สรรพากรล่าภาษี 2.3 ล้านล้าน แกะรอยอินฟลู-ส่งเจ้าหน้าที่เคาะประตูบ้าน

อธิบดีสรรพากรเร่งปิดจุดอ่อน-รูรั่วภาษี แบกรับเป้ารายได้ 2.37 ล้านล้านบาท ยอมรับ “ท้าทายมาก”  ปูพรมส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการแบบเข้มข้น ชี้เป้าหมายใหญ่ “กลุ่มหลบเลี่ยง” ประสานข้อมูลตำรวจไล่ล่ากลุ่มนอกระบบ เผยภาษีบุคคลธรรมดากลุ่มเศรษฐี 1 แสนคนแรกของประเทศเสียภาษี 80% ของยอดรวม เร่งขยายฐานกลุ่มอินฟลูฯ-ขายออนไลน์ยืนยันมี “ส่วนน้อย” เสียภาษี ขณะที่คลังตั้งทีมลุยปฏิรูปโครงสร้างภาษีแก้ปมรายได้รัฐบาลไม่พอรายจ่าย

ภาระหนักหารายได้
นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์พิเศษ ็ประชาชาติธุรกิจิ ว่า ปีงบประมาณ 2568 สรรพากรได้รับเป้าหมายรายได้ 2.3725 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าปีที่แล้ว 95,000 ล้าน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 4% แต่เนื่องจากปีงบประมาณ 2567 เก็บได้ต่ำกว่าเป้า 8,500 ล้านบาท เท่ากับว่าปีนี้ต้องจัดเก็บเพิ่มจริงกว่า 1 แสนล้านบาท

เพราะสรรพากรมีส่วนแบ่งอยู่เกือบ 70% ของรายได้รัฐบาล ฉะนั้นถ้าสรรพากรไม่สามารถเก็บได้ตามเป้าหมายก็จะกระทบต่อรายได้รัฐบาล ซึ่งจากที่ตนเข้ามาดํารงตําแหน่งก็มีความตั้งใจว่า ต้องทําให้ได้ ด้วยเพราะเป็นลูกหม้อสรรพากรก็จะนำตัวเลขมาแยกแยะวิเคราะห์เพื่อหาช่องทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บของภาษีแต่ละประเภท

VAT นำเข้าต่ำเป้า 4 เดือนติด
นายปิ่นสายกล่าวว่า ภาษีที่สรรพากรจัดเก็บสูงสุดก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มูลค่ากว่า 900,000 ล้านบาท มี 2 ส่วนคือ VAT สินค้านําเข้า กับส่วนการบริโภคในประเทศ ซึ่งพบว่าส่วนของ VAT สินค้านำเข้าเทรนด์ลดลง 3-4 เดือนที่ผ่านมา เห็นชัดเลยว่า VAT นําเข้ารายได้ต่ำกว่าเป้าเดือนละ 2,000 กว่าล้านบาท วิธีการก็คือต้องบริหารจัดเก็บรายได้ในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศเพื่อครอบคลุมให้ได้

ปัญหาของ VAT นำเข้าเท่าที่ไปดูข้อมูลพบว่า ตัวเลขนําเข้าสินค้าไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่ปรากฏว่านําไปพักที่เขตปลอดอากร ยังไม่ได้ถูกดึงมาใช้จึงทำให้ยังไม่มีการเสียภาษี ก็เรียกว่าสต๊อกสินค้าอยู่ที่เขตปลอดอากร เช่น รถยนต์นำเข้า หรือชิ้นส่วนการผลิตต่าง ๆ ในภาวะที่กำลังซื้อไม่ดี เมื่อไหร่ที่ออร์เดอร์เข้ามาจริง ๆ ก็ต้องเสีย แต่ตอนนี้เหมือนชะลอการเสียภาษีไว้ก่อน

ต้อนธุรกิจเข้าระบบ VAT
อธิบดีกรมสรรพากรอธิบายว่า นโยบายมุ่งการจัดเก็บภาษีมูลเพิ่มในประเทศเพื่อชดเชย VAT นำเข้าที่ลดลง เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นฐานรายได้หลักประมาณ 9 แสนล้านบาท สรรพากรจึงให้ความสำคัญมาก โดยการทำงานของสรรพากรจะแบ่งผู้ประกอบการเป็น 3 กลุ่ม คือ 

1.กลุ่มเสียภาษีถูกต้องครบถ้วน กลุ่มนี้ไม่ต้องไปยุ่ง 

2.กลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบ แต่ตัวชี้วัดต่าง ๆ เห็นว่ายังเสียภาษีไม่ครบถ้วน กลุ่มนี้ก็จะเน้นนำข้อเท็จจริงให้ดูว่าคุณมีรายได้จากข้อมูลต่าง ๆ ที่สรรพากรตรวจสอบได้ก็จะทำให้รู้ว่าจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มเท่าไหร่

และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่ไม่อยู่ในระบบ อันนี้ยอมรับไม่ได้ ซึ่งก็มีอยู่ 2 ประเภท คือ ไม่มีองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจ อาจเป็นกลุ่มเด็กที่มาทำธุรกิจ กับอีกประเภทคือตั้งใจหลบเลี่ยงภาษี อมยิ้ม11

กรณีกลุ่มเด็กที่ไม่มีองค์ความรู้ สรรพากรก็เน้นเรื่องการออกไปให้ความรู้ หรือเตือนผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ว่าถึงเวลายื่นภาษี ทำอย่างไรให้ถูกต้อง แต่กลุ่มที่เจตนาหลบเลี่ยง สรรพากรก็จะประสานกับหน่วยงานความมั่นคงต่าง ๆ เมื่อได้ข้อมูลมาก็ส่งให้หน่วยงานตรวจสอบปราบปรามไปดู เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ศก.ฉุดภาษีนิติบุคคล
สำหรับกลุ่มภาษีเงินได้นิติบุคคล ตอนนี้เห็นข้อมูลจริงแล้วประมาณ 11 เดือน ทำให้พอคาดการณ์ได้ว่า ภ.ง.ด.50 ที่ต้องยื่นเข้ามาช่วง พ.ค.-มิ.ย. จะมีทิศทางอย่างไร ก็สามารถแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ 
1.กลุ่มที่ผลประกอบการดี เช่น ธนาคาร โมเดิร์นเทรด พวกนี้ก็ต้องดูรายละเอียดอย่างใกล้ชิดว่าการเสียภาษีควรสอดคล้องกับผลประกอบการจริงหรือไม่
และ 2.กลุ่มผลประกอบการไม่ดี เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ หรือธุรกิจพลังงาน/ปิโตรเคมี ก็พยายามดูประคองให้ติดลบน้อยที่สุด

อธิบดีกรมสรรพากรอธิบายว่า จากข้อมูลที่ติดตามจะเห็นว่าภาษีนิติบุคคล หลาย ๆ ตัวที่ออกมาปีนี้ “ค่อนข้างท้าทาย” รวมถึงตัวภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ส่งผลให้ภาพรวมภาษีรายได้นิติบุคคลที่มีส่วนแบ่งอันดับ 2 ด้วยตัวเลขประมาณ 800,000 ล้านบาท ปีนี้ค่อนข้างไม่ดี ็ทรง ๆ ลบ ๆิ

“ใครไม่ดี เราก็แค่ประคอง ไม่ดีมีเหตุผล เรารับได้ แต่ถ้าผลประกอบการดี คุณต้องเสียภาษี” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว
เศรษฐี 1 แสนคนแบกภาษี 80%

อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า ภาษีตัวที่ 3 คือ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ที่จัดเก็บได้ประมาณ 400,000 กว่าล้านบาทต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือน เข้าระบบตั้งแต่ต้น แล้วก็ยื่นตรงไปตรงมา โดยกลุ่มที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม สรรพากรก็มีบริการให้ผ่อนชำระ แต่ถ้าได้คืนภาษี สรรพากรก็พยายามพิจารณาคืนให้เร็วที่สุด เพราะก็ถือว่าเป็น Cash Flow ของผู้เสียภาษี

โดยปัจจุบันมีการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 ประมาณ 11 ล้านแบบ แต่เป็นกลุ่มที่ต้องเสียภาษีมีประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งโอกาสในการขยายฐานภาษีตรงนี้ก็ไม่ง่าย เพราะด้วยโครงสร้างปัจจุบัน ผู้เสียภาษี 4 ล้านคนก็เป็นกลุ่มที่แบกภาษีเยอะ โดยเฉพาะกลุ่ม TOP 100,000 คนแรก ที่จ่ายภาษีสูงสุด จะมีส่วนในการชำระภาษีประมาณ 80% ของมูลค่ารวม 4 แสนล้านบาท

ออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่เสียภาษี อมยิ้ม06
นายปิ่นสายกล่าวเพิ่มเติมถึงกลุ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องจับตาและให้ความสําคัญมาก คือ กลุ่มซื้อมาขายไป โดยเฉพาะ “ค้าขายออนไลน์” จากตามฐานข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าไม่ค่อยเสียภาษี หรือเสียน้อย ทำให้สรรพากรค่อนข้างให้ความสนใจ โดยตอนนี้ในฐานะอธิบดีก็ออกมาให้ข่าวเอง เพื่อเป็นการส่งสัญญาณเตือน รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ออกไปให้ความรู้ เตือนว่าถึงฤดูยื่นแบบแล้ว ค้าขายออนไลน์ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษี

ปัจจุบันกลุ่มขายออนไลน์ยังมีส่วนน้อยที่เสียภาษี เท่ากับว่ายังมีโอกาสขยายฐานกลุ่มนี้อีกมาก ดังนั้นก็พยายามสื่อสารให้เขารู้ และตระหนักว่าต้องเสีย สรรพากรก็มีช่องทางให้ความรู้ ไม่ว่าจะข้อมูลในเว็บหรือคอลเซ็นเตอร์

“ผมก็พูดชัดเจนในหลายที่ว่า ขอให้เสียภาษี ถ้าค้าขายออนไลน์แล้วไม่เสียภาษีเลย สรรพากรสามารถตรวจเจอแน่ เพราะพวกนี้ทิ้งร่องรอยไว้ในอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว พอสรรพากรไปตามเจอก็จะโดนเบี้ยปรับเงินเพิ่ม 1 เท่า 2-3 เท่าของภาษี ซึ่งเห็นมาหลายเคสแล้วที่รายได้ดีแต่ไม่จ่าย แต่พอไปเจอภาษีมันท่วม เงินที่ได้ก็ไปซื้อรถ ซื้อแบรนด์เนมหมดก็ไม่มีเงินมาจ่าย เราก็เข้าใจนะ แต่ด้วยบริบทกฎหมาย เราก็มีขั้นตอนที่ต้องฟ้องร้องวิอาญา เพราะฉะนั้นแนะนําให้เสียให้ถูกต้องในจังหวะที่มีรายได้”

จับตาพิเศษกลุ่มอินฟลูฯ ปูเสื่อ
อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า แพลตฟอร์มออนไลน์ อินฟลูเอนเซอร์ขายสินค้าถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของกรมสรรพากร เพราะปัจจุบันถือเป็นช่องทางสำคัญในการขายสินค้าที่ทำยอดขายสูง โดยปัจจุบันมีการเข้าไปคุยกับกลุ่มนี้มาก จากเดิมอาจไม่ได้ให้ความสนใจมาก ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีรูมเยอะในการที่จะหารายได้เพิ่ม
การจัดการแพลตฟอร์มออนไลน์มี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ซื้อขายในประเทศกับส่วนที่ซื้อมาจากต่างประเทศ โดยในส่วนต่างประเทศ กรมสรรพากรก็พัฒนา 2-3 ระบบ เช่น เรื่องเซอร์วิส ให้แพลตฟอร์มต่างประเทศเป็นคนเก็บภาษีแล้วนําส่งแทน จากเดิมระบบภาษี อิมพอร์ตเซอร์วิสเข้ามา ต้องไปยื่น ณ สิ้นเดือน ต้องเดินไปสรรพากรเขต เอาภาษีมูลค่าเพิ่มไปจ่าย ซึ่งในทางปฏิบัติไม่มีใครจ่าย ก็เลยปรับระบบให้เจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นผู้จัดเก็บแล้วนำส่งสรรพากร

ขณะที่ส่วนการนำเข้าสินค้า ถ้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ตอนนี้ใช้เครื่องมือของกรมศุลกากรในการจัดเก็บ VAT แทน ซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราว ต่อไปสรรพากรต้องดึงมาทําเอง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขประมวลกฎหมาย ก็จะใช้โครงสร้างให้แพลตฟอร์มต่างประเทศเป็นผู้เรียกเก็บ VAT และนําส่งไทย
อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า หลังจากเริ่มมีการจัดเก็บภาษีอีเซอร์วิส ปัจจุบันเก็บได้ประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนการเก็บภาษี VAT ของสินค้านำเข้า (ออนไลน์) มูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ก็เก็บภาษีได้ประมาณ 300 ล้านบาทต่อเดือน

ส่งเจ้าหน้าที่ปูพรมลงตรวจ
นายปิ่นสายกล่าวว่า ปัจจุบันสรรพากรก็ทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานด้านความมั่นคงคือ ตํารวจ ก็จะได้ข้อมูลว่ามีกลุ่มไหนที่นำเข้าสินค้ามาไม่ได้เสียภาษี สรรพากรก็นำมาขยายผล เพราะไม่ใช่แค่เรื่องจัดเก็บภาษีเพื่อมีรายได้ อีกมุมหนึ่งคือเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน เอาง่าย ๆ สินค้าผลิตขายในประเทศไทยเสียภาษี ดังนั้น สินค้านําเข้ามาก็ต้องเสียภาษีเหมือนกัน แต่การเข้ามาจากต่างประเทศอาจจะมีช่องทางในการที่หลบเลี่ยงได้ ดังนั้นก็ต้องให้ความสำคัญเป็นนโยบายปูพรมลงไปตรวจด้วย รวมถึงที่ปัจจุบันมีการพูดถึงสินค้าจีนราคาถูกที่ทะลักเข้ามาในประเทศไทย สรรพากรก็ดูอยู่ทั้งหมด

“ถ้าเป็นกลุ่มซื้อขายสินค้าต่างประเทศ ก็เป็นโครงการความร่วมมือ คือเมื่อได้ข้อมูลจากตำรวจก็จะส่งให้หน่วยงานเกี่ยวกับภาษีนอกระบบ ไปตรวจสอบข้อมูลว่าบริษัท สถานที่อยู่ตรงไหน แล้วก็ส่งให้หน่วยจัดเก็บ เหมือนกับออกไปตรวจเยี่ยมสถานที่ตั้งกิจการ ถ้าท่านจ่ายแล้วก็ขอดูข้อมูลว่าเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ แต่ถ้ายังไม่จ่าย ก็ไปทําความรู้เชิญให้เข้าอยู่ในระบบ ให้เข้าใจว่าการเข้ามาเสียภาษีในระบบต้นทุนถูกกว่าการหลบอยู่ข้างนอกไปเรื่อย ๆ เพราะวันหนึ่งสรรพากรเจอต้องจ่ายแพง”

ปีนี้จะเห็นการปูพรมของเจ้าหน้าที่สรรพากรในการลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการ เข้าไปแนะนําให้ความรู้ ตรวจเยี่ยมหรือขอเอกสารในการประกอบการ แต่สำหรับกลุ่มที่เสียถูกต้องก็จบเท่านั้นเอง

ตั้งคณะทำงานปฏิรูปภาษี
โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังก็ได้ตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาระบบรายได้รัฐบาล” เพื่อมาขับเคลื่อนศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งหมด ว่าการปรับโครงสร้างควรปรับจุดใด เพราะการปรับเพิ่มภาษีในระยะยาวไม่ควรปรับจุดใดจุดหนึ่ง เพราะจะกลายเป็นว่าปรับตรงนี้จะไปเพิ่มความไม่เป็นธรรมจุดอื่น ดังนั้นจะต้องดูภาพรวมทั้งหมด ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ที่ผ่านมาก็มีการศึกษาเรื่องเหล่านี้และมีเปเปอร์อยู่หมดแล้ว แค่มาคุยมาปรับแล้วเสนอให้ทางนโยบายตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

ต่อคำถามว่าจังหวะเหมาะสมของการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT จาก 7% เป็น 10% อธิบดกรมสรรพากรกล่าวว่า การขึ้น VAT ขึ้นอยู่กับนโยบาย ถึงจุดที่ต้องขึ้นก็มีหลายองค์ประกอบ แน่นอนว่ามีประเด็นเรื่องรายได้ แต่ไทมิ่งก็สำคัญ เพราะด้วยเศรษฐกิจต้องดูว่าภาคประชาชนพร้อมมั้ย

ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการดูแลกลุ่มเปราะบางด้วย ก็มีการตั้งคณะทำงานจัดทำแนวทางการจัดสรรสวัสดิการด้วย

ระบบ Negative Income Tax (NIT) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เสนอให้รัฐช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยการคืนเงินภาษีให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับที่กำหนด ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และสนับสนุนให้ผู้คนมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น ในบริบทของประเทศไทย มีการพูดถึงการนำเสนอแนวทางการช่วยเหลือในรูปแบบของ Negative Income Tax หรือการสนับสนุนในรูปแบบของสวัสดิการต่าง ๆ ที่กระทรวงต่าง ๆ มีอยู่แล้ว เช่น กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีช่วยเหลือในหลายช่องทาง ท้ายสุดอาจจะต้องบูรณาการไปด้วยกัน
“ปีนี้ในแง่ของแนวทางการศึกษาทุกอย่างน่าจะออกมาได้ แต่สุดท้ายจะทำอะไรหรือไม่ เป็นเรื่องนโยบายจากรัฐบาล และท้ายที่สุดก็วิ่งมาที่ประเด็นเรื่องตัวเลขรายได้รัฐบาล” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว

Cr.  https://www.prachachat.net/finance/news-1745789

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่