเสียหายระหว่างการก่อสร้าง:
ผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างโดยขาดความระมัดระวังจนส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินของชาวบ้าน เช่น:
ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ (รถเจาะ) ชิดแนวบ้าน ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนรุนแรง เร่งการทรุดตัวของบ้านที่มีอยู่เดิมให้ทรุดหนักยิ่งขึ้น
ทำให้ประตูรั้วบ้านพังเสียหาย กระเบื้องแตกร้าว และผู้รับเหมาไม่มีการแจ้งกำหนดการทำงานที่ชัดเจนแก่ชาวบ้าน ทำให้ไม่สามารถวางแผนชีวิตประจำวันได้ บางครั้งทำงานเสียงดังถึงช่วงดึก (สี่ห้าทุ่ม) นำรถหรือเครื่องจักรมาจอดทิ้งไว้กีดขวางทางเข้าออกหรือพื้นที่ใช้สอยของชาวบ้าน อยากจะเข้ามาทำตอนไหนก็มา อยากจะหายก็หายไปเฉยๆ หลายครั้งที่ไม่สามารถไปทำธุระตามที่วางแผนไว้

ความพยายามในการแก้ไขปัญหาและการตอบสนองจากหน่วยงาน:
ผมได้พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้:
- สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เขตทุ่งครุ: ได้รับคำตอบที่ไม่น่าพอใจและไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน
- สำนักงานโยธาเขตทุ่งครุ (ผ่าน Traffy Fondue): ได้รับการปฏิเสธความช่วยเหลือ โดยอ้างว่าเป็นโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การปรับปรุงถนนอยู่ในอำนาจหน้าที่ ส่วนที่ดินเอกชนที่ต่ำลง เจ้าของต้องดูแลปรับปรุงเอง พร้อมแนบตัวอย่างคำพิพากษาศาลปกครองในอดีตมาประกอบมาด้วย โดยสาระของคำพิพากษานั้นคร่าวๆว่า

"การสร้างถนนจะกระบต่อผู้อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าว เมื่อเทียบกับประโยชร์ที่ประชาชนได้รับ แม้การก่อสร้างถนนจะทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความลำบากในการเข้าออกที่ดิน แต่ไม่ได้เป็นการสร้างภาระแก่ผู้ฟ้องเกินควร"



ผมได้ศึกษาคำพิพากษาที่ทางสำนักงานโยธาฯ แนบมา พบว่ามีข้อความสำคัญระบุว่า

"แม้การก่อสร้างถนนพิพาทจะทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความลำบากในการเข้าออกที่ดิน แต่ไม่ได้เป็นการสร้างภาระแก่ผู้ฟ้องคดีเกินสมควร"
ซึ่งแตกต่างจากกรณีของพวกเราอย่างสิ้นเชิง

กรณีในคำพิพากษา: ผู้ฟ้องคดีได้รับความ "ลำบาก" แต่ยังคงสามารถใช้ชีวิตประจำวันและเข้าออกที่ดินได้ ศาลจึงเห็นว่ายังไม่เป็น "ภาระเกินสมควร"

กรณีของผมและชาวบ้าน: หากโครงการนี้แล้วเสร็จ จะทำให้ "ไม่สามารถเข้าออกบ้านได้เลย" (เข้าไม่ได้ ออกไม่ได้) ซึ่งถือเป็น "ภาระเกินสมควร" อย่างชัดเจน ผมคิดว่าการที่สำนักงานโยธาเขตทุ่งครุในคำพิพากษานี้มาอ้างไม่น่าจะใช้กับสถานะการณ์ที่ผมกำลังเจออยู่นี้ได้ และผมพอจะสืบค้นคำพิพากษาเก่าๆและได้พบว่ามีคำพิพากษาหลายคำพิพากษาที่สามารถนำมาหักล้างกับคำพิพากษาที่สำนักงานโยธาเขตทุ่งครุนำมาใช้ในครั้งนี้ได้

นอกจากนี้ หลังจากผมแจ้งปัญหาซ้ำไปทาง Traffy Fondue อีกครั้ง ทางสำนักงานโยธาฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาถ่ายรูปลงใน Traffy Foundue (ซึ่งเป็นรูปบ้านที่เคยถมสูงกว่าถนนอยู่แล้ว ไม่ใช่บ้านที่กำลังเดือดร้อน) และยืนยันคำตอบเดิมว่าประชาชนต้องแก้ไขเอง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการมาสำรวจให้ทั่วทุกซอยที่โครงการดำเนินการอยู่

ข้อสังเกตเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสของโครงการ:
ผมมีข้อสังเกตและความกังขาต่อโครงการนี้หลายประการ:

- การอ้างเหตุผลเรื่องน้ำท่วม: โครงการอ้างว่าแก้ปัญหาน้ำท่วมขังระดับเข่า แต่ในความเป็นจริง บริเวณนี้ไม่เคยมีน้ำท่วมสูงถึงขนาดนั้น อย่างมากที่สุดแค่ระดับเลยข้อเท้ามานิดเดียวเมื่อฝนตกหนักมากๆ และลดลงอย่างรวดเร็ว

- การสำรวจพื้นที่ก่อนเริ่มโครงการ: มีข้อสงสัยว่า หน่วยงานได้มีการสำรวจพื้นที่จริงอย่างละเอียดหรือไม่? ภรรยาผมเคยสอบถาม สก. และได้รับรูปถ่ายการสำรวจมา แต่เป็นรูปของซอยโครงการอื่นที่ไม่ใช่บริเวณที่กำลังก่อสร้าง.


(นี่คือภาพที่อ้างว่าซอยที่ผมอาศัยอยู่เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง แต่จริงๆแล้วในรูปไม่ใช่โครงการที่กำลังมีการก่อสร้างนี่เลย)
หากมีการสำรวจอย่างถูกต้องจริง เจ้าหน้าที่ควรจะต้องสังเกตุเห็นปัญหาที่บ้านผู้อยู่อาศัยบางหลังอาจจะต้องอยู่ในระดับต่ำกว่าถนนที่จะเทใหม่ตั้งแต่แรก และเมื่อมีชาวบ้านแจ้งเข้าไป ก็น่าจะควรหาทางเยียวยา ไม่ใช่ดันทุรังโครงการให้เสร็จๆไปโดยไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน


(รูปนี้เป็นพื้นที่ที่โครงการกำลังสร้างอยู่จริง แต่คำกล่าวอ้างด้านข้างไม่เป็นความจริงแทบจะทุกข้อ ถนนไม่ได้ชำรุด ไม่มีใครเลยร้องเรียนอยากได้ท่อระบายน้ำหรือถนนใหม่ เพราะในซอยก็บ่นกันทุกคนที่มาทำท่อระบายน้ำใหม่นี้ มีข้อเดียวที่ถูกครึ่งเดียวที่ว่าซอยต่ำเท่านั้น แต่น้ำไม่ได้ท่วมขัง ฝนตกหนักๆไม่นานก็ลด)

- ขาดการทำประชาพิจารณ์: ไม่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น หรือทำประชาพิจารณ์กับผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ก่อนเริ่มโครงการ ซึ่งขัดต่อหลักปฏิบัติทั่วไปของโครงการรัฐ ทำให้ชาวบ้านไม่มีโอกาสสะท้อนปัญหาหรือข้อกังวลใดๆ

นี่คือวิดิโอปัญหาที่เกิดขึ้นแม้จะยังก่อสร้างไม่เสร็จก็ตาม
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ในวิดีโอนี้จะเห็นได้ว่าผู้หญิงในวิดีโอต้องใช้เท้าเขี่ยพื้นหินกรวดที่เทชั่วคราวที่มีความสูงเกือบเท่ากับขอบท่อระบายน้ำใหม่ที่สูงขึ้นออกก่อนถึงจะเข้าบ้านได้
แม้จะยังไม่ใช่พื้นถนนใหม่จริงที่จะเทในอนาคต ก็เห็นได้ชัดว่า ถ้าเทถนนจริงบ้านจะไม่สามารถเปิดเข้าออกได้โดยสมบูรณ์

ส่วนวิดีโอด้านล่างนี้คืออีกหนึ่งวิดีโอที่ชัดเจน
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

จะเห็นได้ว่า แม้ขอบท่อใหม่จะสูงกว่าประตูไม่มาก แต่การจะซ่อมแซมบ้านให้กลับมาใช้งานได้ปกติ ต้องมีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง ไม่ใช่แค่การยกประตูให้สูงขึ้นแล้วจะจบ ไหนจะปัญหาที่น้ำจากถนนจะไหลย้อนเข้าบ้านจนน้ำขังในบ้าน. ถ้าคนที่มีเงินมีกำลังซ่อมก็อาจจะไม่ถือว่าเป็นเป็นหาหนักหนามากนัก แต่สำหรับชาวบ้านที่ไม่มีเงินในการปรับปรุงซ่อมแซม และรัฐยังซ้ำเติมเข้าไปอีกก็เหมือนกับการผลักเค้าไปตกนรกทั้งเป็น

บทสรุป:
ผมได้พยายามร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง รวมถึงขอความช่วยเหลือไปยัง สก. และ สส. ในพื้นที่แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองหรือความช่วยเหลืออย่างจริงจัง จึงหมดหนทาง ได้โปรดช่วยเป็นกระบอกเสียงในการนำเสนอความทุกข์ร้อนของพวกเราสู่สาธารณะด้วยครับ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาทบทวนและหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาพวกเราอย่างเป็นธรรม ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้

ผมเข้าใจดีว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ ผมและชาวบ้านไม่ได้ขัดขวางการดำเนินการที่ทำอยู่นี้ ผมและชาวบ้านบางท่านแค่อยากได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรมเท่านั้น
บางท่านที่เข้ามาอ่านอาจมองว่าปัญหาแค่เรื่องนิดเดียวเอง แก้ไขใหม่ไปก็จบ แต่สำหรับผมและอาจมีอีกหลายครอบครัวที่มีภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายรายวันที่ท่วมท้นอยู่แล้ว การหาเงินหลายพันถึงหลักหลายหมื่นบาทมาแก้ไขปัญหาที่รัฐก่อขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่เกินกำลังจริงๆครับ

ตอนนี้โครงการใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว และกำลังจะมีการเทพื้นถนนในไม่ช้า หากการเทถนนเกิดขึ้น จะทำให้ผมและบ้านอีกหลายหลังประสบปัญหาเข้าออกไม่ได้อย่างถาวร และการแก้ไขจะยิ่งยากลำบากขึ้นไปอีก

หรือถ้าท่านไหนมีความรู้เรื่องกฎหมายต้องการช่วยเหลือผมจะขอบพระคุณมากครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่