ปูซาน เกาหลี อาจสิ้นชื่อ กลายเป็น “เมืองร้าง” คนรุ่นใหม่แห่ทิ้งบ้าน



“เกาหลีใต้” เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังเผชิญ "วิกฤติประชากร" หดตัวอย่างรุนแรง โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2023 พบว่า อัตราเกิดใหม่ยังลดลงอย่างต่อเนื่องที่ 7.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 229,970 คน ทั้งนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในปี 2044 เกาหลีจะเหลือคนวัยทำงานเพียง 10 ล้านคน และเหลือประชากรเพียง 36 ล้านคนในปี 2072 จากปัจจุบันที่ 51 ล้านคน

ปัญหาผู้สูงอายุล้นเมือง ประกอบกับความเจริญที่กระจุกตัวในเมืองหลวงอย่าง “โซล” กำลังขยายเป็นวงกว้าง ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “ปูซาน” เมืองที่ใหญ่อันดับสอง ซึ่งอยู่ในจังหวัดคย็องซังใต้ ซึ่งในอดีตเป็นเมืองท่าที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกาหลีใต้ แต่ปัจจุบันกำลังเสี่ยงที่จะสิ้นชื่อ เนื่องจากคนรุ่นใหม่แห่อพยพออกจากเมืองไปหางานทำเงินเดือนสูงในเขตเมือง
สอดคล้องกับผลสำรวจภาวะสังคมเมืองปูซาน ประจำปี 2024 ซึ่งพบว่า 20.3% ของประชากรอายุระหว่าง 15-39 ปี มีแผนที่จะย้ายออกจากเมือง ปัจจุบันประชากรในปูซานมีจำนวนอยู่ที่ 3.3 ล้านคน ลดลงจาก 3.88 ล้านคนในปี 1995 และคาดว่าจะลดลงอีก 33.57% ในอีก 30 ปีข้างหน้า
ตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 ปูซานเป็นเมืองแห่งศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรมที่เจริญอย่างมาก นับตั้งแต่ปี 1990 - 1999 เศรษฐกิจปูซานก็ถดถอยลง โดยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมเก่าไปสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง

ปัจจุบันปูซานจึงหันมาพึ่ง "การท่องเที่ยว" เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้จะใช้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยว ผลักดันเมืองให้เป็นจุดหมายการจัดอีเว้นท์ระดับประเทศ แต่แค่รายได้จากนักท่องเที่ยวนั้นไม่เพียงพอที่จะรั้งให้คนรุ่นใหม่ยอมทำงานในบ้านเกิดตัวเอง เนื่องจากปูซานยังมีปัญหาโครงสร้าง 3 ด้านหลักๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างตัวของคนรุ่นใหม่ ได้แก่
 
ค่าแรงขั้นต่ำในภาคบริการยังถูกมากเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในเขตเมือง โดยเฉพาะโซลที่เต็มไปด้วยโอกาสและการแข่งขันที่สูงจากธุรกิจในอุตสาหกรรมเกิดใหม่อย่างเทคโนโลยี การเงิน และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่าง K-POP ที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก
โครงสร้างพื้นฐานเมืองที่ไม่เอื้อต่อการเติบโต โดยเฉพาะคุณภาพของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ยังห่างชั้นกับเมืองหลวงอย่าง “โซล” ซึ่งเต็มไปด้วยศูนย์ความรู้ทางวิชาการและศิลปะ พร้อมทั้งสาธารณูปโภคและความบันเทิงที่ครบวงจร ซึ่งคนรุ่นใหม่มองว่าตอบสนองกับทักษะ การศึกษา และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตมากกว่า

ราคาที่อยู่อาศัยแพงเกินเอื้อม แม้การท่องเที่ยวจะเป็นแกนหลักหล่อเลี้ยงชีวิตคนปูซาน แต่การเข้ามาของนักท่องเที่ยวผลักดันให้ราคาที่อยู่อาศัยแพงขึ้น เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยระยะสั้นที่เพิ่มขึ้น ราคาบ้านที่แพงขึ้นเรื่อยๆ จนเอื้อมไม่ไหว ทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากจำใจต้องหาที่อยู่ในเมืองอื่นที่ค่าครองชีพถูกกว่า จึงมีบ้านว่างเหลือขายจำนวนมาก ทั้งนี้การที่รัฐบาลท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าชุมชน ยังสร้างความไม่พอใจให้กับคนในท้องถิ่น

การที่ปูซานไม่สามารถตอบรับความทะเยอทะยานของคนรุ่นใหม่ที่หวังจะยกระดับคุณภาพชีวิตจากอาชีพที่มั่นคงได้ ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจจากบ้านเกิดไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมือง เหลือไว้แต่ผู้สูงวัยที่ประกอบอาชีพอิสระ สอดคล้องกับผลสำรวจภาวะสังคมที่พบว่า “การหางาน การจ้างงาน และงาน” เป็นเหตุผลหลักในการย้ายถิ่นฐาน โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 14.7% ระบุว่าปูซานขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาที่ดี
ทั้งนี้ปรากฏการณ์ “เมืองร้าง” ในต่างจังหวัด เด็กเกิดน้อย คนรุ่นใหม่ย้ายถิ่นฐานไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับปูซานเท่านั้น แต่ยังขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดอื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่เมืองหลวงอย่าง “โซล” ที่คนหนุ่มสาวไม่นิยมมีลูก ซึ่งเป็นการแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านแรงกดดันของสังคมที่ “คลั่งความสำเร็จ” เพื่อแสวงหาการยอมรับที่ไม่มีที่สิ้นสุด

cr thairath
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่