หมอหม่อง ค้าน นำซากุระญี่ปุ่นปลูกในไทย หวั่น เอเลียนสปีชีส์ ถาม ทำไมไม่โปรโมตพญาเสือโคร่ง




หมอหม่อง ค้าน นำซากุระญี่ปุ่นปลูกในไทย หวั่น เอเลียนสปีชีส์ ถาม ทำไมไม่โปรโมตพญาเสือโคร่ง

หมอหม่องค้าน กรมอุทยานคิดจะเอาซากุระญี่ปุ่นมาปลูก ชี้ พญาเสือโคร่งก็สวยดี ทำไมไม่โปรโมตสวยแบบไทย

กรณีที่ นายกิตพล เชิดชูกิจกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานศึกษาและขับเคลื่อนการปลูกต้นซากุระเพื่อเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ และนำคณะลงพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2568 โดยคณะทำงานได้เข้าสำรวจพื้นที่เป้าหมาย 5 แห่ง ประกอบด้วย โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (แม่จอนหลวง) สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดเชียงใหม่ และอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย การลงพื้นที่ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่สำหรับการปลูกต้นซากุระ ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต โดยทางคณะทำงานจะนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจไปประกอบการวางแผนการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปนั้น

เมื่อวันที่ 22 มกราคม นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือหมอหม่อง ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา และกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้กับ มติชนออนไลน์ ว่า ทราบว่าต้นซากุระที่จะนำมาปลูกนั้น เป็นซากุระที่มาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นไม้คนละพันธุ์กับต้นพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทย แต่โดยสายพันธุ์แล้วอาจจะเป็นญาติกัน แต่ตนไม่แน่ใจ ทั้งนี้ การเอามาปลูกเพื่อศึกษา ปลูกในสวนที่ดูแลควบคุมพื้นที่นั้นไม่เป็นไร แต่ไม่เห็นด้วยที่จะะเอาไปปลูกในป่าในอุทยานแห่งชาติ

“ผมไม่เห็นด้วย เพราะถึงอย่างไร ซากุระญี่ปุ่นก็ถือเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์อยู่ดี ผมเห็นว่า ทำไมเราไม่เอาของดีที่เรามีอยู่แล้ว เช่นพญาเสือโคร่ง ที่ดอกก็สวยไม่แพ้ต้นซากุระญี่ปุ่น ทำไมเราไม่เชิดชู ส่งเสริมความงามที่เป็นของไทย ที่เรามีอยู่แล้ว ไปเอาความงามของที่อื่นมาทำไม ยิ่งตอนเวลา ดอกพญาเสือโคร่งบานนั้น มีนกและแมลงบางชนิดมากินน้ำหวาน สัตว์ได้ใช้ประโยชน์ เพราะเขารู้จักดีอยู่แล้วว่า ไม้ชนิดนี้กินได้ใช้ประโยชน์ได้ แต่ในความเป็นเอเลียนสปีชีส์ หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นนั้นอย่างต้นซากุระนั้น เราไม่มีทางที่จะทราบว่า เมื่อนำมาปลูก หรือขยายพันธุ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่อุทยานแห่งชาติแล้วจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง” นพ.รังสฤษฎ์กล่าว

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_5012009
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่