Open Theme ของ The White Lotus เล่าผ่าน “จิตรกรรมไทย” ไว้อย่างไร ????

วันนี้ The White Lotus Season 3 ฉายแล้วทาง Streaming ที่ Max
.
อีกหนึ่งซี่รี่ส์น้ำดีจาก HBO ที่ชื่อเรื่องอาจไม่คุ้นหูคนไทยนัก แต่ใน Season 3 นี้ อาจจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะมีเนื้อหาที่ประเทศไทยเป็นหลัก แถมยังมีนักแสดงไทยร่วมเล่นด้วยหลายคน โดยเฉพาะ LISA ที่น่าจะเรียกกระแสให้ผู้ชมบ้านเราได้มากอยู่
.
ทว่าสิ่งที่ดึงดูดความสนใจเราที่สุด คือ Opening Theme
.
The White Lotus ใน Season ก่อนหน้า ใช้ดนตรีประกอบที่มี Theme ร่วมกันค่อนข้างชัดเจน โดยนักประพันธ์ Cristobal Tapia de Veer เลือกใช้เสียงที่เหมือนกับ Choir และ Acapella สร้างเสียงที่ชวนให้ความรู้สึก Anxiety ก่อนจะปรับทำนองของเพลงให้เข้ากับบรรยากาศของแต่ละซีซันที่ต่างออกไป (ส่วน Season 3 ทำสิ่งที่ต่างออกไปอีก เป็นอย่างไรก็ลองไปฟังดูได้)
.
โดยที่ภาพประกอบ Opening Theme สำหรับแต่ละซีซันก็จะมีสัญญะซ่อนไว้ ให้ตีความกันได้สนุกสนาน ภาพประกอบ Opening Theme Season 3 ก็เช่นกัน
.
เมื่อ The White Lotus Season 3 มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทย เราเลยอยากรู้ว่า Opening Theme มันจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร กลับกลายเป็นว่า ทีมสร้างเลือกจะไม่ฉายภาพประเทศไทยด้วยสถานที่ต่างๆ ผ่านสายตาแบบนักท่องเที่ยวที่ทุกคนคุ้นเคยกัน แต่เลือกเล่าผ่าน “จิตรกรรมไทย” แทน
.
และไม่ใช่จิตรกรรมไทยทั่วไป แต่เป็นจิตรกรรมที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ นั่นคือ จิตรกรรมวัดสุวรรณาราม บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
.
จิตรกรรมที่วัดแห่งนี้วาดขึ้นโดยครูช่างสองท่านซึ่งมีชื่อเสียงอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้แก่ หลวงวิจิตรเจษฎา (ครูทองอยู่) และหลวงเสนีบริรักษ์ (ครูคงแป๊ะ) ซึ่งต่างฝากผลงานไว้ในงานจิตรกรรมทศชาติชาดกที่วัดแห่งนี้ คือ เนมิราชชาดก และมโหสถชาดก ตามลำดับ
.
ขณะที่หน้าจอค่อยๆ ปรากฎชื่อนักแสดงแต่ละคน ภาพประกอบที่มาพร้อมกันนั้น คือจิตรกรรมคนและสัตว์ในอิริยาบถต่างๆ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้มักซุกซ่อนอยู่ตามฉากหลักของภาพ ที่เป็นการเล่าเรื่องเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาอยู่เสมอ
.
ในงานจิตรกรรมไทย ภาพคนและสัตว์ที่ดูไม่สำคัญเหล่านี้ เราเรียกกันว่า "ภาพกาก"
.
ซึ่งภาพเหล่านั้นหาได้เป็นภาพดูหมิ่นพุทธศาสนาแต่อย่างใด หากแต่เป็นภาพสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น ตามแต่ช่างจะวาดเขียนไว้ กลายเป็นองค์ประกอบเล็กๆ ที่เสริมเติมแต่งให้จิตรกรรมมีความสมบูรณ์มากขึ้น หรือแม้กระทั่งเป็นหลักฐานสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของผู้คนและสังคมในยุคสมัยนั้นได้อีกทางหนึ่ง
.
แต่ในมุมมองของซีรี่ส์ ความรู้สึกที่เราเห็นภาพกากเหล่านี้กลับต่างออกไป
เราสัมผัสถึงความลึกลับ สงสัย หวาดหวั่น พรั่นพรึง ไปจนถึงน่ากลัว ผ่านตัวละครต่างๆ ในจิตรกรรม ราวกับว่าทุกการกระทำของพวกเขานั้นเป็นความลับ ไม่ให้แพร่งพรายเป็นที่รับรู้ แม้ว่าในภาพใหญ่ ตัวละครเหล่านี้จะอยู่ท่ามกลางความโอ่อ่า สวยงาม อลังการ ของฉากเหตุการณ์สำคัญทางศาสนาก็ตาม
.
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อนำภาพในซี่รี่ส์กับของจริงมาเทียบกัน เราพบว่าภาพประกอบที่ใช้ในซีรี่ส์มีการ “ย้าย” ตำแหน่งภาพคนและสัตว์หลายจุด หรือ "สร้างภาพ" องค์ประกอบบางอย่างในภาพ ให้มีความแตกต่างไปจากจิตรกรรมตัวดั้งเดิมไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนี่อาจจะเป็นการบอกใบ้ถึงการหลอกลวงบางอย่าง ว่าสิ่งที่เห็นนั้น หากเพ่งมองพินิจดูดีๆ แล้ว อาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด
.
ในฉากจบก่อนขึ้น Title ของซีรี่ส์ ทีมงานเลือกใช้ภาพจิตรกรรม “เนมิราชชาดก” ผลงานชิ้นเอกของครูทองอยู่ ที่ค่อยๆ เปิดเผยออกจากม่านที่สร้างขึ้นจาก “เส้นฮ่อ” เส้นแบ่งภาพที่มีความอ่อนพลิ้ว สำหรับแบ่งฉากภาพต่างๆ ซึ่งเป็นเทคนิคที่หาได้ยากในงานจิตรกรรมไทย ประหนึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนใจกลางเรื่องราวของซีซันนี้
.
ซึ่ง เนมิราชชาดก คือเรื่องราวของกษัตริย์ออกบวชแล้วเกิดเป็นพรหม ก่อนจะกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งเพื่อต้องรักษาวงศ์บรรพชิตของตระกูลไว้ โดยเดินทางท่องไปยังทั้งสวรรค์และนรก เพื่อนำเรื่องราวมาเล่าให้แก่มนุษย์ฟังถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษที่เราต้องเผชิญจากกรรมของตน
.
เช่นเดียวกับที่เรากำลังจะได้รับรู้ถึง(ชะตา)กรรม ของแขกชุดใหม่ ที่มาเข้าพักยังโรงแรม The White Lotus แห่งนี้ ว่าการเดินทางพักผ่อนของพวกเขาในครั้งนี้ จะเป็นการเดินทางไปสู่สวรรค์หรือนรกกันแน่
.
.
SS1 Opening Theme : 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
SS2 Opening Theme : 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
SS3 Opening Theme : 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ภาพบน : The White Lotus SS 3 Opening Theme by HBO
ภาพล่าง : ภาพจิตรกรรมเนมิราชชาดก วัดสุวรรณาราม กรุงเทพมหานคร

เครดิต 
https://www.facebook.com/share/p/1DrwWb1Ai4/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่