น้ำยาทำความสะอาด ที่ระบุว่า 'ฆ่าเชื้อโรค 99.9%’ ทำไมถึงไม่ยอมฆ่าเชื้อที่เหลืออีก 0.1%?

SOCIETY: น้ำยาทำความสะอาด ที่ระบุว่า 'ฆ่าเชื้อโรค 99.9%’ ทำไมถึงไม่ยอมฆ่าเชื้อที่เหลืออีก 0.1%?
ถ้าใครเคยอ่านฉลากของน้ำยาทำความสะอาดยี่ห้อใดก็ตาม ข้อความที่เราจะเห็นบ่อยๆ คือข้อความแบบ 'ฆ่าเชื้อโรค 99.9%’ หรือ 'ฆ่าเชื้อ 99.9%’ ซึ่งหลายคนก็อาจคิดว่าเป็นการเคลมไว้กันเหนียว ป้องกันปัญหาทางกฎหมายในกรณี 'ฆ่าเชื้อ' ไม่สำเร็จ

แต่ความจริงมันตรงไปตรงมากกว่านั้น เพราะมันมีความสามารถฆ่าเชื้อได้เท่านั้นจริงๆ ในทางวิทยาศาสตร์

เราต้องเข้าใจก่อนว่า ในทางคอนเซ็ปต์ 'น้ำยาทำความสะอาด' คือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคและเหล่าจุลินทรีย์บนพื้นผิวของวัตถุต่างๆ

ทั้งนี้ในทางวิทยาศาสตร์เขาได้ศึกษากระบวนการฆ่าเชื้อที่ว่ามาแล้ว ว่าน้ำยาพวกนี้ถ้าอยู่บนพื้นผิวต่างๆ มันจะฆ่าเชื้อได้เป็นเปอร์เซ็นต์ตามระยะเวลา และในทางคณิตศาสตร์ หมายถึงน้ำยาพวกนี้จะทำให้เชื้อโรคลดลงบนพื้นผิวแบบลอการิทึม (logarithm)

ประเด็นคือ การลดลงแบบนี้ มันไม่มีทางจะลดลงหมด เช่นถ้าน้ำยาสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ 90 เปอร์เซ็นต์ต่อวินาที แล้วมีเชื้อโรค 1,000,000 ตัวบนพื้นผิว

ลงไปวินาทีแรก เชื้อโรคตายไป 900,000 ตัว จะเหลือ 100,000 ตัว

- วินาทีที่สอง เชื้อโรคตายไป 90,000 ตัว จะเหลือ 10,000 ตัว

- วินาทีที่สาม เชื้อโรคตายไป 9,000 ตัว จะเหลือ 1,000 ตัว

- วินาทีที่สี่เชื้อโรคตายไป 900 ตัว จะเหลือ 100 ตัว ฯลฯ

ประเด็นคือ ในทางทฤษฎี น้ำยาฆ่าเชื้อโรคจะทำให้เชื้อโรคลดลงอย่างรวดเร็วก็จริง แต่การลดลงก็จะช้าลงเรื่อยๆ และอธิบายง่ายๆ คือยังไงเชื้อโรคก็ไม่หมด

นั่นหมายความว่าเวลาบอกว่าน้ำยาพวกนี้ฆ่าเชื้อโรคได้ 99.9 เปอร์เซ็นต์ มันไม่ใช่ตัวเลขทางการตลาด แต่มันคือความสามารถในการฆ่าเชื้อโรคจริงๆ เลย ที่ไม่มีทางจะเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ได้ ตามธรรมชาติของน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วทำไมเราจึงไม่กลัว 0.1 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ ว่าจะทำให้เราเจ็บป่วย

ในทางการแพทย์ ปกติแล้วจะมีความเข้าใจเรื่องโหลดของเชื้อโรคที่จะทำให้เราเจ็บป่วยด้วย คือถ้าเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเราจำนวนน้อย ร่างกายเราอาจจัดการได้ โดยไม่ทำให้เราเจ็บป่วย และนี่คือเหตุผลที่คนที่ฟื้นจากความเจ็บป่วย ถึงร่างกายจะมีเชื้อโรคค้างอยู่ แต่ส่วนมากก็จะไม่แพร่เชื้อไปยังผู้อื่น เพราะเชื้อโรคในร่างกายมีจำนวนน้อยเกินกว่าจะทำให้ผู้อื่นเจ็บป่วยได้ (แน่นอนว่าในกรณีคนร่างกายปกติและแข็งแรงดี)

เช่นเชื้อไวรัส A ร่างกายผู้ใหญ่ที่แข็งแรงอาจต้องรับเข้าไปทางปาก 10,000 ตัวถึงจะเจ็บป่วย ดังนั้นถ้ามันมีจำนวน 1,000,000 ตัวอยู่บนพื้นผิวหนึ่ง ถ้าเอามือไปสัมผัสแล้วหยิบอาหารเข้าปาก มันก็อาจเข้าไปในร่างกายที่ทำให้เจ็บป่วย แต่ถ้าเราลงน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ฆ่าเชื้อได้ 90 เปอร์เซ็นต์ ใน 1 วินาที แล้วผ่าน 3 วินาทีไป เชื้อโรคทั้งพื้นผิวจะเหลือเพียง 1,000 ตัว ต่อให้ร่างกายรับไปหมด ก็ไม่เจ็บป่วย

นี่คือตรรกะการทำงานของ 'น้ำยาทำความสะอาด' โดยเป้าหมายไม่ได้ต้องการจะ 'ฆ่าเชื้อโรคให้หมด' เพราะมันทำไม่ได้ ทำได้แค่ลดปริมาณเชื้อโรคลงในระดับที่จะไม่ทำให้ร่างกายเราเจ็บป่วยเท่านั้น

เหตุนี้จึงทำให้ประเด็นเรื่อง 'เวลา' ในการลงน้ำยาสำคัญมาก จำเป็นต้องอ่านฉลากก่อนเสมอ เพราะมันไม่ได้ฉีดลงไปแล้วเชื้อโรคตายเกลี้ยง แต่เชื้อโรคมันจะลดลงไปตามเวลาอย่างที่ยกตัวอย่าง ดังนั้นยิ่งลงน้ำยานานๆ เชื้อโรคก็ยิ่งน้อย อย่างไรก็ดี น้ำยาจำนวนไม่น้อยก็มีประสิทธิภาพมาก แบบแค่อึดใจเดียวก็ฆ่าเชื้อโรคไปได้ถึง 99.99 เปอร์เซ็นต์ มันก็เป็นไปได้ แต่ทั้งหมดนี้เราจะไม่รู้เลยถ้าไม่อ่านฉลาก

ดังนั้น การอ่านฉลากวิธีใช้น้ำยาทำความสะอาดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เชื่อเลยว่าปกติเราจะใช้ตามความเคยชิน เราไม่อ่านหรอก ทั้งที่จริงนี่เป็นสิ่งสำคัญมากๆ เพราะถ้าเราอ่านไม่ดี น้ำยาที่ใส่ลงไปมันอาจไม่ได้ทำงานอย่างที่มันควรจะทำก็ได้ เช่นน้ำยาบางอย่างอาจบอกให้เราทิ้งไว้ 15 วินาที แต่ถ้าเราไม่ได้อ่านฉลาก ลงน้ำยาแล้วเช็ดออกเลย น้ำยามันก็ไม่ได้ทำงานจนมีประสิทธิภาพมากพอจะฆ่าเชื้อโรคอย่างเหมาะสมบนพื้นผิวที่เราต้องการได้

ที่มา : BrandThink
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่