“อาหารไทยสำหรับผู้เป็นเบาหวาน” และ ต้อหิน ตรวจก่อนรักษาทัน

เรื่อง “อาหารไทยสำหรับผู้เป็นเบาหวาน”

ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรอาหารที่หลากหลาย บรรพบุรุษของไทยได้ใช้ “อาหารเป็นยา” จนเกิดเป็นภูมิปัญญาไทยที่ในปัจจุบันมีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะสรรพคุณที่มีส่วนในการช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ประเด็นที่น่าสนใจของอาหารไทยกับการควบคุมเบาหวาน มีดังนี้
อาหารไทยมีส่วนประกอบที่ครบถ้วนทั้งห้าหมู่ ในสัดส่วนที่สมดุล
อาหารไทยนอกจากจะมีรสชาติกลมกล่อม ครบรสแล้ว ยังเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ในสัดส่วนที่สมดุล สอดคล้องกับหลักจานอาหารสุขภาพ 2:1:1 โดยมีผักเป็นองค์ประกอบหลักในปริมาณครึ่งหนึ่งของจาน หรือ 2 ส่วนของจานอาหาร ตามด้วยอาหารที่เป็นแหล่งของโปรตีนคุณภาพดี เช่น ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ในปริมาณ 1 ใน 4 ของจาน หรือ 1 ส่วนของจานอาหาร และอีก 1 ใน 4 ของจานที่เหลือ เป็นอาหารในกลุ่มข้าวแป้ง โดยเน้นเลือกข้าวที่ผ่านการขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ธัญชาติ ฯลฯ สำหรับ “ข้าว” ถือว่าเป็นอาหารหลักของคนไทย และเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตที่มีส่วนสำคัญต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้น การเลือกกินข้าวสายพันธุ์ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ก็เป็นอีกทางเลือกสุขภาพของผู้เป็นเบาหวาน

อาหารไทยอุดมไปด้วยใยอาหาร
ประเทศไทยอุดมไปด้วยพืชผัก และผลไม้ที่หลากหลาย ซึ่งอาหารในกลุ่มนี้จัดเป็นแหล่งของใยอาหาร  โดยอาหารไทยเกือบทุกเมนูจะต้องมีผักเป็นส่วนประกอบ หรือมีผักเป็นเครื่องเคียง เช่น น้ำพริก กินคู่กับผักสด หรือผักต้ม หรือเมนูที่มีรสชาติจัดจ้าน ก็จะรับประทานแกล้มกับผักสด เพื่อเป็นตัวช่วยทำให้รสชาติสมดุลมากยิ่งขึ้น จากแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2566 แนะนำว่า เน้นบริโภคอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญชาติที่ไม่ผ่านการขัดสี ถั่วเมล็ดแห้งและเมล็ดพืช ผัก และผลไม้ ธัญชาติที่ไม่ผ่านการขัดสี ปริมาณ 100 กรัม มีใยอาหาร 4 – 10 กรัม ส่วนถั่วเมล็ดแห้งและเมล็ดพืช ปริมาณ 100 กรัม มีใยอาหาร 19 – 28 กรัม ซึ่งโดยทั่วไป มีใยอาหารสูงกว่าผักและผลไม้ โดยปริมาณใยอาหารที่คนไทยควรได้รับในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ คือ 25 กรัมต่อวัน สำหรับเด็ก คือ จำนวนอายุปี + 5 กรัมต่อวัน
อาหารไทยมีการชูรสชาติด้วยเครื่องเทศ และสมุนไพร
วัตถุดิบสำคัญที่ขาดไม่ได้ในอาหารไทย นั่นคือ เครื่องเทศและสมุนไพร ที่เป็นส่วนประกอบที่ช่วยชูรสชาติ เพิ่มสีสัน และกลิ่นที่ชวนรับประทานให้กับอาหารไทย ส่งผลให้สามารถลดปริมาณการใช้เครื่องปรุงรสในการปรุงอาหารลงได้ เป็นการชูรสชาติของอาหารจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ ทดแทนการใช้เครื่องปรุงในกลุ่มน้ำตาล น้ำปลา หรือแม้แต่ผงชูรส ซึ่งสอดคล้องกับการลดหวานจัด มันจัด และเค็มจัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

“เครื่องแกง” หรือ “พริกแกง” คือ ตัวอย่างของส่วนผสมที่ใช้เครื่องเทศและสมุนไพรหลากหลายชนิดเป็นองค์ประกอบ และเครื่องแกงก็เป็นส่วนผสมที่ขาดไม่ได้สำหรับการปรุงอาหารไทยประเภทแกง ตัวอย่างส่วนผสมของเครื่องแกง ที่ใช้เป็นองค์ประกอบหลักที่ขาดไม่ได้ของอาหารไทย
                –  เครื่องแกงเผ็ด เช่น พริกชี้ฟ้าแห้ง พริกจินดาแห้ง หอมแดง ตะไคร้ ข่า ผิวมะกรูด  กระเทียม กะปิ และเกลือ
                –  เครื่องแกงเขียวหวาน เช่น พริกชี้ฟ้าเขียว ผิวมะกรูด ข่าซอย หอมแดงซอย เม็ดผักชี  กระเทียมซอย พริกไทยเม็ด ยี่หร่า รากผักชี ตะไคร้ซอย กะปิ และเกลือป่น
                –  เครื่องแกงมัสมั่น เช่น พริกชี้ฟ้าแห้ง พริกไทย ตะไคร้ซอย ข่าซอย รากผักชี ลูกจันดอกจัน กานพลู กระเทียม อบเชย หอมแดง เม็ดลูกกระวาน ลูกผักชี และยี่หร่า
                –  เครื่องแกงใต้ เช่น พริกจินดาแห้ง พริกสด ตะไคร้ ขมิ้นชัน กระเทียม หอมแดง  พริกไทยดำ กะปิ และเกลือป่น
ในปัจจุบัน เครื่องเทศและสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารไทย มีผลงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ และคุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะคุณสมบัติของการต้านอนุมูลอิสระและการลดการอักเสบ

บทสรุปส่งท้าย…
อาหารไทยเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน และเป็นภูมิปัญญาไทยในการใช้ “อาหารเป็นยา” ประกอบกับในปัจจุบันมีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายที่แสดงให้เห็นถึงสรรพคุณของอาหารไทยที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมทั้งป้องกัน และควบคุมโรคเบาหวาน ดังนั้น สำหรับผู้เป็นเบาหวาน การปรับรูปแบบอาหารไทยที่เรารับประทานในแต่ละพื้นถิ่น ให้เป็นไปตามรูปแบบอาหารเพื่อสุขภาพ นอกจากจะทำให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้แล้ว หากน้ำหนักลดได้มากเพียงพอ อาจส่งผลให้โรคเบาหวานเข้าสู่ระยะสงบได้ อีกทั้งยังอร่อยถูกปาก และยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยอีกด้วย

ข้อมูลจาก พันเอกหญิง ดร.กรกต วีรเธียร สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์... 

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/articles/4349480/



โรคต้อหินมีวิธีใหม่ช่วยลดความดันตาอาการดีขึ้นมาก

โรคต้อหิน เกิดจากความดันในตาสูง การมองเห็นแคบลง มีวิธีการใหม่รักษาโดยวางท่อจากตาไปอยู่ใต้ตา ทำให้ความดันตาลดลง
โรคต้อหิน คนเป็นกันมากในประเภทโรคตาเรื้อรัง เกิดจากความดันในดวงตาสูง เส้นประสาทถูกทำลาย น้ำหล่อเลี้ยงในดวงตาไม่สามารถระบายออกได้ เป็นผลทำให้ลานสายตาแคบลง ด้านหน้ายังเห็นชัดเจนดี แต่ด้านข้างไม่ค่อยเห็น และจะแคบเข้ามาเรื่อย ๆ ผู้ที่ขับรถจะไม่ค่อยเห็นรถที่อยู่ด้านข้างแซงขึ้นมา ถ้ารู้และรักษาแต่เริ่มแรกจะไม่กระทบเรื่องการมองเห็นมากนัก

อาการของโรคต้อหิน จะมองเห็นสิ่งที่อยู่ด้านหน้าเป็นปกติ แต่ด้านข้างจะแคบลง และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าไม่ได้รับการรักษา ทิ้งไว้นานลานสายตาจะค่อยแคบลงจนมองไม่ค่อยเห็นไปเลย ในบ้านเรายังพบโรคนี้มากอยู่ แต่คนมีความรู้ขึ้น เมื่อรู้รีบมารักษาแต่เริ่มแรกอาการจะค่อยทุเลาลงไป ยังอยู่ในโรคตาที่เป็นเรื้อรัง และต้องรักษากันยาวนาน คนไข้ต้องอดทนอย่างมาก

พยาธิสภาพ ความดันในดวงตาที่สูงขึ้น จะทำให้เส้นประสาทถูกทำลาย น้ำที่หล่อเลี้ยงลูกตาไม่สามารถระบายออกได้ จึงทำให้ความดันในดวงตาสูงขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด ประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นบ้างหรือเปล่า ความดันลูกตาสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง มีส่วนร่วมด้วย
การรักษา ที่ผ่าน ๆ มา ก็อาศัยให้ยาลดความดันตา ทั้งยากินและยาหยอดตา ในรูปแบบต่าง ๆ ก็พอปะทะปะทัง ผ่อนคลายจากหนักเป็นเบาได้ ผมเห็นคนไข้โรคนี้แล้วน่าเห็นใจ ต้องหยอดยาและกินยากันยาวนานทีเดียว

เทคนิคใหม่ของการรักษา แผนกตาของ รพ.ราชวิถี นำโดย นพ. บุญส่ง วนิชเวชารุ่งเรือง และคณะ ได้ให้ พญ.กรกมล อัญนพวงศ์ เป็นตัวแทนมาเล่าให้ฟัง ถึงวิธีการใหม่ในการรักษาโรคต้อหิน ซึ่งทางคณะแพทย์ตาด้านนี้ได้ทำกันมาหลายเดือนแล้ว และได้ผลดีด้วย คนไข้หยอดตาลดน้อยลง สบายตัวขึ้นมาก ทราบว่ามีโรงพยาบาลอื่นก็ทำการรักษากันแบบนี้ แต่ของโรงพยาบาลราชวิถีมีจุดเด่นขึ้นหน่อย ใครที่มีทุนทรัพย์น้อย ทางมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี จะมีงบประมาณช่วยเหลือให้ทำให้ประหยัดขึ้นไปอีกมาก โครงการนี้เป็นช่วงระยะหนึ่ง หมดแล้วอาจพิจารณากันต่อไปอีกได้

เทคนิคใหม่ คุณหมอกรกมลเล่าให้ฟังว่า เป็นเทคนิคไม่ยาก ต้องใช้ฝีมือหน่อย โดยแพทย์จะฉีดเข็มซึ่งมีท่ออยู่ข้างใน ฉีดเข้าดวงตาไปยังบริเวณช่องว่างใต้หนังตา แล้วปล่อยท่อให้ค้างไว้ ท่อก็จะนำน้ำจากดวงตา ไหลออกไปอยู่นอกดวงตา ใต้ผิวหนัง เป็นการระบายน้ำในดวงตาออกอย่างดี ทำให้ความดันตาลดลง ลดการหยอดยาตาไปด้วย คนไข้สบายตัวและสบายใจขึ้นมาก ทราบว่ามีการทำเทคนิคนี้หลายแห่ง แล้วจะมาประชุมร่วมกันว่ามีผลดีผลเสียมากน้อยต่างกันอย่างไร นับเป็นเรื่องดีในวงการตาเรื่องต้อหิน ที่มีการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าในด้านการรักษา แม้จะไม่หายขาด คนไข้ก็สบายใจขึ้นไม่ต้องหยอดยาตาบ่อย ๆ เหมือนเดิม รพ.ราชวิถีรักษามา 4 ปีแล้ว ทำไปเกิน 100 ราย

โรคต้อหิน เป็นโรคตาเรื้อรัง ระยะยาวนาน ใครเป็นก็ต้องอดทนหมั่นดูแลสุขภาพตาให้ดีไว้ หมั่นหยอดยาตาตามกำหนด รักษา คุมโรคต่าง ๆ รอบตัวให้ดีไว้ ไขมันสูง ความดันสูง เบาหวาน ออกกำลังกายทุกวัน โดยรวมถ้าสภาพร่างกายเป็นปกติสมบูรณ์ดี โรคตาก็จะพลอยดี มองเห็นสดใสไปด้วย โรคต้อหินเป็นโรคเรื้อรัง ทุกคนเห็นใจที่ต้องหยอดตากันบ่อยครั้ง แต่เมื่อมีโครงการใหม่ ๆ มาให้ทราบ ก็น่าจะได้ลองปรึกษาแพทย์ดู เพื่อคุณภาพชีวิตจะได้ดีขึ้น

โรคต้อหิน เกิดจากความดันในตาสูง การมองเห็นแคบลง มีวิธีการใหม่รักษาโดยวางท่อจากตาไปอยู่ใต้ตา ทำให้ความดันตาลดลง คนไข้สบายขึ้นไม่ต้องหยอดยาบ่อย รพ.ราชวิถี เป็นหนึ่งของอีกหลายแห่งที่ทำเรื่องนี้ ท่านผู้ใดสนใจลองปรึกษาทางแผนกจักษุ รพ.ราชวิถี เรื่องต้อหินดู.... 

สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/articles/2948199/


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่