อินเดียซื้อ F-35 รอดกำแพงภาษี



หากไม่อยากโดนภาษี ทรัมป์ขายโมดี ‘เครื่องบิน F-35’ ราคาแค่ 2,700 ล้านบาท/ลำ

โมดี-ทรัมป์พบกันที่ทำเนียบขาว โดยตั้งเป้าหมายการค้าร่วมที่ 5 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 ขณะเดียวกันสหรัฐเสนอขายเครื่องบินขับไล่ F-35 ให้แก่อินเดีย ซึ่งท้าทายความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของอินเดียกับรัสเซีย

ในระหว่างที่ “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้เข้าพบกับประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” แห่งสหรัฐที่ทำเนียบขาว เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการค้าจากทรัมป์และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน

โมดี ได้กล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับทรัมป์ว่า “อินเดียและสหรัฐจะร่วมมือกัน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากกว่า 2 เท่าเป็น 500,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2030”

“อินเดียและสหรัฐ จะร่วมมือกันในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเซมิคอนดักเตอร์ พร้อมกับมุ่งเน้นการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งสำหรับแร่ธาตุเชิงกลยุทธ์”

โมดียังกล่าวอีกว่า “ทีมงานของเราจะทำงานร่วมกัน เพื่อสรุปข้อตกลงทางการค้าที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในเร็วๆ นี้”

ด้านประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า “ในการประชุมวันนี้ ผมและท่านนายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐ อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาสันติภาพ ความมั่นคง และความรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”

ในขณะเดียวกัน ทรัมป์ได้เสนอโครงการขาย “เครื่องบินขับไล่ล่องหน F-35” ให้กับโมดีด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่ใหญ่ขึ้นในการกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่าง 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเครื่องบินรบชนิดนี้มีราคาอยู่ที่ลำละ 80 ล้านดอลลาร์หรือราว 2,700 ล้านบาท

“สหรัฐจะเพิ่มการขายยุทโธปกรณ์ทางทหารให้แก่อินเดียเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์” ทรัมป์กล่าวในการแถลงข่าวร่วมที่ทำเนียบขาวร่วมกับโมดี

“เรากำลังปูทางเพื่อที่จะสามารถส่งมอบเครื่องบินขับไล่ F-35 ให้แก่อินเดียในอนาคต” ประธานาธิบดีสหรัฐกล่าว

อย่างไรก็ตาม การที่โมดีจะซื้อเครื่องบินรบจากสหรัฐนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากอินเดียเป็นลูกค้ารายใหญ่ด้านอาวุธของรัสเซีย และอินเดียมีความสัมพันธ์ด้านกลาโหมกับรัสเซียที่แน่นแฟ้นอยู่แล้ว

อีกทั้งก่อนหน้านั้นในยุคไบเดน สหรัฐก็ลังเลใจที่จะขายเครื่องบินรบ F-35 ให้กับประเทศที่อาจทำให้เทคโนโลยีสหรัฐตกไปอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้าม เช่น กรณีสหรัฐยกเลิกโครงการร่วมผลิต F-35 กับตุรกี หลังจากที่ตุรกีตัดสินใจซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ของรัสเซีย เนื่องจากอเมริกากังวลว่า รัสเซียอาจได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเทคโนโลยีของเครื่องบินรบรุ่นนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐยอมรับการขายโดรนโจมตี ขีปนาวุธเฮลไฟร์ และระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์มูลค่าประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ให้กับอินเดีย

สำหรับการค้าร่วมระหว่างสหรัฐกับอินเดียมีมูลค่าประมาณ 129,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2024 ตามข้อมูลจากสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐ โดยยอดเกินดุลการค้าของอินเดียกับสหรัฐ ซึ่งเป็นพันธมิตรการค้ารายที่สามของอินเดีย อยู่ที่ 45,700 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว

ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวเกี่ยวกับการขาดดุลการค้ากับอินเดียว่า สามารถแก้ไขได้ด้วยการขายน้ำมันและก๊าซ

“เป้าหมายสูงสู่การค้ามูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์อาจเป็นไปได้” รากูรัม ราจัน ศาสตราจารย์ด้านการเงินจากโรงเรียนธุรกิจ Booth ของมหาวิทยาลัยชิคาโก และอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดียกล่าว

ราจันให้เหตุผลว่า อินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์การทหารรายใหญ่ที่สุดในโลก อาจเสนอตัวที่จะเปลี่ยนการนำเข้าจาก “รัสเซีย” ไปเป็น “สหรัฐ” แทน และเพิ่มการซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวจากผู้ผลิตชาวอเมริกันด้วย

“ตอนนี้เราคือประเทศที่มีการตอบแทนกัน เราจะเรียกเก็บภาษีตามที่อินเดียเรียกเก็บจากเรา ดังนั้นนี่เรียกว่า การตอบแทน ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิธีที่ยุติธรรมมาก” ประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวในการแถลงข่าว

Cr.กรุงเทพธุรกิจ #InsightForOpportunities #กรุงเทพธุรกิจGeopolitics

ขณะที่ไทยไปตกลงกับจีน

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่