บทความทำไมคนถึงเชื่อว่า... คนข้ามเพศชอบหลอกลวงผู้อื่น โดย อ.ธนินท์ธร อมรวัฒนากรณ์

กระทู้สนทนา

อีกหนึ่งในความเชื่อผิด ๆ ที่ทำร้ายกลุ่มคนข้ามเพศมาอย่างยาวนานนั่นคือ ความเชื่อที่ว่าคนข้ามเพศมักจะหลอกลวงผู้อื่น โดยเฉพาะในเรื่องเพศและการฉ้อโกงทรัพย์ ซึ่งไม่เป็นความจริงและยังก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่มคนข้ามเพศเป็นอย่างมาก ความเชื่อนี้มักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอคติและการเหยียดหยามต่อกลุ่มคนข้ามเพศ นำมาซึ่งการถูกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความเกลียดชังอย่างไม่เป็นธรรม
แน่นอนว่าสาเหตุสำคัญนั้นมีอยู่สองประการด้วยกัน ประการแรกคือสื่อต่าง ๆ ที่มักจะมีการนำเสนอแบบผิด ๆ ว่าคนข้ามเพศนั้นมักจะมีพฤติกรรมหลอกลวงเพื่อประโยชน์ของตน โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับเพศ เช่น ตัวละคร “ใหญ่” จากภาพยนตร์ “ขุนกระบี่ผีระบาด” ที่มักจะปลอมตัวเป็นเพศตรงข้ามอยู่บ่อยๆ ฉากหนึ่งในเรื่องนั้น พระเอกของเรื่องจะได้สานสัมพันธ์ทางเพศกับหลิวที่เป็นนางเอกของเรื่อง ก่อนที่จะมีการเฉลยทีหลังว่าแท้จริงแล้วนั่นคือใหญ่ที่ปลอมตัวมา หรือตัวละคร Kimmy จากเรื่อง The Hangover 2 ที่เป็นคนข้ามเพศ ที่ในเรื่องนั้นได้มีเพศสัมพันธ์กับพระเอกของในขณะที่เขากำลังมึนเมา แม้ว่าจะไม่ใช่การหลอกลวงโดยตรงเพราะตัวละครดังกล่าวก็ได้บอกกับพระเอกตรง ๆ ว่าเป็นคนข้ามเพศ แต่ก็เป็นการฉวยโอกาสเพื่อประโยชน์อยู่ดี บทของตัวละครเหล่านี้เองก็เป็นตัวอย่างที่พอจะชี้ให้เห็นได้ว่าสังคมมองอย่างไรต่อการข้ามเพศ
หรือในบางครั้งที่มีการนำเสนอข่าวที่มีใจความหลักเกี่ยวกับการฉ้อโกงหรือหลอกลวง หากจำเลยในคดีนั้นเป็นคนข้ามเพศก็มักจะได้รับความสนใจจากสื่อเป็นพิเศษ เพราะว่าอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างนั้นสามารถเรียกความสนใจได้มาก ทำให้คนส่วนใหญ่จดจำข่าวเหล่านี้ได้มากกว่าข่าวดีๆ เกี่ยวกับคนข้ามเพศ ทำให้เกิดการตีตราและเหมารวมว่าคนข้ามเพศทุกคนมีพฤติกรรมแบบเดียวกัน โดยมักจะเน้นไปที่การ นำเสนอว่า ผู้ก่อเหตุนั้นเป็นเพศอะไรและเน้นที่เรื่องนั้นบ่อย ๆ เช่น กรณีของนาราเครปกะเทยที่มีประเด็นเกี่ยวกับการฉ้อโกง นอกจากรูปคดีแล้ว สิ่งที่สื่อมักจะนำเสนอต่อมาคือการใช้ชีวิตในเรือนจำของนาราที่ต้องเข้าไปอยู่ใต้กฎเกณฑ์และการถูกปฏิบัติเสมือนว่าเป็นผู้ชายตามเพศกำเนิด
อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญคือ คนข้ามเพศจำนวนมากยังต้องปกปิดตัวตนของตนเองเนื่องจากกลัวที่จะถูกสังคมรังเกียจหรือมองผิดแปลกไป ซึ่งคนภายนอกที่ไม่เข้าใจในด้านนี้เมื่อทราบถึงอัตลักษณ์ดังกล่าวแล้ว จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าคนข้ามเพศเหล่านั้นโกหกเพื่อประโยชน์ของตนเองและนำไปสู่การสร้างเรื่องราวที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับคนข้ามเพศได้
ความเชื่อผิด ๆ นี้ส่งผลกระทบต่อคนข้ามเพศอย่างรุนแรง เพราะเป็นการเหมารวมกลุ่มคนทั้งกลุ่มโดยอาศัยพฤติกรรมของคนเพียงไม่กี่คน ทำให้คนข้ามเพศถูกปฏิเสธและถูกตัดสิทธิในหลาย ๆ ด้าน เช่น การทำงานที่มักจะไม่ได้รับการไว้วางใจจากทั้งผู้จ้างและเพื่อนร่วมงาน หรือการเข้าถึงบริการสาธารณะบางอย่างที่มักจะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ เช่น ห้องน้ำ หอพัก นอกจากนี้ ความเชื่อนี้ยังก่อให้เกิดความกลัวและความไม่ไว้วางใจในหมู่คนทั่วไป ทำให้คนข้ามเพศยากที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นและต้องเผชิญกับความเหงาและความโดดเดี่ยว
แม้ว่าในปัจจุบันแนวโน้มที่สื่อนำเสนอและสร้างภาพลักษณ์ของคนข้างเพศนั้นจะดีขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า การผลิตซ้ำภาพจำต่าง ๆ มีสร้างความเข้าใจผิดยังคงเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยครั้งในสังคมไทย โดยเฉพาะการฉายแสงให้แก่คนข้ามเพศที่ตกเป็นประเด็นสังคมให้เด่นขึ้นจนทำให้ทุกครั้งที่คนข้ามเพศกลายเป็นที่พูดถึง สิ่งที่ผู้คนจดจำก็จะไม่พ้นสิ่งที่สื่อนำเสนอนั่นเอง เพื่อแก้ไขปัญหาความเข้าใจผิดนี้ สังคมควรให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มคนข้ามเพศมากขึ้น สื่อมวลชนควรมีส่วนร่วมในการสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นธรรมและถูกต้องเกี่ยวกับคนข้ามเพศ และสังคมควรเปิดใจรับฟังและเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เมื่อเราเข้าใจและยอมรับความแตกต่างของกันและกัน สังคมของเราจะเป็นสังคมที่เปิดกว้างและมีความสุขมากขึ้น
โดย อ.ธนินท์ธร อมรวัฒนากรณ์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่