ความเสี่ยง(Risk)...ภัยเงียบของการออมและการลงทุน

เรามาทำความรู้จักกับ ความเสี่ยง.....ภัยเงียบของการการออม และการลงทุน

          ผมพูดเรื่องความเสี่ยงแบบผ่านๆมาหลายกระทู้แล้ว แต่เรื่องนี้ก็ยังจะไม่หายจากเราไปไหน เพราะความเสี่ยงเป็นของคู่กันกับการออมและลงทุน อย่างที่มีคนกล่าวเสมอๆว่า "การลงทุนมึความเสี่ยง โปรดศึกษาให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน"  นั้นแหละครับ
 
          ความเสี่ยงมีหลากหลายรูปแบบ หลายเหตุการณ์ หลายสถานการณ์ แล้วเสี่ยงโดยความหมายของมันคืออะไรกันแน่นะ

ความเสี่ยง (Risk) 
          คือ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ต่างๆที่ไม่คิดขึ้น ส่งผลกระทบในทางลบ และทำให้ผลลัพธ์ที่เราคาดหวังไม่เป็นไปตามแผน 

         ความเสี่ยง (Risk) เราไม่สามารถกำจัดให้เป็น​ศูนย์ได้ แต่เราควบคุมและป้องกันให้อยู่ในวิสัยที่เรารับได้ เรียกว่า "ความเสี่ยงที่ยอมรับได้" โดยการ จัดการความเสี่ยง (Risk management) ด้วยการบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้น (Risk Control)

          ศัพท์เยอะนิดนะครับ ค่อยๆไปกัน

         ทำไมความเสี่ยงถึงสำคัญ และเกี่ยวอะไรกับการออม การลงทุนของเรา ขอบอกว่า เกี่ยวเต็มๆเลยครับ ในทางการเงิน ความเสี่ยงของเรา คือ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แล้วทำให้การวางแผนทางการเงินของเราไม่เป็นไปตามแผน ทำให้การบริหารเงินของเราผิดพลาด อาจจะพลาดเป้าเล็กน้อย หรือ พลาดเป้าใหญ่เลยก็ได้

ความเสี่ยงของการลงทุน
          เราแบ่งความเสี่ยงของการลงทุนอออกกว้างๆ คือ
                    1. ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก
                    2. ความเสี่ยงจากปัจจัยภายใน
                  

          ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก
                    เป็นความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ หรือ ได้ก็ได้น้อย ตัวอย่างของความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี 
กฏหมาย
                    เช่น การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายทางภาษี การเกิดขึ้นของคริปโตเคอเรนซี่ การที่รัฐบาลประกาศจะเก็บภาษีจากกำไรจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ การเพิ่ม VAT ภาวะเศรษฐกิจ 

                    บางอย่างอาจกระทบกับเราโดยตรง เช่น การขึ้นภาษี , การขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ย, ราคาน้ำมัน (ทำให้ของแพง)

                    บางอย่างก็อาจจะกระทบกับสินทรัพย์ที่เราลงทุน เช่น ภาวะเศรษฐกิจ โรคระบาด ยกตัวอย่างเช่น เราไปลงทุนในกิจการสายการบิน แล้วเกิดโควิด เครื่องบินหยุดบิน จบเลย เงินที่ลงไป ไม่หายก็กว่าจะได้กลับมาก็ใช้เวลานาน ผิดแผนที่เราลงทุนไว้ได้

          ความเสี่ยงจากปัจจัยภายใน 

                    เป็นความเสี่ยงที่เราสามารถควบคุมได้มากกว่าปัจจัยภายนอก ควบคุมได้นะครับ แต่ขจัดให้หมดไปไม่ได้ ความเสี่ยงภายใน เช่น
                   - แผนการลงทุน อาจจะผิดแผนที่เราหวัง
                   -  การจัดพอร์ทการลงทุน เราอาจจะจัดพอร์ทการลงทุนไม่เหมาะสมกับตัวเอง (ตามแบบประเมินความเสี่ยงการลงทุน)
                   - กลยุทธ์การลงทุนของเรา เราวางแผนผิด ตลาดไม่เป็นอย่างคิด จากกำไรที่คาด อาจจะต้องรอจากการลงทุนแล้วติดดอย หรือ เงินที่จมไปทำให้เอาออกมาทำอย่างอื่นไม่ได้ จากวางแผน 1 ปี อาจจะต้องมากกว่า เพราะถอนแล้วขาดทุนเยอะ
                    - ทักษะการลงทุนของเรา หากเราไม่ขยันอัพเดทข้อมูล เราก็อาจพลาดการลงทุนดีๆ
                    - ปัจจัยเรื่องเงินที่จะเอามาลงทุน เช่น อาจจะตกงานและทำให้เราไม่สามารถออมต่อได้

          เมื่อความเสี่ยงมันน่ากลัว และมีโอกาสหรือเกิดก็ไม่รู้ แล้วเราจะต้องทำยังไง

          การจัดการความเสี่ยงมีหลายวิธีครับ แต่ก่อนที่เราจะไปตรงนั้น เราควรจะศึกษา เจ้าศัตรูเงินออมที่ชื่อความเสี่ยงกันก่อน เพื่อที่จะได้จัดการมันถูกวิธีการรบให้ชนะเราต้องรู้เขารู้เขา ความเสี่ยงก็เช่นกัน เราต้องประเมินให้ได้ก่อนว่า ตัวเรา เงินออมของเรา การลงทุนของเรา มีปัจจัยหรือผลกระทบอะไรที่อาจจะขึ้นๆหลักๆกับเราได้บ้าง โดยวิธีการที่เรียกว่า การประเมินความเสี่ยง

การประเมินความเสี่ยง
           คือ ขั้นตอนที่เราวิเคราะห์ถึงปัจจัยต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น หรือผลกระทบที่ถ้ามันเกิดขึ้นแล้วจะกระทบกับเรารุนแรง ร้ายแรง ขนาดไหนยกตัวอย่างการประเมินความเสี่ยง เช่น
                    - ความเสี่ยงที่เราอาจจะตกงาน
                    - ความเสี่ยงที่รายได้เราลดลง
                    - ความเสี่ยงที่เราต้องเอาเงินนี้ไปใช้จ่ายฉุกเฉิน
                    - ความเสี่ยงอื่นๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามคาด ความเสี่ยงที่อาจจะขาดทุนจากการลงทุน หรือ อาจจะหมดตัว เช่น การลงทุนใน Crypto แล้วเกิด Rugpool เป็นต้น

          เมื่อเราประเมินความเสี่ยงได้แล้ว สิ่งต่อไปคือ เราต้องจัดการกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

          แล้วเมื่อเราประเมินความเสี่ยงแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ความเสี่ยงไหน สำคัญและจำเป็น หรืออันตรายมากอันตรายน้อย เรามีวิธีการประเมินจาก โอกาสที่จะเกิด และความรุนแรงของปัญหา หากมันเกิดขึ้นมาจริงๆ ยกตัวอย่างดังรูป





          ตามชาร์ท ปัญหาของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ปัญหาเดียวกัน อาจจะมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน เช่น

                    สำหรับบางคน การตกงาน มีความเสี่ยงน้อย แต่ตัวเองมีความรับผิดชอบเยอะ อายุมากแล้ว แต่อยู่ในหน่วยงานราชการ อาจจะสรุปได้ว่า โอกาสตกงานน้อย แต่ผลกระทบสูง

                    สำหรับบางคน การตกงานไม่ใช่ปัญหา เพราะอายุยังน้อย และทำงานในบริษัทเล็กๆ ไม่มั่นคงและไม่ได้คิดจะทำงานที่นี่นานมาเพื่อหาประสบการณ์   และ ยังไม่มีครอบครัว อาจจะสรุปได้ว่า โอกาสตกงานมาก แต่ผลกระทบน้อย

เพื่อนๆน่าจะพอเห็นภาพของการประเมินความเสี่ยง โอกาส และผลกระทบกันแล้วนะครับ

แล้วเมื่อเราทราบ เราเข้าใจแล้ว เราจะจัดการกับมันอย่างไร ขั้นตอนการจัดการความเสี่ยงมีวิธีการให้เลือกจัดการตามความเหมาะสมดังนี้

          1.การยอมรับความเสี่ยง
          2.การลดความเสี่ยง หรือการควบคุมความเสี่ยง
          3.การกระจายความเสี่ยง
          4.การเลี่ยงความเสี่ยง

การยอมรับความเสี่ยง 
          คือ การที่ความเสี่ยงนั้น เกินมือเรา หรือ การจัดการกับมันไม่คุ้มค่าการลงทุน หรือ ไม่สามารถจัดการได้ เช่น ความเสี่ยงจากการเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ย เราไม่สามารถที่จะควบคุม หรือ จัดการมันได้ นอกจากการยอมรับ

การลดความเสี่ยง 
          คือการจัดการกับความเสี่ยงที่เราสามารถจัดการหรือควบคุมได้  โดยการจัดการหรือควบคุม จะทำให้โอกาสการเกิดความเสี่ยงนั้นลดลง เช่น ความเสี่ยงจากการต้องเอาเงินออมออกมาใช้จ่ายในเหตุการณ์ฉุกเฉิน ทำให้แผนการฝากเงินเพื่อเกษียณของเราไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อาจจะต้องเอาออกมาเพื่อรักษาตัว หรือ ตกงานกระทันหัน การลดความเสี่ยงตรงนี้ เช่น เมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าเราต้องการเก็บเงินเพื่อการเกษียณ และเรากังวลว่าแผนของเราอาจจะไม่เป็นไปตามแผน เราก็จัดการลดความเสี่ยงโดยการ มีบัญชีเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อาจจะเบสิกๆ ยอดเงิน 3 เดือนของรายจ่ายปัจจุบัน หรือมากกว่านั้นตามกำลัง

การกระจายความเสี่ยง
           ขอยกตัวอย่างด้วยคำว่า อย่าเอาไข่ทั้งหมดใส่ในตะกร้าใบเดียว เช่น เราลงทุนในการลงทุนใดสักอย่างที่ผลตอบแทนที่ดี และปัจจุบันยังดีอยู่ เราอาจจะกระจายไปลงทุนที่อื่นบ้างตามเทรนอนาคต หลายคนคงมีคำความว่า ในเมื่อมันดี แล้วทำไมต้องกระจาย ขอตอบว่า เป็นเหตุผลของการควบคุมความเสี่ยง ครับ ถ้า…มันไม่ดีไปตลอดละ เช่น สายการบินไทย , บริษัท Delta(ตลาดหุ้น) , Crypto (LUNA) ล้วนป็นตัวอย่างที่ดี

 การเลี่ยงความเสี่ยง
           อธิบายง่ายๆ คือ ในเมือเราเห็นแล้วว่ามันคือความเสี่ยง และเราสามารถหนีมันได้ เราก็ไม่ควรจะต้องเอาเงินเราไปเสี่ยง ง่ายๆ โดยการหนีออกจากความเสี่ยง ถ้าความเสี่ยงนั้นสามารถหนีได้ โดยไม่กระทบกับชีวิต เช่น การเล่นการพนัน เราชอบเล่นการพนัน มีเงินออมแหละ แต่ถ้าเราหนีออกจากการเล่นการพนัน เราก็จะไม่ติดการพนัน และโอกาสที่เราจะเอาเงินออมเราไปเล่นการพนันก็จะเป็น 0 เมื่อเราไม่เล่นแล้ว เป็นต้น

ความเสี่ยงการกับเงินออม และการลงทุน

เมื่อเราเข้าใจเรื่องความเสี่ยงแล้ว มันเกี่ยวกับการเงินการลงทุนของเรายังไง เพื่อนๆคงเห็นภาพคร่าวๆแล้วใช่ไหมครับ  และนี่คือเหตุผลที่ว่า

ทำไมเราต้องฝากเงินบ้าง ลงทุนบ้าง ซื้อประกันบ้าง
ทำไมเราต้องกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน โดยการจัดพอร์ทการลงทุน
ทำไมเราต้องคิดเยอะๆ ก่อนว่าจะลงทุนอะไร อย่าโลภ มองภาพกว้างให้ออก
และสุดท้าย ทำไมเราต้องรู้จักความเสี่ยง

พบกับรอบหน้าครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่