เสียงสะท้อน SET รื้อคุม “ชอร์ตเซล-Uptick-HFT”

คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บอร์ด ตลท.) เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา ได้มีมติปรับเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการชอร์ตเซล และเกณฑ์กำกับดูแลระบบการส่งคำสั่งซื้อขายที่มีความถี่สูง (High Frequency Trading)

รวมไปถึงการผ่อนปรนบางเกณฑ์ที่เคยบังคับใช้ในปี 2567 (ดูกราฟิก) หวังจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่น เพิ่มสภาพคล่อง และสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดหุ้นไทย ซึ่งหลังจากฟังความคิดเห็น คาดว่าจะเริ่มใช้เกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ช่วงปลายไตรมาส 2/2568

จับตาแรงหนุนวอลุ่มตลาดฟื้น
นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับปรุงเกณฑ์ใหม่ในครั้งนี้มองเป็นปัจจัยบวกอ่อน ๆ เพราะหุ้นที่ถูกชอร์ตเซลจะน้อยลง เหลือแค่หุ้นใหญ่ใน SET100 และเชื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและหนุนวอลุ่มในตลาดหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้นได้ จากในเดือน ม.ค. 2568 ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยเบาบางมากเพียง 3.82 หมื่นล้านบาทต่อวัน (ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาทเกือบทุกวัน)
แต่เดือน ก.พ. 2568 วอลุ่มซื้อขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 4.88 หมื่นล้านบาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 28% เทียบจากเดือนก่อนหน้า (MOM)
“วอลุ่มเดือน ก.พ. กระเตื้องขึ้นจากมีแรงซื้อกลับช่วงตลาดหุ้นไทยตกลงมาก โดยเงินไหลออกจากหุ้น DELTA ย้ายมาซื้อหุ้นใหญ่ตัวอื่น ดังนั้น คงต้องติดตามวอลุ่มต่อไปว่าจะเพิ่มขึ้นมากแค่ไหนในระยะถัดไป”

ลดความผันผวนหุ้น “กลาง-เล็ก”
ทีมวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ว่า มองการปรับเกณฑ์ครั้งนี้ เป็นกลางถึงบวกอ่อน ๆ เพราะ 1.ช่วยลดความผันผวนของหุ้นขนาดกลางและเล็กได้ดีขึ้น โดยปัจจุบันหุ้น Non SET100 มีสัดส่วนราว 20% ของ SET รวมถึงเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อการลงทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กที่มีศักยภาพเติบโตระยะกลางถึงยาว โดยไม่มีความผันผวนระยะสั้นที่มากเกินควร

โดยคาดว่าจะหนุนหุ้นกลุ่ม Non SET100 มีโอกาสถูกเร่งซื้อหุ้นกลับ (Cover Short) โดยปัจจุบันหุ้นที่มีประเด็นหนุนระยะสั้นในกลุ่มดังกล่าว ยังถูกชอร์ตสูงกว่าค่าเฉลี่ย 0.15% ของทุนชำระแล้ว และฝ่ายวิจัยคาดว่าจะเห็นการเร่ง Cover Short แนะนำเก็งกำไรหุ้น อาทิ TTA ที่มียอดชอร์ต 1.04% บวกกับเก็งดัชนีค่าระวางเรือปรับตัวบวกแรง, หุ้น THANI มียอดชอร์ต 0.46% ธุรกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว, หุ้น PSL มียอดชอร์ต 0.38% เก็งดัชนีค่าระวางเรือปรับตัวบวกแรง และหุ้น SNNP มียอดชอร์ต 0.26% ธุรกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

และ 2.หุ้นใหญ่ SET100 หลักเกณฑ์มีความสอดคล้องกับต่างประเทศมากขึ้น ผสานการยกเลิกเกณฑ์ Minimum Resting Time และเลื่อนการใช้ Dynamic Price Band เฟส 2 อีกด้านจะหนุนสภาพคล่องและปริมาณซื้อขายกลับมาเพิ่มสูงขึ้น

มองคนละมุม-แก้ไม่ตรงจุด
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ นักกลยุทธ์ลงทุน กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า เกณฑ์ใหม่ที่ปรับปรุง อาจไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะการให้ชอร์ตเซลเฉพาะหุ้นใน SET100 ในความเป็นจริงนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่ชอร์ตเซลในหุ้น SET100 กันอยู่แล้ว เพราะหุ้น Non SET100 ไม่มีสภาพคล่อง

“วันนี้สิ่งที่นักลงทุนต้องการ คืออยากให้ชอร์ตเซลหายไป แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ คงอยากให้ชอร์ตเซลมีอยู่ เพราะมองว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง ทำให้อาจจะมองกันคนละมุม หรืออาจมองมุมเดียวกัน แต่ความต้องการไม่เหมือนกัน”

ประเด็นถัดมา การกำหนดให้ใช้เกณฑ์ Uptick เฉพาะรายหลักทรัพย์นั้น มองว่าแนวทางนี้ทำได้ แต่ก็เป็นการสะท้อนถึงการนำเกณฑ์ Zero-Plus Tick กลับมาใช้เหมือนเดิม แปลว่าการชอร์ตเซลจะกลับมาเบิกบานแบบเดิม และยิ่งไปยกเลิกเกณฑ์ Minimum Resting Time จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับการส่งคำสั่งซื้อขายแบบ HFT ในการทำชอร์ตเซลในหุ้น SET100 ได้อย่างเบิกบานขึ้นไปอีก ดังนั้นเกณฑ์ Minimum Resting Time ไม่ควรผ่อนคลาย
รวมไปถึงต้องมีความเข้มงวดการขึ้นทะเบียน HFT ให้หนักขึ้นด้วย โดยต้องให้มีการรายงานรายชื่อคนที่ยืมหุ้นจาก NVDR มาชอร์ต

ส่วนเงื่อนไขการให้ใช้เกณฑ์ Uptick กับหุ้นนั้นในวันถัดไป เมื่อราคาหุ้นปรับตัวลงจากวันก่อนหน้ามากกว่า X% ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด และวันถัดมาถ้าไม่เข้าเกณฑ์ก็กลับมาเป็นปกติใช้เกณฑ์ Zero-Plus Tick ได้ มองว่าไม่ควร โดยจะต้องให้ใช้เกณฑ์ Uptick ต่อไปอย่างน้อย ๆ ภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อยับยั้งไว้ตรวจสอบก่อน และไม่ให้ทำลายเซนติเมนต์ตลาดหุ้นไทยด้วย

“เกณฑ์ในการให้อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในวันนี้เป็นตัวตัดสินวันพรุ่งนี้มองว่าไม่ใช่แนวทางที่ดี เพราะอาจเห็นการเลี้ยงไข้ด้วยการกดชอร์ตเซลลงแค่ 2-3% เพื่อไม่ให้ติดเกณฑ์ Uptick และพรุ่งนี้ทำต่อ ดังนั้นคงต้องมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นแบบสะสมภายในสัปดาห์ด้วย เพื่อใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาที่จะใช้หรือไม่ใช้เกณฑ์ Uptick”

เปิดโผเก็งกำไรหุ้น Non SET100
ด้านทีมวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หากเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้จริง จะทำให้หุ้นที่มาร์เก็ตแคปสูงกว่า 7,500 ล้านบาท แต่ไม่อยู่ใน SET100 ถูกตัดออกจากรายชื่อหุ้นที่ให้สามารถยืมชอร์ตเซลได้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นแรงเก็งกำไรจากความคาดหวังในการ Short Covering คล้ายกับรอบการปรับเพิ่มมาร์เก็ตแคปจาก 5,000 ล้านบาท เป็น 7,500 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 1/2567
ซึ่งจากการพิจารณาหุ้นที่มีโอกาสหลุดจากรายชื่อหุ้นชอร์ตเซลและ Valuation ไม่แพง ประกอบกับราคาหุ้นอยู่ในโซนด้านล่าง มีโอกาสฟื้นตัวทางเทคนิคได้
โดยหุ้นที่น่าสนใจสำหรับการเก็งกำไรธีมนี้ ได้แก่ MBK, THCOM, SNNP, PSL, TTA, MASTER, NER, NSL, ONEE, PTG

ฟากทีมวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า การจะเคาะเลิกชอร์ตหุ้นใน Non SET100 มองเป็นโอกาสในการเก็งกำไรระยะสั้น ที่มีปริมาณการขายชอร์ตที่ยังไม่ได้ซื้อคืน ได้แก่ AAI, GFPT, MAJOR, NER, PSL, THANI, TTA, TTW, TVO
สุดท้ายแล้ว การปรับเกณฑ์หลังจากบังคับใช้มาได้ระยะหนึ่ง จะส่งผลในเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป... 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1759533


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่