หน้ากากที่โฆษณาว่ากันฝุ่น PM2.5 ได้ สามารถกันได้จริงไหม

ช่วงเดือนก่อนฝุ่นเยอะมาก ก่อนจะซื้อหน้ากากเลยหาข้อมูลดูเพราะอยากได้อันที่กันฝุ่น PM2.5 ได้จริง ในราคาที่ไม่แพงเกินไป
แต่พอไปดูของที่วางขายอยู่ตามช่องทางต่าง ๆ กลับเจอจุดที่ทำให้สงสัยเต็มเลย จะขอไล่เป็นข้อ ๆ ตามนี้
note: คำว่า "กันได้" ส่วนตัวมองว่าหมายถึงสามารถลดความเข้มข้นของฝุ่นลงมาอยู่ในระดับที่เรียกว่าอากาศดีได้ (ประมาณ 12 ug/m3)
note2: หลายเจ้าที่เจอมามีทั้งที่ยอดขายไม่กี่พันไปจนถึงหลักล้าน

1. บอกว่ากันฝุ่น PM2.5 ได้ โดยชูค่า PFE ที่สูงมากมาเป็นตัวโฆษณา
ค่า PFE (Particle Filtration Efficiency) คือค่าที่วัดว่าตัววัสดุที่ทำหน้ากากสามารถกรองอนุภาคได้กี่ % ยิ่งเยอะยิ่งดี
การทดสอบจะเอาวัสดุที่ทำหน้ากากไปใส่ในเครื่องวัดแล้วให้อากาศที่มีอนุภาคทดสอบไหลผ่าน จากนั้นวัดความเข้มข้นอนุภาคในอากาศก่อนกับหลังวัสดุกรองเทียบกัน

ก็ถือว่าไม่ผิด แต่อีกอย่างที่ไม่เคยเห็นใครพูดถึงเลยคือ การจะกันฝุ่นเล็กขนาดนี้ได้หรือไม่นั้น นอกจากตัววัสดุกรองของหน้ากากจะกันได้แล้ว ตัวหน้ากากจะต้องแนบสนิทกับใบหน้าด้วย ไม่อย่างนั้นเวลาหายใจเข้า อากาศที่มีฝุ่นบางส่วนจะไหลอ้อมตัวกรองเข้ามาตามรอยรั่วรอบ ๆ หน้ากากได้อยู่ดี
ค่าที่วัดว่าอนุภาครั่วเข้าเยอะแค่ไหนนี้เรียกว่า TIL (Total Inward Leakage) ซึ่งจะวัดรวมทั้งความสามารถในการกรองฝุ่นของตัวหน้ากาก และความแนบสนิทกับใบหน้า
การทดสอบจะให้ผู้ทดสอบใส่หน้ากากที่เจาะรูต่อท่อกับเครื่องทดสอบ แล้วหายใจเข้าออกตามเวลาที่กำหนด (บางมาตรฐานเวลาทดสอบจะต้องขยับตัวและหัวท่าต่าง ๆ ด้วย) ในห้องที่มีอนุภาคทดสอบลอยอยู่ จากนั้นเครื่องจะวัดความเข้มข้นอนุภาคด้านในกับนอกหน้ากากมาเข้าสูตรคำนวณเทียบกันเป็น % ยิ่งน้อยยิ่งดี
แน่นอนว่าความแนบสนิทนี้ขึ้นอยู่กับรูปทรงหน้าของผู้ทดสอบกับตัวหน้ากาก แต่มาตรฐานต่าง ๆ เวลาทดสอบจะให้เลือกผู้ทดสอบมาจำนวนหนึ่งที่รูปหน้าใกล้เคียงกับประชากรทั้งหมด จึงพอจะมั่นใจได้ระดับหนึ่ง

ปัญหาคือหน้ากากหลายรุ่นที่บอกว่ากันฝุ่น PM2.5 ได้ที่พบมาเป็นทรง surgical mask (หน้ากากอนามัยธรรมดานั่นแหละ) ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องค่า TIL สูงมาก เพราะเวลาใส่แล้วจะรั่วด้านข้างบริเวณแก้ม ถ้าพยายามใส่อย่างดีอาจเหลือแค่ 10-20% แต่ส่วนใหญ่จะอยู่แถว 40-50% มากกว่า
การทำให้อนุภาคฝุ่นที่เราหายใจเข้าลดลงเหลือ 40-50% ถ้าจะเรียกว่า "กันได้" ก็คงได้แหละมั้ง แต่มันดูจะเป็นการ misleading ไปหน่อย
เพราะถ้าเอามาใส่ขำ ๆ ตอนฝุ่น 30 ug/m3 ให้ลดเหลือ 10-15 ug/m3 ก็ยังพอได้อยู่ แต่ถ้าเจอตอนฝุ่น 80-100++ ug/m3 นี้ก็ไม่ไหว
ปกติหน้ากากทรงนี้ก็ถูกจัดอยู่ในประเภท loose fitting อยู่แล้วด้วย

อีกแบบที่เจอคือหน้ากากทรง พับสามทบ / trifold / 3d mask / boat style แล้วแต่จะเรียก เข้าใจว่าน่าจะเอามาจาก KF94 ของเกาหลีอีกที ช่วยแก้ปัญหารอยรั่วด้านข้างของ surgical mask ได้ แต่ใช้เป็นสายคล้องหู ตอนแรกที่เห็นก็คิดว่าแลดูดี เลยลองซื้อมาใส่ดู สรุปแล้วไม่น่ารอด เพราะสายคล้องหูใส่สบายมาก ไม่มีความแน่นเลย
และตรงจมูกใช้ลวดแบบเป็นเส้นลวดเลย (สุดท้ายไปจบที่ N95 ของ 3M ซึ่งใช้อลูมิเนียมเป็นแผ่นกว้างประมาณครึ่งเซน แข็งมาก ดัดแล้วอยู่ทรงเลย)
พอไปหาข้อมูลเพิ่มถึงได้รู้ว่ามาตรฐาน KF94 ไม่ได้เทียบเท่า N95 อันที่เทียบเท่าจริง ๆ คือ Korea 1st Class ซึ่งมักใช้เป็นสายรัดหลังหัว (เดี๋ยวกลับมาพูดถึง) หรือถ้าจะทำให้ KF94 ซีลได้ดีขึ้น อย่างน้อยต้องใช้ตัวเกี่ยวสายไว้หลังหัว หรือมีสายคล้องหูที่ปรับความแน่นได้ ซึ่งไม่เคยเห็นเจ้าไหนทำเลย
source: https://multimedia.3m.com/mws/media/1793278O/3m-anz-2020-respiratory-protection-faq-healthcare.pdf

2. บอกว่าได้มาตรฐานมอก. 2424-2562 หรือใช้คำว่า หน้ากากอนามัยทางการแพทย์
คำว่า "ทางการแพทย์" แค่มีความหมายว่ากันของเหลว พวกเลือดหรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ ซึมผ่าน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการป้องกันฝุ่น PM2.5
ส่วนมอก. 2424-2562 เป็นมาตรฐานของ "หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว" ถ้าเข้าไปอ่านหัวข้อ ขอบข่าย ข้อ 1.2 จะเขียนไว้เลยว่า "ไม่ครอบคลุมถึงอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ : ชนิดกรองอนุภาค (respiratory protective devices : particulate air purifying) ตาม มอก. 2199" ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการ
พอเลื่อนลงไปอ่านคุณลักษณะก็จะเห็นว่ามีแค่การทดสอบประสิทธิภาพการกรองของตัว filter อย่างเดียว ไม่มีพูดถึง TIL
การทดสอบ TIL จะเจอได้ใน มอก. 2199-2547 ข้อ 5.2.1 ความพอดีกับใบหน้า
link เผื่ออยากอ่านเพิ่มเติม
- มอก. 2424-2562: https://bds.sme.go.th/Files/483ae067-8425-46dc-a473-20877b4f99d5.pdf
- มอก. 2199-2547: http://research.rid.go.th/vijais/moa/fulltext/TIS2199-2547.pdf

3. ใช้คำว่า N95 อยู่ในชื่อ แต่ใช้สายคล้องหู และไม่มีเลข TC
N95 เป็นมาตรฐานของอเมริกา หน้ากากที่จะได้มาตรฐานนี้ต้องได้รับการรับรองโดยหน่วยงาน NIOSH
จุดที่สังเกตได้ง่าย ๆ เลยคือต้องมีตรา NIOSH และเลข TC (approval number) เช่น TC 84A-XXXX สกรีนอยู่บนตัวหน้ากาก ซึ่งสามารถเอาไปค้นได้
และแทบทั้งหมดจะใช้สายรัดหลังหัว (headband) มีแค่ไม่กี่รุ่นที่เป็นสายเกี่ยวหู (ear loop) แต่จะต้องมีตัวเกี่ยวสายไว้หลังหัวแบบถอดออกไม่ได้ด้วย ไม่ได้ให้เอาสายมาเกี่ยวหูเวลาใช้ เท่าที่เจอมาเคยเห็นอยู่แค่รุ่นเดียว
หน้ากากที่ได้มาตรฐาน N95 ของจริงจะต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากเพื่อให้แน่ใจว่าของที่ผลิตออกมายังได้มาตรฐานเหมือนตัวอย่างที่ส่งไปทดสอบ
สิ่งที่เจอคือหน้ากากหลายรุ่นใช้คำว่า N95 แต่ยังเป็นสายเกี่ยวหูอยู่เลย และพอดูรูปรีวิวก็ไม่เห็นมีเลข TC โผล่มาให้เห็น
อย่างน้อยถ้าใช้คำว่า เทียบเท่า หรือคำอื่นที่สื่อว่าไม่ได้เป็น N95 ของจริง ยังพอรับได้ แต่การใช้คำตรง ๆ เลยแบบนี้จะทำให้เข้าใจผิดได้
link เพิ่มเติม
- เช็คเลข TC: https://www.cdc.gov/niosh/npptl/topics/respirators/disp_part/n95list1.html
- วิธีเช็ค N95 ปลอม: https://www.cdc.gov/niosh/npptl/usernotices/counterfeitResp.html
- FAQ: https://www.cdc.gov/niosh/npptl/topics/respirators/disp_part/respsource3approval.html

4. ใช้สายคล้องหู
ข้อนี้อาจจะแล้วแต่คน แต่เท่าที่ลองใช้มารู้สึกได้เลยว่าสายคล้องหูรัดแน่นไม่พอ (ถ้ารัดแน่นพอที่หู คงแน่นจนใส่ได้ไม่นาน)
ถ้าแค่ใส่นั่งอยู่เฉย ๆ ยังพอได้อยู่ แต่ทันทีที่ลุกออกไปเดิน หรือขยับตัวแรง ๆ จะรู้สึกเลยว่าหน้ากากเริ่มซีลไม่ค่อยอยู่
และถ้าไปดูหน้ากากที่มีมาตรฐาน N95 เกือบทั้งหมดจะใช้เป็นสายรัดหลังหัว
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แม้แต่หน่วยงาน HSE ของอังกฤษยังออกมาเตือนว่าไม่ควรใช้หน้ากากที่มีสายคล้องหูเป็น tight fitting respirator ถึงแม้ว่าจะได้มาตรฐาน FFP2 ก็ตาม
link
- https://www.hse.gov.uk/safetybulletins/ear-loop-respirators.htm

ส่วนเสริม
อาจไม่เกี่ยวกับด้านบน แต่น่าจะมีประโยชน์เวลาเลือกซื้อ
เท่าที่ทราบเกี่ยวกับมาตรฐานต่าง ๆ
- N95: มาตรฐานของอเมริกา ต้องให้หน่วยงานที่ดูแลทดสอบก่อน และหลังได้รับรองแล้วจะมีการสุ่มตรวจโรงงานและของที่วางขายจริงเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่ายังได้คุณภาพเหมือนตอนแรก
- KF94: มาตรฐานของเกาหลี จัดเป็น public-use respirators
- Korea 1st Class: มาตรฐานของเกาหลี กระบวนการคล้าย N95 จัดเป็น occupational-use / industrial respirator
- KN95: เป็นมาตรฐานของจีน คุณสมบัติต่าง ๆ ใกล้เคียง N95 แต่ไม่ต้องให้หน่วยงานที่ไหนรับรอง ถ้าผู้ผลิตทดสอบเองแล้วคิดว่าได้คุณสมบัติตามมาตรฐานก็ติดตรา KN95 ได้เลย ตอนเลือกซื้ออาจต้องเลือกผู้ผลิตที่มั่นใจได้ระดับหนึ่งด้วย
- P2: มาตรฐานของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
- FFP2: มาตรฐานของยุโรป มีการทดสอบ TIL แต่การทดสอบจะแปลก ๆ หน่อยคือ เขามองว่าหน้ากากแต่ละแบบอาจไม่ได้พอดีกับรูปหน้าของทุกคน ดังนั้นถ้าก่อนเริ่มทดสอบ ให้ผู้ทดสอบลองใส่ดูแล้วรู้สึกว่าหน้ากากไม่พอดี สามารถเปลี่ยนผู้ทดสอบได้เรื่อย ๆ จะไม่เหมือนของอเมริกาที่กำหนดไว้ว่ารูปหน้าของผู้ทดสอบจะใกล้เคียงกับประชากร และห้ามเปลี่ยนคน ถ้าทดสอบไม่ผ่านคือไม่ผ่าน
ตารางเปรียบเทียบ: https://multimedia.3m.com/mws/media/1791500O/comparison-ffp2-kn95-n95-filtering-facepiece-respirator-classes-tb.pdf

จากจุดที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้สงสัยว่าหน้ากากที่กันฝุ่น PM2.5 ได้จริงในวันที่ค่าความเข้นข้นฝุ่นพุ่งเฉียดร้อยหรือเกินร้อย ถ้าไม่นับพวก N95 ของจริงจะมีกี่รุ่น
เพราะมีความจำเป็นต้องออกไปเดินข้างนอกในวันที่ค่าความเข้นข้นฝุ่นเยอะ ๆ แล้วเห็นคนใส่แต่แบบ surgical mask หรือแบบ trifold สายคล้องหูกันเต็มเลย
ถึงจะใส่แค่ surgical mask ธรรมดาก็ยังดีกว่าไม่ใส่อะไรเลย แต่ถ้ารู้ว่ามีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่าในราคาที่ไม่ต่างกันมากก็คงไม่เลือก surgical mask
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่