เส้นทางเศรษฐีหุ้นไทย : โลกในมุมมองของ Value Investor โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ตลาดหุ้นไทยนั้น เป็น “แหล่งที่อยู่” ของเศรษฐีไทยมาน่าจะไม่น้อยกว่า 20 ปีแล้ว ความหมายก็คือ คนรวยในประเทศไทยนั้น ตั้งแต่อย่างน้อยก็ 20 ปีมาแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ที่มีหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในจำนวนและปริมาณที่คิดเป็นเงินแล้ว “มาก” เมื่อเทียบกับทรัพย์สินอย่างอื่น เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทอง พันธบัตร หุ้นกู้ หรือเงินสด

พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าจะบอกว่าใแค่ไหนจริง ๆ ก็จะต้องไปดูว่าเขาถือหุ้นอะไรในตลาดจำนวนเท่าไร มากกว่าจะบอกว่าเขาทำธุรกิจอะไรหรือเป็นเจ้าของที่ดินที่ไหนและรวยแค่ไหนโดยที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทรัพย์สินเหล่านั้นมีค่าเท่าไรและสามารถแปลงเป็นเงินสดได้ไหม

โชคดีที่ว่าข้อมูลการถือหุ้นของบุคคลธรรมดาที่ถือหุ้นอย่างน้อย 0.5% ของบริษัทจดทะเบียนนั้น ตลาดหลักทรัพย์ได้เปิดเผยให้เป็นข้อมูลสาธารณะที่ทุกคนเข้าไปดูได้ แม้ว่าจะปรับข้อมูลให้ทันสมัยเพียงประมาณปีละหน เราก็พอที่จะประมาณได้คร่าว ๆ ว่าใครมีความมั่งคั่งจากการถือหุ้นคิดเป็นเงินอย่างน้อยเท่าไร กี่ร้อยหรือกี่พันล้านบาทสำหรับคนที่เข้าข่ายว่าเป็น “เศรษฐี” หุ้น และข้อมูลนี้ โชคดีอีกที่มีวารสารการเงินธนาคารได้จัดทำและเผยแพร่บทวิจัยทุกปีมานานน่าจะเกือบ 20 ปีแล้ว ซึ่งนี่ก็จะเป็นแหล่งข้อมูลที่ผมนำมาวิเคราะห์ต่อในบทความนี้

ผมจะเริ่มวิเคราะห์ข้อมูล “เศรษฐีหุ้นไทย” ตั้งแต่ประมาณสิ้นปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยตกลงมาเป็น “วิกฤต” ตามวิกฤตซับไพร์มในอเมริกา ดัชนีหุ้นไทยตกลงมาประมาณ 50% และเหลือเพียง 450 จุด และหลังจากนั้น ตลาดหุ้นก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เป็นเวลา 4 ปี ที่ดัชนีปรับตัวขึ้นไปถึง 1,395 จุดในสิ้นปี 2012 เป็นการเติบโตถึงปีละ 32.6% แบบทบต้น และกลายเป็น “ยุคทอง” ที่ทำให้เกิด “เศรษฐีหุ้น” เต็มตลาด

นักลงทุนหลาย ๆ คนกลายเป็น “นักลงทุนรายใหญ่” หลาย ๆ คนกลายเป็น “เซียน VI” อย่างไรก็ตาม เศรษฐีหุ้นไทย “ตัวจริง” ก็คือ เจ้าของและผู้บริหารบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีราคาหุ้นเพิ่มขึ้นมากจำนวนประมาณเกือบ 500 คน

ไล่ตั้งแต่คนที่ “รวยที่สุด” ที่เป็นเจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ที่สุดในช่วงเวลานั้นที่มีความมั่งคั่งคิดเป็นเม็ดเงิน 14,657 ล้านบาท ขณะที่เศรษฐีหุ้นอันดับ 10 มีมูลค่าหุ้นคิดเป็น 3,363 ล้านบาท และคนรวยหุ้นอันดับที่ 500 ซึ่งเป็นอันดับสุดท้ายที่อยู่ในรายงานมีมูลค่าหุ้นเพียง 135 ล้านบาท

“ตระกูลเศรษฐีหุ้น” ซึ่งบางทีอาจจะสะท้อนความมั่งคั่งแบบไทย ๆ มากกว่า เพราะรวมคนที่อยู่ในนามสกุลเดียวกันบอกว่า ครอบครัวที่รวยที่สุดอันดับ 10 ในตลาดหุ้นไทยนั้น มีความมั่งคั่งเท่ากับ 4,818 ล้านบาท และตระกูลอันดับที่ 100 มีเงินอย่างน้อย 712 ล้านบาท และนี่ก็คือตัวเลขที่ผมคิดว่าน่าจะถือได้ว่าเป็น “คนรวยหรือเศรษฐี” ตัวจริงในสังคมไทยในขณะนั้น คือช่วงสิ้นปี 2008 ได้

เวลาผ่านไปถึงปี 2012 ซึ่งเป็น “ยุคทอง 4 ปี” ของตลาดหุ้นไทย เศรษฐีหุ้นไทยอันดับ 1 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ยังอยู่ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ราคาถูก ผลก็คือ เจ้าของรวย 23,497 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นจากคนเดิมถึง 60% เท่ากับเติบโตแบบทบต้นปีละ 12.5% ในช่วงเวลา 4 ปี

เศรษฐีหุ้นอันดับ 10 มีมูลค่าหุ้น 9,759 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2008 แบบทบต้นปีละถึง 30.5% ในขณะที่เศรษฐีหุ้นอันดับที่ 500 นั้นมีมูลค่าอยู่ที่ 336 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นปีละ25.6% แบบทบต้น

ตระกูลเศรษฐีหุ้นอันดับ 10 มีมูลค่าความมั่งคั่งเท่ากับ 14,644 ล้านบาท เพิ่มขึ้นปีละ 32% แบบทบต้น และตระกูลเศรษฐีหุ้นอันดับที่ 100 มีมูลค่าหุ้นเท่ากับ 1,883 ล้านบาท หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 27.5% แบบทบต้นในช่วงเวลา 4 ปีทอง

ทั้งหมดนั้นจะเห็นว่าเศรษฐีหุ้นต่างก็รวยขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่ได้ดีไปกว่าภาวะตลาดที่ดัชนีหุ้นกลับปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า
จากปี 2012 ถึงปี 2016 เป็นเวลา 4 ปี ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นน้อยมาก จาก 1,392 จุด เป็น 1,543 จุด หรือเพิ่มเฉลี่ยปีละแค่ 2.6% แต่ความมั่งคั่งของเศรษฐีหุ้นไทยนั้น กลับสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างน่าประทับใจมาก

เศรษฐีหุ้นอันดับหนึ่งเปลี่ยนเป็นคนที่อยู่ในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดที่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของสังคมไทยที่ร่ำรวยขึ้น ความมั่งคั่งจากเดิม 23,497 กลายเป็น 67,244 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นปีละ 30% แบบทบต้น เศรษฐีหุ้นอันดับ 10 มีความมั่งคั่ง 14,661 ล้านบาทหรือเพิ่มปีละ 10.7% และเศรษฐีหุ้นอันดับที่ 500 มีเงินเท่ากับ 685 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นปีละ 19.5%

ตระกูลเศรษฐีอันดับ 10 มีมูลค่าหุ้น 20,561 ล้านบาท และอันดับ 100 เท่ากับ 4,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้นปีละ 20.8%

ช่วงปี 2012 ถึง 2016 นั้น ถือว่าเป็น “ปีทองของเศรษฐีหุ้น” เพราะแม้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์แทบไม่ไปไหนเลย แต่ดูเหมือนว่า “เจ้าของหุ้น” ที่มักจะมีหุ้นของบริษัทขนาดเล็กลงมาสามารถ “สร้างมูลค่าให้กับหุ้น” ของตนเองได้ดี ซึ่งก็อาจจะเป็นเช่นเดียวกับ “นักลงทุน” ที่มีการขยายตัวและเข้ามา “เล่นหุ้น” กันมากมายและก็อาจจะร่วมเล่นกับเจ้าของด้วย และก็มักจะสามารถหาหุ้นที่โดดเด่นและสามารถคอร์เนอร์หุ้นจนมีมูลค่าสูงมากในช่วงนั้นได้
ปี 2016-2020 ดัชนีหุ้นลดลงจาก 1,543 จุดเหลือ 1,449 จุด หรือลดลงปีละ1.6% โดยเฉลี่ย อานิสงค์ส่วนหนึ่งจากโรคระบาดโควิด-19 แต่เศรษฐีหุ้นอันดับ 1 มีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่กับนักธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มูลค่าความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น “ทะลุแสนล้าน” เป็น 115,289 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นปีละ14.4% แบบทบต้น

เช่นเดียวกับเศรษฐีหุ้นอันดับ 10 ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 26,798 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นปีละ 16.3% และตระกูลเศรษฐีหุ้นอันดับ 10 ที่มีมูลค่า 30,414 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นปีละ10.3% อย่างไรก็ตาม “เศรษฐีน้อย” คือผู้ถือหุ้นอันดับที่ 500 กลับมีมูลค่าลดลงเหลือ 593 ล้านบาท และเศรษฐีใหญ่คือตระกูลเศรษฐีอันดับ 100 มีมูลค่าหุ้นเพียง 3,214 ล้านบาท หรือลดลงปีละ 5.4% โดยเฉลี่ย

ปี 2020-2024 คือสถานะปัจจุบันนั้น ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงซบเซา “ธุรกิจรายใหญ่” หลายกลุ่มมีปัญหา ธุรกิจที่เคยเป็น “ดารา” หลายแห่ง “ตกสวรรค์” ยกเว้นแต่เศรษฐีหุ้นหมายเลข 1 ซึ่งก็ยังเป็นรายเดิมตั้งแต่ปี 2020 และยังเติบโตเร็วขึ้นไปอีก มีมูลค่าความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเป็น 240,341 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.2% ต่อปีในช่วงเวลา 4 ปี

ในขณะที่รายใหญ่อื่นคือ เศรษฐีหุ้นอันดับ 10 มีความมั่งคั่งลดลงเหลือ 18,315 ล้านบาทหรือลดลง 9% ต่อปีในช่วงเวลา 4 ปี ตระกูลรวยที่สุดอันดับ 10 มูลค่าเหลือ 22,367 ลดลงปีละ 7.4%

ธุรกิจรายเล็กลงมาในตลาดหุ้นกลับมีมูลค่ามากขึ้น เศรษฐีหุ้นอันดับ 500 มีมูลค่าหุ้น 726 ล้านบาท เพิ่มขึ้นปีละ 5.2% โดยเฉลี่ย ตระกูลเศรษฐีหุ้นอันดับที่ 100 มีมูลค่าหุ้น 4,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้นปีละ 5.9% ในช่วงเวลา 4 ปีสุดท้าย และถือว่าในปัจจุบันนี้ คนหรือตระกูลที่ควรได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐีหุ้นไทยตัวจริงหรือเป็นเศรษฐีใหญ่ในสังคม น่าจะต้องมีทรัพย์สินสุทธิประมาณ 4,000 ล้านบาทขึ้นไป

ภาพสรุปตลอดช่วงเวลา 16 ปีของเส้นทางเศรษฐีหุ้นไทยก็คือ ในเศรษฐีหุ้นอันดับที่ 500 ซึ่งถือว่าเป็น “เศรษฐีขั้นต้น” มีการเติบโตของความมั่งคั่งจาก 135 ล้านบาทเป็น 726 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นปีละ 11% โดยเฉลี่ยแบบทบต้น

ระดับที่ควรเรียกว่า “มหาเศรษฐี” คือเศรษฐีหุ้นอันดับ 10 ที่มีมูลค่าหุ้นรวม 18,315 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นจาก 3,363 ล้านบาท หรือโตขึ้นปีละ11.7% ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับตระกูลเศรษฐีหุ้นอันดับ 10 ที่ควรเรียกว่าเป็นบ้านมหาเศรษฐีที่มีมูลค่าความมั่งคั่งที่ 22,367 ล้านบาท หรือโตขึ้นจาก 4,818 ล้านบาท ในปี 2008 ในอัตราปีละ 11.5% โดยเฉลี่ย

“เศรษฐีหุ้นตัวจริง” คือตระกูลเศรษฐีหุ้นอันดับ 100 นั้น มีการเติบโตขึ้นจาก 712 ล้านบาทในปี 2008 และปัจจุบันมีมูลค่าหุ้น 4,044 ล้านบาท หรือโตขึ้นปีละ 11.47% ซึ่งก็ใกล้เคียงกับเศรษฐีหุ้นในทุกกลุ่มที่กล่าวถึง

ยกเว้นก็แต่เศรษฐีหุ้นอันดับ 1 ในตลาดหุ้นไทย ที่มีมูลค่าหุ้นทิ้งห่างอันดับรองลงไปมาก คือมีมูลค่าถึง 240,341 ล้านบาท หรือเติบโตในอัตราปีละ 19.1% ในช่วงเวลา 16 ปี ในขณะที่เศรษฐีหุ้นอันดับ 2 มีมูลค่าหุ้นไม่ถึง 60,000 ล้านบาทหรือเพียง 1 ใน 4 ของอันดับ 1 ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผมเองก็ไม่เคยเห็นในเศรษฐกิจหรือสังคมของตลาดหุ้นอื่นโดยเฉพาะในตลาดที่พัฒนาแล้วที่เศรษฐีอันดับ 1-5 มักจะมีความมั่งคั่งใกล้เคียงกันและแข่งขันกันได้ตลอดเวลา

25 ม.ค 2568
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
อ้างอิง https://www.blockdit.com/posts/6794abe87dbbf2c8c65c3f44

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่