กระทู้แนะนำการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ที่ปลูกได้ แม้ไม่ต้องอยู่ภาคเหนือ ปลูกได้ทั่วไทยค่ะ ทั้งสวยงาม และอร่อยด้วยค่ะ

      สวัสดีชาวพันทิปทุกคนนะคะ วันนี้เราจะมาแนะนำการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ฉบับมือโปร หลังจากเราเป็นมือใหม่มาเกือบหนึ่งปีแล้ว เรียกได้ว่าเริ่มเชี่ยวชาญ😂

มาวันนี้ จึงจะมาแนะนำการปลูกแบบจัดเต็ม เอาเป็นว่าเริ่มเลยแล้วกันนะคะ ถ้าพิมพ์งง ก็ขออภัยด้วยนะคะ พิมพ์ผ่านโทรศัพท์ จัดรูปแบบยากค่ะ มีอะไรสงสัยตรงไหน สามารถสอบถามได้เลยนะคะ

🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓

       เริ่มแรก อย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ ว่าสตรอว์เบอร์รี่ (ต่อไปจะเขียนย่อ สตร. แล้วนะคะ) จะต้องปลูกได้ที่อากาศเย็น ๆ และคงปลูกได้ที่ภาคเหนือเท่านั้น

จริง ๆ ปัจจัยในการออกดอกของ สตร. มันเป็นอย่างนี้ค่ะ แล้วทุกคนจะรู้ว่า ทำไม มันถึงปลูกได้ทั่วไทย


       สายพันธุ์ของ สตร. เขาจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 
1.พันธุ์วันสั้น - ออกดอกเมื่อแสงตอนกลางวันต่ำกว่า 7 ชม. และอุณหภูมิ ต่ำกว่า 26 องศาลงมา 

2.พันธุ์วันยาว - ออกดอกเมื่อแสงตอนกลางวันยาวนานเกิน 10 ชม. และอุณหภูมิต่ำกว่า 29 องศาลงมา

3.พันธุ์ไม่สนใจช่วงแสง - ออกดอกเมื่ออุณหภูมิเหมาะสม โดยไม่สนใจว่ากลางวันจะสั้นหรือยาว อุณหภูมิเฉลี่ย ต่ำกว่า 29 องศาลงมา

       ถ้าทุกคนดูจากกลุ่มสายพันธุ์ด้านบน ทุกคนจะเห็นว่า น้องไม่ได้ต้องการอากาศที่หนาวเย็นอะไรมากเลยใช่ไหมคะ ดังนั้นแค่อากาศหน้าหนาวหรือหน้าฝนช่วงมรสุมของไทย ก็สามารถทำให้น้องออกดอกได้ค่ะ

แต่.......สตร. ไม่ได้ใช้แค่ความเย็น เขายังต้องสะสมความเย็นด้วย ดังนั้นบางสายพันธุ์ อากาศต้องหนาวเย็นต่อเนื่องกัน โดยเขาจะนับเป็นชั่วโมง มีตั้งแต่ สะสมความเย็นที่ 250 300 350 หรืออาจถึง 400 ชม.

ดังนั้นเวลาปลูก การเลือกสายพันธุ์ก็สำคัญเหมือนกันค่ะ

       แล้วคนที่อยู่พื้นราบแบบเรา ๆ เราจะเลือกกลุ่มไหนดีล่ะ?
       ถ้าจะปลูกแถบจังหวัดพื้นที่ราบ ให้เลือกพันธุ์วันยาว ไม่ก็ไม่สนใจแสงนะคะ เพราะอะไรรู้ไหม
       เพราะว่า สองกลุ่มนี้ใช้อุณหภูมิ ในการสะสมความเย็นน้อยกว่า แค่ 29 องศาลงมา และแสงก็มีผล คนที่บ้านติดถนน ปิดไฟไม่ได้ กว่าจะปิดไฟเข้าบ้าน ไฟรั้ว ไฟเพื่อนบ้านต่าง ๆ มีผลหมดเลย คือเราไม่มีทางควบคุมแสงให้น้อยกว่า 7 ชม.ได้เลย พันธุ์วันสั้นจึงไม่เหมาะค่ะ เขาก็ยังออกดอกนะคะ แต่ดอกจะมาช้ามาก และดอกต่อช่อดอกจะน้อย หรืออาจจะไม่ออกดอกเลย

       กลับมาที่พันธุ์วันยาว กับพันธุ์ไม่สนใจแสง การปลูกสองกลุ่มนี้จะออกดอกได้เร็วกว่า สามารถสะสมความเย็นช่วงฝนตกติดต่อกันหลายวัน บางทีการพาเขาเข้าไปนอนห้องแอร์ด้วยตอนกลางคืนทุกวัน ก็ทำให้เขาออกดอกได้ค่ะ😂 ออกดอกง่ายมาก ๆ

       ส่วนวิธีการแยก ไม่สามารถแยกได้ด้วยลักษณะทางกายภาพ ยกเว้นพวกดอกสี จะเป็นพันธุ์ไม่สนใจแสงสะส่วนใหญ่

ให้สังเกต พันธุ์วันสั้น ถ้ากลางวันยาว เขาจะออกแต่ไหล (ไหลช่วงหน้าร้อน, หน้าฝน ดอกช่วงมกรา) ส่วนพันธุ์วันยาว ถ้ากลางวันสั้น เขาจะออกไหล (ไหลช่วงมกรา ดอกช่วงพฤศจิกา-ธันวา) คือสลับกันนั่นเองค่ะ

ส่วนพันธุ์ไม่สนใจแสง อันนี้จะออกดอกตลอดปีเลยค่ะ ถ้าเริ่มปลูกหน้าหนาว เขาจะสะสมความเย็นหน้าหนาว ออกดอกยาวผ่านหน้าร้อนไปได้ พอถึงหน้าฝน เจอมรสุม สะสมความเย็นช่วงพายุเข้า ออกดอกกันยาว ๆ เลยค่ะ แต่ถ้าเริ่มปลูกต้นกล้าหน้าร้อน ยังไม่โตเต็มที่สะสมความเย็นไม่ทัน ก็จะยังไม่ออกดอกในปีแรกค่ะ 


       พักเบรคก่อนนะคะ เชื่อว่สหลาย ๆ คน คงมีคำถาม เกี่ยวกับ ดอกไม้สีแดงสวยนั่น เอารูปดอกกุหลาบมาทำไมหนอ มันเกี่ยวกับ สตร. ยังไงฟร่ะ 

        เกี่ยวแน่นะ เพราะน้อง ๆ เหล่านี้คือ สตร.ดอกสีนั่นเองค่ะ😂

        ทุกคนเคยเห็นผ่านตามาบ้างหรือเปล่าเอ่ย คนที่เคยไปเดินเก็บ สตร. ในสวนสตร. อาจจะเคยเห็นดอก สตร. แต่แบบนี้

        แต่ ๆ ๆ ๆ น้อง ไม่ได้มีแต่ดอกสีขาวค่ะ 
        สตร.เหล่านี้ นอกจากจะปลูกเพื่อกินได้แล้ว ยังใช้ปลูกประดับได้อีกด้วย และน้องเป็นพันธุ์ไม่สนใจแสง น้องออกดอกยาวแถบตลอดทั้งปีเลยด้วยค่ะ แต่ไม่แนะนำให้ไว้ดอกตลอดนะคะ ถ้าติดผล ต้นเขาจะโทรม ถ้าดูแลไม่ทัน นี่ไปเฝ้ายมบาลได้ง่าย ๆ เลย


🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓

มาต่อกันที่ การปลูก การเลือกดิน การให้น้ำนะคะ


1. การปลูก
   การปลูก สตร. จะมีวิธีการปลูกอยู่ 3 วิธีค่ะ
        1.1ไหลค่ะ (หน่อที่ทอดยาวออกมาจากต้นหลัก เพื่อเกิดเป็นต้นใหม่) ใช้เวลาเดือนถึงสองเดือน สามารถออกดอกได้
        ได้ลักษณะเหมือนต้นหลักทุกประการ
        1.2 หน่อค่ะ (ส่วนที่แยกออกมาจากต้นหลัก เหมือนหน่อไม้ หรือหน่อกล้วยน่ะค่ะ) หน่อที่แยกออกมา ที่สะสมความเย็นแล้ว สามารถออกดอกได้ทันทีหลังปลูกเพียงหนึ่งอาทิตย์ แต่ต้องเด็ดทิ้งก่อนนะคะ ให้เขาเลี้ยงใบให้เยอะ ผลจะได้ดก และใหญ่ค่ะ ถ้าใบน้อย ลูกก็เล็ก
        ได้ลักษณะเหมือนต้นหลักทุกประการ
        1.3 เมล็ดค่ะ หรือการเพาะเมล็ดนั่นแหละค่ะ ใช้เวลาสามเดือนถ้าให้แสง 18 - 24 ชม. แต่ถ้าเพาะบ้าน ๆ อาจใช้เวลากว่าจะโตเต็มที่ 5 - 6 เดือนเลยค่ะ ปกติส่วนใหญ่จะตุยก่อนด้วย ไม่แนะนำสำหรับมือใหม่ค่ะ
        ลักษณะจะเพี้ยนไปจากเดิม ไม่มากก็น้อย สตร.ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ผสม ดังนั้นต้นและผลจะไม่ค่อยเหมือนผลที่เราเอาเมล็ดไปปลูกค่ะ ยกเว้นพันธุ์แท้ กับพันธุ์ f1 ที่ถูกพัฒนามาให้ใช้เมล็ดปลูกได้ค่ะ
     
เลือกได้ตามใจชอบเลย ว่าปลูกชอบแบบไหน ส่วนใหญ่คนจะปลูกด้วยไหลกันค่ะ


2.การเลือกดิน 
     สตร.ชอบดินชุ่ม แต่ไม่แฉะ จนน้ำขัง แต่ก็ไม่ชอบดินแห้ง ถ้าแห้งต้นอาจเหี่ยวได้ค่ะ

        ดินที่ปลูก จึงต้องร่วนมาก ๆ แบบ รดน้ำแล้ว น้ำหายวับไปเลย ไม่มีนอง แม้วินาทีเดียวค่ะ

ส่วนประกอบของดิน
    1.ใช้ดินธรรมดา 1 ส่วน ดินที่ชุดตามบ้านนั่นแหละค่ะ เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของ สตร. ค่ะ
    2.ขุยมะพร้าว แบบล้างแล้ว 2 ส่วน เพื่อรักษาความชื้น มีช่องอากาศเยอะ รากเดินดี แต่สารอาหารน้อย
    3.แกลบเก่า ๆ 1 ส่วนค่ะ เพื่อให้ดินไม่จับตัวกัน ลดทอนความชื้นจากขุยมะพร้าวที่ซับน้ำดีเกินไป
ในภาพในกระถาง ผสมให้ได้ประมาณนั้นน่ะค่ะ ขุยมะพร้าวเยอะ ๆ หน่อย

*** ไม่แนะนำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกผสมลงไปในดินปลูกนะคะ ระวังรากเน่าเด้อ เตืนแล้วนะ

ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก โรยหน้าดินรอบขอบกระถางพอค่ะ อย่าชิดเหง้าหรือกาบใบนะคะ ระวังกาบเน่า ส่วนตัวเราใช้ปุ๋ยเคมีนะคะ หลอนกับปุ๋ยหมักอะไรแบบนี้มาก ๆ😂


🍓การปลูกก็เหมือนต้นไม้ทั่วไป เอาใส่กระถาง เอาดินใส่ แต่ ๆ ให้เกลี่ยดินเสมอดินเดิมนะคะ อย่าไปถมต้นเขาล่ะ
เดี๋ยวพอเขาโตขึ้นเรื่อย ๆ เหง้าเขาจะยาวสูงขึ้น เราค่อยเอาดินปิดรากเขาค่ะ อย่าถมก่อนรากออกนะคะ กาบเน่านะ

3.การให้น้ำ 
       ให้น้ำ สตร. เพื่อหน้าดินแห้งลึกลงไป 2 นิ้ว เอานิ้วจกดู หน้าผิวหน้าดินเปียก ไม่ต้องลด สตร.รากเน่าง่ายมาก ถ้าน้ำขังค่ะ ดังนั้น หน้าฝน ถ้ายกเข้าร่มได้ ยกนะคะ ถ้าไม่ได้ ดินปลูกผสมแกลบ 2 ส่วนไปเลย หรือตะแคงกระถางลงแนวนอนค่ะ ไม่ให้น้ำฝนไหลเข้ากระถาง ถือเป็นการอาบน้ำล้างใบด้วย

เดี๋ยวตัวอักษรจะหมดแล้วค่ะ เอาไว้กระทู้หน้าแล้วกัน เดี๋ยวกระทู้หน้า ๆ ถ้าไม่ขี้เกียจก่อน จะมาสอนเพาะเมล็ด ดูแลต้นกล้า และพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อให้ได้สีดอกสวย ๆ รสชาติ ทรงผลนะคะ 

สำหรับวันนี้ ลาไปด้วยภาพ สตร. ที่ออกผลให้กินไปบ้างแล้ว หวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับมือใหญ่ทุกคนนะคะ สตรอว์เบอร์รี่ปลูกได้ทุกที่ในประเทศไทย จริง ๆ ค่ะ แค่เลือกสายพันธุ์ที่เหมาะกับบ้านเรา 

ขอบคุณทุกคนที่อ่านจนจบนะคะ ถ้ามีคนอ่านอะนะ บั้ยยจ้าา🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓🍓

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่