ท้องลม / ท้องซ้อน/ท้องไข่ปลาอุก/ไข่ใบเดียวกัน แต่ มีถุงน้ำ สองใบ.. มันคือ อะไร

ตามข่าว  ท้อง 9 เดือนหาย กลายเป็น 3 เดือน เกิดจาก  ท้องอะไร ครับ
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 1
เดี๋ยวนี้ มี AI หลายค่าย ที่ดังๆก็ ChatGPT ของอเมริกา DeepSeek ของจีน และอื่นๆอีกหลายค่าย
ให้ใครๆก็ถามได้ ตอบดีซะด้วย ดีกว่า Google มากมาย ถามภาษาไทยก็ตอบภาษาไทย ตอบด้วยภาษาวิชาการที่น่าเชื่อถือ

เดี๋ยวจะว่าเล่นง่าย ไล่ไปถาม AI
ที่แนะนำ AI ก็เพราะเห็นว่าเขาตอบดีจริงๆ ตอบตรงคำถาม สั้นและกระชับ
เพื่อสัมพันธภาพอันดี ขอตอบข้อสงสัยดังนี้

1. ท้องลม คือการตั้งครภภ์จริง  มีอาการขาดประจำเดือน ตรวจปัสสาวะขึ้นสองขีด ตรวจอัลตร้าซาวนด์พบถุงการตั้งครรภ์ในมดลูก แต่ไม่มีตัวทารกและถุงอาหารทารกอยู่ในนั้น ท้องลมนี้ อยู่ได้ไม่นานก็จะแท้งเอง ถ้าแท้งไม่ครบก็ต้องขูดมดลูก สาเหตุมีมากมาย อาจเกิดซ้ำ หรือไม่เกิดซ้ำก็ได้

2. ท้องซ้อน เพิ่งเคยได้ยิน นึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าศัพท์ทางวิชาการ คืออะไร น่าจะหมายถึง superfetation คือเกิดการท้องขึ้นมาอีก ในขณะที่กำลังตั้งท้องอยู่แล้ว เป็นภาวะที่พบได้แต่น้อยๆๆๆๆๆมาก เพราะตามธรรมชาติแล้วเมื่อเกิดการท้อง ฮอร์โมนที่ผลิตจากรก จะยับยั้งการทำงานของสมอง ส่งผลให้รังไข่ไม่ผลิตฮอร์โมนและไม่ตกไข่อีกตลอดการท้องนั้น แต่บางครั้งธรรมชาติก็แปรปรวน เกิดการตกไข่ซ้ำขึ้นมาอีกครั้งในรอบประจำเดือนนั้นหรือในรอบประจำเดือนถัดไป เกิดเป็นการตั้งท้องแฝด ชนิดไข่คนละใบ การท้องจะยังดำรงค์อยู่ทั้งสองครั้ง ไม่มีว่าตั้งท้องอยู่แล้วหลายเดือนผ่านมาต่อมาตั้งท้องอีก แล้วท้องแรกหายไป เหมือนเคสที่กำลังเป็นข่าว

3.ท้องไข่ปลาอุก เป็นการตั้งท้องที่ไม่มีทารก มีแต่รกที่กลายสภาพเป็นถุงน้ำเล็กๆมากมาย เหมือนไข่ปลาชนิดหนึ่ง ชื่อปลาอุก บางครั้งก็เป็นท้องแฝดเด็กปกติ อยู่ร่วมกับไข่ปลาอุกก็มี ท้องแบบนี้จะอยู่ได้ไม่นานก็เกิดการแท้ง ถ้าเป็นท้องแฝดร่วมกับท้องไข่ปลาอุก ก็จะแท้งพร้อมกัน ไม่มีคนใดคนหนึ่งแท้งไปเพียงลำพัง

4. ไข่ใบเดียวกัน แต่มีถุงน้ำสองใบ คือท้องแฝดชนิดไข่ใบเดียวกัน ท้องแฝดแบบนี้ เป็นได้ทั้งอยู่ในถุงน้ำเดียวกัน (ซึ่งอันตรายมากกว่า เพราะสายสะดือมีโอกาสพันกัน ถึงตายในท้องได้) และอยู่ในถุงน้ำคนละใบ แฝดตัวติดกันก็เป็นแฝดไข่ใบเดียวกัน ตัวติดกันอยู่ในถุงเดียวกัน

การท้องปกตินั้น พบได้บ่อย ก็เพราะธรรมชาติไม่แปรปรวน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่