เปิดประวัติ 4 ร้านก๋วยเตี๋ยวข้างทาง ครองใจคนไทยยาวนานหลายทศวรรษ พบ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” มาทีหลังแต่โตแรงสุด

เปิดประวัติ 4 ร้านก๋วยเตี๋ยวข้างทาง ครองใจคนไทยยาวนานหลายทศวรรษ พบ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” มาทีหลังแต่โตแรงสุด กวาดรายได้ทะลุพันล้านบาท ด้าน “ลูกชิ้นแชมป์-นายฮั้งเพ้ง” ครองตำแหน่งเจ้าพ่อลูกชิ้นเบอร์ 1-ตระกูลนักการเมืองดังจังหวัดระนอง
ไม่ใช่แค่ข้าวราดแกงเท่านั้น แต่ “ก๋วยเตี๋ยว” ก็นับเป็นอาหารจานหลักของคนไทยเช่นกัน เพราะแม้จะได้รับอิทธิพลจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่นานวันเข้าอาหารประเภทเส้นก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารไทยไปโดยปริยาย ได้รับความนิยมแบบที่สามารถหากินได้โดยง่าย ทั้งตามร้านอาหารทั่วไปรวมถึงร้านรถเข็นข้างทางในรูปแบบ “สตรีทฟู้ด” ซึ่งในบรรดาหลายร้อยเจ้าที่เกิดขึ้น มีอยู่ราวๆ 3-4 แห่งที่ประสบความสำเร็จในการขยายร้านแฟรนไชส์ กระจายตัวหลักร้อยถึงหลักพันสาขาทั่วประเทศ

 ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว

“ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” เริ่มจาก “พันธ์รบ กำลา” สวมหมวกพ่อค้าขายบะหมี่ริมทางตั้งแต่ปี 2537 ด้วยจังหวะเวลาที่เหมาะสมทำให้ร้านรถเข็นของพันธ์รบเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขายได้เพียง 2 ปี ก็มีเงินเก็บราวๆ 700,000 บาท แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ “พันธ์รบ” หันหน้าสู่การปลุกปั้นชายสี่บะหมี่เกี๊ยว มาจากความคิดที่อยากจะผลิตเส้นบะหมี่เป็นของตัวเอง เพราะมองว่า ของที่รับมาไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงในเวลาต่อมาชื่อเสียงของร้านบะหมี่ก็เริ่มเป็นที่รู้จักจากการออกรายการทีวี “เกมแก้จน”

ปัจจุบัน “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” รีแบรนด์สู่ “ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น” โดยเจ้าของร้านเคยเล่าถึงเป้าหมายระยะยาวหลังจากนี้ไว้ว่า จะไม่หยุดแค่ร้านบะหมี่รถเข็น ซึ่งนอกจากร้านในเครือแล้ว ชายสี่ฯ ยังเติมพอร์โฟลิโอด้วยการเข้าถือหุ้นใหญ่ในแบรนด์ของคาวของหวานน่าจับตามองอีก 2-3 แห่ง สร้างภาพจำในฐานะเจ้าแห่งสตรีทฟู้ด เพื่อไปให้ถึงเป้าใหญ่อย่างการเข้าตลาดหุ้น และรายได้หลักหมื่นล้าน

 ลูกชิ้นแชมป์-นายฮั้งเพ้ง

แบรนด์ลูกชิ้นที่ตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้งอย่าง “เสี่ยบดินทร์” หรือ “บดินทร์ ฉัตรมาลีรัตน์” โดย “ฮั้งเพ้ง” คือชื่อแรกโดยกำเนิดที่พ่อแม่เป็นคนตั้งให้ ชีวิตวัยเด็กของฮั้งเพ้งหรือเสี่ยบดินทร์ทำมาแล้วทุกอย่าง อะไรหยิบจับแล้วได้เงินเด็กชายฮั้งเพ้งทำหมด กระทั่งวันหนึ่งเขาอยากมีกิจการเป็นของตัวเองจึงคิดกู้เงินนอกระบบเพื่อไปเรียนสูตรทำราดหน้า ผลปรากฏว่า ฮั้งเพ้งเปิดร้านราดหน้าได้สำเร็จ กิจการดำเนินไปได้ด้วยดี แต่สุดท้ายก็มีอันต้องปิดร้านเพราะภรรยาตั้งท้อง ทำให้ไม่มีเวลาดูแลร้านได้อย่างเต็มที่

“ฮั้งเพ้ง” ตัดสินใจไปเรียนทำลูกชิ้นเพื่อเรียนรู้หลักการที่ถูกต้อง พร้อมกับกำเงินอีกก้อนมาซื้อรถเข็นก๋วยเตี๋ยว คราวนี้มาถูกทางเพราะขายได้ไม่นานก็เกิดการบอกต่อแบบปากต่อปาก จนเริ่มมีคนขอซื้อลูกชิ้นไปปิ้งขายบ้าง ใส่ก๋วยเตี๋ยวขายบ้าง ต่อมากิจการค่อยๆ ขยายตัว ทำโรงงาน-ซื้อเครื่องจักรใหม่ วางระบบแฟรนไชส์ แตกหน่อจากลูกชิ้นหมูนายฮั้งเพ้งสู่ลูกชิ้นเนื้อแชมป์ กลายเป็น “บริษัท อุตสาหกรรมแชมป์ จำกัด” ผลิตทั้งลูกชิ้นและขายแฟรนไชส์รถเข็นก๋วยเตี๋ยวจนถึงปัจจุบัน

โกเด้ง-โฮเด้ง

ในบรรดาทุกร้าน “โกเด้ง-โฮเด้ง” ถือกำเนิดขึ้นหลังสุด ตัดสายสะดือและยังคงนั่งแท่นผู้บริหารโดย “เลิศพงศ์ ฉัตรมาลีรัตน์” ชีวิตวัยเด็กของ “เลิศพงศ์” เกิดและโตในครอบครัวชาวสวน มีพี่น้องหลายคน ฐานะทางบ้านไม่สู้ดีนัก แต่ก็สามารถขยับขยายได้จากการสอบติดคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนได้เริ่มทำงานประจำที่แรกในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ดูแลการขายอาหารสัตว์และพันธุ์สัตว์ ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ “CP”

“เลิศพงศ์” จบชีวิตมนุษย์เงินเดือนในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดเป็นหมุดหมายสุดท้าย ก่อนจะตัดสินใจกู้เงินก้อนหลักแสนมาธุรกิจส่วนตัว โดยเลิศพงศ์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตนมาทำธุรกิจรถเข็นก๋วยเตี๋ยวและขายลูกชิ้นเพราะพี่น้องขายลูกชิ้นอยู่แล้ว แต่สุดท้ายบรรดาพี่ๆ น้องๆ ก็เลิกทำไป เป็นตัวของเลิศพงศ์เองที่หันมาหยิบจับ-ปัดฝุ่นใหม่ ด้วยรสชาติและคุณภาพที่ดีทำให้ลูกชิ้นโกเด้ง-โฮเด้งติดตลาด จนมีการก่อตั้งบริษัทอย่างเป็นทางการในปี 2545 และในปี 2547 “บริษัท บิ๊กบอล ฟู้ด จำกัด” ขยายรถเข็นแฟรนไชส์ออกสู่ตลาดทั่วทั้งประเทศ

นำชัย-นายเล้ง

น่าจะเป็นลูกชิ้นเจ้าแรกๆ ในไทย เพราะมีอายุนานกว่า 42 ปีแล้ว สำหรับ “ลูกชิ้นนำชัย-นายเล้ง” ที่มีจุดเริ่มต้นจาก “สมชัย-พาณี จิตต์เที่ยง” พ่อและแม่ของ “ลาภ จิตต์เที่ยง” ทายาทรุ่นที่ 2 ลูกชิ้นนำชัยเป็นลูกชิ้นเนื้อวัวแท้ หลังจากได้รับความนิยมมากขึ้นครอบครัวจิตต์เที่ยงก็ขยายกิจการสู่ลูกชิ้นหมูนายเล้ง หลังจากนั้นก็หันมาทำเส้นบะหมี่ตราหงส์หงส์จนธุรกิจเติบโตไปได้ด้วยดี ขยายสู่แฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยวกระจายทั่วประเทศ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่