JJNY : จำนวนนายพลสหรัฐฯ ‘ไม่ลับ’แบบไทย│พล.ต.อ.เอกชี้แก้ปัญหาตำรวจ│วิกฤต 3 บีบ “ทรัมป์ 2.0”│จีนฮึ่ม! มะกันแล่นผ่านช่องแคบ

จำนวนนายพลในสหรัฐฯ เรื่อง ‘ไม่ลับ’ แบบไทย
https://thestandard.co/us-thailand-military-generals-comparison/
 
 
จากกรณีคณะกรรมาธิการการทหารทำหนังสือขอทราบจำนวนนายพลตามเหล่าทัพต่างๆ ของกองทัพ ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมตอบกลับว่าเป็นข้อมูล ‘ลับมาก’ จึงให้ไม่ได้ เพราะหวั่นกระทบความมั่นคงและอาจสร้างความเสียหายแก่ประโยชน์แห่งรัฐอย่างร้ายแรง
 
เราจึงลองค้นหาข้อมูลจำนวนนายพลของประเทศอื่นดูว่า ข้อมูลเหล่านี้ ‘ลับ’ มากแค่ไหน ปรากฏว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ความลับแต่อย่างใด แถมเป็นข้อมูลสาธารณะที่ทั่วโลกเข้าถึงได้ รวมถึงของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทหารอันดับ 1 ของโลก
 
กองทัพสหรัฐอเมริกามีจำนวนนายพลเท่าไร
 
จากข้อมูลพบว่า ณ ตอนนี้สหรัฐฯ มีนายพล 4 ดาวหรือพลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอกอยู่ทั้งหมด 41 คน โดยอยู่ในคณะเสนาธิการร่วม 2 คน อยู่ในกองบัญชาการร่วม 11 คน อยู่ในหน่วย National Guards และกองทัพสหรัฐฯในเกาหลี 2 คน อยู่ในกองทัพบก 7 คน อยู่ในหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ 2 คน อยู่ในกองทัพเรือ 6 คน อยู่ในกองทัพอากาศ 8 คน อยู่ในกองทัพอวกาศ 2 คน และไปประจำอยู่ที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิอีก 1 คน และยังมีอีกบางตำแหน่งที่ยังว่างอยู่ ซึ่งทั้งหมดนี้หารายชื่อได้จากเว็บไซต์ของกองทัพ หรือแหล่งอื่นๆ รวมถึงในวิกิพีเดีย ซึ่งข้อมูลตรงกันและมีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ
 
นอกจากนี้ยังมีกองทัพชั้นนำของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงสหราชอาณาจักรและจีนที่หาข้อมูลทั้งจำนวนและชื่อของนายพลได้จากวิกิพีเดีย
 
เป็นเรื่องแปลกที่ประเทศเหล่านี้ไม่ถือเป็นความลับเหมือนกับกองทัพไทย ซึ่งเพิ่งกำหนดว่าข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนนายพลเป็นความลับ แถมจัดระดับเป็น ‘ลับมาก’ ด้วย คือถ้าเปิดเผยแม้ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนอาจจะกระทบต่อประโยชน์ของรัฐได้
 
จะว่าไปเรื่องจำนวนนายพล โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นกองทัพอันดับหนึ่งของโลกนั้นมีการกำหนดกฎเกณฑ์หลายๆ อย่างที่ตายตัวและชัดเจน โดยนอกจากการเลื่อนตำแหน่งสำคัญๆ ของนายพลจะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนเพื่อรับประกันหลักการที่พลเรือนต้องมีอำนาจเหนือทหารแล้ว ประมวลกฎหมายของสหรัฐฯ (United States Code) ยังกำหนดให้มีจำนวนนายพลไม่เกินที่ระบุไว้คือ 653 คน โดยแยกเป็นเหล่าดังนี้
 
• กองทัพบก 231 คน
• กองทัพเรือ 162 คน
• กองทัพอากาศ 198 คน
• หน่วยนาวิกโยธิน 62 คน
 
นอกจากนั้นยังกำหนดลงไปว่าจำนวนของนายพล 3 ดาวและ 4 ดาว หรือหมายถึงนายพลตั้งแต่พลโท / พลเรือโท / พลอากาศโท มีได้ไม่เกิน 25% ของจำนวนนายพลทั้งหมด ซึ่งแปลว่าในปัจจุบันมีได้ไม่เกิน 163 คน
 
ดังนั้นเมื่อคำนวณจากประมวลกฎหมายของสหรัฐอเมริกาจะพบว่ากองทัพสหรัฐฯ ทั้งกองทัพมีนายพล 4 ดาว อยู่ 41 คน มีนายพล 3 ดาว 122 คน ที่เหลือเป็นนายพล 2 ดาว (พลตรี/พลเรือตรี/พลอากาศตรี) และนายพล 1 ดาว (พลจัตวา/พลเรือจัตวา/พลอากาศจัตวา) รวมกัน 490 คน
 
สิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดของประมวลกฎหมายนี้ก็คือ ถ้ากระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือเพนตากอนต้องการเพิ่มจำนวนนายพลให้กับเหล่าทัพใด หรือในกรณีที่ต้องการตั้งเหล่าทัพใหม่ เช่นเมื่อหลายปีที่ผ่านมามีการตั้งกองทัพอวกาศขึ้นมา และจำเป็นต้องมีนายพลใหม่ เพนตากอนต้องไปลดจำนวนนายพลในหน่วยเดิมเพื่อให้ผลรวมยังคงอยู่ที่ 653 คนเหมือนเดิม
 
และอย่างที่เราน่าจะพอทราบก็คือ นายพลในกองทัพสหรัฐฯ นั้นมีอำนาจไม่มากนัก ส่วนใหญ่มีอำนาจเตรียมกำลังพล และเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้บัญชาการสูงสุดซึ่งก็คือประธานาธิบดี ไม่สามารถสั่งเคลื่อนกำลังเอง ไม่สามารถประกาศกฎอัยการศึกเอง ไม่สามารถประกาศสงครามเองได้ ทั้งหมดต้องรับคำสั่งจากประธานาธิบดี ซึ่งจะสั่งไปยังหน่วยใช้กำลังคือ Combatant Command ที่มีหน้าที่หยิบกำลังจากเหล่าทัพต่างๆ มาใช้ในภารกิจ
 
สาเหตุที่ต้องเป็นแบบนี้ก็เพราะกองทัพสหรัฐฯ ถูกออกแบบมาโดยหลักการที่ยึดถือมาตั้งแต่การก่อตั้งประเทศก็คือการรับประกันว่าพลเรือนจะมีอำนาจควบคุมกองทัพ เพราะพลเรือนนั้นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้นการรับประกันว่าพลเรือนควบคุมกองทัพก็คือการรับประกันว่าประชาชนจะควบคุมกองทัพได้นั่นเอง ซึ่งหลักการนี้ก็ไม่ได้ต่างจากหลักการในประเทศแถบยุโรปสักเท่าไรนัก
 
และไม่ใช่ประเทศในโลกเสรีนิยมเท่านั้น ประเทศในค่ายสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ก็มีหลักการที่ไม่ต่างกัน เช่นกองทัพจีนนั้นแท้จริงแล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ และกฎของพรรคและของประเทศระบุว่ากองทัพต้องภักดีกับพรรค และรับคำสั่งจากพรรคเท่านั้น ซึ่งนั่นก็หมายถึงกองทัพต้องรับคำสั่งจากตัวแทนประชาชนนั่นเอง
 
ดังนั้นกองทัพส่วนมากในโลกจะมีความยึดโยงกับประชาชน ตระหนักว่าตนเองต้องรับคำสั่งจากผู้นำประเทศที่ประชาชนเลือกเข้ามาหรือผู้นำที่ปกครองประเทศอยู่ตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถทำอะไรโดยอ้างข้ออ้างใดๆ ที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจได้ เช่นเดียวกับกองทัพเกาหลีใต้ที่แม้ประธานาธิบดีจะประกาศกฎอัยการศึกและสั่งให้กองทัพออกมาจับกุม สส. แต่เมื่อรัฐสภาเปิดทำการและลงมติยกเลิกกฎอัยการศึก กองทัพก็ต้องปฏิบัติตาม
 
ดังนั้นเรื่องเล็กน้อยอย่างจำนวนนายพลมีกี่คน จึงเป็นเรื่องที่กองทัพของประเทศที่เจริญแล้วและยึดโยงกับประชาชนสามารถบอกประชาชนได้ทันที 
 


พล.ต.อ.เอก ชี้แก้ปัญหาตำรวจ โยกย้ายอย่างเดียวไม่พอ ต้องปฏิรูป
https://www.matichon.co.th/local/news_5045505

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ โพสต์ทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า

“การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและบทบาทของตำรวจไทย: มุมมองและประสบการณ์จากเวทีสัมมนา”

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 18.00-20.00 น. ผมได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรรับเชิญ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆ ในงานสัมมนา The Rule of Law Reform in Thailand Now and Never ซึ่งจัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice: TIJ)
 
โดยผมได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับตำรวจกับหลักนิติธรรมในบริบทของการปฏิรูปตำรวจไทย
 
วิกฤตอาชญากรรมในยุคดิจิทัล ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านอาชญากรรมที่มีความซับซ้อนมากขึ้นตามพัฒนาการของสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime) ที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงเวลาเพียง 2 ปีเศษ มีคดีเกิดขึ้นกว่า 500,000 คดี สร้างความเสียหายทางการเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 80 ล้านบาท
 
ในประเด็นนี้ ผมได้นำเสนอต่ออดีตนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อขอให้ท่านเป็นประธานในการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
 
เนื่องจากการรับแจ้งความปลายเหตุของตำรวจไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ทันที แต่น่าเสียดายที่ท่านต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนที่จะได้ดำเนินการ
 
ความท้าทายในการปฏิบัติหน้าที่ปัจจุบันเรา พบความขัดแย้งระหว่างความคาดหวังของประชาชนและข้อจำกัดในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ
ในด้านหนึ่ง ประชาชนต้องการให้ตำรวจให้บริการที่รวดเร็ว สุภาพ เป็นไปตามหลักกฎหมาย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ในอีกด้านหนึ่ง ตำรวจประสบปัญหาด้านอัตรากำลัง งบประมาณ และทรัพยากรที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่สภาพปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ ประชาชนต้องพึ่งพาผู้มีอิทธิพลในสังคม (Influencers) เช่น คุณกัน จอมพลัง คุณปวีณา หงสกุล และมูลนิธิสายไหมต้องรอด ในการช่วยประสานงานกับตำรวจ
 
นอกจากนี้ ยังพบข่าวการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่เป็นประจำในขณะเดียวกัน ตำรวจไทยได้รับค่าตอบแทนที่ต่ำเมื่อเทียบกับบุคลากรอื่นในกระบวนการยุติธรรม และได้รับงบประมาณสนับสนุนการปฏิบัติงาน เช่น ค่าน้ำมันรถสายตรวจ เพียงหนึ่งในสามของความต้องการที่แท้จริง ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐบาลชุดใดที่ผ่านมา
 
มุมมองสำคัญต่อการปฏิรูป
 
การปฏิรูปตำรวจจำเป็นต้องพิจารณาจากสามมุมมองสำคัญ

ประการแรก ตำรวจเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมและต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน การปฏิรูปตำรวจได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ในสมัยรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม
 
ประการที่สอง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงสะท้อนปัญหาที่รุนแรง ดังที่ พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจและประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ได้สะท้อนผ่านนวนิยายเรื่อง “สารวัตรเถื่อน” และ “สารวัตรใหญ่”
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่ผ่านมา มีกรณีนายตำรวจระดับสูงถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์และการฟอกเงิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน
 
ประการที่สาม การปฏิรูปต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกด้าน โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในสมัยรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยมี พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธาน และ ดร.กิตติพงศ์ กิตยารักษ์ เป็นเลขานุการ
 
คณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภาควิชาการ สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม รวมกว่า 100 ท่าน
 
ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ มีการรับฟังความคิดเห็นจากทั้งประชาชนและตำรวจ รวมถึงศึกษาบทเรียนการปฏิรูปตำรวจจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ จนได้ข้อสรุปเป็นบัญญัติ 10 ประการในการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งยังคงมีความสำคัญและเป็นแนวทางที่ควรนำมาพิจารณาในการปฏิรูปตำรวจในปัจจุบัน
 
แนวทางการปฏิรูปตำรวจ บัญญัติ 10 ประการ
 
จากผลการศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจในปี 2550 ได้เสนอแนวทางการปฏิรูปที่สำคัญ 10 ประการ ได้แก่
1. การกระจายอำนาจการบริหารงาน
2. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
3. การสร้างกลไกตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจ
4. การพัฒนางานสอบสวน
5. การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานของตำรวจ
6. การปรับปรุงสถานีตำรวจ
7. การพัฒนากระบวนการสรรหา การผลิต และการพัฒนาบุคลากร
8. การปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการ
9. การส่งเสริมความก้าวหน้าของตำรวจชั้นประทวน
10. การจัดตั้งหน่วยงานพัฒนากระบวนการยุติธรรม
 
บทสรุปและข้อเสนอ
 
ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องดำเนินการปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยนำแนวทางตามบัญญัติ 10 ประการมาดำเนินการพร้อมกันอย่างบูรณาการ
ไม่ใช่เพียงแค่การปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคลเพื่อแก้ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายเท่านั้น
การปฏิรูปตำรวจเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาลที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกคน

https://www.facebook.com/aek.angsananont.7/posts/pfbid024FtzNtsB6skf6P1PSHxzpsvKMW7yHGURcyfyme4BUNRqJPXACwTTPM9k5jpCpXRbl
 


วิกฤต 3 บีบ “ทรัมป์ 2.0” โอกาสรอดไทยในสงครามการค้า
https://www.prachachat.net/economy/news-1753088
 
ไม่ถึง 1 เดือน หลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ สมัยที่ 2 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ เจ้าของนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน หรือ America First Trade Policy ได้สร้างความวุ่นวายทางการค้าไปทั่วโลก เมื่อทรัมป์เริ่มกระบวนการขึ้นภาษีกับประเทศคู่ค้าที่เห็นว่า ทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรมกับสหรัฐ จากตัวเลข “เกินดุล” การค้าที่สูงลิ่ว ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโก-แคนาดา และจีน แม้จะไม่ถึงอัตราสูงสุดตามที่ได้ ประกาศไว้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ก็แสดงให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่ “คำขู่” แต่เป็นการขึ้นกำแพงภาษีของจริง ขึ้นอยู่กับว่า จะช้าหรือเร็วเท่านั้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่