[รีวิว] House of Sayuri - ผีดุสุดคลั่งที่ดูจบจะเผลอหลุดปากออกมาเลยว่าอิหยังวะสมชื่อเรื่อง

(1) หากที่ผ่านมา “ชื่อไทย” สำหรับภาพยนตร์ญี่ปุ่นยังไม่ดึงดูดพอละก็ คราวนี้ชื่อเรื่อง “บ้านผี อิหยังวะ” ก็น่าจะต้องตาต้องใจเหมือนถูกใครสักคนเอาท่อแอร์มาตีหลังแล้ววิ่งหนีไปจนเราต้องอุทานว่า “อิหยังวะ” แบบนั้นเลย ซึ่งมันได้ผลดีกว่าใช้ชื่อเรื่องทื่อๆ ตรงๆ จากต้นฉบับอย่างมหาศาล เพราะในขณะที่ชื่อ “ซายูริ” ของต้นฉบับแทบไม่ได้บอกอะไรเราเลย (ชื่อภาษาอังกฤษก็พอกัน เพิ่มมาเป็น House of Sayuri แค่นั้น) แต่คำว่า “อิหยังวะ” มันชวนให้เราทำหน้าคิ้วขมวดตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินหรือได้เห็นว่าทำไมต้องใช้ชื่อนี้ นั่นแสดงว่ามันต้องมีไม้เด็ดอะไรซ่อนอยู่แน่ๆ 

(2) การไม่รู้อะไรเลยแล้วไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะเป็นทางที่การเพิ่มอรรถรสได้ดีที่สุด เพราะการรอคอยที่จะได้พบกับอิหยังวะในเรื่อง มันให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและคิดไปได้ต่างๆ นานา ประหนึ่งเข้าบ้านผีสิงครั้งแรก ว่าตัวหนังจะพาเราไปทางไหน จะเฮฮาหรือว่าจะน่ากลัว ซึ่งในเมื่อมันเป็นหนังผีเราก็ต้องตั้งเป้าไว้ก่อนว่าต้อง “น่ากลัว” และเป็นไปตามคาดในช่วงแรกตัวหนังก็พาเราไปสัมผัสกับความน่ากลัวอย่างถึงพริกถึงขิง ให้อารมณ์ตามแบบฉบับของหนัง J-Horror ยุคต้นๆ ปี 2000 ถ้าชี้ให้ชัดไปเลยก็ “จูออน” ดีๆ นี่เอง ทั้งความเฮี้ยน ความดุ รวมถึงจังหวะการหลอก การปรากฏตัว และการปั่นประสาท ซึ่งเป็นรสชาติที่ห่างหายไปนานแล้วเหมือนกันในหนังผียุคปัจจุบัน

(3) แม้โทนของเรื่องจะมาในแบบที่น่ากลัวและจริงจัง แต่มันก็มีบางจังหวะที่ให้ความรู้สึกว่า “เอ๊ะ” อยู่เป็นพักๆ (ส่วนหนึ่งก็เพราะชื่อเรื่องอิหยังวะที่ค้างอยู่ในใจด้วย) ทั้งการรับมือเรื่องที่เกิดขึ้นและการตัดสินใจของตัวละคร มันทำให้เรารู้สึกว่าหรือสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นแค่เรื่องที่ “คิดไปเอง” กันนะ เพราะขนาดมีคนตายในบ้าน พวกเขาก็ยังไม่รู้สึกรู้สาและใช้ชีวิตต่อไป แต่ข้อสงสัยนั้นก็หมดไป เมื่อ “ซายูริ” เริ่มเอาจริงขึ้นมาและเก็บไปอีกสาม(ในตัวอย่างมี) จนต้องเผลออุทานว่า “เฮ้ย มันเอาจริงหว่ะ”

(4) เมื่อความดุร้ายของซายูริเป็นของจริง นำไปสู่ความตึงเครียดและความน่ากลัวที่สมควรเกิดขึ้นกับหนังผีสูตรสำเร็จ ทำให้พลางคิดในใจว่า “นี่ก็เป็นแค่หนังผีอีกเรื่องสินะ” แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะอย่างไรก็ตามภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ “ทำถึง” ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะด้วยชื่อชั้นของผู้กำกับ “ชิราอิชิ โคจิ” (Shiraishi Kouji) ที่แจ้งเกิดกับผลงานสุดหลอนอย่าง Noroi (2005) และอีกหลากหลายเรื่องที่เมื่อไปค้นข้อมูลดูก็ต้องอุทานในใจว่า “นี่มันปรมาจารย์หนังผีอินดี้ชัดๆ” ซึ่งหากเทียบกันแล้ว House of Sayuri ดูเนียบและอยู่กับร่องกับรอยที่สุดแล้ว(ไม่เชื่อก็ลองไปดู)

(5) เนื่อเรื่องต้นฉบับมาจากมังงะของ “โอชิคิริ เรนสุเกะ” (Oshikiri Rensuke) ในชื่อเดียวกัน ซึ่งตัวเขาไม่ได้มีผลงานโดดเด่นในแนวสยองขวัญ ส่วนใหญ่จะเป็นแนวคอมเมดี้ โรแมนติก ชีวิตวัยรุ่นหรือชีวิตโรงเรียนซะมากกว่า ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาอย่าง Hi Score Girl ก็ไม่ได้เป็นแนวสยองขวัญแต่อย่างใด แต่ด้วยความที่ Sayuri มีความโดดเด่นกว่ามังงะแนวสยองขวัญทั่วไป และเมื่อถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ก็ยังคงประเด็นที่มีอยู่ต้นฉบับอย่างครบถ้วน หมายความว่าหากใครเคยอ่านมังงะเรื่องนี้มาก่อน ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะไม่เซอร์ไพร์สเท่าไหร่นัก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าการไม่รู้อะไรเลยแล้วไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะเป็นทางที่การเพิ่มอรรถรสได้ดีที่สุด

(6) จุดขายของทั้งมังงะและภาพยนตร์ที่เป็นที่มาของคำว่า “อิหยังวะ” เป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นจากหนังผี(ดุๆ) แบบนี้เลยจริงๆ การตั้งระบบความคิด ปรับมายด์เซ็ทของตัวละคร(ที่เหลือ) มันเป็นสิ่งที่ชวนให้คิดเหมือนกันว่า “ทำไมหนังผีเรื่องอื่นไม่ทำแบบนี้บ้าง” ซึ่งแม้แม้มันจะทำให้ตัวเรื่องมีบรรยากาศใจชื้นขึ้นมา แต่โดยรวมความดำมืดและความอันตรายก็ยังครุกรุ่นอยู่ในบ้านอยู่ดี ซึ่งต้องชื่นชมตัวผู้กำกับที่สามารถถ่ายทอดบ้านหลังนี้ออกมาได้น่าหวาดระแวงและน่าขนลุกสุดๆ แม้กระทั่งยามเมื่อมองจากภายนอกก็ตาม มันให้ความรู้สึกเหมือนย่างกรายเข้าไปในสถานที่แห่งความตาย แม้ว่านั่นจะเป็นบ้านที่พวกเขาซื้อมาอย่างถูกต้องตามกฏหมายก็ตาม

(7) สองตัวละครหลักครอบครัวคามิกิ(ที่เหลืออยู่) “โนริโอะ” (Minamide Ryoka) หลานชาย และคุณย่า “ฮารุเอะ” (Negishi Toshie) ที่ดูร่อแร่เต็มทน และเพื่อนสาวสัมผัสพิเศษ “สุมิดะ นาโอะ” (Kondo Hana) ทั้งหมดต้องรับมือกับซายูริในครึ่งหลัง และคนที่แบกเรื่องทั้งหมดเห็นทีจะเป็นคุณย่าฮารุเอะผู้นี้นี่เอง ด้วยคาแรคเตอร์สุดตราตรีงที่ไม่มีทางลืมแน่นอน กับฝีมือการแสดงของ “เนกิชิ โทชิเอะ” นักแสดงหญิงวัย 71 ปี ที่ฝากผลงานการแสดงมากกว่า 200 เรื่อง ทั้งหนังทั้งซีรี่ย์เล็กหรือใหญ่ป้าโทชิเอะผ่านมาหมดแล้ว ไม่แปลกใจว่าทำไมถึงเป็นตัวแบกให้กับหนังเรื่องนี้อีกเช่นกัน

(8) และแน่นอน House of Sayuri ถึงจะป้อนความอิหยังวะเข้ามาเต็มปากเต็มคำ แต่ท้ายที่สุดตัวหนังก็พาผู้ชมไปสัมผัสกับเนื้อเรื่องที่มีมีติและเหตุผล ไม่ได้แปลกเอามันส์อย่างเดียว นั่นทำให้ระหว่างรับชม สิ่งต่างๆ ที่ตัวละครต้องเผชิญและเรียนรู้ถึงแนวคิดและปรัชญาบางอย่าง จึงสามารถถ่ายทอดมาถึงผู้ชมได้เช่นกัน แต่เหนือสิ่งอื่นใด ก็คงต้องยกนิ้วให้กับคนตั้งชื่อไทยให้กับหนังเรื่องนี้จริงๆ เพราะเมื่อดูจบแล้ว คำว่า “อิหยังวะ” มันสามารถเป็นตัวแทนหนังทั้งเรื่องได้เห็นภาพดีเหลือเกิน

Story Decoder
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่