ทีมผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบูรณะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลาที่เสียหายหนักจากน้ำท่วมใหญ่ปีที่แล้ว


“รมว.สุดาวรรณ” นำทีมผู้บริหารวธ.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบูรณะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลาที่เสียหายหนักจากน้ำท่วมใหญ่ปีที่แล้ว  กำชับอนุรักษ์รูปแบบโบราณสถานชาติ เร่งซ่อมแซมหลังคา สร้างห้องน้ำเพิ่มรองรับผู้เข้าชมทุกกลุ่ม  คาดแล้วเสร็จใกล้เคียงแผนงาน  ตั้งเป้าเปิดให้บริการได้บางส่วนปีนี้  ชูอนาคตเป็น “พิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน”  ดึงนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย-ต่างชาติมาเที่ยวชม  สร้างรายได้แก่ชุมชน-ประเทศ 


เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการซ่อมแซมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา” ในโอกาสการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2568  ณ จังหวัดสงขลา  โดยมีนายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เข้าร่วม ณ  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา  ตำบลบ่อยาง  อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา 
 
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2421  สมัยรัชกาลที่ 5 และเมื่อปี พ.ศ. 2516 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และดำเนินการบูรณะ แต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม  พ.ศ.2567  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งนี้ได้รับผลกระทบที่เกิดจากฝนตกหนัก  มีน้ำท่วมขัง ทำให้อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา  มีสภาพชำรุด กระเบื้องหลังคาแตกชำรุดน้ำฝนรั่วบริเวณหลังคา ไม้ฝ้าเพดานเปื่อย ผนังปูนมีรอยแตกร้าว ซุ้มประตูและกำแพง เหล็กขึ้นสนิมและสีหลุดร่อน ผนังปูนแตกร้าว ไฟฟ้าสนามและไฟส่องอาคารชำรุดเสียหายทั้งหมด นอกจากนี้ ห้องน้ำมีสภาพชำรุดทรุดโทรม และไม่เพียงพอต่อการให้บริการนักท่องเที่ยวและกลุ่มผู้ใช้บริการ เช่น กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ เนื่องจากห้องน้ำมีจำนวนน้อยและไม่มีห้องน้ำสำหรับผู้พิการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเด็นการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการซ่อมแซมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา”
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม  กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อติดตามข้อสั่งการที่ได้ให้กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 11  สงขลา เร่งดำเนินการซ่อมแซมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเป็นการเร่งด่วน  ซึ่งได้รับรายงานจากอธิบดีกรมศิลปากรว่า  ที่ผ่านมาวธ.โดยกรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการบูรณะอาคารจัดแสดง และปรับปรุงภูมิทัศน์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ได้แก่ 1. บูรณะอาคาร 2.บูรณะซุ้มประตู กำแพงรั้ว 3.ก่อสร้างห้องน้ำ  4.ปรับปรุงระบบไฟฟ้า 5. ติดตั้งระบบกล้อง CCTV และ 6.ปรับภูมิทัศน์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา  ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการบูรณะซ่อมแซม  แต่การดำเนินการมีความล่าช้าออกไปบ้างจากแผนงานที่กำหนดเอาไว้  เนื่องจากช่วงปลายปีที่แล้วมีฝนตกค่อนข้างชุก อีกทั้งสภาพอาคารพิพิธภัณฑ์มีความเก่าแก่  หลังคาชำรุดเสียหายมากและต้องปรับปรุงเพิ่มเติมหลายส่วน เช่น ห้องน้ำที่มีจำนวนน้อยและคับแคบ จึงดำเนินการก่อสร้างห้องน้ำให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นและขนาดห้องกว้างขวางมากขึ้น เพื่อรองรับผู้เข้ามาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทุกกลุ่มทั้งเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการให้ได้รับการอำนวยความสะดวกมากที่สุดและใช้บริการได้มากขึ้น  
 
 “เท่าที่ได้หารือกับอธิบดีกรมศิลปากรและผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11  สงขลาได้รับรายงานว่า ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการบูรณะปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เพื่อให้แล้วเสร็จทันเวลาตามแผนงานที่กำหนดไว้   ดิฉันจึงได้กำชับให้การบูรณะปรับปรุง  ขอให้คงรูปแบบเดิมของอาคารไว้ให้มากที่สุด เพื่อคงสภาพความเป็นโบราณสถานของชาติ  รักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วประเทศและส่งเสริมให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับการอนุรักษ์ดูแลอย่างต่อเนื่อง ทำให้สภาพอาคารและภูมิทัศน์โดยรอบมีความสวยงาม เหมาะสมกับความเป็นโบราณสถานของชาติ  อย่างไรก็ตาม จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่า จะดำเนินการซ่อมแซมแล้วเสร็จใกล้เคียงตามเวลาที่กำหนดไว้โดยตั้งเป้าหมายจะทยอยเปิดให้เข้าชมบางส่วนในปีนี้  จะต้องของบประมาณเพิ่มเติมในการบูรณะปรับปรุงและดูแลในปีถัดไป  ที่สำคัญกรมศิลปากรตั้งเป้าหมายพัฒนาให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดสงขลาให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติมาเที่ยวชมและศึกษาเรียนรู้    ก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาและประเทศ” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว 
 
ทั้งนี้  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เดิมเป็นคฤหาสน์ของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2421 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5   โดยแรกเริ่มเป็นคฤหาสน์ของสายตระกูล ณ สงขลา ต่อมาเป็นสถานที่ของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเป็นศาลากลางจังหวัดสงขลาก่อนจะย้ายไปสร้างที่ใหม่และเมื่อ พ.ศ. 2516  กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานด้วยคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และศิลปกรรมที่สวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แบบจีนผสมยุโรป  ต่อมากรมศิลปากรเริ่มดำเนินการบูรณะเพื่อเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10  เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2525



พาพันอาบน้ำพาพันรดน้ำต้นไม้พาพันปั่นจักรยาน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่