ทุนผูกขาดหรือความสามารถแข่งขัน แยกไม่ออกประเทศพัง!!!

วิวัฒนาการของทุนผูกขาด: กรณีศึกษา AT&T

แม้ว่าการผูกขาดอยู่กับโลกตั้งแต่ระบบเศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบทุนนิยม แต่ทุนนิยมกลับกลายเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงให้ทุนแสวงหากาผูกขาดมากขึ้น ตัวอย่างที่เราอยากเสนอให้เห็นวิวัฒนาการของทุนผูกขาดก็คือบริษัทโทรคมนาคมของสหรัฐอย่าง American Telegraph and Telephone หรือ AT&T ที่ตลอดเวลาร้อยกว่าปีนั้นพยายามที่จะแสวงหาการผูกขาดและกลับมารักษาสถานะผูกขาดของตนเอาไว้

ประวัติศาสตร์ของ AT&T เริ่มต้นจากบริษัทของผู้คิดค้นโทรศัพท์อย่าง Alexander Graham Bell ที่ตั้งขึ้นในปี 1877 เพื่อขายสิทธิบัตรโทรศัพท์และให้บริการโทรศัพท์ในภาคตะวันออกของสหรัฐฯ ซึ่ง Bell ใช้ประโยชน์จากการผูกขาดสิทธิบัตรในโทรศัพท์จนกระทั่งสิทธิบัตรหมดอายุในปี 1894 ที่เปิดช่องให้บริษัทโทรศัพท์จำนวนมากฉวยโอกาสในตลาดที่ Bell เข้าไปไม่ถึง ซึ่ง Bell พยายามเอาตัวรอดด้วยการตั้ง AT&T มาเป็น Holding Company เพื่อลงทุนในธุรกิจโทรศัพท์ทางไกล (Long Lines) รวมถึงการซื้อบริษัทโทรเลข Western Union บริษัทผลิตอุปกรณ์โทรศัพท์ Western Electric และบริษัทโทรศัพท์ขนาดเล็กเพื่อรักษาสถานะการผูกขาดในตลาดเอาไว้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐก็เห็นถึงแนวโน้มของการผูกขาดจนนำมาสู่ข้อตกลง Kingsbury ในปี 1913 ที่บังคับให้ AT&T ขายหุ้นของ Western Union อนุญาตให้บริษัทขนาดเล็กเข้าเชื่อมต่อกับระบบทางไกล และอนุญาตให้มีการซื้อบริษัทขนาดเล็กก็ต่อเมื่อ AT&T ขายสิทธิ์ในการให้บริการแก่ผู้ให้บริการอื่นๆ ด้วยจำนวนที่เท่ากัน ในที่นี้ รัฐบาลสหรัฐเลือกที่จะสลายการผูกขาดขนาดใหญ่ที่ AT&T จะครอบครองบริการโทรคมนาคมหลักทั้งหมด แต่เลือกให้มีผู้ผูกขาดเฉพาะตลาด (โทรเลขโดย Western Union โทรศัพท์ทางไกลโดย AT&T และโทรศัพท์ท้องถิ่นโดยผู้ให้บริการรายย่อยเพียงรายเดียว) โดยเชื่อว่าโครงสร้างดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด

จุดพลิกผันที่แท้จริงของ AT&T คือการที่รัฐบาลสหรัฐแปรรูปโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งหมดเป็นของรัฐในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่ง AT&T ขออนุญาตรัฐในการขึ้นค่าบริการโครงข่ายโทรศัพท์ทางไกล ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนของบริษัทท้องถิ่นจำเป็นต้องจ่ายให้กับ AT&T โดยทันที ในขณะเดียวกัน รัฐก็เข้ามาควบคุมราคาในการให้บริการโทรศัพท์ ซึ่ง AT&T ได้เปรียบกว่าบริษัทขนาดเล็กอื่นๆ ด้วย 1) ต้นทุนในการดำเนินการถูกกว่า และ 2) สามารถเอากำไรจากบริการทางไกลมาชดเชยให้กับบริการท้องถิ่นที่ขาดทุนได้ จนบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากต้องยุติกิจการ และ AT&T สามารถคงสถานะผูกขาดอย่างต่อเนื่องตลอดศตวรรษที่ 20 ด้วยการที่ร้อยละ 80 ของบริการโทรศัพท์ในสหรัฐฯ และแคนาดาเป็นของ AT&T ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามสลายการผูกขาดของ AT&T จนกระทั่งในปี 1982 ศาลสูงสหรัฐฯ มีคำสั่งให้ AT&T สลายตัวออกเป็น 8 บริษัท แบ่งเป็น AT&T ที่ให้บริการโทรศัพท์ทางไกล และบริษัทโทรศัพท์ท้องถิ่น (RBOC) อีก 7 บริษัท แลกกับการอนุญาตให้ AT&T ขยายตัวเข้าสู่ตลาดคอมพิวเตอร์  แต่ถึงแม้ว่า AT&T จะถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ แล้วก็ตาม AT&T ก็พยายามกลับมาเป็นผู้เล่นขนาดใหญ่อีกครั้ง ด้วยแรงสนับสนุนของการเปิดเสรีเครือข่ายโทรคมนาคม ผ่านการซื้อเครือข่ายโทรศัพท์ทางไกล เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เคเบิลทีวี รวมถึงขยายไปสู่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตเพื่อขยับขยายให้ตัวเองเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมครบวงจร  จนกระทั่งในช่วงทศวรรษ 2000 ที่ AT&T สามารถกลับมารวมกับ 4 ใน 7 ของบริษัทโทรศัพท์ท้องถิ่นเดิมและขยายตัวจนสามารถกลับมาเป็นหนึ่งในสามผู้เล่นผูกขาดในระบบโทรคมนาคมของสหรัฐฯ ในที่สุด


https://thaipublica.org/2024/02/redesign-economic-game-with-10-ideas-from-economists-7/

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่