ไตเสื่อม ชีวิตเสี่ยง และ เปิดวิธีคุยกับคนซึมเศร้าอย่างเข้าใจ

ไตเสื่อม ชีวิตเสี่ยง รู้ทันโรคก่อนต้องฟอกไตตลอดชีวิต

 

วันไตโลก (World Kidney Day) ถูกกำหนดให้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของไตและแนวทางการป้องกันโรคไต เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นคือ หลายคนไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังป่วย จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งต้องพึ่งพาการฟอกไตหรือรอรับการปลูกถ่ายไตเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป 

นายแพทย์พิชิต เบ็ญจสุพัฒนนันท์อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคไตเป็นภาวะที่ไตทำงานผิดปกติจนไม่สามารถกรองของเสียและของเหลวออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ของเสียสะสมในร่างกาย ที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และภาวะไตวาย 


โรคไตวายแบ่งเป็น 2 ประเภท ไตวายเฉียบพลัน เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด เริ่มจากปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเลย มีอาการบวมที่ขาและเท้าเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มึนงงอ่อนเพลีย นอกจากนี้อาจมีอาการปวดหลังบริเวณชายโครง และหายใจถี่ร่วมด้วย ในกรณีที่อาการรุนแรง อาจชักหรือหมดสติ เข้าสู่ภาวะโคม่าแบบเฉียบพลัน 


ไตวายเรื้อรัง เป็นภาวะที่ไตทำงานลดลงมาเป็นระยะเวลาหลายปีซึ่งแบ่งเป็น 5 ระยะ ดังนี้ ไตวายเรื้อรังระยะที่ 1  ไตยังทำงานได้ตามปกติ แต่พบความผิดปกติบางอย่างเช่น ตรวจพบโปรตีนรั่วในปัสสาวะ หรือพบเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ ไตวายเรื้อรังระยะที่ 2 หรือโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้นซึ่งไตจะทำงานได้ 60-90% ไตวายเรื้อรังระยะที่ 3 หรือโรคไตเรื้อรังระยะปานกลาง ไตจะทำงานได้ 30-60% ไตวายเรื้อรังระยะที่ 4 หรือโรคไตเรื้อรังระยะรุนแรง ไตจะทำงานได้แค่ 15-30% และโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ไตทำงานได้น้อยกว่า 15% ไม่สามารถขับของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น น้ำหนักลดผิดปกติ ปัสสาวะบกพร่อง โลหิตจาง ระบบประสาทผิดปกติ หรือภาวะน้ำท่วมปอด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต 


อาการของโรคไตมักไม่แสดงอาการในระยะแรก เมื่อไตเสื่อมลง อาจมีสัญญาณเตือนสำคัญ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อยขึ้น, ปัสสาวะน้อยลง, มีฟองมากหรือมีเลือดปน อาการบวมที่ขา เท้า หรือใบหน้าเนื่องจากการคั่งของของเหลว คันตามผิวหนังโดยไม่มีสาเหตุ ปวดหลังบริเวณไต รวมถึงอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องพึ่งการฟอกไตหรือปลูกถ่ายไต 


การรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะไม่สามารถรักษาได้ด้วยการคุมอาหารและกินยาเหมือนโรคไตเรื้อรังระยะอื่นๆ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตร่วมด้วย ซึ่งมี 3 วิธี คือ ล้างไตทางช่องท้อง คือการใช้สายยางฝังไว้ในช่องท้องแบบถาวรและใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้อง เพื่อฟอกของเสียในเลือดออก รวมถึงปรับสมดุลของน้ำ เกลือแร่ และสารเคมีต่างๆ โดยต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำยาทุกวัน วันละ 4-6 ครั้ง สามารถทำเองได้ที่บ้าน แต่ต้องทำอย่างถูกวิธีเพื่อลดโอกาสติดเชื้อในช่องท้อง 


ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม คือการนำเลือดของผู้ป่วยออกจากร่างกายด้วยการแทงเข็มเข้าเส้นเลือดแล้วต่อกับท่อไปยังตัวกรองเพื่อให้เลือดสะอาดและปรับสมดุลแร่ธาตุต่างๆ เครื่องไตเทียมจะนำเลือดกลับเข้าสู่ร่างกายตามเดิม โดยกระบวนการฟอกเลือดนี้จะใช้เวลาครั้งละประมาณ
4 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะต้องมารับการฟอกเลือดที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ2-3 ครั้ง 


ปลูกถ่ายไต คือการผ่าตัดนำไตของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคจากผู้ที่เสียชีวิตแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ มาทำหน้าที่แทนไตเดิมของผู้ป่วย โดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานแล้วต่อเข้ากับกระเพาะปัสสาวะและหลอดเลือดของผู้ป่วย ถ้าการผ่าตัดประสบความสำเร็จ ผู้ป่วยจะไม่ต้องบำบัดด้วยการฟอกไตอีกต่อไป แต่จำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิไปตลอดชีวิตเพื่อป้องกันร่างกายต่อต้านไตใหม่ หรือที่เรียกว่าภาวะสลัดไต โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ร่างกายแข็งแรง ไม่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะติดเชื้อและไม่มีโรคหัวใจรุนแรง 


ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายแต่ละรายอาจใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกัน เนื่องจากผู้ป่วยมักมีโรคอื่นร่วมด้วย จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและประเมินจากอายุรแพทย์โรคไต เพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม 


สำหรับการป้องกันโรคไตเรื้อรังสามารถทำได้โดย ควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง, หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเค็มจัด, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และดื่มน้ำให้เพียงพอ นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เป็นเวลานาน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อไตเสื่อมได้ 






อย่าให้คำพูดกลายเป็นยาพิษ เปิดวิธีคุยกับคนซึมเศร้าอย่างเข้าใจ


 คำพูด เปรียบเสมือนยาที่สามารถเยียวยาจิตใจ หรือเป็นยาพิษที่ทำร้ายจิตใจได้ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพราะการเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคำพูดเพียงประโยคเดียว อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเยียวยา หรือตอกย้ำความเจ็บปวดภายในจิตใจของผู้ป่วยให้แย่ลงกว่าเดิม


แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH - Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ป่วย โรคซึมเศร้า มีอาการที่ดีขึ้นและแย่ลงได้ก็คือคำพูดที่เราใช้ในการสื่อสารกับผู้ป่วย การเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกเข้าใจและได้รับการสนับสนุน แต่หากเลือกใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม อาจยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่และโดดเดี่ยวมากขึ้น


ประโยคที่ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีดังนี้

“จะกังวลทำไม ไม่เห็นจะน่าเครียดเลย” :: แต่ละคนมีความคิดความรู้สึก ให้ความสำคัญกับแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน เรื่องเล็กสำหรับเราอาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา


“ไปปฏิบัติธรรมมั้ย” :: วิธีนี้ดีในบางคนที่มีความเชื่อหรือชอบทางนี้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่แนวทางของใครหลายๆ คน แต่ถ้าสนิทสนมหรือรู้จักกันมากพอ และทราบว่าเขาชอบทางนี้อยู่แล้วก็สามารถชักชวนได้


“ไปพบหมอทำไม จะกินยาไปทำไม จัดการที่ใจตัวเองสิ” :: การที่เขาตัดสินใจรับการรักษา นั่นคือเขาไม่สามารถจัดการด้วยตัวเองได้และต้องการความช่วยเหลือแล้ว เราควรถามด้วยคำถามอื่นแทน เช่น การพบแพทย์ทำให้เขารู้สึกอย่างไร หรือการกินยามีผลกับเขาอย่างไร


“หลายคนเค้าแย่กว่าเธอเยอะ” :: เป็นการเอาเขาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ทำให้เกิดความรู้สึกสับสนว่าตัวเขาเองหรือเปล่าที่แย่ เพราะไม่สามารถจัดการตัวเองได้ และอาจทำให้เขารู้สึกไม่ดีกับตัวเอง


“เธอจะไม่เป็นแบบนี้เลย ถ้าตอนนั้นเธอ….” :: เป็นการตัดสินว่าเขาเลือกทางผิด ผู้ป่วยหลายคนมีแนวโน้มจะคิดวนเวียน โทษตัวเอง พยายามคิดหาสาเหตุของปัญหา ซึ่งความคิดลักษณะนี้จะทำให้มีความทุกข์มากขึ้น


“เธอต้องปล่อยวาง ให้อภัย” :: การปล่อยวางไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย คำแนะนำนี้จะยิ่งทำให้เขารู้สึกว่าเราไม่เข้าใจเขา รู้สึกละอายที่ปล่อยวางหรือให้อภัยไม่ได้


“อย่าไปคิดถึงมัน” :: โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะคิดวนเวียน และไม่สามารถหยุดคิดหรือหยุดเศร้าได้ การบอกให้ไม่คิดเป็นสิ่งที่เขาพยายามทำอยู่แต่ทำไม่ได้ ผู้ป่วยจะยิ่งทุกข์มากขึ้น


ประโยคที่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

“อยากคุยเรื่องนี้มั้ย? ฉันพร้อมจะฟังเธอเสมอ” :: แม้ว่าเราจะไม่เข้าใจเรื่องราวนั้น ๆ แต่เราก็สามารถอยู่ตรงนั้นเพื่อให้กำลังใจ ฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ตัดสินว่าสิ่งที่เขาทำผิดหรือถูก ทำให้เขามั่นใจว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวและรู้สึกสบายใจที่จะพูดมันออกมา


“อยากให้ฉันช่วยอะไร” :: เป็นคำถามที่เปิดกว้างให้เขาบอกสิ่งที่ต้องการ บางครั้งเขาอาจไม่ต้องการอะไรเลยนอกจากผู้รับฟังที่ดี ถ้าเขาบอกสิ่งที่ต้องการให้ช่วย พยายามช่วยเขาเท่าที่เราจะทำได้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราแคร์เขา


“พักหน่อยมั้ย” :: ถ้าเขากำลังกังวลมากจนกระสับกระส่ายทำอะไรไม่ถูก ควรช่วยให้เขาเบี่ยงเบนความสนใจไปทำเรื่องง่ายๆ บางอย่างที่สามารถทำให้ทันทีในตอนนั้น


“เราจะอยู่ข้างๆ เธอนะ” :: ย้ำเตือนว่าเราพร้อมจะดูแลเขาเมื่อเขาต้องการ


”เธออยากฟังคำแนะนำของฉันไหม หรือเธออยากเล่ามากกว่า” :: กรณีที่เรามีคำแนะนำบางอย่างแก่เขา ควรให้เขาตัดสินใจเองว่าต้องการสิ่งนั้นหรือไม่ อย่ายัดเยียดสิ่งที่คิดว่าดีให้เขา เพราะคนเราไม่ได้มีความคิดความเชื่อที่เหมือนกัน และถึงแม้จะแนะนำบางอย่างไปแล้ว เขามีสิทธิ์ที่จะทำหรือไม่ทำตาม


“ฉันเอาขนมมาให้เธอนะ” :: หากไม่รู้จะพูดอย่างไรแต่อยากดูแลเขา สามารถดูแลเรื่องอื่นเล็กๆ น้อยๆ ให้เขาสบายตัวมากขึ้นได้ เช่น อาหาร ของว่าง หรือช่วยทำงานบ้าน


“ขอบคุณที่เล่าให้ฉันฟังนะ” :: ถ้าเขาไว้ใจเล่าเรื่องราวให้เราฟัง อย่าลืมที่จะขอบคุณความไว้วางใจที่เขามีให้ ชื่นชมความกล้าของเขาที่จะแบ่งปันสิ่งที่อยู่ในใจกับเรา


ทั้งนี้ การเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมและการรับฟังอย่างจริงใจเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คำพูดที่แสดงถึงความเข้าใจและการไม่ตัดสินจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจและสบายใจในการเปิดใจ เมื่อเราเป็นผู้รับฟังที่ดี ผู้ป่วยจะมีโอกาสฟื้นฟูได้ดีขึ้นและมีพลังใจในการก้าวข้ามความยากลำบากในชีวิตต่อไปได้





แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่